1
วินสตัน เชอร์ชิล ถือเป็นผู้นำที่โชคดี เพราะมี ‘คนเตือน’ อยู่ข้างกาย
ตอนที่เขากำลังเรืองอำนาจสู้รบปรบมือกับฮิตเลอร์และเป็นขวัญใจฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง วันหนึ่ง คลีเมนไทน์ ภรรยาของเขาส่งจดหมายน้อยเขียนมาถึง – ความว่า,
วินสตันที่รัก ฉันต้องขอสารภาพว่า ฉันได้สังเกตเห็นความเสื่อมในกิริยามารยาทของเธอ และเธอก็ไม่ได้เมตตาใจดีเหมือนที่เคยเป็นด้วย
ผมไม่รู้หรอกว่า เหล่าผู้นำบ้าอำนาจปากเสียมารยาททรามทั้งหลายแหล่ที่เห็นกันบ่อยๆ ในโลก จะมี ‘คนเตือน’ ที่ดีแบบนี้อยู่ข้างกายหรือเปล่า เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจมากเท่ากับคำถามที่ว่า – เกิดอะไรกับผู้นำทรงอำนาจเหล่านี้ ถึงได้ทำให้พวกเขามี ‘กิริยามารยาท’ ที่เปลี่ยนแปลงไป
พวกเขามีอาการ ‘ป่วย’ อะไรหรือเปล่า?
มันเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องราวใน ‘หัวสมอง’ ของพวกเขาไหม?
คำตอบที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนให้ไว้ในระยะหลังก็คือ – เกี่ยว, และเกี่ยวมากเสียด้วย!
2
กิริยามารยาทหรือการสังเกตและเข้าอกเข้าใจคนอื่น เป็นกุญแจหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งได้รับการยอมรับนับถือจนกระทั่งมี ‘อำนาจ’ ขึ้นมาได้ แต่ก็น่าตลกทีเดียว ที่เมื่อมีอำนาจขึ้นมาระยะหนึ่ง หลายคนกลับสูญเสียความสามารถในความเป็น ‘ผู้นำ’ เหล่านี้ไป
นักพฤติกรรมศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของพวกผู้นำนิสัยแย่ปากเสียเหล่านี้ขนานนามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Power Paradox หรือ ‘ปฏิทรรศน์แห่งอำนาจ’ คือเมื่อเรามีอำนาจขึ้นมาแล้ว เรากลับสูญเสียความสามารถที่จำเป็นในการขึ้นสู่อำนาจไป
คำถามก็คือ – ทำไม?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องถามกลับเสียก่อนว่า เวลาคุณเห็นใครสักคนทำ (หรือถูกกระทำ) อะไรบางอย่าง คุณเคยเกิดความรู้สึกแบบเดียวกับเขาบ้างไหม เช่น คุณเดินๆ ไปบนถนน แล้วเจอคนถูกรถชน คุณนิ่วหน้าหวาดเสียวและรู้สึกแปลบปลาบเจ็บปวดราวกับคุณถูกรถชนเสียเอง หรือคุณเห็นคนกินของเปรี้ยวจี๊ดหรือเผ็ดจัด แล้วทำปากซู้ดซ้าดต่างๆ นานา เพราะคุณก็รู้สึกเปรี้ยวหรือเผ็ดแบบนั้นด้วยเหมือนกัน
การรู้สึกเหมือนกับคนอื่น โดยที่คุณไม่ได้ประสบกับเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง (แต่เคยมีประสบการณ์แบบนั้นมาก่อน) ไม่ว่าจะสะอิดสะเอียน ขำ เจ็บปวดรวดร้าว ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ที่นักประสาทวิทยาเรียกว่า Mirroring คือเหมือนกับตัวคุณเป็น ‘กระจก’ ส่องสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ภายใน มันคือการที่สมองของคุณเกิดการ ‘เลียนแบบ’ พฤติกรรมต่างๆ ของคนอื่น
นักประสาทวิทยาบอกว่า ตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ คือเซลล์ประสาทที่เรียกว่า ‘เซลล์ประสาทกระจก’ (Mirror Neurons) เมื่อเรารับรู้อะไรบางอย่างขึ้น มันจะจำลองการตอบสนองแบบเดียวกันขึ้นในหัวของเรา ทำให้เราเกิด ‘ความรู้สึกร่วม’ กับมนุษย์คนอื่น
‘ความรู้สึกร่วม’ ที่ว่านี้ คือกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การเสพกิจกรรมเชิงศิลปะอย่างการอ่านภาพยนตร์ การดูภาพเขียนภาพถ่าย หรือการอ่านหนังสือ มีรสมีชาติขึ้นมา เพราะเราซาบซึ้งลึกลงไปในสมองราวกับเราเป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง
เมื่อเรารู้สึกเหมือนเป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านั้นเอง ‘ความรู้สึกร่วม’ นี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่ทำให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจหรือเข้าอกเข้าใจ (เรียกว่ามี Empathy) ในตัวคนอื่น
ถ้าเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมคนที่มีอำนาจ (เช่นพวกเผด็จการต่างๆ) ถึงเกิด ‘ความเสื่อม’ ในกิริยามารยาทและความเข้าใจคนอื่นขึ้นมาได้เล่า
คำตอบที่นักประสาทวิทยาค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ ตัว ‘อำนาจ’ นั้น มันทำให้กระบวนการ Mirorring หรือเซลล์ประสาทกระจกในตัวคนที่เป็นผู้ครอบครองอำนาจเสียไปนั่นเอง
ฟังดูราวกับอำนาจเป็นเชื้อโรคอะไรสักอย่างที่เข้าไปติดเชื้อในสมองได้ ราวกับนิยายวิทยาศาสตร์หรือเรื่องสั้นเสียดสีเผด็จการ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหรือเรื่องแต่งนะครับ เพราะมีการศึกษากันจริงจังในหลายด้าน เช่นนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ชื่อ ดาเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) ได้ศึกษาพฤติกรรมของคนจำนวนมากเป็นเวลานานราวสองทศวรรษ โดยเปรียบเทียบคนที่ ‘ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจ’ (Under the Influence of Power) กับคนทั่วไป เขาพบว่าคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจนั้น จะมีพฤติกรรมในการแสดงออกต่างๆ เหมือนกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองร้ายแรงในระดับ Traumatic Injury
ลักษณะสำคัญของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอำนาจ เป็นไปคล้ายๆ กับวินสตัน เชอร์ชิล ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (ตอนที่ถูกเมียเตือน) เลย นั่นคือจะหุนหันพลันแล่นมากขึ้น ตระหนักถึง ‘ความเสี่ยง’ ต่างๆ น้อยลง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะมีความสามารถในการมองโลกจากมุมมองของคนอื่นๆ น้อยลงอย่างมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก และเข้าใจคนอื่นน้อยลง
การศึกษาของเคลต์เนอร์ ได้รับการยืนยันด้วยการศึกษาของนักประสาทวิทยาชื่อ ซุควินเดอร์ โอบิ (Sukhvinder Obhi) แห่งมหาวิทยาลัย McMaster ในออนตาริโอ ซึ่งแม้จะศึกษาเรื่องเดียวกันกับเคลต์เนอร์ ทว่ามีจุดเน้นต่างกัน คือเป็นการดูการทำงานของสมอง ว่าสมองของคนที่มีอำนาจและคนที่ไม่มีอำนาจนั้น เมื่อถูกกระตุ้นแล้วจะทำงานต่างกันอย่างไร
โอบิพบว่า ตัว ‘อำนาจ’ นั้น มันไปทำลายกระบวนการกระจก (Mirorring) ที่เราว่ากันไปข้างต้นนั่นแหละครับ กระบวนการนี้ค้นพบกันในยุคแปดศูนย์ถึงเก้าศูนย์ โดยนักประสาทวิทยาหลายคน เชื่อกันว่าเป็นกระบวนการทางสมองที่ทำให้มนุษย์ (และสัตว์ฝูงอื่นๆ) มีพัฒนาการร่วมทางสังคม และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะความรู้สึกร่วมทำให้เกิดความเป็นกลุ่มก้อน เป็นหนึ่งเดียวกัน เกิดอัตลักษณ์ร่วม โดยเซลล์ประสาทกระจกนั้นพบได้ในพื้นที่สมองหลายบริเวณ เรียกว่าเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งสมองเลยก็ว่าได้
แต่ในคนที่มีอำนาจ (หรือคิดว่าตัวเองมีอำนาจ) กระบวนการทำงานของสมองแบบนี้จะลดน้อยลง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกร่วมกับคนอื่น เข้าใจคนอื่นได้น้อยลง และดังนั้นจึงนำพาคนที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเองเข้าสู่ ‘ความเสี่ยง’ มากขึ้นเรื่อยๆ
การทดลองที่แสดงให้เห็นว่าคนมีอำนาจสูญเสียความเข้าใจในคนอื่นยังมีอีกหลายการทดลองนะครับ การทดลองที่ดังมากอันหนึ่ง คือให้คนลองเขียนตัวอักษร E ลงไปบนหน้าผากของตัวเองเพื่อให้คนอื่นอ่าน เขาพบว่า ถ้าเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ จะเขียนตัว E ในแบบธรรมดา คือเป็นมุมมองของตัว E ที่มองออกไปจากตัวเอง ทำให้คนอื่นๆ ที่มองเข้ามาเห็นเป็นตัว E กลับข้าง ในขณะที่คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจน้อย จะเขียนตัว E ด้วยมุมมองจากภายนอก จึงได้ตัว E ที่คนอื่นๆ เห็นว่าเป็นตัว E ปกติ
ข้อสรุปจากการทดลองนี้ก็คือ คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจน้อย จะ ‘เห็นใจ’ คนอื่นๆ มากกว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมาก จึงเขียนตัว E ในแบบที่คนอื่นอ่านได้รู้เรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองอื่นอีกหลายอย่าง เช่น การให้คนมีอำนาจกับไร้อำนาจดูภาพคนอื่น แล้วประเมินความรู้สึกของคนในภาพออกมา ปรากฏว่าคนที่มีอำนาจจะประเมินความรู้สึกของคนในภาพผิดมากกว่าคนที่ไร้อำนาจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนที่มีอำนาจเข้าใจคนอื่นน้อยกว่าคนที่ด้อยอำนาจ
เขาบอกว่า ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่คนไร้อำนาจมีเหมือนๆ กัน และถ่ายทอดถ่ายเทระหว่างกันผ่านการทำงานของเซลล์ประสาทกระจกนั้น ทำให้คนทั่วๆ เกิดการ ‘เลียนแบบ’ (mimicking) กันและกันได้ คนทั่วไปจะหัวเราะไปกับเสียงหัวเราะของคนอื่น ร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้าของคนอื่น เจ็บปวดไปกับเรื่องเจ็บปวดของคนอื่น เพราะเซลล์ประสาทกระจกจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเดียวกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – มันเตือนให้เรารู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ระหว่างกัน
แต่ผู้มีอำนาจหรือคิดว่าตัวเองมีอำนาจมักสูญเสียความสามารถนี้ไป คนเหล่านี้มักจะไม่หัวเราะกับเรื่องขำขันของคนอื่น ไม่ร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้าของคนอื่น เพราะการรับรู้ความรู้สึกที่ว่าเสียไปแล้ว ผู้นำที่คลั่งอำนาจหรือเป็นเผด็จการส่วนใหญ่จึงมักมีพฤติกรรม ความคิด และความเชื่อที่ไม่เหมือนคนทั่วไป ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่สภาวะขาดแคลนความเห็นอกเห็นใจหรือเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (เคตล์เนอร์เรียกว่ามีอาการ Empathy Deficit) ขึ้น
ด้วยเหตุนี้ คำพูดที่ว่า ‘อำนาจทำให้เสื่อม’ จึงไม่ใช่แค่คำพูดเปรียบเปรย แต่ความ ‘เสื่อม’ ที่ว่า คือความเสื่อมที่มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มารองรับเลยทีเดียว
ในหนังสือ In Sickness and in Power ที่เขียนโดย ลอร์ดเดวิด โอเวน (David Owen) เขาถึงกับบอกว่า การเปลี่ยนบุคลิกภาพของคนที่มีอำนาจแบบนี้ ถือเป็น ‘อาการป่วย’ อย่างหนึ่ง เขาตั้งชื่ออาการป่วยนี้ว่า Hubris Syndrome ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทย – อาจแปลได้ว่าเป็น, โรคโอหังของคนคลั่งอำนาจ
คำถามก็คือ – โรคนี้มีหนทางรักษาให้หาย หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้หรือเปล่า?
3
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า การหยุดหรือการป้องกันไม่ให้อำนาจเข้าไปส่งผลต่อสมองนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่ออำนาจมาถึงตัวแล้ว คนเรามักพึงพอใจกับมัน อำนาจจึงเข้าไปเปลี่ยนแปลงสมองของเราทีละน้อย แช่มช้า แต่หนักแน่นมั่นคง สิ่งที่อาจช่วยผู้มีอำนาจได้มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือคนที่มีอำนาจ ต้อง ‘หยุดรู้สึก’ ว่าตัวเองมีอำนาจบ้างเป็นครั้งคราว
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Finance ชื่อ What Doesn’t Kill You Will Only Make You More Risk-Loving : Early-Life Disasters and CEO Behavior เป็นการศึกษาซีอีโอของบริษัทต่างๆ พบว่าซีอีโอที่ในวัยเด็กเคยผ่านพบกับภัยธรรมชาติแบบโหดๆ ถึงขนาดที่มีคนตายจำนวนมาก (หรือมีคนใกล้ตัวตาย) เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ทอร์นาโดฯลฯ เมื่อได้เป็นซีอีโอแล้ว จะมีการทำงานในแบบที่พาบริษัทไปเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ‘น้อย’ กว่าซีอีโอที่ไม่เคยผ่านพบประสบการณ์เหล่านี้ (เรียกว่ามีความเป็น Risk-Seekers น้อยกว่า) แต่ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ ซีอีโอที่ตอนเด็กๆ เคยเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติใหญ่ๆ แต่เป็นภัยที่ไม่ได้มีคนใกล้ตัวตาย หรือมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก กลับมีแนวโน้มทำงานแบบพาบริษัทไปเสี่ยงหรือเป็น Risk-Seekers มากที่สุด
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่เคยเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายจริงๆ ถึงระดับความเป็นความตาย จะไม่ค่อยอยากพาคนอื่นไปเสี่ยงหรือไปตายด้วย เพราะมีฐานแห่ง ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่ทำให้เกิด Empathy อยู่ลึกๆ ภายใน แต่คนที่นึกว่าตัวเองเก่ง นึกว่าตัวเองเคยเสี่ยงภัยมาแล้ว แต่ไม่ได้เผชิญหน้ากับความเป็นความตายที่แท้จริง จะมีแนวโน้มพาความเสี่ยงมาสู่กลุ่มคนที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเองได้มากกว่า
น่าเศร้า, ที่ในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย เราพบปรากฏการณ์แบบนี้มาแล้วหลายครั้ง แม้กระทั่งในปัจจุบัน
ความเสื่อมของสมอง ความเสื่อมของความสามารถในการเข้าอกเข้าใจคนอื่น รวมถึงการพาคนที่อยู่ใต้อำนาจไปเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่างๆ โดยคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นเรื่องถูกต้องนั้น ถือเป็นอาการหลักของ ‘โรคโอหังคลั่งอำนาจ’ หรือ Hubris Syndrome ลอร์ดโอเวนบอกว่า โรคนี้เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อได้ครอบครองอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจที่เชื่อมโยงกับความสำเร็จแบบล้นเกิน เป็นอำนาจที่ต่อเนื่องยาวนานหลายๆ ปี และมีการต่อต้านขัดขืนผู้นำที่ว่านี้เพียงเล็กน้อย
โรคโอหังคลั่งอำนาจมีอาการทางคลีนิก (Clinical Features) อยู่ถึง 14 ประการด้วยกัน เช่น ชอบเหยียดหยามคนอื่นว่าโง่กว่าตัวเอง สูญเสียความสามารถในการมองเห็นความเป็นจริง ขยันทำงานไม่หยุดหย่อน แต่ผลงานที่ออกมาไร้ประสิทธิภาพและสมรรถภาพ ฯลฯ
วิธีป้องกันและรักษาโรคโอหังคลั่งอำนาจนั้น เคลต์เนอร์บอกว่าทำได้ด้วยการฝึกให้มี Empathy ด้วยวิธีต่างๆ เช่น พยายาม ‘ฟัง’ และทำความเข้าใจคนอื่น รู้จักขอโทษ รวมไปถึงการฝึกความรู้สึกสำนึกบุญคุณคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจน้อยกว่ามากๆ ซึ่งฟังดูเหมือนคำสอนของครูอนุบาล แต่แท้จริงแล้ว สมองของคนที่ป่วยเป็นโรคโอหังคลั่งอำนาจ ก็ต้องการการ ‘ฝึก’ แบบเด็กอนุบาลด้วยเหมือนกัน เพราะการฝึกเหล่านี้จะทำให้กระบวนการ Mirroring ในสมองกลับมาทำงานได้ดีขึ้น
อันที่จริง ตัวลอร์ดเดวิด โอเวน เองก็ยอมรับนะครับว่าเขาเคยเป็นโรคโอหังที่ว่านี้ด้วย นั่นทำให้เขาสนับสนุนให้เกิดการค้นคว้าในเรื่องนี้ เพราะเขารู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบทางลบต่อคนทั่วไปในวงกว้าง แต่ถึงกระนั้น ลอร์ดโอเวนก็ยังเล็งเห็นผลกระทบเรื่องนี้เฉพาะในด้านธุรกิจเท่านั้น เขาคิดว่าผู้นำคลั่งอำนาจที่ไม่มีความสามารถในการเห็น ‘โลกจริง’ อาจนำพาธุรกิจต่างๆ ไปสู่หายนะได้ เขาเลยตั้งกองทุนเดดาลุสทรัสต์ (Daedalus Trust) ข้ึน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อโรคโอหังคลั่งอำนาจที่ว่านี้ จะได้ก่อให้เกิดความเข้าใจโรคนี้ได้มากขึ้น
ผมไม่แน่ใจนัก ว่าลอร์ดโอเวนมองโรคโอหังนี้ในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากมิติทางธุรกิจด้วยหรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริงแล้ว โรคโอหังคลั่งอำนาจในด้านอื่นๆ บางด้าน อย่างเช่นด้านการเมืองนั้น – อาจก่อให้เกิดผลร้ายในวงกว้างมากกว่าทางธุรกิจก็ได้ ดังที่เราเห็นกันอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบันกับผู้นำหลายคนในโลกที่เราอาศัยอยู่
อย่างไรก็ดี ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์ทั่วไปอย่างเราๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจบาตรใหญ่อะไร ก็อาจต้องเมตตาผู้คลั่งอำนาจโดยไม่รู้ตัวเหล่านั้น ด้วยการมอบความเห็นอกเห็นใจ (หรือมี Empathy) ให้กับผู้นำคลั่งอำนาจที่มักมีบุคลิกภาพแปรปรวน ปากเสีย มองไม่เห็นโลกอย่างที่มันเป็นจริง มองไม่เห็นความเดือดร้อนที่เกิดจากการกระทำของตัวเองและพวกพ้อง มีความคิดที่บิดเบี้ยว เห็นความโง่เป็นความฉลาด และมีวิธีคิดวิธีแสดงออกกลับหัวกลับหาง
เพราะพวกเขาไม่ใช่คนธรรมดา แต่ตามนิยามของลอร์ดโอเวนแล้ว – คือผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวเองว่าป่วย แถมยังอาจเป็นวินสตัน เชอร์ชิล ในเวอร์ชั่นที่ไม่มีใคร – แม้แต่เมีย, ที่รักเขามากพอจนกล้าเอ่ยปากเตือนด้วย
คนป่วยเช่นนี้ไม่น่าเห็นอกเห็นใจหรอกหรือ