ช่วงที่ผ่านมาผมได้ดูภาพยนตร์อนิเมะหลายต่อหลายเรื่องติดต่อกันโดยไม่ได้ตั้งใจครับ เพราะว่าสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่นเขาเล่นจัดฉายอนิเมชั่นของ Studio Ghibli ทุกวันศุกร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วศรีภรรยาผมก็เปิดดูประจำจนผมเองก็ได้ดูตามไปด้วย การได้ย้อนกลับมาดูงานของ Studio Ghibli เมื่อตอนที่ตัวเองโตขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ได้ชมอนิเมชั่นเรื่อง Mirai no Mirai หรือ มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย ของ Hosoda Mamoru ผู้กำกับที่ชื่นชอบอีกท่านหนึ่ง ก็ทำให้ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการอนิเมชั่นแบบภาพยนตร์ของญี่ปุ่นที่น่าจะเรียกได้ว่ามาถึงช่วง ‘ส่งไม้ต่อ’ กันแล้วก็ว่าได้ครับ
หากพูดถึงงานอนิเมชั่นแบบภาพยนตร์ของญี่ปุ่น Studio Ghibli ก็คงจะโผล่ขึ้นมาเป็นเจ้าแรกในความคิดของชาวต่างชาติส่วนใหญ่ เพราะตลอดเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา Studio Ghibli ได้สร้างผลงานอนิเมชั่นที่โดดเด่นมากมายหลายต่อหลายเรื่อง ได้ทั้งเงินได้ทั้งรางวัลไปมากมาย และกลายเป็นหลักไมล์ของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น เป็นยักษ์ใหญ่ที่ทุกคนให้การเคารพมาโดยตลอดเพราะตัวผลงานของพวกเขาพิสูจน์ตัวเองให้เราได้เห็นอยู่เสมอ ตั้งแต่ผลงานน่ารักจับใจอย่าง My Neighbor Totoro ที่ชาวญี่ปุ่นต่างรักในความน่ารักของตัวโทโทโร่และสนใจในพัฒนาการของสองพี่น้องในเรื่อง ซึ่งต่อมาได้มีการจำลองบ้านของสองพี่น้องไว้ที่งาน Expo จังหวัดไอจิ เมื่อปี 2005
หลังจาก My Neighbor Totoro ทางสตูดิโอก็ยังมีงานระดับขึ้นหิ้งอีกหลายต่อหลายชิ้น เช่น Grave of the Fireflies หรือ สุสานหิงห้อย ที่ฉายในปีเดียวกัน เป็นเรื่องเศร้าของสองพี่น้องที่รอดจากสงครามและกลายมาเป็นเด็กที่ต้องระหกระเหินใช้ชีวิตเร่ร่อน จะว่าไปเรื่องนี้ก็เป็นสื่อบันเทิงเรื่องแรกๆ ที่กล่าวถึงเด็กกำพร้าจากสงครามที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม ต่างกับทายาทของทหารที่เสียชีวิตในสงครามที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นทายาทของวีรบุรุษ ลูกหลานของคนที่เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศกลับถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมและถูกผลักไสให้ไปอยู่กับญาติที่บางทีอาจจะห่างกันเกินไปจนต่อไม่ติด เด็กกลุ่มนี้ต่อมาก็กลายมาเป็นเด็กเร่ร่อนขอทานและลักเล็กขโมยน้อยตามสถานี ก่อนจะถูกจับไปขังกรงหรือหากตายก็ถูกนำไปฝังรวมกันโดยไม่ได้การประกอบพิธีทางศาสนา ไม่น่าเชื่อว่าแม้ในปัจจุบันนี้สื่อโทรทัศน์ก็ยังไม่ค่อยกล้าเสนอเรื่องราวเหล่านี้เท่าไหร่นัก ส่วนตัวเด็กกำพร้าจากสงครามที่รอดชีวิตและโตมาได้ก็พยายามซ่อนอดีตอันน่าเศร้าและเป็นที่รังเกียจของตัวเอง แต่ Grave of the Fireflies กลับเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ 1988 ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังอยู่ในยุคที่หลงใหลไปกับฟองสบู่เศรษฐกิจ เป็นการเตือนสติผู้คนในยุคนั้นได้อย่างดี
นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง Princess Mononoke ที่เล่นกับความเชื่อโบราณทางชินโตของญี่ปุ่นและเอามาผูกเข้ากับการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วน Spirited Away ก็นำเอาความเชื่อญี่ปุ่นโบราณมาเล่าเรื่องของการเติบโตของเด็กสาวและวิจารณ์สังคมบริโภคนิยมไปพร้อมๆ กัน รวมถึง The Wind Rises ที่แสดงจุดยืนเรื่องการต่อต้านสงครามและตั้งคำถามต่อลัทธิชาตินิยมอย่างตรงไปตรงมา
ดูเหมือนว่างานของ Studio Ghibli จะมีธีมหลักของเรื่องตั้งแต่การรักษาสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการต่อต้านสงคราม
อนิเมชั่นจากสตูดิโอแห่งนี้ยังมีจุดเด่นที่พบได้เสมอในเรื่อง เช่น การโบยบินบนท้องฟ้า หรือความรู้สึกถวิลหาอดีตอันสวยงามแฟนตาซี รวมไปถึงภาพแสนงามที่เขียนด้วยมือ เพียงแต่ว่าเมื่อย้อนกลับมาดูงานอื่นที่ไม่ใช่งานขึ้นหิ้งเหมือนเรื่องอื่นๆ เช่น Howl’s Moving Castle ก็พบว่า แม้เมื่อสิบกว่าปีก่อนผมจะประทับใจที่ได้ดูเรื่องนี้ในโรงและปากค้างกับความสวยของภาพ แต่เมื่อตัดสิ่งเหล่านั้นออกไปก็พบว่าเนื้อเรื่องช่างขาดเสน่ห์อย่างน่าตกใจ และพอมาดูงานหลังๆ ของสตูดิโอแล้วก็รู้สึกคล้ายๆ กัน คือแม้หลายเรื่องจะมีภาพสวยและไม่ขาดเสน่ห์ความแฟนตาซีในแบบของสตูดิโอพร้อมกับบรรยากาศถวิลหา แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อตัวผมโตขึ้นเรื่อยๆ (แก่ขึ้น) กลับไม่ได้รู้สึกผูกพันกับงานใหม่ๆ ของสตูดิโอเท่าไหร่นัก
ความผูกพันกับ Studio Ghibli ที่เปลี่ยนไปทำให้อดไม่ได้ที่จะหันมามองทางผู้กำกับอนิเมชั่นรุ่นใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นอนาคตของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นทั้ง Kon Satoshi, Shinkai Makoto และ Hosoda Mamoru น่าเสียดายที่ว่า Kon ได้ด่วนจากโลกนี้ไปก่อน แต่ก็ได้ทิ้งผลงานชั้นเลิศไว้ประดับวงการ ทั้ง Perfect Blue ที่กลายเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซไปแล้ว หรือ Tokyo Godfathers ที่พูดถึงครอบครัวที่ไม่สมประกอบก่อนจะมีหนังเรื่อง Shoplifters ของ Koreeda ถึง 15 ปีเสียอีก และ Paprika งานที่ถูกยกย่องในวงการฮอลลีวูดเป็นอย่างมาก
ส่วน Shinkai Makoto แม้บางครั้งดูเหมือนว่าเขาจะเล่นกับเรื่องราวของความรักเป็นหลัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาสามารถเข้าใจถึงสภาพจิตใจของคนในสังคมเมืองยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการทำธีมเรื่องที่เหมือนจะง่ายแต่ก็ยากที่จะหาแนวทางใหม่ที่จับใจคนดูให้ได้แบบนั้น ต้องยอมรับในฝีมือจริงๆ รวมถึงงานภาพที่โดดเด่นไม่แพ้กัน
คนที่ผมคิดว่าน่าจะรับไม้ต่อจาก Studio Ghibli นำทางอนิเมชั่นญี่ปุ่นไปสู่อนาคตได้ก็คงเป็น Hosoda Mamoru ผู้กำกับเจ้าของผลงาน Mirai no Mirai ที่เข้าฉายในบ้านเราไปแล้ว
เพราะดูจากแนวทางแล้วน่าจะสานต่อสิ่งที่ Studio Ghibli ทำมาได้เหมาะสมที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะตัวเขาเองก็หลงใหลใน Studio Ghibli อยู่แล้ว เขาเคยสมัครสอบเพื่อเข้าทำงานในสตูดิโอแต่กลับสอบไม่ผ่าน โดยมารู้เหตุผลในภายหลังจากจดหมายที่ Miyazaki Hayao เขียนถึงเขาโดยตรงว่า ถ้าหากเขาเข้าทำงานที่ Studio Ghibli กลับจะเป็นการไปทำลายพรสวรรค์ของเขาเสียมากกว่า ทางสตูดิโอจึงตัดสินใจไม่ให้เขาผ่านเข้าทำงาน เรียกว่าได้รับการยอมรับจาก Miyazaki ตั้งแต่เส้นทางการทำอนิเมชั่นเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานเสียด้วยซ้ำ
แม้ที่ผ่านมา Hosoda จะเพิ่งมีผลงานภาพยนตร์อนิเมชั่นเพียงแค่ 5 เรื่อง แต่ทั้ง 5 เรื่องก็ได้รับการชื่นชมอย่างมากทั้งในและนอกวงการ เพราะประเด็นที่เป็นจุดร่วมในแต่ละเรื่องของเขาก็เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย นั่นคือ การเติบโต, coming of age และสายสัมพันธ์ในครอบครัว
ในส่วนของการเติบโตและ coming of age เขามักจะให้ตัวละครเอกได้เผชิญกับปัญหาที่ต้องพัฒนาตัวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งถึงจะแก้ไขได้ กลายเป็นพัฒนาการของคนคนหนึ่งในเรื่องนั้นๆ ที่น่าสนใจคือ Hosoda เล่นกับประเด็นการเติบโตในหลายช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กโต ไปจนถึงล่าสุดที่ใน Mirai no Mirai เป็นเด็กอายุแค่ 4-5 ขวบเท่านั้น ไม่แปลกที่อนิเมชั่นของผู้กำกับคนนี้จะสามารถจับใจคนได้หลายรุ่น เพราะเราเองก็ล้วนแต่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาเช่นกัน นอกจากนี้ ภาพยนตร์ของเขาทั้ง 5 เรื่องก็ออกฉายในฤดูร้อนของญี่ปุ่นเสมอ ไม่แน่ใจว่าส่วนหนึ่งตั้งใจจะสื่อถึงประสบการณ์ในช่วงฤดูร้อนที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นได้รึเปล่า (หรือแค่ต้องการให้วัยรุ่นมาดูช่วงปิดเทอมเยอะๆ) สุดท้ายคือ ในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขาต้องมี ‘เมฆคิวมูโลนิมบัส’หรือเมฆฝนฟ้าคะนองก่อตัวอยู่ในเรื่องเสมอ และขนาดของเมฆก็จะค่อยๆ ใหญ่โตไปตามการเติบโตของตัวละคร เป็นการเล่าเรื่องผ่านสัญลักษณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว Hosoda ทำงานโดยได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของเขาเอง งานแต่ละชิ้นจึงมีเสน่ห์ของตัวเอง เช่น Wolf Children ก็เป็นงานที่เขาทำให้กับคุณแม่ที่จากโลกไปก่อนหน้านั้นหลังจากเลี้ยงเขาด้วยตัวคนเดียวมาโดยตลอดเพราะพ่อของเขาเสียไปตั้งแต่ยังเด็ก และพอ Hosoda มีลูกคนแรก เขาก็คิดได้ว่าเด็กไม่ได้เติบโตได้เพียงการเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่คนรอบๆ ก็ยังช่วยเลี้ยงดูเด็กอีกด้วย ไอเดียที่ว่าจึงกลายมาเป็นอนิเมชั่น The Boy and the Beast และในงานล่าสุด Mirai no Mirai ก็มาจากการที่เขามีลูกคนที่สอง แล้วลูกคนแรกมาเล่าความฝันให้ฟังว่าได้เจอกับน้องที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานชิ้นนี้ ทำให้แม้จะดูเป็นเรื่องที่สเกลเล็กลงมาแต่ก็เป็นเรื่องที่จัดว่ามีความเป็นส่วนตัวของผู้กำกับเป็นอย่างมาก และน่าจะเหมาะกับคนที่กำลังจะมีครอบครัวหรือมีลูกเพราะคงจะเข้าใจสภาวะจิตใจของเด็กได้ดีมากขึ้นไม่น้อย
ในส่วนของงานศิลป์ แม้ภาพของ Hosoda จะไม่ได้ละเอียดยิบจนเป็นอาหารตาแบบของ Shinkai แต่งานของเขาก็มีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า Hosoda ไม่วาด ‘เงา’ ของใบหน้าตัวละครเลย สาเหตุก็เพราะว่าเขาชื่นชมงาน อุคิโยเอะ ภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นในยุคเอโดะที่แม้จะเขียนออกมาโดยไม่มีเงาและมีลักษณะคล้ายกับเป็นภาพ 2 มิติ แต่กลับมีการแสดงออกสีหน้าและอารมณ์ได้หลากหลาย เขาเลยอยากสร้างแนวทางที่มีเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นแบบนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังจริงจังขนาดที่สั่งให้ตัดเสื้อผ้าแบบที่ตัวละครใส่เพื่อเช็กความสมจริงเวลาเคลื่อนไหว ถือว่าเป็นความละเอียดในการทำงานในแบบของตัวเขาเอง
แม้จะมีส่วนที่คล้ายกับ Studio Ghibli เพราะความหลงใหลส่วนตัว แต่งานของ Hosoda อาจจะสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ได้ดีกว่า แม้ในเรื่องจะเป็นงานแฟนตาซี (หากไม่แฟนตาซีก็เกิดเรื่องในโลกเสมือนอย่างใน Summer Wars) ด้วยการพยายามใส่สถานที่หรือภาพของป้ายหรือสินค้าที่มีอยู่จริง แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ดึงให้คนดูได้รู้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกใบเดียวกับในเรื่องนั้นเสมอ กระทั่งใน The Boy and the Beast ที่มีการสลับไปมาระหว่างสองโลก แต่เมื่อมาโลกมนุษย์เขาก็จำลองใจกลางของเมืองหลวงออกมาได้อย่างละเอียดเหลือเกิน การเลือกทำงานแบบนี้อาจจะทำให้วัยรุ่นหรือเด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับเทคโนโลยีและสื่อทางเลือกต่างๆ สามารถอินได้ง่ายกว่าเซ็ตติ้งที่อยู่ไกลตัวจนเกินไป หรือเน้นบรรยากาศการถวิลหาอดีตอันงดงามในแบบของ Studio Ghibli
น่าสนใจว่าในเมื่อกัปตันของ Studio Ghibli ค่อยๆ อายุมากขึ้นเรื่อยๆ (และจากโลกนี้ไปแล้วหนึ่งท่าน) และยังปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นคอมพิวเตอร์กราฟิก หากเทียบกับผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ทำงานตอบสนองตลาดรุ่นใหม่ได้ดีกว่า การส่งไม้ต่อไปสู่ยุคถัดไปของวงการอนิเมชั่นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? หรือมันอาจจะเกิดขึ้นไปแล้ว…เพียงแต่เรายังไม่รู้สึกตัว