1
ชีวิตทางการเมืองของ คอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) เริ่มขึ้นด้วยการจบชีวิตของสามีเธอ
ที่จริงแล้ว ชีวิตทางการเมืองของคอราซอน อากีโน อยู่ในแวดล้อมของ ‘ยักษ์ใหญ่’ ทางการเมืองฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ชายทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นจอมเผด็จการอย่างประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ที่พูดได้ว่าเป็นปรปักษ์ทางการเมืองของสามีเธอ ซึ่งก็คือ เบนิกโน อากีโน (Benigno Aquino) หรือที่เรียกกันในชื่อ ‘นินอย’ (Ninoy) ผู้เป็นวุฒิสมาชิก และพยายามต่อต้านอำนาจอันยืนยาวและไม่ชอบธรรมของมาร์กอสมาโดยตลอด
แน่นอน การต่อต้านอำนาจเผด็จการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้มีการกดทับต่อเนื่องยาวนาน หรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่ซับซ้อนร่วมด้วย เช่น ความยากจนข้นแค้น ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความหรูหราฟุ่มเฟือยของเผด็จการ แต่ในประวัติศาสตร์ตลอดมา หากปราศจาก ‘ปัจจัยกระตุ้น’ ที่รุนแรงหรือ ‘ช็อก’ การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็มักไม่เกิดขึ้น
แต่ในตอนนั้น ไม่มีใครคิดหรอกว่าปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในฟิลิปปินส์ ถึงขั้นที่ครอบครัวมาร์กอสต้องหนีออกนอกประเทศ – จะคือ ‘ชีวิต’ ของนินอยเอง
การจบสิ้นลงของนินอย ทำให้ ‘แม่บ้านธรรมดาๆ’ อย่างคอราซอน ตัดสินใจลุกขึ้นสู้
และเธอก็ทำสำเร็จ
2
คอราซอนหรือ ‘คอรี่’ เติบโตมาในตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่งของฟิลิปปินส์ เธอเกิดมาในชื่อ Maria Corazon Sumulong Cojuangco พ่อของเธอเป็นสมาชิกรัฐสภา รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการธนาคารและไร่อ้อย ซึ่งมีเนื้อที่มหาศาลถึง 15,000 เอเคอร์ พูดได้ว่า คอรี่เป็นหญิงสาวชนชั้นสูงคนหนึ่ง
เธอเป็น ‘นักเรียนคอนแวนต์’ โดยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ในมะนิลา ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อที่ฟิลาเดลเฟียและนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เป็นโรงเรียนคอนแวนต์อีก และสุดท้ายก็จบจาก College of Mount Saint Vincent ด้วยการเรียนเอกภาษาฝรั่งเศส โทคณิตศาสตร์
จะเห็นว่า พื้นฐานดั้งเดิมแล้ว เธอไม่ได้ถูก ‘เตรียมตัว’ ให้เข้าสู่เวทีการเมืองใดๆ เลย
แต่กระนั้น เมื่อกลับมาฟิลิปปินส์ เธอเข้าไปเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัย Far Eastern University และเป็นที่นั่นเอง ที่เธอได้พบกับเขา
นินอย อากีโน
2
นินอยเองก็มาจากตระกูลที่ร่ำรวยเช่นเดียวกันกับคอรี่ ตอนอายุ 17 ปี เขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสงครามที่อายุน้อยที่สุดให้กับหนังสือพิมพ์ The Manila Times โดยไปทำข่าวสงครามเกาหลี นั่นทำให้เขาได้รับรางวัลเหรียญเกียรติยศจากประธานาธิบดี (ตอนนั้นคือประธานาธิบดี Elpidio Quirino) ตอนอายุ 18 ปี แล้วกลายเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ ซึ่งก็น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่นำพาเขาเข้าสู่วงการการเมืองในเวลาต่อมา
ที่จริงแล้ว ตระกูลอากีโนไม่เคยอยู่ห่างไกลการเมือง ปู่และพ่อของเขาทำงานกับประธานาธิบดี พ่อของเขาได้ชื่อว่าเป็นนักพูดนักปราศรัยที่เก่งกาจ นินอยเดินตามรอยเท้าพ่ออย่างใกล้ชิด เพียงไม่กี่ปี เขาก็กลายเป็นเลขาธิการพรรค Liberal Party
เขาพบกับคอรี่ตอนที่เธอเรียนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัย ความรักผลิบาน และเรื่องราวเก่าแก่ของความรักก็ดำเนินไป สุดท้ายคอรี่ก็ตัดสินใจเลิกเรียนเพื่อแต่งงานกับเขา ทั้งคู่แต่งงานกันในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1954 และคอรี่ก็กลายเป็น ‘แม่บ้านธรรมดาๆ’ เต็มตัว เธอมีลูกกับเขาถึงห้าคน
นินอยกลายเป็นวุฒิสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1967 และในที่สุดก็กลายมาเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์มาร์กอสที่โดดเด่นอย่างยิ่ง
คอรี่ไม่รู้เลย – ว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะนำไปสู่ชะตากรรมอันเลวร้ายในเวลาถัดมา
3
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีในปีค.ศ. 1965 เขาเติบโตมาจากการเป็นนักศึกษากฎหมายธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ตอนที่จะสอบเป็นเนติบัณฑิต (เป็นการสอบที่เรียกว่า Bar Examination) มาร์กอสได้คะแนนเกือบเต็ม ทว่าถูกกล่าวหาว่าโกงข้อสอบ สุดท้ายจึงถูกลดคะแนนลงมา แต่กระนั้นก็ยังได้คะแนนสูงอยู่ดี
ตระกูลของมาร์กอสเองก็อยู่ในแวดวงการเมืองด้วยเหมือนกัน ในช่วงที่เขากำลังจะเรียนจบ (ราวปีค.ศ. 1939) มาร์กอสและครอบครัว ทั้งพ่อและพี่ชายพี่เขยของเขาต้องขึ้นศาลเพราะถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมคู่แข่งทางการเมือง โดยมีพยานให้การว่า คนอื่นๆ จับตัวผู้ตายมา แล้วมาร์กอสเป็นคนลั่นไก นั่นทำให้เขาและพี่เขยต้องโทษประหาร แต่ครอบครัวมาร์กอสอุทธรณ์ แลเมื่อเรื่องขึ้นไปถึงศาลสูง ศาลก็กลับคำตัดสิน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาร์กอสเริ่มเล่นการเมือง ที่น่าสนใจก็คือ ในตอนแรก เขาเข้าร่วมกับ ‘ปีกเสรีนิยม’ ของพรรค Nacionalista ซึ่งต่อมาปีกเสรีนิยมนี้ก็แตกออกมากลายมาเป็นพรรคเสรีนิยมหรือ Liberal Party ของนินอย แต่มาร์กอสยังอยู่กับพรรค Nacionalista ต่อไป
ชีวิตทางการเมืองของมาร์กอสรุ่งเรืองข้ึนเรื่อยๆ เขากลายเป็นประธานพรรค เป็นประธานาสภา และที่สุดก็ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สิบของฟิลิปปินส์ในปีค.ศ. 1965
ก่อนยุคของมาร์กอส เศรษฐกิจในฟิลิปปินส์รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก จนเป็นอันดับสองของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น (นั่นคือใหญ่กว่าจีนเสียอีก) นั่นเพราะฟิลิปปินส์มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง มาร์กอสยังคงดำเนินรอยตามนโยบายเศรษฐกิจแบบเดิม คือพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้วยเงินที่กู้จากต่างประเทศ
แต่เงินกู้จะมาจากไหนได้ ถ้าไม่ใช่จากพี่เบิ้มอย่างอเมริกา และการที่จะได้เงินจากอเมริกา ก็ต้องสนับสนุนนโยบายของอเมริกา ซึ่งมาร์กอสก็เลือกทำ แม้ผิดจากที่เคยหาเสียงเอาไว้ เช่นการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม
ในช่วงเวลาเดียวกัน มาร์กอสยังทำสิ่งที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนทำอีกด้วย นั่นคือรวบอำนาจทางการทหารเข้าไว้ในตัวเองคนเดียว ด้วยการควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ ทำให้สั่งการกองทัพได้โดยตรง แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ยังดีอยู่ จึงทำให้เขาได้รับความนิยม จนได้เป็นประธานาธิบดีต่อในสมัยที่สอง
และก็เป็นสมัยที่สองนี้เองที่เริ่มเกิดการประท้วงต่อต้านขึ้นในต้นทศวรรษที่ 70 และลามลุกไปจนถึงการทำลายและพยายามจุดไฟเผาสถานทูตสหรัฐฯ และเกิดเหตุระเบิดใหญ่ใจกลางเมืองที่จัตุรัสมิแรนดา (Miranda Plaza)
เหตุการณ์นี้สำคัญมาก เพราะในขณะที่ฝั่งมาร์กอสเชื่อว่าเป็นฝีมือของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็คือฝั่งของนินอย แต่อีกหลายฝ่ายรวมทั้งนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันหลายคนก็เชื่อว่านั่นคือการ ‘จัดฉาก’ โดยฝีมือของมาร์กอสเอง จากนั้น ความรุนแรงก็ลุกลามบานปลาย เกิดเหตุระเบิดในกรุงมะนิลาหลายครั้ง
ในบางประเทศ เหตุการณ์ทำนองนี้น่าจะนำไปสู่การ ‘รัฐประหาร’ แต่ในยุคของมาร์กอส ทหารอยู่ในการควบคุมของเขาอยู่แล้ว เขาจึงไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหารใดๆ อีก ดังนั้น สิ่งที่มาร์กอสทำก็คือการประกาศกฎอัยการศึก
และนั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นความเป็นเผด็จการอันยาวนานของมาร์กอส
4
มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1972 และหนึ่งในคนแรกๆ ที่มาร์กอสประกาศจับก็คือนินอย ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เขามาโดยตลอด
นินอยถูกไต่สวนต่อหน้าศาลทหาร ผลที่ออกมาจึงคาดเดาได้ไม่ยาก เขาอยู่ในคุกนานถึง 7 ปี
สิ่งหนึ่งที่นินอยทำก็คือการอดอาหารประท้วง เขาไม่ยอมกินอะไรเลยยกเว้นดื่มน้ำ เขาประกาศว่าจะอดอาหารจนตาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอมาก จนเจ้าหน้าที่ทหารต้องใช้กำลังบังคับเขาไปรักษาตัว และในตอนหลัง เพื่อน ครอบครัว และคนอื่นๆ ต่างก็ช่วยกันอ้อนวอนให้เขากลับมากินอาหารอีก
แต่แล้วในปีค.ศ. 1980 เขาก็มีอาการหัวใจล้มเหลว จึงถูกส่งตัวไปรักษา และต้องทำบายพาสหัวใจ แต่เขาไม่อยากรักษากับแพทย์ฟิลิปปินส์ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดการสอดไส้อะไรขึ้นมาหรือเปล่า เขาจึงร้องขอออกเดินทางนอกประเทศไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าในตอนนั้น รัฐบาลอเมริกันก็กดดันมาร์กอสด้วย
นินอยและคอรี่ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กันที่แมสซาชูเสตส์หลังอยู่ในคุกมา 7 ปี กับ 7 เดือน แต่แล้วในที่สุด นินอยก็ตัดสินใจจะกลับมาฟิลิปปินส์
เขารู้ตัวเต็มที่ว่าการกลับมาฟิลิปปินส์นั้นเป็นอันตราย เขาอาจถูกจับเข้าคุกอีก หรือไม่ก็อาจถูกฆ่า แต่ไม่มีใครในโลกคิดหรอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขามันจะเลวร้ายได้ถึงเพียงนั้น
นินอยนั่งเครื่องบินกลับมาโดยใส่เสื้อเกราะกันกระสุนไว้ด้วย แต่เขาก็รู้ว่าเสื้อเกราะนั้นกันได้เฉพาะร่างกาย แต่ถ้ามีใครยิงศีรษะเขา มันก็ช่วยอะไรไม่ได้
แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทันทีที่มาถึง เขาก็ถูกยิงเข้าที่ศีรษะจนเสียชีวิตตรงนั้นเลย มันคือเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ
เป็นการจบสิ้นลงของนินอย เป็นความรุนแรงอันอุกอาจ เป็นเรื่องเหลือเชื่อไม่คาดฝันเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้คอรี่และคนฟิลิปปินส์อีกหลายล้านคนต้องลุกขึ้นสู้
5
รัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดย โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) บีบให้มาร์กอสต้องจัดการเลือกตั้ง นั่นจึงเป็นโอกาสที่ทำให้คอรี่ลงสมัคร อีกเหตุผลหนึ่งที่เธอตัดสินใจเช่นนั้นก็เพราะนายทหารที่เชื่อกันว่าเกี่ยวพันกับการฆ่านินอยถูกศาลยกฟ้อง
มันคือความอยุติธรรมที่ยอมต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
การเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างสูสี เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริต มีการข่มขู่จากฝ่ายมาร์กอสมากมาย นั่นทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นมามหาศาลของผู้คน และสุดท้าย อิเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) ก็ต้องขนรองเท้านับพันๆ คู่ของเธอหนีออกนอกประเทศไปพร้อมกับครอบครัว
นับเป็นการสิ้นสุดยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ปกครองฟิลิปปินส์มานับสิบๆ ปี และทำให้ฟิลิปปินส์ที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น ต้องตกอยู่ในสภาพย่ำแย่
คอรี่ขึ้นครองอำนาจ เธอคือประธานาธิบดีคนที่ 11 ของฟิลิปปินส์ และเป็นคนแรกที่เป็นผู้หญิง
ไม่มีก้าวย่างไหนเลยที่ปลอดภัย เธอต้องเผชิญกับความพยายามทำรัฐประหารหลายครั้ง ซึ่งเป็นฝีมือของเหล่าทหารที่ยังภักดีกับมาร์กอสอยู่
อาจเป็นเหตุผลนี้ และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่อาจฟื้นกลับมาได้ รวมไปถึงการเมืองภายในของฝ่ายเธอเอง สุดท้ายเมื่อหมดวาระแล้ว คอรี่ก็ก้าวลงจากตำแหน่ง โดยเมื่ออยู่ในตำแหน่ง เธอดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของประธานาธิบดีลง และมุ่งเน้นไปยังเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของผู้คนโดยเฉพาะพลเรือน รวมไปถึงการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่ ตั้งแต่กลุ่มคอมมิวนิสต์ไปจนถึงกลุ่มศาสนาต่างๆ และแม้จะมีปัญหาไม่น้อย แต่เธอก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำหญิงที่น่านับถือที่สุดคนหนึ่ง
6
คอราซอน อากีโน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ในปีค.ศ. 2008 และปีต่อมา เธอก็จากไป ร่างของเธอถูกนำไปฝังเคียงข้างนินอย – สามีของเธอ และได้ผ่อนพักจากการต่อสู้ทางการเมืองอันหนักหน่วง และถือเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของฟิลิปปินส์
เรื่องราวของเธอและความตายของนินอย ทำให้เราเห็นเลยว่า – การลุกฮือขึ้นมาของผู้คนนับล้านๆ เพื่อจุดหมายเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเกิดขึ้น