เมื่อใครสักคนจั่วหัวพูดเรื่องขนส่งสาธารณะในประเทศนี้ขึ้นมา ถ้าคนที่เราสนทนาด้วยไม่เลือกจะเบะปาก ก็คงส่งสีหน้าหมดอาลัยตายอยาก เพราะแค่นึกภาพรถเมล์ที่เอาแน่เอานอนไม่เคยได้ ภาพรถไฟฟ้าที่ไม่นานมานี้ก็มีแต่ข่าวเสียๆ หาย หรือภาพเรือด่วนที่แทบจะไม่เคยเกรงใจสวัสดิภาพผู้โดยสาร อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ชวนให้หดหู่ และรำพันอย่างอเนจอนาถ ว่าชาติที่แล้วลูกช้างไปทำกรรมอะไรมา ไฉนถึงต้องมารู้สึกว่าชีวิตช่างต่ำต้อยด้อยค่าระหว่างโดยสารขนส่งสาธารณะของไทยแลนด์แดนสยามนี้ด้วย
ผมเองที่พึ่งพาขนส่งสาธารณะอยู่บ่อยๆ ก็พบประสบการณ์ชวนหดหู่อยู่เป็นประจำครับ ในบางเช้าที่รถติดหนักๆ ผมเห็นบางคนเป็นลมล้มพบไปทั้งอย่างนั้น โชคดีว่ามีพยาบาลอยู่ด้วย ก็เลยมีคนช่วยรักษาได้ทัน หรือบ่อยครั้งที่รถขาดระยะ หลังจากที่ทนยืนรออยู่นานเกือบชั่วโมง แต่พอเห็นผู้โดยสารที่เบียดเสียดกันอยู่ในรถ สุดท้ายก็ต้องยอมถอยกลับมายืนจ๋อยๆ รอรถเมล์คันต่อไปอย่างสิ้นหวัง ปัญหาที่โยงใยอยู่กับขนส่งสาธารณะในประเทศนี้ช่างมากมายเสียจนผมเองก็จินตนาการไม่ออกว่าถ้าคิดจะเริ่มแก้ เราควรต้องเริ่มจากตรงไหน ลำพังแค่รถเมล์ก็ลิสต์อุปสรรคได้เป็นร้อยข้อแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงทัศนคติผิดๆ ที่ขนส่งสาธาณะประเทศนี้มักถูกมองว่าเป็นพาหนะของคนจน และชนชั้นล่าง
ด้วยความสิ้นหวัง แต่ก็ต้องการคำตอบว่า ต้องทำยังไง ขนส่งสาธารณะของประเทศนี้ถึงจะดีขึ้นได้ ผมก็บังเอิญไปเจอหนังสือเล่มนี้เข้าพอดีครับ ‘Human Transit: How Clearer Thinking About Transit Can Enrich Our Communities and Our Lives’ ซึ่งคุณ Jarett Walker ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบขนส่งสาธารณะด้วยครับ
Walker ได้ให้ความหมายว่าขนส่งสาธารณะประกอบด้วยปัจจัย 4 ด้วยกัน นั่นคือ
- เป็นยานพาหนะที่มาตามตารางเวลา นั่นคือ ขนส่งสาธารณะจำเป็นต้องคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ เพื่อให้ผู้โดยสารวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ กล่าวคือ รับรู้การเดินรถอย่างแน่นอนตายตัวโดยเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลหนึ่งๆ ต่อระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น ไม่ใช่การวางแผนระหว่างบุคคลกับบุคคล
- เป็นยานพาหนะที่เปิดให้ผู้โดยสารทุกคนเข้าถึงและใช้ได้
- เป็นยานพาหนะที่สามารถขนส่งผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะประสิทธิภาพที่จะขนส่งปริมาณที่มากนี่เอง คือจุดเด่นสำคัญของขนส่งสาธารณะ
- ไม่จำเป็นว่าผู้โดยสารแต่ละคนต้องเดินทางจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน สู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน เพื่อเป้าหมายร่วมกัน กล่าวคือ ผู้โดยสารบนขนส่งสาธารณะต่างมีต้นสายปลายเหตุที่แตกต่างกันไป และไม่จำเป็นว่าต้องรู้จักกันก่อน ในระหว่าง หรือหลังจากการเดินทางนั้นๆ
จะเห็นว่าหากยึดตามนิยามของ Walker ขนส่งสาธารณะของประเทศเราดูจะผิดความหมายไปตั้งแต่ข้อแรกเลยนะครับ หรือในแง่ของการเปิดรับผู้โดยสารเอง ในบางครั้งก็มีกรณีที่ไล่ผู้โดยสารลงจากรถเช่นกัน (เท่าที่ผมเคยเจอกับตัว คือเป็นเพราะสัมภาระที่มากเกินไป จนไปเบียดบังที่ยืนของคนอื่น)
Walker ชี้ว่า ในการที่ใครจะเลือกโดยสารขนส่งสาธารณะนั้น สามารถจำแนกปัจจัยในการพิจารณาได้เป็น 7 ข้อด้วยกันครับ ประกอบด้วย
1. พาเขาไปยังจุดหมายที่ต้องการ : ขนส่งสาธารณะนั้นๆ เดินทางไปบริเวณที่ผู้โดยสารต้องการจะไป จากตำแหน่งปัจจุบันที่เขาอยู่ รวมถึงจุดที่รถหยุดนั้นใกล้หรือไกลจากจุดหมายของเขาแค่ไหน
2. พาไปในเวลาที่เขาต้องการ : ข้อนี้แตกย่อยได้เป็นสองปัจจัยด้วยกัน คือ ขนส่งสาธารณะนั้นๆ วิ่งในช่วงเวลาที่ผู้โดยสารต้องการหรือเปล่า ซึ่งวัดได้จากเวลาที่เริ่มวิ่ง และหยุดวิ่ง กับ อัตราความถี่ของขนส่งสาธารณะนั้นๆ ที่ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องไปยืนรอเก้อเป็นชั่วโมงๆ แต่อาจมาทุกๆ 10 – 15 นาที
3. คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป : ผู้โดยสารจะคำนึงว่า การเดินทางแต่ละครั้งไม่สูญเปล่า แต่เขาจะได้ประโยชน์กลับมาในระหว่างการเดินทาง เช่น มีไฟอ่านหนังสือให้ได้ใช้ในกรณีที่เดินทางกลางคืน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หรือมีไวไฟให้ใช้ เช่นกันที่ความคุ้มค่าต่อเวลาที่เสียไปยังถูกคำนึงในแง่ที่ของความรวดเร็วในการเดินทาง เพราะคงไม่มีใครที่อยากเสียเวลานานๆ ไปกับขนส่งสาธารณะอยู่แล้ว
4. คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป : โดยส่วนมาก ผู้โดยสารจะคำนวณอัตราค่าโดยสารเปรียบเทียบระหว่างการเดินทางอยู่เสมอ เงินจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้ตัดสินว่า พวกเขาจะใช้ขนส่งสาธารณะนี้ต่อไป หรือหันไปหาการเดินทางรูปแบบอื่น ที่สมเหตสมผลมากกว่ากับเงินที่เสียไป
5. เคารพพวกเขา : ผู้โดยสารต้องการจะรู้สึกว่าขนส่งสาธารณะนั้นๆ ได้ให้คุณค่าเขาในฐานะของผู้ใช้บริการ ประชาชน และมนุษย์คนหนึ่ง กล่าวคือ พวกเขาล้วนต้องการความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และมารยาท ซึ่ง Walker สรุปว่าเป็นเรื่องของอารยะในพื้นที่สาธารณะนั่นเองครับ
6. สามารถเชื่อได้ : แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ ขนส่งสาธารณะนั้นๆ จะส่งผู้โดยสารไปถึงจุดหมายได้อย่างสวัสดิภาพ ทว่าลึกๆ แล้ว ผู้โดยสารเองยังมีความกังวลใจว่า จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นในวันที่เขารีบๆ เช่น รถขาดระยะ รถเสียกลางทาง หรือรถหมดระยะก่อนจะถึงป้าย ‘การวางใจได้’ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดให้ผู้โดยสารนั้นๆ เลือกจะใช้ขนส่งสาธารณะอย่างเป็นกิจวัตรหรือเปล่า
7. ให้เสรีภาพกับเขา : ข้อนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้โดยสารหลายคนปฏิเสธขนส่งสาธารณะ และหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะรู้สึกว่า รถยนต์ให้อิสรภาพในการเดินทาง หรือการเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย เปลี่ยนเส้นทางต่อเขา พูดง่ายๆ คือ ความคล่องแคล่วนั่นเองครับ ซึ่งว่ากันแล้ว เสรีภาพอาจเป็นข้อที่ท้าทายที่สุดจากทั้งหกข้อที่กล่าวมา เสรีภาพอาจถูกมองในแง่ของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างไม่ซับซ้อน แต่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกันครับ คือไม่ใช่ว่า รถเมล์ก็วิ่งแต่เส้นทางของตัวเอง ไม่เชื่อมต่อใดๆ กับเครือข่ายสาธารณะอื่นๆ ถ้าขนส่งสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือเรือด่วน เชื่อมโยงเข้าหากันได้ ไม่เพียงแต่ผู้โดยสารจะเดินทางสู่สถานที่ต่างๆ ในหลากหลายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเอื้ออิสระให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนแผนได้ตามแต่ใจต้องการด้วยครับ
เมื่อเราลองนำปัจจัยทั้ง 7 ข้อนี้มาทาบทับกับบริบทการขนส่งสาธารณะประเทศเราจะเห็นได้ว่า แทบไม่ตอบสนองความต้องการในข้อไหนเลย มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าขนส่งสาธารณะในบ้านเราจะไม่ตอบโจทย์ใดๆ ในการเลือกใช้งาน เพราะลำพังแค่ตัวมันเองก็ไม่เชิญชวนให้น่าใช้เท่าไหร่แล้ว เช่นกันที่ระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเราเองก็เป็นปัญหาเชิงลูกโซ่ ที่โยงใยกันเป็นองคาพยพไม่รู้จบ
ในหนังสือเล่มนี้ Walker ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญอีกประการที่จะละเลยไม่ได้เลยในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับขนส่งสาธารณะคือ เมืองต้องเป็นมิตรกับคนเดินถนน (pedestrian) เขาอธิบายว่า ในการที่ผู้โดยสารอยากจะเดินมาขึ้นขนส่งสาธารณะใดๆ พวกเขาต้องไม่รู้สึกว่าการเดินเป็นอุปสรรคต่อเขา แต่เป็นธรรมชาติ และการเดินทางรูปแบบหนึ่งที่เป็นอิสระ แต่ลองกลับมามองทางเท้าบ้านเราที่ผุๆ พังๆ บ้างก็มีน้ำขัง แถมบ่อยครั้งก็มีมอเตอร์ไซต์วิ่งขึ้นมาสิครับ นอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังเดินไม่ค่อยสบายอีกด้วย แล้วแบบนี้ใครจะอยากเดิน รถเมล์จะน่าขึ้นจริงๆ เหรอ ถ้าลำพังแค่ออกจากบ้านก็มีเหตุให้หงุดหงิดใจแล้ว
ถ้าว่ากันตามหนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่ขนส่งสาธารณะในประเทศเราจะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอย่างเต็มประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังถูกลดคุณค่าในตัวเองลงอย่างน่าเศร้า เช่นเดียวกับที่ผู้โดยสารขนส่งสาธารณะอย่างผม หรือใครๆ อีกหลายคน ก็ต้องทนถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงอย่างชินชา ทว่าก็จำยอม
ความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าได้กลายเป็นเรื่องปกติของประเทศนี้ไปแล้ว แต่ถามว่าเราทำอะไรผิดไหม ก็ไม่ เราเพียงแค่นั่งรถเมล์ไปทำงานก็เท่านั้น