เมษานี้นอกจากสงกรานต์ยังมีประเพณีประจำชาติอีกอัน นั่นก็คือการเรียกเกณฑ์ทหาร การจับใบดำใบแดง ที่เท่ากับว่า ‘การรับใช้ชาติ’ ‘การเป็นรั้วของชาติ’ ‘รักษาความเป็นปึกแผ่นเอกราช’ อะไรพวกนี้ มาจากการสุ่มดวงจับฉลากไม้สั้นไม้ยาว ซึ่งแน่นอน ก็จะตามมาด้วยข่าวชายหนุ่มดีใจกระโดดโลดเต้นอย่างปีติสุขที่จับได้ใบดำ หรือเป็นลมล้มพับดับดิ้นแดไปเพราะรู้สึกเสียโอกาสในการสร้างอนาคตที่จับได้ใบแดง หรือข่าวอย่างดาราคนไหนมาผ่อนผัน สมัคร หรือได้รับการยกเว้น แล้วตอนตรวจร่างกายมีหุ่น ผิวพรรณ หัวนมเป็นยังไง
และที่มักทำให้กลายเป็นไฮไลท์ก็คือ พิธีกะเทยเข้าคิวตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร
แม้ว่ากะเทยอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารจากการตรวจร่างกาย แต่ก็สร้างความยากลำบากต่อพวกเธอในการยกระดับคุณภาพชีวิตหลังจากนั้น เพราะใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารฯ (สด. 43) ที่พวกเธอจะต้องแนบเอกสารประจำตัวสำคัญนี้พกติดตัวไปตลอดชีวิต ไปสมัครงาน เรียนต่อ ทำธุรกรรม เดินทาง ตีตราโดยรัฐว่าพวกเธอไม่ต้องเกณฑ์ทหารเพราะ ‘เป็นโรคจิตถาวร’
กระทั่งมีการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มกะเทยที่ประชุมระดมความคิดจากกะเทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อสรรหาคำที่ไม่ให้เกิดการตีตรา แต่เคารพความเป็นมนุษย์ของพวกเธอ จนนำไปสู่การฟ้องร้องศาลปกครองให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขข้อความในสด.43 สำเร็จ เมื่อปี 2555 ศาลปกครองพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนแก้ไขถ้อยคำ ให้กะเทยเป็นบุคคลจำพวกร่างกายไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงทุพพลภาพ (จำพวกที่ 2) ข้อที่ 12 ว่า ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ซึ่งก็เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานเกือบทศวรรษตั้งแต่ปี 2549[1]
เนื่องจากกะเทยไม่ใช่เพศสภาพหนึ่ง หากแต่เป็นโรคทางจิตเภทในสำนึกตั้งแต่ 2479 ที่หลวงวิเชียรแพทยาคมหมอคนแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับความเจ็บป่วยทางจิตได้นิยามคนรักเพศเดียวกันว่าเป็นปัญหาทางด้านจิตวิทยา หรือในปี 2504 ที่กะเทยกลายเป็นโรคทางจิตเภทอย่างหนึ่งโดยหมอสุด แสงวิเชียร ที่ไปลักขโมยอัตลักษณ์ ‘ความเป็นเพศ’ ของ ‘เพศตรงข้าม’ มาใส่ไว้กับตนหรือที่เรียกว่า ‘ลักเพศ”’ชายที่มีสภาพจิตใจเป็นหญิง หญิงมีสภาพจิตใจเป็นชาย นำไปสู่การนิยามเกย์กะเทยเป็นจิตวิปริตกามวิตถาร[2]
ขณะที่คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual, DSM) โดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association, APA) ที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับแพทย์ นักวิจัย ผู้ผลิตยาทางจิตเวช วินิจฉัยความผิดปกติทางจิต ก็ถอน homosexuality หรือ ‘รักเพศเดียวกัน’ ก็ถูกออกกลุ่ม ‘ความผิดปกติทางจิต’ ไปตั้งแต่พ.ศ. 2516 แล้ว และในโลกสากลก็มักใช้คู่มือนี้เป็นมาตรฐาน
นี่เท่ากับว่าความรู้ความคิดของกองการสัสดี กรมการรักษาดินแดน แห่งกระทรวงกลาโหม ช้ากว่าสากลหน่อยไม่กี่ทศวรรษ และเพิ่งจะก้าวกระโดดจากโลกทัศน์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไม่นานนี่เอง
ขณะเดียวกัน การได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็นทหาร ก็ไม่ใช่สิทธิพิเศษของการเป็นกะเทย หากแต่เป็นการเริ่มเข้าใจเพศสภาพอันหลากหลาย
และการที่รัฐออกมายอมรับว่า กะเทยไม่ใช่ความวิกลจริตจิตวิปลาส ก็ถือได้ว่าเป็นหมุดหมายการเคลื่อนไหวครั้งยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นที่รับรู้กันเงียบๆ เพราะถ้าหากพิจารณาที่ผ่านมาแทบจะไม่พบการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เปลี่ยนระบบรัฐในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ นอกเสียจากจะเป็นการตระหนักรู้ขยับกันเองของยอดพีระมิดเท่านั้น หรือการสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมเป็นเรื่องของการสร้างความยอมรับอดทนได้ในระดับปัจเจกและเพื่อการบริโภคนิยมมากกว่าจะแก้ไขโครงสร้างสังคมระดับภาครัฐและยอมรับความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในครั้งนี้ก็ไม่ใช้จุดสิ้นสุดของการเคลื่อนไหว เป็นเพียงอีกก้าวสำคัญของโปรเจกต์ที่จะต้องเคลื่อนไหวกันอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่ต้องเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิต่างๆ ในประเทศนี้ที่ถูกละเมิดสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต
เพราะคำว่า ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ นั้น กะเทยก็ยังต้องพึ่งพิงวาทกรรมทางการแพทย์อยู่ดี ต้องไปขอใบรับรองแพทย์ยืนยันภาวะนี้จากโรงพยาบาลที่มีแผนกจิตเวช ไม่เช่นนั้นจะถูกตรวจร่างกาย ขณะไปตรวจเลือกทหารกองเกิน และภาวะนี้ก็ยังคงแปลเป็น ‘gender identity disorder’
‘Disorder!!!’
ใช่ๆๆ…ตกใจเหมือนกัน แต่ในโลกภาษาอังกฤษก็ต้องให้เขาขับเคลื่อนกันไป
มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (The Foundation of Thai Transgender Alliance for Human Rights) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ 2553 ในนาม ‘เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย’ ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานหรือตรวจสอบการปฏิบัติของบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารที่มีต่อกะเทย พร้อมกับกับเรียกร้องให้สื่อเลิกโฟกัสเนื้อตัวร่างกายกะเทย เลิกการนำเสนอข่าวว่าเป็นเรื่องชวนหัว น่าตื่นตาตื่นใจ[3]
ขณะที่การจับผู้ชายจำนวนมากถอดเสื้อกำกับหมายเลขติดร่างกายนั่งเรียงเป็นแผง ไม่ต่างไปจากตลาดประมูลค้าทาสของบุคคลสัญชาติไทยเพศสรีระชายเมื่อกำเนิด กะเทยมาต่อแถวคัดเลือกทหารกองเกินก็ตกเป็นข่าว หรือมีทหารในยูนิฟอร์มขอถ่ายรูปด้วย เสมือนพวกเธอเป็นตัวประหลาด ของแปลกพิลึกพิลั่น เท่ากับว่าได้ตัดสินแบ่งไปแล้วว่าอะไรหรือใคร ‘ปรกติ’ และ ‘เป็นอื่นไปจากความปรกติ’ จนต้องเอามาทำเป็นข่าวชักภาพเป็นที่ระลึกเหมือนจะรเข้เผือก เต่า 2 หัว มักรีผล นางเงือก เมียงู ผีเปรต ฯลฯ
…เช่นเดียวกับข่าวพิธีแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน
การรายงานข่าวทำนองนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่ต่างไปจากสวนสัตว์มนุษย์ (Human Zoo) หรือการจัดแสดงมหรสพระดับสากลที่เติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของจักวรรรดินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19
จับเอาชนพื้นเมืองที่ถูกล่าอาณานิคมมาโชว์ ดำรงชีวิตกินขี้ปี้นอนให้ดูเหมือนสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 1870 ที่ Freak show ผู้หญิงมีเครา คนแคระ คนตัวจิ๋ว แฝดสยาม มนุษย์ตีนโต คนพิการ มนุษย์หัวช้าง คนมีแขนขามากกว่า 2 ข้าง ถูกแสดงร่วมกับคนพื้นถิ่น กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก[4]
และที่ถือได้ว่าเปิดศักราชแห่ง Human zoo ก็คือโชว์ ‘Hottentot Venus’ ซึ่งเป็นชื่อในวงการของหญิงสะโพกใหญ่ชาติพันธุ์ Khoikhoi ในตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกา ที่ถูก ‘นำเข้า’ มาเร่จัดให้ชมในอังกฤษและฝรั่งเศสช่วง 1810 ประหนึ่งละครสัตว์ เธอถูกจัดแสดงในกรงด้วยคาแรคเตอร์หญิงชาวป่า กึ่งเปลือย เถื่อนดิบ สะโพกมหึมา และเธอยังถูกจัดให้ทำการแสดงออกทางเพศที่วิปริตอีกด้วย
ในสายตาหญิงชายชาวตะวันตกผิวขาวแห่งศตวรรษที่ 19 ทั้งสีผิว รูปร่างหน้าตาพฤติกรรมของเธอคือสัญลักษณ์ทางเพศและความอัปลักษณ์แบบชนเผ่าคนป่าอันล้าหลัง ที่มีวิวัฒนาการไม่ทันคนตะวันตก มีอวัยวะเพศที่ใหญ่โตอัศจรรย์ เป็นความเบี่ยงเบนทางเพศของผู้หญิงผิวดำ สะท้อนให้เห็นถึงความหวาดกลัวของคนผิวขาวต่อเพศสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติจนทำให้เชื้อสายของตนจะแปดเปื้อนเป็นมลทิน การตัดสินความปรกติ/ผิดปรกติ ที่วัดเอาตนเองเป็นบรรทัดฐาน จัดสถานะให้เป็นผู้ศิวิไลซ์เหนือกว่า ผ่านรูปแบบนันทนาการความบันเทิงสาธารณะอย่าง human zoo[5]
เช่นเดียวกับที่บรรดาทหารขอถ่ายรูปคู่กะเทยที่ไปตรวจเลือกทหารไม่พอ ยังหยอกเอิน แซวและใช้ให้พวกเธอมาบริการเสิร์ฟน้ำ บีบนวด เต้นระบำสันทนาการ หรือที่ข่าวบอกว่าพวกเธอสร้าง ‘สีสัน’ ‘ความคึกคัก’ เรียกเสียงฮือฮา[6] ซึ่งยิ่งตอกย้ำบทบาทของสื่อมวลชนในฐานะสวนสัตว์มนุษย์
จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรสนใจในระบบตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ไม่ใช่ภาพกะเทยเข้าแถวตรวจร่างกายที่เป็น ‘สีสัน’ ของงาน แต่ควรเป็นการตั้งคำถามฉุกคิดถึงความจำเป็นหรือไม่ของระบบเกณฑ์ทหาร การมีส่วนร่วมของประชาชนในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การป้องกันความรุนแรงในค่ายทหารในนามการฝึกความอดทนระเบียบวินัย การได้เห็นความเป็นไปได้ของแรงงานทหารต่อสาธารณประโยชน์ เพื่อจะทำให้คนอยากเป็นทหารอย่างสมัครใจ หรือทางเลือกของการ ‘รับใช้ชาติ’ ในทางอื่น เช่นการประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อจ่ายภาษีแทนรับราชการทหาร
แล้วเลิกเสียทีเถอะ เวลาไปด่าผู้ชายที่ไม่อยากเป็นทหาร หรือคัดค้านกับระบบเกณฑ์ว่า ไม่ใช่ผู้ชาย ขนาดกะเทยยังโชว์สปิริตเข้าแถวตรวจร่างกายเลย เป็นผู้ชายได้ไง ขายหน้าตุ๊ด แย่กว่ากะเทย เสียชาติเกิด บลาๆๆ เพราะนั่นก็เท่ากับกะเทยเป็นอุปมาในสถานะขั้นต่ำสุดของมนุษย์ ที่ถ้าต่ำกว่าตุ๊ดก็ฉิบหายแล้ว กลายเป็นการเหยียดกะเทยในไวยากรณ์
เพราะกะเทยก็คือเพศสภาพนึง เช่นเดียวกับเพศสภาพหญิงชาย และทุกคนก็มีสิทธิที่จะเลือกเพศสภาพของเราเอง ไม่ใช่ต้องถูกยัดเยียด ว่าพอเกิดมามีจู๋ก็จะต้องอกสามศอกอยากเป็นทหารกันไปซะทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย.แนวปฏิบัติเมื่อกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศต้องไปเกณฑ์ทหาร.
www.thaitga.com ; iLaw, แนวปฏิบัติเมื่อกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศต้องไปเกณฑ์ทหาร ilaw.or.th
[2] เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับ “เกย์” ในสังคมไทย พ.ศ. 2508-2542. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. ศิลปศาสตร์ (ประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. 41-46
[3] ประชาไท. เข้าฤดูเกณฑ์ทหาร เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ แนะสื่อเลิกเสนอข่าวเชิงลบ-ตลก. prachatai.com
[4] Pascal Blanchard [et al.] . (2008). Human zoos : science and spectacle in the age of colonial empires. Liverpool : Liverpool University Press.
[5] Durbach, N. 2010. Spectacle of Deformity: Freak Shows and Modern British Culture. Berkeley and London: University of California Press.
[6] ประชาไท. เข้าฤดูเกณฑ์ทหาร เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ แนะสื่อเลิกเสนอข่าวเชิงลบ-ตลก. prachatai.com