ช่วงเดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นการประท้วงในบ้านเราเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่ว่าจะด้วยประเด็นใดๆ ไม่พอใจการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในตัวเมืองกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยต่างๆ และในหัวเมืองต่างจังหวัดก็มีให้เห็นพอสมควร (ผมอยู่เชียงใหม่ก็มีให้เห็นทุกอาทิตย์ที่ประตูท่าแพ)
แน่นอนว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามมันก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนซึ่งการประท้วงแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ที่เราน่าจะรู้จักกันดีก็คงเป็นการออกมากล่าวสุนทรพจน์ “I have a dream” ของ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ที่เป็นการแสดงจุดยืนและเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างพลเมือง
ผ่านมาถึงวันนี้ การออกมาประท้วงไม่ว่าประเด็นเรื่องไหนก็ตามมันคือการทำเพื่ออุดมการณ์แสดงจุดยืนเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้การประท้วงในเวลานี้แตกต่างจากแต่ก่อนอย่างสิ้นเชิงเลยก็คือเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องต่างหาก เพราะทุกวันนี้เวลาเราเห็นใครก็ตามที่ออกไปเดินประท้วงจะต้องเอาสมาร์ตโฟนติดตัวไปด้วยตลอด เพื่ออัพเดทสถานการณ์ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อความปลอดภัยของตัวเองถ้าเกิดอะไรขึ้น เพื่อติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว ฯลฯ แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือว่าการนำเอาสมาร์ตโฟนติดตัวไปด้วยก็เป็นความเสี่ยงกับข้อมูลและความเป็นส่วนตัวด้วยเช่นเดียวกัน (มีประเด็นเรื่องแอพพลิเคชั่นติดตามที่เคยเขียนไปในบทความก่อนหน้านี้ ลองอ่านได้ที่นี่ครับ)
หนทางแรกที่ชัดเจนที่สุดในการเอาข้อมูลจากสมาร์ตโฟนของเราไปก็คือการถูกจับกุมตัว ถูกกักตัว ทำผิดกฎหมาย ตำรวจก็สามารถยึดพวกอุปกรณ์เหล่านี้ของเราไปได้ (เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนออกไปประท้วงคือเรียนรู้ว่าอันไหนทำได้ไม่ได้ จะได้หลีกเลี่ยงประเด็นนี้) แต่ก็มีเทคโนโลยีอย่างอื่นเช่นกล้องวงจรปิด เครื่องมือที่ดักจับข้อความที่ส่งหากัน การใช้โดรนเพื่อบินขึ้นไปสอดส่องสานการณ์หรือแม้แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการแสกนใบหน้าหรือทะเบียนรถที่อยู่บริเวณนั้นด้วย เพราะอย่างที่เราเห็นกันว่าไม่ว่าจะชุมนุมประท้วงแบบสันติขนาดไหน ก็มีโอกาสที่จะถูกจับได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีหลักฐานว่าคุณเข้าร่วมการประท้วงในครั้งนั้นๆ ด้วย ก็อาจจะมีตำรวจมาเคาะประตูหน้าบ้านได้ไม่ยาก
หลังจากที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไปร่วมการประท้วงในแต่ละครั้ง สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดต่อมาก็คือว่า ‘จะเอาสมาร์ตโฟนไปด้วยไหม?’ หรือ ‘เอาโทรศัพท์เครื่องไหนไป?’ แน่นอนว่าถ้าเราเอาสมาร์ตโฟนของตัวเองไป ก็มีโอกาสที่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ประท้วงกันอย่างรุนแรง มีการทำร้ายร่างกายหรือทำผิดกฎหมายขึ้นมา ผู้ควบคุมกฎหมายจะไปบีบผู้ให้บริการเครือข่ายให้เอาข้อมูลของผู้ใช้บริการให้ในเวลานั้นก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ตำรวจสหรัฐใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า“stringray” ที่ทำหน้าที่หลอกโทรศัพท์ที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งว่านี่เป็นเสาสัญญาณและให้มาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวนี้แทน ซึ่งทางตำรวจก็จะได้ข้อมูลของคนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้แนะนำว่าเอาโทรศัพท์เครื่องหลักไว้ที่บ้านจะดีกว่า หรือถ้าจำเป็นต้องเอาไปจริงๆ ก็ปิดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ใช้เมื่อยามฉุกเฉินเท่านั้น มองหาทางหนีที่ไล่และวางแผนกับเพื่อนๆ ที่ไปด้วยว่าต้องทำยังไงถ้าเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น มีอีกวิธีหนึ่งคือการใช้สิ่งที่เรียกว่า ถุงฟาราเดย์ (Faraday Bag ) เพื่อปิดบังคลื่นสัญญาญวิทยุที่ส่งไปยังหรือออกมาจากโทรศัพท์ ปกป้องไม่ให้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือทำลายระหว่างกระบวนการตรวจสอบ
แน่นอนว่าทุกคนไม่ได้มีโทรศัพท์สำรองเพื่อจะเอา
ออกไปเดินประท้วงโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเลยว่า
การใช้งานโทรศัพท์ในสถานที่แบบนี้จะมีการดักจับข้อมูลอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่ควรทำคือเลือกใช้แอพพลิเคชั่นที่มีการเข้ารหัสแบบ end-to-end encryption ซึ่งก็ใช้ฟีเจอร์อย่าง ‘disappearing message’ ข้อความที่คุณส่งให้กับเพื่อนนั้นจะถูกลบทิ้งภายในเวลาที่กำหนดเอาไว้ แอพพลิเคชั่นอย่าง Signal ก็ได้รับความนิยมเพราะมีฟีเจอร์นี้และทำให้การสื่อสารนั้นปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (แต่ก็อย่าลืมให้คนที่เราจะติดต่อด้วยโหลดแอพนี้มาไว้ก่อนด้วย) iMessage ของ iPhone ก็เป็นแบบใส่รหัส แต่ว่าถ้าเราใช้ iCloud Backup อันนั้นจะไม่มีการเข้ารหัสเอาไว้ ส่วน WhatsApp แม้จะเป็น end-to-end encryption แต่ว่าเจ้าของคือ Facebook เพราะฉะนั้นเครดิตก็จะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
อีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่องของการโดนยึดโทรศัพท์มือถือถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน สำหรับตัว iPhone เองข้อมูลจะถูกใส่รหัสเอาไว้อัตโนมัติอยู่แล้วถ้าเกิดว่ามีการใช้รหัสผ่าน สำหรับ Android ให้เข้าไปที่ Settings -> Security แล้วเปิดฟังก์ชั่น ‘Encrypt Disk’ อีกอย่างหนึ่งที่ควรใช้คือ Passcode ที่คาดเดาได้ยาก ไม่ใช่แค่รอยนิ้วมือหรือใบหน้าเพราะว่าถ้าเกิดถูกตำรวจบังคับเอานิ้วไปแปะที่เซนเซอร์หรือแสกนใบหน้าก็ถือว่าเข้าไปเอาข้อมูลได้เรียบร้อย แต่ถ้าเกิดว่าเป็น passcode ก็จะยากขึ้นมาหน่อยถ้าเราไม่ยอมบอก เพราะมีหลายครั้ง (ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่) ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกจะใช้วิธีการควบคุมสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น แก๊สน้ำตา กระสุนยาง รถยนต์ ฯลฯ
เสื้อผ้าที่ใส่ก็มีส่วนช่วยในการปกปิดตัวเองเช่นเดียวกัน ใส่เสื้อสีโดดๆ หรือมีโลโก้อะไรที่เด่นๆ ก็จะทำให้คุณง่ายต่อการติดตาม ถ้ามีรอยสักก็ปิดเอาไว้ ผ้าพันไว้เพื่อจะได้ไม่เด่นออกมา ใส่หน้ากาก แน่นอนป้องกันเรื่องโรคระบาด และปิดบังหน้าตาของตัวเราเองด้วย แว่นกันแดด เพื่อป้องกันระบบตรวจสอบด้วยใบหน้าหรือการหาพบบน social media ซึ่งจะโพสต์รูปภาพก็ควรเบลอใบหน้าและปิดบังส่วนที่บ่งบอกคนอื่นๆ และตัวเองได้ให้หมด แต่แค่นั้นยังไม่พอต้องตรวจเช็กให้แน่ใจว่าไฟล์รูปที่อัพขึ้นไปนั้นไม่ติดคนอื่น และปิด location service และโดยเฉพาะการ ‘live’ จากสถานที่ว่าคนที่อยู่รอบข้างเขาพร้อมจะเข้าเฟรมกับคุณรึเปล่า ไม่ว่าจะแค่อยากบันทึกเอาไว้ ไม่ได้อยากโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่อย่าลืมว่าเมื่อมันไปอยู่ในมือของตำรวจมันคือหลักฐานชั้นดีเลยทีเดียว
การประท้วงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหา มีประโยคหนึ่งของ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ที่บอกว่า
“ชีวิตเราเริ่มจบลงในวันที่เรานิ่งเงียบในเรื่องที่สำคัญ”
การประท้วงเหล่านี้เราไม่รู้หรอกว่าจะเป็นยังไง จะจบหน้าไหน แต่อย่างน้อยๆ มันแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มหนึ่งจะไม่นิ่งเงียบอีกต่อไปกับเรื่องที่สำคัญ แสดงจุดยืนเรียกร้องสิทธิ์ของเขา ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การรวมตัวกันนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้มันเป็นเรื่องที่อันตรายมากยิ่งขึ้น เมื่อตำรวจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อจัดการความเรียบร้อยและสอดส่องเอาข้อมูลของเรา เราก็ต้องรู้จักป้องกันตัวและปกป้องตัวเองจากสถานการณ์แบบนี้ไปด้วย
อ้างอิง