“ที่บ้านไม่มีรถไฟฟ้าใช่มั้ย?”
“ใช่ครับ!”
“พาลูกน้องมาดูรถไฟฟ้า ชอบมั้ย?”
“ชอบครับ!”
ใครๆ ก็ชอบรถไฟฟ้า สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเจริญ ความเป็นเมืองใหญ่ ความเป็นเมืองหลวง ทำให้การคมนาคมสะดวก แก้ปัญหารถติด ถึงขั้นมีบางหน่วยงาน บางสังกัด จัดทัศนศึกษาเยี่ยมชมความทันสมัยของมัน ในวันเดียวกันกับที่มีการสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎร แต่ก็ไม่รู้ว่าได้ทันดูหรือไม่ เพราะนายของเขาสั่งหยุดการเดินรถในวันนั้นซะเอง
ซึ่งคนในเมืองหลวงก็คงจะสงสัยว่า รถไฟฟ้ามีอะไร ทำไมถึงจะต้องมาดูกัน? ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ เลยก็คือ เพราะที่ต่างจังหวัด ‘ไม่มี’ รถไฟฟ้าใช้ยังไงล่ะ อย่างที่รู้กันว่ารถไฟฟ้าในเมือง (metro) เช่น BTS หรือ MRT คือรถไฟฟ้ารางหนัก (heavy rail) ที่มีความจุผู้โดยสารสูง ทำให้เรามักจะพบระบบขนส่งนี้ในจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรเยอะ มีปริมาณการใช้งานสูง ซึ่งนั่นหมายถึง ‘กรุงเทพมหานคร’ เพียงแค่จังหวัดเดียว
รถไฟฟ้า คนต่างจังหวัด กับความจำเป็น
ภาพต่างจังหวัดที่ถูกมองว่าต้องเป็นเมืองสงบ เต็มไปด้วยธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิม ทำให้ความทันสมัย ความสะดวกสบายดูเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากมีวลี “ที่บ้านไม่มีรถไฟฟ้าใช่มั้ย?” ก็เกิดการตั้งคำถามถึงความขาดแคลนด้านคมนาคมในต่างจังหวัด
บางคนถามว่า “แล้วเขารู้ยังว่าทำไมที่บ้านถึงไม่มีรถไฟฟ้า?” เพราะด้วยสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ ยิ่งย้ำให้เห็นชัดเลยว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากน้อยแค่ไหน และทำไมรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดถึงไม่เกิดขึ้นเสียที จนนำไปสู่อีกคำถามหนึ่งที่ว่า จริงๆ แล้วต่างจังหวัดจำเป็นที่จะต้องมีรถไฟฟ้าด้วยหรือเปล่า? หรือจริงๆ แล้วไม่ต้องมีก็ได้ เพียงแค่พัฒนาและปรับปรุงขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ในมีประสิทธิภาพ มีจำนวนที่เพียงพอ และครอบคลุมทุกเส้นทางก่อน?
The MATTER จึงได้พูดคุยกับ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จาก TDRI ถึงความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการมีรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด
“รถไฟฟ้าเป็นเรื่องของระบบขนส่ง แล้วระบบขนส่งก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานและความหนาแน่นของประชากร ซึ่งระบบรถไฟฟ้านั้นเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง และมีปริมาณการเดินทางมาก ในประเทศไทย เมืองที่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็คงมีแค่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในบางพื้นที่ด้วยซ้ำ
เพราะเมืองหลวงใหญ่ๆ ของเรามีขนาดค่อนข้างเล็ก ทั้งพื้นที่และปริมาณประชากร เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น อังกฤษ หรือในยุโรปที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีเมืองใหญ่หลายเมือง ก็จะเริ่มเห็นภาพว่าเมืองในต่างประเทศมีขนาดใหญ่กว่าเมืองในประเทศไทยพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น เมืองหลวงก็คือโตเกียว แต่ก็จะมีเมืองใหญ่อื่นๆ อย่างโอซาก้า โยโกฮาม่า หรือเมืองตามแนวรถไฟชินคันเซ็น ทุกเมืองส่วนใหญ่มีขนาดที่อาจจะเล็กกว่าโตเกียว แต่ใหญ่กว่าเมืองในภูมิภาคเราค่อนข้างมาก มีจำนวนประชากรที่สูง จึงไม่แปลกว่าทำไมเมืองใหญ่ในญี่ปุ่นถึงมีรถไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ก็จะไม่เยอะเท่าโตเกียว”
“ตามมาตรฐานที่ได้กล่าวไป ก็จะเห็นว่าในกรุงเทพฯ บางพื้นที่ก็มีการจราจรหนาแน่น และมีประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก และมีบางพื้นที่ที่อาจจะมีประชากรค่อนข้างเบาบาง เมืองรถไฟฟ้าควรจะเป็นเมืองที่เป็นแนวดิ่ง คือมีประชากรหนาแน่น อยู่กันเป็นคอนโด ที่พักอาศัยค่อนข้างแน่น แต่พอออกไปตามชานเมือง ซึ่งมีที่พักอาศัยเป็นแนวราบ เป็นบ้านส่วนบุคคล รถไฟฟ้าจะเริ่มไม่ค่อยคุ้ม และไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ทีนี้จะเริ่มเห็นภาพว่า จังหวัดไหนมีประชากรค่อนข้างหนาแน่น หรือมีการพัฒนาเมืองค่อนข้างเข้มข้น บางพื้นที่ก็อาจมีโอกาสที่จะพัฒนารถไฟฟ้าได้ แต่ก็อาจจะมีปัญหาที่ตามมา เพราะรถไฟฟ้าเองก็ต้องลงทุนทั้งในเรื่องการบริหารและการใช้งบประมาณ ถ้ามีปริมาณผู้โดยสารไม่ถึง ก็จะขาดทุน แล้วก็จะเป็นภาระกับทางภาครัฐ คำถามหลักเลยคือ คนในจังหวัดนั้นมีจำนวนถึงมั้ย? มีคนใช้มากพอมั้ย? มีมาตรรัฐที่จะบังคับให้คนไปใช้มากพอมั้ย? ในโครงสร้างเมืองเอง ขอนแก่นอาจจะมีคนเยอะ แต่ถ้าคน 70-80% ใช้รถยนต์ส่วนตัว ขี่มอเตอร์ไซค์ เขาไม่ใช้รถไฟฟ้า อันนี้ก็อาจจะทำให้เจ๊งได้”
ฉะนั้นแล้ว จากทั้งหมดที่ดร.สุเมธ กล่าวมาก็อาจสรุปได้ว่า ต่างจังหวัดอาจจะยังไม่มีความจำเป็นในเรื่องของการมีรถไฟฟ้าใช้เท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นระบบขนส่งที่เกี่ยวข้องกับปริมาณผู้ใช้งานต่อชั่วโมงต่อทิศทาง หรือ Passengers Per Hour Per Direction (PPHPD) ซึ่งถ้าไม่ถึงจุดคุ้มทุนและมูลค่าการก่อสร้าง ผู้ให้บริการเองก็จะลำบาก ขาดทุนย่อยยับ เพราะการจะไปถึงจุดคุ้มทุนนั้น อาจจะต้องเก็บค่าโดยสารที่แพงขึ้น แต่นั่นก็หมายถึง ผู้คนก็จะไม่อยากใช้บริการด้วยเช่นเดียวกัน
ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจดี เราอาจจะมีรถไฟฟ้าใช้ในต่างจังหวัด
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ แห่งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ในบทความ ‘การจัดการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นการจัดการแบบไม่มืออาชีพ’ ไว้ว่า เครื่องมือในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศก็คือ ‘กฎหมาย’ และ ‘องค์กร’ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มี ‘กฎหมายฟื้นฟูเมือง’ โดยให้เพื่อนบ้านมาร่วมพัฒนาเมืองร่วมกัน หรือกรุงปารีสที่มีการก่อตั้งหน่วยงาน Paris Planning Agency เพื่อให้มาทำงานเป็นมือขวาของผู้ว่าฯ โดยเป็นกึ่งสาธารณะ กึ่งเอกชน รวมไปถึงบริษัทพัฒนาเมืองที่พูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า แทบไม่ได้ใช้เงินจากรัฐบาลกลางเลย โดยรถใต้ดิน รถเมล์ รถราง พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ หรือโรงละครที่มี พวกเขาบริหารเองทั้งหมด
“ตอนดิฉันไปเสนอรายงาน คนต่างชาติว่าไม่เชื่อ ประเทศเธอมีตั้ง 70 จังหวัด ไม่มีขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Public Transportation) จริงเหรอ มีแต่กรุงเทพฯ แล้วคนต่างจังหวัดไม่ลุกฮือประท้วงเหรอ พวกเธอนี่ช่างเชื่องจริงๆ”
แต่จากที่ดร.สุเมธ กล่าวไว้ว่า รถไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานและจำนวนประชากร ทำให้ต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีประชากรน้อย รถไฟฟ้าอาจจะยังไม่มีความจำเป็นในตอนนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าในระยะยาวจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาที่ทำให้ต่างจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่เพียงพอ ต่อความคุ้มค่าที่จะสร้างรถไฟฟ้า ต้นตอมันอยู่ที่ ‘การกระจุกตัวของความเจริญ’ ที่ทำให้ผู้คนต้องกรูกันเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เพียงที่เดียว
“ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่เศรษฐกิจ สมมติถ้าผมอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ถามว่าผมมีงานอะไรทำบ้าง เพราะฉะนั้น มันหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดนั้นๆ ถ้าเศรษฐกิจในจังหวัดมีจุดสำหรับการพัฒนา เช่น เป็นแหล่งการผลิต เป็นแหล่งธุรกิจ เป็นแหล่งการท่องเที่ยว หรือมีกิจกรรมให้คนทำมากขึ้น กลับบ้านมากขึ้น มีคนอยู่เพิ่มมากขึ้น มีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น เดี๋ยวรถไฟฟ้าก็จะตามมา เพราะอยู่ดีๆ ถ้าไปสร้างรถไฟฟ้าในเมืองที่ไม่มีเศรษฐกิจหรือจุดเด่นอะไรเลย มันก็ยากที่จะคุ้มกับการลงทุน”
ซึ่งถ้าหากรัฐบาลกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ในชนบทได้ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมให้เกิดงาน เกิดอาชีพ เกิดธุรกิจมากขึ้น คนต่างจังหวัดก็อาจจะกลับไปพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง จนกลายเป็นเมืองที่เจริญได้ไม่แพ้กับกรุงเทพฯ และเมื่อถึงตอนนั้น รถไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นแบบรางหนักหรือรางเบา ก็อาจจะมีความจำเป็น และคุ้มค่าที่จะลงทุนมากขึ้น
หวังว่าการมาทัศนศึกษาดูรถไฟฟ้าในครั้งนี้ จะทำให้คนบางกลุ่มตระหนักได้ว่า ทำไมความเจริญหูเจริญตาถึงได้กระจุกตัวเป็นก้อนอยู่แค่ที่เดียว ทำไมถึงไม่กระจายไปยังพื้นที่ที่เขาอยู่บ้าง ไปจนถึงตระหนักได้ถ้าวันหนึ่งเรามีการเมืองที่ดี สามารถกระจายงาน กระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ รถไฟฟ้าอาจจะกลายเป็นคมนาคมพื้นฐานในหลายๆ จังหวัด ไม่ใช่แค่เพียงในกรุงเทพมหานคร