เมื่อวาน (17 พฤษภาคม) เป็นวัน IDAHO
เปล่าครับ ไม่ใช่วันฉลองรัฐไอดาโฮ แต่คำว่า IDAHO เป็นชื่อย่อของ The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia (ซึ่งในภายหลังเปลี่ยนเป็น IDAHOT ตามด้วย IDAHOTB) ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยกันแบบบ้านๆ ก็คือ เป็นวันต่อต้านอาการ ‘เกลียดตุ๊ด’ รวมไปถึงเกลียดเลสเบี้ยน เกลียดคนข้ามเพศหรือกะเทย และเกลียดไบเซ็กชวลด้วย
ที่จริงคำว่า ‘เกลียด’ เฉยๆ นั้นไม่พอหรอกนะครับ เพราะคำว่า Phobia มันมีนัยรวมไปถึงความกลัวด้วย ต้องแปลว่า ‘เกลียดกลัว’ มากกว่า ซึ่งก็ยิ่งให้ความรู้สึกที่แย่เข้าไปอีก
หลายคนบอกว่า สังคมไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรานั้น โอบกอด เปิดกว้าง และยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่น้อยทีเดียว แต่กระนั้น เมื่อวานนี้ ในงานเปิดนิทรรศการ ‘ชายหญิงสิ่งสมมุติ’ ที่มิวเซียมสยาม ซึ่งจัดพ้องพานกับวัน IDAHOTB ผมได้ฟังคุณรัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น นักแสดงและพิธีกรเล่าบางเรื่องให้ฟัง ผมก็ต้องบอกตัวเองว่า ความเชื่อที่ว่าเราคนไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศได้นั้น – อาจไม่เป็นอย่างที่คิด
ในงาน ‘ชายหญิงสิ่งสมมุติ’ นั้น ภัณฑารักษ์เชื้อเชิญผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้นำสิ่งของต่างๆ มาจัดแสดง พร้อมกับเขียนคำบรรยายสั้นๆ เอาไว้ ในบรรดาข้าวของเหล่านั้น มีของของคุณรัศมีแขรวมอยู่ด้วยชิ้นหนึ่ง
มันคือรองเท้าวิ่ง
เป็นรองเท้าที่เขาใช้ใส่วิ่งร่วมกับ ‘พี่ตูน’ ในโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ เมื่อปีที่แล้ว เป็นรองเท้าอะดิดาส Ultraboost สีขาวสะอ้านที่เขาใส่วิ่งเป็นระยะทางราว 200 กิโลเมตร ทั้งเพื่อเป็นกำลังใจให้พี่ตูน และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่คนไทยทั้งประเทศเห็นว่าเป็นเรื่องดีและงดงาม
แต่สิ่งที่เขาได้พบระหว่างการวิ่งคืออะไรรู้ไหมครับ?
เขาพบว่า ระหว่างการวิ่ง เราได้รับ ‘ของขวัญ’ เป็นการมอบคำพูดล้อเลียน หมิ่นหยาม ตั้งแต่การตะโกนหรือชี้ชวนกันให้ดู ‘กะเทย’ มาร่วมวิ่ง และเนื่องจากคุณรัศมีแขเป็นลูกครึ่งไทยกับแอฟริกันอเมริกัน จึงได้รับการชี้ชวนบอกกล่าวกันให้มาดู ‘นิโกร’ หรือ ‘กะเทยนิโกร’ วิ่งอีกด้วย
นี่คืออะไรกัน?
เมื่อผมเล่าเรื่องนี้ให้บางคนฟังในภายหลัง ใครบางคนบอกว่า คำพูดที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงคำพูดหยอกล้อตามประสาคนไทยที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นหยามอะไรก็ได้ เพราะการ ‘พลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ’ นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่โบราณแล้ว คนไทยโดยทั่วไปจึงอาจไม่ได้ ‘คิดมาก’ เรื่องนี้
ได้ฟังอย่างนั้นผมจึงเกิดอาการ ‘คิดมาก’ ขึ้นมาทันที!
เพราะถ้าเป็นไปตามคำอธิบายนี้จริง ก็แปลว่าคำพูดทั้งหมดนั้นเป็นคำพูดหยอกล้อที่ไร้ ‘เจตนา’ ในการหมิ่นหยาม แต่ถ้ายิ่งเป็นคำพูดที่ไร้ ‘เจตนา’ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งน่ากลัวเท่านั้น เนื่องจากมันแสดงให้เห็นถึง ‘เจตนา’ แห่งอาการ ‘เหยียด’ ที่ ‘ฝังเร้น’ อยู่ลึกและแนบเนียนมาก ซ่อนอยู่ในรูปรอยของวัฒนธรรมและสำนึกแบบ ‘ไทยๆ’ ที่ใช้วัฒนธรรมมุขปาฐะเพื่อสืบทอดทั้งความรู้ ความงาม ความจริง ไปจนถึงความเชื่อ อคติ และมายาคติ จึงทำให้เราสามารถพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ เพื่อสร้าง ‘ความเป็นอื่น’ ให้คนที่แตกต่างจากเรา โดยสามารถหัวเราะขันความเป็นอื่นนั้นได้ – โดยไม่รู้ตัว และอาจไม่มีแม้กระทั่งเศษเสี้ยวแห่งความรู้สึกผิดด้วยซ้ำ
ถ้าเป็นจริงดังนั้น นี่ก็คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
น่าเสียใจนัก – ที่คือวัฒนธรรมไทย!
ถ้าคำอธิบายที่ว่านั้นเป็นความจริง ก็แปลว่าความเป็นไทย ‘แบบหนึ่ง’ ได้หล่อหลอมให้คนบางกลุ่มกลายเป็น ‘คนไทย’ ที่ไม่มีความสามารถจะเข้าใจได้ ว่าการ ‘ล้อเล่น’ กับผู้อื่นด้วยคำพูดหมิ่นหยามเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่ใช่การล้อเล่น แต่คือการ ‘ทำร้าย’ และ ‘ทำลาย’ ลึกไปถึงตัวตนของคนคนนั้น เขาไม่ได้เป็นแค่เป้าของการล้อเลียน แต่ยังกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ของการถูกทำร้ายด้วยวิธีคิดแบบนี้ในสังคมด้วย และโปรดอย่าลืมว่า – ความรุนแรงทางวัฒนธรรมเป็นความรุนแรงที่ฝังลึกและเปลี่ยนแปลงได้ยากที่สุด
ด้วยความเกลียดกลัวแบบนี้เอง ที่ทำให้เกิดวัน IDAHOTB หรือวันต่อต้านการเกลียดตุ๊ด เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ รวมไปถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่างๆ ขึ้น วัน IDAHOTB เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการกดขี่ผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสร้าง ‘บทสนทนา’ ในสื่อ ระหว่างผู้กำหนดนโยบาย และสาธารณชนในวงกว้าง
คำถามก็คือ ทำไมต้องเป็นวันที่ 17 เดือนพฤษภาคมด้วย?
ประวัติศาสตร์พาเราย้อนกลับไปยังเยอรมนีในยุค ‘จักรวรรดิเยอรมัน’ (German Empire) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งตอนนั้นมีกฎหมายที่เรียกว่า Reichsstrafgesetzbuchหรือกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมในจักรวรรดิ โดยมี Penal Code ข้อที่ 175 ประกาศว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) เป็นอาชญากรรม และคนที่เป็นโฮโมเซ็กชวลทั้งหลาย ก็ถูกเรียกว่าเป็น One Hundred Seventy-Fivers หรือ 175ers
เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดการรวมตัวกันของหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ILGA (International Lesbian and Gay Association), IGLHRC (International Gay and Lesbian Human Rights Commission) ฯลฯ ในปี 2004 เพื่อก่อตั้งวันต่อต้านอาการเกลียดกลัวโฮโมเซ็กชวลขึ้น จึงมีข้อเสนอให้ใช้วันที่ 17 เดือน 5 เพื่อรำลึกถึงตัวเลข 175 ที่ว่านี้ โดยในช่วงแรก วันนี้เรียกว่า IDAHO จนถึงปี 2009 จึงมีตัว T เพิ่มเข้ามา โดยตัว T หมายถึง Transphobia หรืออาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ส่วน Biphobia หรืออาการเกลียดกลัวไบเซ็กชวล – เพิ่งเพิ่มเข้ามาในปี 2015 นี่เอง
คำถามที่น่าคิดต่อเนื่องจากวัน IDAHOTB และสิ่งที่คุณรัศมีแขได้พบจากประสบการณ์การวิ่งก็คือ สังคมไทยของเราเป็นสังคมที่ยังมีอาการ ‘เกลียดกลัว’ เหล่านี้อยู่จริงหรือเปล่า
ปกติแล้ว เราหางานวิจัยเชิงประจักษ์ที่เป็น ‘ตัวเลข’ ในสังคมไทยค่อนข้างยาก ยิ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างเรื่องเพศก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่บังเอิญว่า World Bank หรือธนาคารโลก เพิ่งจัดทำรายงานวิจัยฉบับหนึ่งขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ รายงานนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า Economic Inclusion of LGBTI Groups in Thailand in 2018 ซึ่งในฉบับภาษาไทยแปลว่า ‘การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย’ อันเป็นการแปลที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะคำว่า Inclusion ไม่ใช่การ ‘มีส่วนร่วม’ ที่หมายถึงคนกลุ่ม LGBTI เลือกให้ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ แต่เป็นภาคธุรกิจและสังคมของไทยต่างหากที่ ‘นับรวม’ (Include) คนกลุ่ม LGBTI ทั้งหลาย ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (ซึ่งในด้านหนึ่งก็หมายถึงการ ‘สร้างชาติ’ ด้วยนะครับ) มากน้อยแค่ไหน (ถ้าใครสนใจ สามารถดูผลการสำรวจโดยละเอียดได้ที่นี่ pubdocs.worldbank.org หรือที่นี่ www.worldbank.org)
ผลการสำรวจของธนาคารโลกบอกเราว่า ภาวะเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ที่สังคมไทยกระทำกับกลุ่ม LGBTI นั้นยังมีอยู่ และมีอยู่ไม่น้อยด้วย แม้ว่าสังคมไทยจะเริ่มมีความก้าวหน้าในเรื่องการยอมรับคนกลุ่มนี้มากขึ้นแล้วก็ตาม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ความเป็นจริง’ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น ‘สวนทาง’ กับความก้าวหน้าทางกฎหมาย เช่น ประเทศไทยเรามีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 แล้ว กฎหมายนี้เท่ากับการประกาศต่อโลกว่า ระบบกฎหมายไทยเห็นว่า – การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีรูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับเพศกำเนิดเป็นเรื่องที่ผิด
อย่างไรก็ตาม การสำรวจของธนาคารโลกทำให้เรารู้ว่า คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้จักกฎหมายนี้ ในกลุ่ม LGBTI ไทย มีแค่ 7% เท่านั้น ที่บอกว่ารู้จักและเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ และรู้ว่ากฎหมายฉบับนี้มีความหมายอย่างไรต่อสังคมไทย (42% บอกว่าเคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรแน่) ส่วนคนที่บอกว่าตัวเองไม่ใช่ LGBTI นั้นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีแค่ 1% เท่านั้นที่รู้ว่ากฎหมายนี้คืออะไร (โดยมี 30% บอกว่าเคยได้ยินว่ามีกฎหมายนี้)
เป้าหมายในการทำสำรวจนี้ก็คือ เพื่อดูว่าอุปสรรคและโอกาสของคนกลุ่ม LGBTI ในไทยเป็นอย่างไร รวมทั้งลองเปรียบเทียบการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนที่บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็น LGBTI ว่ารู้สึกอย่างไรกับกลุ่ม LGBTI บ้าง โดยมีผู้เข้าร่วมการสำรวจแบบออนไลน์ 3,502 คน ในจำนวนนี้มี 1,200 คน ที่บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็น LGBTI
เนื่องจากเป็นการสำรวจของธนาคารโลก จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเป็นหลัก โดยการสำรวจนี้แบ่งคนออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender), เกย์ และเลสเบี้ยน แม้ในด้านหนึ่งอาจไม่ได้แบ่งกลุ่มคนให้ละเอียดนัก แต่แค่นี้ก็ทำให้เห็นภาพอะไรหลายอย่าง
ภาพแรกที่น่าตื่นตะลึงก็คือตัวเลขของการถูกปฏิเสธงาน คือไม่รับเข้าทำงานเลยด้วยเหตุผลว่าเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือพูดอีกอย่างก็คือเป็นคนที่มีการแสดงออกทางเพศไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดและบรรทัดฐานทางเพศของสังคม พบว่ามีคนข้ามเพศถึง 77% เลสเบี้ยน 62.5% และเกย์ 49% ที่เคยถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงานด้วยเหตุผลนี้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว
คนข้ามเพศนั้นดูเหมือนจะ ‘โดนหนัก’ กว่าคนกลุ่มอื่น เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีการแสดงออก (Sexual Display) ที่มักจะแตกต่างจากเพศกำเนิดอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงทำให้มีถึง 3 ใน 4 (หรือราว 75%) ที่รายงานว่าตัวเองเคยถูก ‘เลือกปฏิบัติ’ (Discrimination) ในที่ทำงานหรือขณะสมัครงานรวมกัน แต่ถ้านับเฉพาะในที่ทำงาน (ไม่รวมขณะสมัครงาน) ก็ยังมีถึง 60% ที่ยังถูกเลือกปฏิบัติ และมีมากถึง 40% ที่ต้องพบกับเรื่องที่หนักหนาสาหัสระดับล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harrasment) หรือการล้อเลียน (Ridiculed) เก่ียวกับเรื่องเพศในที่ทำงาน
นอกจากนี้ คนข้ามเพศ 23.7% ยังบอกว่าเคยถูกสั่งให้ต้องไปใช้ห้องน้ำที่ตรงกับเพศกำเนิด คือต่อให้แต่งหญิงมาขนาดไหน ก็ยังต้องไปเข้าห้องน้ำผู้ชาย, อีกด้วย
แม้ในกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนจะพบกับสถานการณ์เหล่านี้น้อยกว่าคนข้ามเพศ แต่ก็ต้องนับว่าตัวเลขไม่ได้น้อยเลย เช่น มี 24% ที่ถูกที่ทำงานห้ามการเปิดเผยตัว คือจะไปบอกใครไม่ได้ว่าเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน และมีคนที่เป็นเกย์ถึง 22.7% ที่ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งงานด้วยเหตุผลว่าเป็นเกย์ โดยมีเกย์ราว 19% ที่บอกว่าถูกเลือกปฏิบัติจากตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ
อีกคำถามหนึ่งเกี่ยวข้องกับ ‘อาชีพ’ ที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงได้ยาก (พูดอีกอย่างก็คือ เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั่นแหละครับ) พบว่าอาชีพที่มาอันดับแรกเลยก็คือ – ตำรวจ มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 51.6% ที่บอกว่าอาชีพนี้เป็นไปได้ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ทำ รองลงมาคือทหาร (50.5%) และการทำงานกับองค์กรทางศาสนา (45.8%) ถัดมาคือการเป็นข้าราชการ (31.0%) แล้วก็เป็นครู, บุคลากรทางการแพทย์, พนักงานธนาคารและสถาบันการเงิน โดยอาชีพที่มีแนวโน้มจะถูกปฏิเสธการทำงานน้อยที่สุด ก็คือการทำเกษตร (3.1%), ค้าปลีก (3.6%), อาชีพเกี่ยวกับความสวยความงาม (4.2%), ท่องเที่ยวหรือต้อนรับ (5.8%) และอาชีพเกี่ยวกับความบันเทิง (6.3%)
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้หมายถึงการทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนรวมๆ กันนะครับ แต่ยังมีการสำรวจถึงการ ‘เข้าถึงบริการของภาครัฐ’ อีกด้วย ซึ่งผลที่ออกมาน่าสนใจทีเดียว
ผลสำรวจบอกว่า กลุ่มคนข้ามเพศนั้น มีมากถึง 57.8% ที่บอกว่าตัวเองมีปัญหากับการระบุตัวตน คนหนึ่งบอกว่า “พวกเขามักจะมีปัญหากับบัตรประชาชนของฉัน เพราะมันเขียนคำนำหน้าว่า นาย รูปภาพก็เป็นรูปเก่า พวกเขามักจะสงสัยและบอกว่าต้องสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เชื่อว่าคนที่อยู่ตรงหน้าเป็นคนเดียวกับที่อยู่ในเอกสาร ในขณะที่กลุ่มเลสเบี้ยนพบปัญหานี้ 22.7% และกลุ่มเกย์พบปัญหานี้ 15.6%
รายงานนี้ยังบอกด้วยว่า มีคนกลุ่ม LGBTI ถึง 30% ที่โดนคุกคามหรือล้อเลียน และถูก ‘เรียกร้องให้ต้องทำตามข้อบังคับเพิ่มเติมมากกว่าประชาชนทั่วไปในยามที่ต้องการใช้บริการรัฐ’ รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การต้องเข้าห้องน้ำให้ตรงกับเพศกำเนิด ปัญหาด้านกฎหมาย ผลกระทบด้านการเงิน ปัญหาสุขภาพที่เกิดต่อเนื่องจากการไม่ได้รับบริการที่เหมาะสม รวมไปถึงการเกิดความขัดแย้งในชีวิตส่วนตัว และอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ตัวเลขที่น่าตื่นเต้นอีกชุดหนึ่งก็คือตัวเลขที่มาจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่ LGBTI นั่นคือตัวเลขของการ ‘ยอมรับการเลือกปฏิบัติ’ หรือเห็นว่าสามารถ ‘เลือกปฏิบัติ’ กับคนที่เป็น LGBTI ได้ พบว่า มีคนมากถึงกว่าหนึ่งในสาม (คือ 37.4%) ที่ตอบว่ายอมรับได้หากนายจ้างเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเข้าไปใช้บริการจากภาครัฐ เช่น การติดต่อราชการ แล้วคนที่เป็น LGBTI ถูกเลือกปฏิบัติ พบว่าคนเกือบครึ่ง (คือ 48%) เห็นว่าการถูกเลือกปฏิบัติก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้ว
ทั้งหมดนี้บอกอะไรเราบ้าง?
สำหรับคนทำงานด้านเพศบางคน ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกพวกเขาว่า พวกเขาอยู่ในดินแดนที่เปิดกว้างและโอบรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศมากนัก แต่ทั้งหมดนี้บอกพวกเขาว่า – พวกเขาอาจยังต้องทำงานหนักกันต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจที่กว้างขวางขึ้น
แม้ในบางส่วนของโลก จะมีผู้คนสนทนาถกเถียงกันถึง ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’ (Identities Politics) ว่าจะเข้าไปทำงานกับการเมืองอย่างเป็นทางการและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างไร รวมไปถึงการถกเถียงกันเรื่อง ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ (Political Correctness) แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผลสำรวจของธนาคารโลกและการถูกล้อเลียนหมิ่นหยามของคุณรัศมีแข แสดงให้เราเห็นว่า – ยังมีอีกหลายส่วนในโลก ที่ต้องการบทสนทนาที่ ‘พื้นฐาน’ กว่านั้นมากนัก
วัน IDAHOTB หรือวันต่อต้านการเกลียดตุ๊ด เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ รวมไปถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการสร้าง ‘บทสนทนา’ ในเรื่องนี้
คำถามก็คือ – บทสนทนาที่ว่า, จะเกิดขึ้นอย่างเข้าอกเข้าใจ เปิดกว้าง และลงลึกไปถึงรากเหง้าและตัวตนทางวัฒนธรรมของผู้คนได้ไหม – ในที่แห่งนี้