“Extraordinary claims require extraordinary evidence”
(คำกล่าวอ้างอันวิเศษ ต้องการหลักฐานอันวิเศษด้วยเช่นกัน)
– Carl Sagan
ในยุคนี้ที่มนุษย์สร้างข้อมูลได้มากมายในเวลา 1 วัน เราต่างต้องเผชิญกับคลื่นข้อมูลมากมายที่ถาโถมใส่เราทุกชั่วโมง ในยุคของ information มี misinformation (ข้อมูลที่ผิดและคลาดเคลื่อน) ปะปนลอยเกลื่อนในทุกช่องทางการรับข่าว หากไม่สามารถแยกแยะความคิดเห็นกับข้อมูล แยก fact จากเรื่องแต่งได้เชื่อทุกอย่างที่ทุกคนบอก ชีวิตเราคงจะวุ่นวายลำบากแน่ๆ
บทความนี้ไม่ได้มีความตั้งใจจะให้ทุกคนเลิกเชื่อและศรัทธาทุกสิ่ง กลายเป็นคนขี้สงสัยที่คอยนั่งจับผิดผู้อื่นเพื่อความบันเทิง ดูถูกสติปัญญาของคนอื่นเพื่อความสะใจ ในโลกมีที่ข่าวปลอมและข้อมูลผิดๆ โผล่มาให้เราคัดกรองมากมาย เราได้ข้อมูลผิดๆ มาจากทางไหนได้บ้าง
แหล่งข้อมูลที่ผิดมาจากไหน
1. คำบอกเล่า (words of mouth)
สังคมเราถูกขับเคลื่อนด้วยข่าวลือและคำบอกเล่าปากเปล่าอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งข้อมูลที่เราได้มามักเกิดจากแค่คำบอกเล่าโดยปราศจากหลักฐานอื่นใดเพิ่มเติม เราต่างเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากคนรอบตัวและพวกพ้องที่เราไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก คุณครูเล่าให้ฟัง พ่อแม่บอกไว้ เขาส่งมาทางไลน์ หรือฟอร์เวิร์ดเมล หลายคนเสียนํ้าตาไปกับฟอร์เวิร์ดเมลที่ไม่จริง ก่อนจะนํ้าตาไหลโดยไม่รู้ตัว เราอาจลองตั้งข้อสงสัยและสืบค้นหาข้อมูลก่อน มนุษย์มีความทรงจำที่ไม่แม่นยำ อาจมีอคติ และบิดเบือนได้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เมื่อใครบอกเล่าอะไรกับเรา หากเป็นข้อมูลสำคัญเราก็ยังไม่ต้องเชื่อก็ได้ เก็บไว้คิดดูก่อนและขุดค้นเพิ่มเติม
ในบริบทแบบไทยๆ สมัยเด็ก คุณยายของผู้เขียนบอกว่า ห้ามเอานิ้วชี้สายรุ้งเพราะเดี๋ยวนิ้วจะกุด ผู้เขียนก็ลองชี้ดูและนิ้วยังอยู่ครบ โบราณห้ามนอนหันหัวเข้าทิศตะวันตกลองนอนดูก็ยังไม่ตาย คำกล่าวอ้างบางชนิด ถ้าพิจารณาแล้วไม่น่าเป็นภัยอย่างที่โบราณได้ว่าไว้ เราก็สามารถทดลองได้โดยการลองทำดู เมื่อลองส่องดูวัฒนธรรมอื่นๆ ก็มีข้อห้ามมากมายที่ผู้ใหญ่บอกต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น คนเกาหลีเชื่อว่าพัดลมทำให้คนตายได้ ผู้ใหญ่เตือนห้ามหลับในห้องที่มีพัดลม เชื่อว่าจะทำให้ขาดอากาศหายใจตายระหว่างนอนหลับ โดยเป็นความกลัวที่ส่งต่อกันมาโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ประกอบ ซึ่งเราคนนอกอาจไม่เข้าใจ รู้สึกงง และขบขัน เพราะเติบโตมาคนละสังคม
อาการนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Nocebo Effect’ คือเชื่อว่าของธรรมดาๆ ทำให้เกิดเหตุร้ายแรงและผลลบ (ตรงข้ามกับ ‘Placebo Effect’ ที่ความเชื่อว่ายาปลอมได้ผล) เราอาจคิดว่าการกลัวพัดลมเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ก็คงมีความเชื่อของสังคมเราที่คนนอกไม่เข้าใจเหมือนกัน
ในโลกนี้มีเรื่องให้หวาดกลัวและตื่นตระหนกมากมาย อย่าให้เรื่องที่ไม่ได้น่ากลัวจริงๆ มารบกวนจิตใจเราให้หวาดหวั่น หากสนใจเรื่องข้อห้ามจากหลากหลายวัฒนธรรม ก็อยากชวนอ่านหนังสือ Because I Said So!: The Truth Behind the Myths, Tales, and Warnings Every Generation Passes Down to Its Kids
ในไวรัลวีดีโอชื่อ The UFO Guy มีชายหนุ่มอเมริกันคนหนึ่ง อ้างว่าได้ไปขึ้นยานยูเอฟโอมาด้วยการถอดจิต เมื่อนักข่าวสอบถามเพิ่มเติม พบว่าเขาไม่มีหลักฐานอะไรนอกจากคำพูดกล่าวอ้างของตัวเอง (เพราะเกิดขึ้นในสภาวะถอดกายละเอียดไปสัมผัสประสบการณ์นอกโลก) นักข่าวกล่าวว่าแค่คำพูดเขามีนํ้าหนักไม่พอ เขาเลยถามนักข่าวกลับว่า “คุณก็ไม่มีหลักฐานตอนเพื่อนบอกว่าไปเข้าห้องนํ้าเหมือนกันแหละ นอกจากคำบอกเล่าของเพื่อน” ชมวีดีโอด้านล่าง
แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องหวาดระแวง ตรวจสอบทุกคำที่ทุกคนพูด เช่น เพื่อนบอกว่าไปเข้าห้องนํ้า เราก็คงไม่ต้องหวาดระแวงเรียกร้องหาหลักฐานเพิ่มเติมหรือตามไปพิสูจน์ให้มั่นใจ แต่หากมีคนอ้างว่า เขาพบเห็นพญานาค และพญานาคบอกว่าต้องการเงินบริจาคไม่งั้นนํ้าจะท่วมในปีหน้า เราอาจจะต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เพราะเราเสี่ยงที่จะเสียเงินให้กับพญานาคที่เรายังไม่แน่ใจ
อย่างที่ คาร์ล เซแกน บอกว่า “คำกล่าวอ้างอันวิเศษ ต้องการหลักฐานอันวิเศษด้วย”
2. หนังสือหรือภาพยนตร์ ทำให้เข้าใจผิด
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือภาพยนตร์ เรื่องแต่งนั้นย่อมปรุงแต่งเพื่ออรรถรส บางครั้งอาจสอดใส่ความข้อมูลที่ดูเหมือนจริง (แต่ไม่จริง) เพื่อเพิ่มรส เพิ่มเรื่องราวให้น่าสนใจ มีการปรับเปลี่ยนเพี้ยนไปจากชุดความจริงในประวัติศาสตร์ บ้างเพิ่มอภินิหารเพื่อความตื่นเต้น บ้างหยิบงานวิจัยที่ล้าสมัยไปแล้วมาอ้างอิงให้เรื่องดูน่าเชื่อถือและน่าสนใจ
ภาพยนตร์ 21 Grams (2003) ได้ชื่อเรื่องมาจากงานวิจัยในปี 1907 สรุปว่าวิญญาณมีนํ้าหนัก 21 กรัม (จากการชั่งนํ้าหนักผู้ป่วยแล้วนํ้าหนักหายไป 21 กรัมหลังเสียชีวิต) วิจัยนี้ไม่ถูกยอมรับในวงกว้าง และถูกล้มล้างไปแล้ว เพราะเป็นผลการทดลองที่ไม่แม่นยำ ผลคือเรื่องเล่าวิญญาณมีนํ้าหนัก 21 กรัมยังถูกส่งต่อผ่านสื่อ กลายเป็นชื่อหนัง
ต้องยอมรับว่า หลายๆ ครั้งที่วิทยาศาสตร์ กับ popular culture นั้นสวนทางกัน เพราะเป็นเรื่องไม่จริงหรือเรื่องเหนือความคาดหมาย โรแมนติก และเล่าต่อได้น่าตื่นเต้นกว่าข้อเท็จจริง
หนังสือ 50 Great Myths of Popular Psychology: Shattering Widespread Misconceptions about Human Behavior ระบุว่า ภาพยนตร์มักนำเสนอคนภาพคนที่มีอาการทางจิตว่าเป็นคนอันตราย ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอันตรายกับสังคม ฯลฯ เพราะเรื่องแต่งและภาพนตร์มักต้องหยิบตัวอย่างที่สุดโต่งมาสร้างความน่าสนใจ ทำให้สังคมมองผู้ป่วยจิตเวชน่ากลัวเกินความเป็นจริง
ผู้เขียนเคยอ่านเจอตอนเด็ก ๆ ว่า “กำแพงเมืองจีนเป็นสิ่งก่อสร้างเดียวของมนุษย์ที่มองเห็นได้จากนอกโลก” และยึดถือข้อมูลนี้เป็นความจริงมาตลอด จนกระทั่งได้ลองสืบค้น พบบล็อกและภาพสถานีอวกาศนาซา ล้มล้างว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่จริง เราสามารถเห็นหลายๆ สิ่งที่มนุษย์สร้างจากชั้นบรรยากาศ เช่น เขื่อน พีระมิดจากอียิปต์ เกาะมนุษย์สร้างที่ดูไบ แต่กำแพงเมืองจีน เพราะถึงจะยาวแต่แคบ จึงแยกยากมากจากทิวเขาเมื่อมองจากระยะไกล
3. จากการเลือกรับรู้และเลือกจดจำ
สมองของมนุษย์เก่งในการหา pattern ในสิ่งที่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ มนุษย์สามารถเชื่อมต่อจุดที่ random ให้เป็นภาพและสิ่งที่มีความหมายได้เก่งมาก เราเลือกสังเกตและจดจำแค่สิ่งที่ตรงกับความเชื่อของเราแต่แรก เราเห็นโขดหินเป็นหน้าคน เราอาจะเห็นเมฆ กลุ่มนก และแสงไฟเพี้ยนไปเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นและอยากเชื่อ เป็นอภินิหารและเวทมนตร์
นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ Pareidolia ที่เราเห็นข้อมูล random จนเกิดเป็นสิ่งที่มีความหมาย เช่น ภาพกระต่ายบนดวงจันทร์ หรือใบหน้าคนบนดาวอังคาร
มนุษย์นั้นชอบเรื่องเล่า และเรามักถูกชักจูงด้วยเหตุการณ์จริงในชีวิต 1-2 เรื่องที่เคยได้ยิน หรือเคยได้สัมผัส เรื่องใดที่หยิบมาได้ไวที่สุดจากความทรงจำมักน่าเชื่อเพราะคุ้นเคย คนชอบเรื่องเล่ามากกว่ามากกว่าแนวคิดอันเป็นนามธรรมหรือข้อมูลตัวเลขสถิติที่ดูห่างไกลจากชีวิตประจำวัน หากเราระลึกถึงเหตุการณ์หรือเรื่องเล่าใดได้รวดเร็ว เราก็จะทึกทักว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่มันเป็น
มนุษย์มักหยิบ 1 เหตุการณ์ที่เราพบมาเป็นคำตอบ มาขยายผลให้กลายความเป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่เกินไปได้มาก บางครั้งเรามักสร้างข้อสรุปจากประสบการณ์ที่เราพบ กลายเป็นความเชื่อส่วนตัวที่เรายึดถือและสลัดไม่หลุดได้ง่ายๆ
4. เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอคติ
บางครั้งความจริงถูกบิดเบือนด้วยชุดตัวอย่างแค่บางกลุ่ม เช่น ในงานวิจัยที่ทำโดยมหาวิทยาลัยหลายๆ ชิ้น มักได้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ในในมหาวิทยาลัยนั้นๆ เพราะราคาถูกและหาง่าย โดยมีชื่อเรียกกลุ่มตัวอย่างนี้ว่า ‘WEIRD’ (คือกลุ่มตัวอย่างที่มาจากสังคมที่ Western, Educated, Industrialized, Rich, and Democratic) หากเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่แคบ อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เพี้ยนไป ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรอื่นๆ หรือไม่ได้คำตอบที่ครอบคลุมจริงๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากทำแบบสอบถามเรื่องการคุมกำเนิดกับนักเรียนมัธยมตามโรงเรียนมัธยมหลักสูตรสามัญ อาจไม่ได้ข้อมูลของวัยรุ่นที่ไม่ได้ไปโรงเรียน คนที่ลาออก หรือผู้ที่เรียนกศน. เป็นโจทย์ที่นักวิจัยต้องไปหากลุ่มตัวอย่างที่กว้างและเพียงพอเพื่อได้ข้อมูลที่ปราศจากอคติ
5. เพราะสิ่งนั้นเกิดก่อน…สิ่งนี้จึงตามมา (Post hoc ergo propter hoc)
‘Post hoc ergo propter hoc’ (ภาษาละติน) คือการทึกทักว่าเมื่อเหตุการณ์ A ที่เกิดหลังเหตุการณ์ B เหตุการณ์ A ย่อมเกิดเพราะเหตุการณ์ B ที่เกิดก่อน ซึ่งไม่จริงเสมอไป
เคยมีงานวิจัยหนึ่งสรุปว่าโรคจิตเภท Schizophrenia เพิ่มขึ้น เพราะเกิดจากรูปทรงรองเท้าที่เปลี่ยนไปในระยะเวลา 1,000 ปี ผู้วิจัยเลือกโฟกัสที่สิ่งที่ตัวเองเชื่อมโยงกับรองเท้าและสรุปว่าเป็นต้นเหตุ จนอาจลืมพิจารณาไปว่า ไม่ได้มีเพียงรองเท้าที่เปลี่ยนรูปทรงไปช่วงในระยะเวลาที่ศึกษานั้น
นอกจากนี้ยังเคยมีงานวิจัยว่า มีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นในปี 2005-2006 เพราะยอดขาย iPod เพิ่มขึ้น แต่นอกจากตัวเลขที่สัมพันธ์กัน ก็อาจจะมีไม่ตัวแปรอื่นๆ มาประกอบเพิ่ม หรือมีคำอธิบายเพิ่ม งานวิจัยนี้ยังเตือนให้ระมัดระวัง iCrime ที่กำลังจะตามมา ทว่าผ่านมา 10 ปี iPod ได้เลิกผลิตไปแล้ว แต่ก็ไม่มีผลวิจัยอื่นที่เชื่อมโยงยอดการขาย iPod สัมพันธ์กับเหตุอาชญากรรมอีกนอกจากงานวิจัยนี้ การที่ 2 ตัวเลขสถิติสอดคล้องกัน ไม่ได้แปลว่าเกี่ยวข้องและเป็นเหตุของกันเสมอไป
สร้างวัฒนธรรมแห่งการสงสัย (Skepticism) ให้เป็นเรื่องสิ่งปกติ
จากตัวอย่างที่ยกมา เราไม่ได้สามารถไว้ใจใครหรือสื่อไหนได้โดยปราศจากข้อสงสัย เราควรกลั่นกรองข้อมูลในชีวิตจนเป็นเรื่องปกติ
Michael Shermer ผู้ก่อตั้ง The Skeptics Society กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ วิทยาศาสตร์เทียม (psuedoscience) ต่างจากวิทยาศาสตร์ (science) คือ การยอมรับว่าผิดได้ ในกระบวนการวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีเก่าถูกล้มล้างโดยทฤษฎีใหม่ที่ดีกว่า สมมติฐานถูกทำลายด้วยหลักฐานและการทดลอง ข้อเท็จจริงถูกปรับปรุงและยกเลิกได้หากมีหลักฐานที่แน่นหนาหรือให้คำตอบที่ดีกว่ากว่ามาแทนที่ ในการเลกเชอร์หนึ่ง มีคนยกมือถามเขาว่า “ทำไมผมต้องเชื่อคุณล่ะ” Shermer ตอบกลับไปว่า “คุณไม่ต้องเชื่อผมก็ได้”
กลไกสำคัญของแนวคิด Skepticism คือ การกล้าที่จะถามหากไม่รู้ เรียกหาหลักฐานหากยังไม่แน่ใจ และไม่สรุปหากยังไม่มีเหตุผลและข้อมูลที่มากเพียงพอ และสามารถเปลี่ยนใจได้หากพบว่าข้อสรุปที่เราสร้างนั้นผิดไปและใครก็ตามสามารถมีความคิดเป็นเหตุเป็นผลได้
เราควรสอดแทรก ส่งเสริมความคิดช่างสงสัย ไม่ยอมรับจำนนต่อคำบอกเล่า และข้อมูลลอยๆ ได้ง่ายๆ ให้กับเด็กเพราะพวกเขาต้องเผชิญข้อมูลมากมายตลอดชีวิตในยุคของเขา
เมื่อเด็กสงสัยว่าทำไมสิ่งต่างๆ ถึงเป็นเช่นนั้น ผู้ใหญ่ควรให้คำอธิบายมากกว่าบอกว่า ‘เพราะมันแค่เป็นเช่นนั้นเอง’ หรือ ‘เพราะมีคนบอกมาอีกที’ หากเด็กถามคำถามที่ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าผู้ใหญ่จะไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ผู้ใหญ่อาจช่วยสืบค้นหาคำอธิบายเพิ่มเติม เด็กควรเรียนรู้ว่าความไม่รู้นั้นไม่ผิด ไม่ใช่เรื่องน่าอายและความเข้าใจผิดเป็นเรื่องปกติที่สุดในโลกที่แก้ไขได้
ความเข้าใจผิดไม่ใช่เรื่องผิดพลาดที่ให้อภัยไม่ได้ การไม่ยอมเปลี่ยนความคิด การไม่ยอมรับว่าผิดและไม่รู้อย่างไร้เหตุผลต่างหากที่น่ารำคาญใจ
สังคมไม่ควรเปราะบางและถูกทำลายได้ง่ายด้วยคำถามและความสงสัย
เราอาจเกิดมาในสังคมและครอบครัวที่ ‘ความสงสัยและความอยากรู้’ ฟังดูเป็นนํ้าเสียงแง่ลบ ก้าวร้าว ดูเย็นชา ไร้หัวใจ แสดงถึงการต่อต้าน ทะเยอทะยาน ปฏิเสธอำนาจ ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่
ในสังคมที่รักความสงบ หลายคนอาจคุ้นเคยว่า สามัคคีคือการที่ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน เป็นหนึ่งเดียวกันแลกกับความคิดที่แตกต่างและความสร้างสรรค์ กดคนที่สงสัยและคิดต่างให้เงียบเข้าไว้ ความเห็นต่างและความสงสัยถูกทำให้กลายเป็นตัวการแห่งความวุ่นวายไร้ความสงบ เราชินกับการปิดปากไว้ เงียบเพื่อความปลอดภัย เก็บความสงสัยไว้เพราะไม่อยากเป็นตัวปัญหา
ใครในโลกนี้อยากเชื่ออะไรก็คงเป็นสิทธิ์ของเขา แต่เมื่อใดที่เขาได้พยายามส่งต่อข้อมูล พยายามบรรจุข้อมูล ความคิด ความเชื่อของเขาสู่เรา พยายามนำข้อมูลนั้นมาโน้มน้าวให้เราทำอะไรบางอย่าง เรามีสิทธิ์ที่จะสงสัยและสอบถาม
และหากมีใครไม่เห็นด้วยกับเรา อย่าโกรธ ด่าทอ และตัดพ้อเลย ค่อยๆ ถกเถียงและโน้มน้าวด้วยหลักฐานและเหตุผลอย่างใจเย็น ไม่เหน็บแนมเสียดสีมีอารมณ์ เพราะคำถามและความสังสัยควรเป็นสัญญาณของสังคมที่เสรีและเปิดกว้างปลอดภัยมากกว่าภัยที่น่ากลัว ความจริงควรจะเกิดจากการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความเห็น มิใช่เถียงเอาชนะเพื่อความสะใจ
ในยุคนี้และต่อๆ ไป คนฉลาดอาจไม่ใช่คนรอบรู้ที่มีข้อมูลเก็บสะสมไว้มากมาย หากแต่คือผู้ที่รู้เท่าทันและประเมินข้อมูลที่น่าสงสัยได้ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ กล้าสงสัยและสอบถามเพื่อความเข้าใจ และยอมรับเป็นเมื่อตัวเองเข้าใจผิดไป
ไม่ว่าความเชื่อผิดๆ จะมาจากไหน มาในรูปแบบใด คงไม่สามารถทำให้สังคมล่มสลายได้ หากสังคมส่งเสริมสนับสนุนให้คนแต่ละคนคิดเองได้และสงสัยเป็น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Skeptic: Viewing the World with a Rational Eye
www.amazon.com/Skeptic-Viewing-World-Rational-Eye/dp/1627791388
The Skeptics Society
What Is the Nocebo Effect?
www.smithsonianmag.com/science-nature/what-is-the-nocebo-effect-5451823/
Is My Electric Fan Going to Kill Me in My Sleep?
www.theatlantic.com/health/archive/2017/05/is-this-going-to-kill-me-fan-death-korea/528243/
The Man Who Tried to Weigh the Soul
blogs.discovermagazine.com/crux/2015/11/03/weight-of-the-soul/#.WfWPQFyWZ24
50 Great Myths of Popular Psychology: Shattering Widespread Misconceptions about Human Behavior
www.amazon.com/Great-Myths-Popular-Psychology-Misconceptions/dp/1405131128