โอที ที่มาจากคำว่า Overtime เราเข้าใจตรงกันว่ามันคือการทำงานนอกที่นอกเหนือเวลางานปกติ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกัน คือ ผลตอบแทนจากโอทีนี่แหละ (ปาดน้ำตา) บางที่ได้เป็นเงิน บางที่ได้เป็นรอยยิ้มจากหัวหน้า บางที่ได้เป็นขยายเวลาทำงานที่ค้างให้เสร็จเฉยๆ แต่สำหรับประเทศที่ห่วงใย well-being ของพนักงานอย่างนอร์เวย์ ได้ค่าโอทีเป็นวันหยุด และสามารถหยิบมาใช้ได้เสมอไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม เรามาสำรวจนโยบายที่น่าสนใจนี้กันดีกว่า
บริษัทหลายแห่งในนอร์เวย์ มีนโยบายที่เรียกว่า ‘Avspasering’ หรือการเปลี่ยนชั่วโมงทำงานล่วงเวลาเป็นวันหยุด แล้วนำไปสะสมไว้ใน Time Bank ซึ่งสะสมเอาไว้เพื่อนำออกมาใช้เมื่อต้องการ ไม่ว่าจะมีธุระจริงจัง วันที่ไม่สบายใจ ไม่พร้อมทำงาน หรือแม้แต่วันที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ และชั่วโมงที่สะสมไว้นั้นสามารถนำมาใช้เป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ โดยไม่รวมกับวันลาที่ได้ตามปกติ แต่ถ้าถามว่าไม่เอาเป็นวันลาแล้วเอาเป็นเงินแทนได้ไหม ก็ทำได้เหมือนกัน เราจะเลือกเป็นเงินหรือชั่วโมงลาสะสมไว้ก็ได้ ยังไงก็ต้องได้สิ่งตอบแทนสักทาง
จริงๆ นโยบายนี้ ถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ ก็ถือว่าได้กันทั้งคู่ ทั้งบริษัทและทั้งพนักงานเอง บริษัทก็ได้ Man Hours เพิ่มขึ้น พนักงานก็ได้สิ่งตอบแทนตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างนอกเวลา หรือสะสมไว้เป็นชั่วโมงลาใน Time Bank ก็ตาม แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความวิน-วินของทั้งสองฝ่าย คือ well-being ของพนักงาน เพราะจุดประสงค์ของนโยบายนี้ ต้องการให้วันลาที่มีอยู่นั้น ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
อย่างวันหยุดปกติที่มี อาจจะเป็นวันลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจ วันหยุดเทศกาล แต่วันลาเหล่านั้นค่อนข้างบังคับว่าต้องหยุดนะ ต้องใช้เป็นวันนึงไปเลยนะ แต่ถ้าหากวันไหนที่เราต้องการหยุดครึ่งวัน หรือเวลาไม่กี่ชั่วโมงล่ะ วันที่ไม่ได้อยากหยุดไปทั้งวัน วันหยุดเหล่านั้นอาจไม่ใช่คำตอบของเรื่องนี้ แต่ชั่วโมงลาที่ได้จากโอทีที่เราสะสมไว้นั้น สามารถนำมาใช้กับเหตุการณ์เหล่านี้ได้
อย่างศุกร์นี้มีนัดกินข้าวกับครอบครัว ที่เราเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน ไปให้กำลังใจลูกๆ ที่งานกีฬาโรงเรียน หรือจะรอฝนเบาลงเสียหน่อย ในวันที่ฝนตกหนักจนแทบมองไม่เห็นทาง เราสามารถทำงานล่วงเวลา สะสมชั่วโมงเหล่านั้นไว้ และหยิบมาใช้ได้ตามใจไม่ว่าจะเป็นกี่ชั่วโมง ในวันไหน ตอนไหนก็ตาม นี่แหละ ความยืดหยุ่นที่เพิ่งพูดถึงไป
แม้การเปลี่ยนโอทีเป็นวันหยุดนี้ จะสามารถสะสมได้เรื่อยๆ แบบไม่มีจำกัด แต่ถ้าหากสะสมไว้มากเกินไป นั่นเป็นสัญญาณว่าเรากำลังทำงานเยอะเกินไป จนหัวหน้าอาจจะต้องพูดคุยเพื่อให้เราใช้วันลาที่มีอยู่ด้วย เพราะเมื่อพนักงานมีแนวโน้มทำงานหนักเกินไป นอร์เวย์ ประเทศที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ well-being ของพนักงาน จึงอยากให้ทุกคนได้มีวันพักผ่อน มีเวลาให้กับครอบครัว มีเวลาดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเพื่อเป็นการตอบแทนวันทำงานนอกเวลางานที่ได้ให้กับบริษัท พนักงานเองควรได้รับสิ่งตอบแทนอย่างคุ้มค่า
แม้ในตอนนี้ นโยบาย Avspasering นี้จะยังไม่ได้ถูกกำหนดในกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจังในทุกบริษัท แต่ก็มีการผลักดันจากสหภาพแรงงาน ให้นำนโยบายนี้ไปใช้กันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ในหน่วยงานราชการเองก็ตาม
จริงๆ นอร์เวย์ ยังมีวันลาอีกหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ อย่าง Omsorgdager วันลาเมื่อคนในครอบครัวป่วย แล้วเราต้องไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยไม่นับรวมกับวันลาป่วยของเราด้วยล่ะ (เพราะเราไม่ได้ป่วยไงล่ะ) หรือจะ Foreldrepermisjon สำหรับครอบครัวที่เพิ่งมีเจ้าตัวน้อย ที่อาจจะต้องใช้เวลาดูแลกันแบบไม่อาจละสายตาได้ โดยมีหลาย option ให้เลือก อาจจะเป็นลา 49 สัปดาห์ ได้เงินครบตามปกติ หรือจะลา 59 สัปดาห์ ยังคงได้เงินถึง 80% หรือใครที่ยังไม่เจอพื้นที่ที่ใช่ให้ชีวิต Permisjon uten lønn วันลาที่ให้เราได้มีเวลาพักหายใจ ออกไปใช้ชีวิต ไปหาประสบการณ์ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเรียนต่อ หรือลองทำงานอื่น (ฟังไม่ผิด) แม้การลาแบบนี้จะไม่ได้เงินเดือน แต่เรายังคงสามารถรักษาตำแหน่งของเราเอาไว้ได้
สังเกตไหมว่าวันลารูปแบบที่เราไม่ค่อยได้สัมผัสเหล่านี้ หยิบยื่นความยืดหยุ่นให้กับพนักงาน มันสะท้อนวัฒนธรรมการทำงานที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานอย่างเต็มที่ อาจเนื่องด้วยสภาพแวดล้อม อย่างเวลากลางวันกลางคืนที่ไม่ใช่แบบที่เราคุ้นเคย แสงอาทิตย์ที่ไม่ได้สาดส่องตามเวลาที่ควร สภาพอากาศที่โหดร้าย สิ่งเหล่านี้สร้างความเครียดให้กับคนทำงานมากพอแล้ว การลดความเครียดและรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน
หากการทำงานไม่ใช่แค่เพื่อหาเงินหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ยังช่วยส่งเสริมให้เรามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย อาจทำให้เรารักที่จะลุกขึ้นมาในเช้าวันทำงาน จนลืมปุ่ม snooze ไปเลยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก