เกิดเป็นกระแส เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กเขียนข้อความจั่วหัวว่า “การรวมศูนย์อำนาจทางภาษา (linguistic centralization) และลัทธิต่อต้านการใช้นะค่ะ (antiนะค่ะism)” ซึ่งเนื้อหาของข้อความนั้นคล้อยตามความคิดคนอีสานท่านหนึ่งที่อธิบาย (หลายคนมองว่าแถ) ว่าทำไมการใช้ ‘นะค่ะ’ จึงไม่ผิดเสมอไป แถมยังสุภาพกว่า “นะคะ” ได้อีก
ประเด็นสำคัญที่โพสต์ต้นทางเสนอคือ คนที่ใช้ภาษาถิ่น เช่นคนอีสานที่ใช้ภาษาลาวไม่อาจนำอักษรไทยไปปรับใช้ตามระบบเสียงของตัวเองบ้างหรือ?
ทำไมเมื่อเขียนภาษาไทยตามจริตคนที่ละเอียดอ่อนเรื่องการขึ้นเสียง จึงต้องตีกรอบให้ #เข้าเมืองขึ้นเสียงนะคะต้องขึ้นเสียงนะคะตาม ทุกครั้งไป?
เสียงตอบรับก็มีทั้งเห็นด้วย กังขา และด่าทอ (ตัวฉันเองกังขาครึ่งเห็นด้วยครึ่ง) มีคอมเมนต์ยอดฮิตหนึ่งจากทางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ระบุว่า
“อ่านแล้วคือ… งั้นจะพิมพ์ด้วยสำเนียงอีสานก็ควรเขียนว่า กินข้าวบ่ค่ะ อย่ามาเขียนว่ากินข้าวไหมค่ะ เพราะมันดูเป็นภาษากลางที่ใช้ผิด และคนที่รณรงค์ ไม่ใช้นะค่ะ ไม่ใช่ลัทธิ เป็นคนที่อ่านแล้วรำคาญ เวลาอ่านอะไรเสียงมันจะผุดมาในหัวแล้วมาสะดุดที่นะค่ะ โว๊ะ” เธออ่านแล้วฮาเหมือนที่ฉันฮารึปล่าว? ถ้าฮาก็โปรดจงอุทานออกมาพร้อมกันให้เสียงผุดขึ้นมาในหัวว่า “โว๊ะ” (มันออกเสียงต่างจาก “โวะ” ยังไงนะ?)
การที่ชาวไทยจำนวนมากไม่สามารถอ่านตัวหนังสือให้เสียงผุดขึ้นมาตามที่ตนต้องการได้นั้น ฉันมองว่าเป็นความสำเร็จแสนสถุลของการสอนอ่านเขียนภาษาไทยมาตรฐาน ที่จำกัดจินตนาการผู้อ่าน ให้ไม่สามารถ ‘ได้ยิน’ สำเนียงที่หลากหลายของภาษาถิ่นในตัวเขียนได้
หากท่านเป็นคนหนึ่งที่รำคาญใจเมื่อคนใช้คำว่า “นะค่ะ” อยากให้ลองถามใจตัวเองดูดีๆ ว่า ยามอ่านหรือพูดคำว่า “สวัสดีค่ะ” จริงๆ แล้วท่านออกเสียงตามการเขียนว่า “สวัสดีค่า” โดยทำให้ สระ อา กลายเป็นเสียงสั้น หรือว่าท่านออกเป็นเสียงต่ำว่า “สวัสดีขะ”
ถ้าท่านออกเสียงถูกต้องเสมอ ฉันอยากขอจับมือถือแขนพูดคุยกับผู้อาวุโสอย่างท่าน เพราะในชีวิตประจำวันฉันไม่มีใครออกเสียง “สวัสดีค่ะ” เป็นเสียงโทและเสียงสั้นถูกต้องตามหลักการผันวรรณยุกต์เลยแม้แต่คนเดียว จึงไม่อยากจะเชื่อว่า ชาวไทยจะหัวเสีย (brain malfunction) กับเรื่องหยุมหยิมยิบย่อยอย่างกฎการเขียนคำที่เป็นภาษาพูดแต่แรกอย่าง “คะ” “ค่ะ” มากถึงเพียงนี้ ลองนึกภาพชาวไทยสมัยก่อน หัวเสียกับการใช้คำว่า “พ่ะย่ะค่ะ” อย่างผิดๆ ดูสิ
จิม: กราบบังคมทูลฯ ฝ่าบาท
ฉิม: ว่ามา Jim
จิม: บัดนี้โรคห่าได้มาเยือนพระนครแล้ว อาสภตรึมวัดศรีสระเกษทีเดียว
ฉิม: ข้าบอกกี่ทีแล้วว่าห้ามใช้คำว่า “อาสภ” ให้ใช้คำว่า “ศพ” เข้าใจไหมบักหัวล้าน
จิม: รับแซบพะยะคะ
ฉิม: (เพี้ยะ!)
จิม: เอ๋อะ!
ฉิม: ไยลงท้ายว่า “คะ” เสียงสูงกับข้าเช่นนี้ ห่อนรู้ฤๅว่าต้องสะกดว่า “พ่ะย่ะค่ะ” ไม้เอกสามตัวนะ อาลักษณ์! ปรับไหมนาย Jim สามเฟื้อง ไม้เอกละเฟื้องเด้อ!
อาลักษณ์: รับแซ่บพ่ะย่ะค่ะ
ฉิม: อ่อ มันตกไม้เอกคำว่า “แซ่บ” ด้วยนี่! ราชบัณฑิตเพิ่งออกประกาศ ข้าทันได้ชินอยู่!
ฉันขอลองแสร้งทำเป็นหัวเสียกับการใช้คำว่า ‘แซ่บ’ ของคนไทยบ้าง
ฉันเข้าใจมาตลอดว่า ‘แซ่บ’ มันเขียนผิด ที่ถูกต้องควรเขียนว่า ‘แซบ’ ถึงตอนนี้ก็ยังเชื่อว่ามันผิดอยู่ แต่โอ๊ะโอ! มันเป็นความเชื่อที่ผิดเสียแล้ว เมื่อสำนักงานราชบัณฑิตยสภาออกมากำหนดว่าที่ถูกต้องเขียนว่า “แซ่บ” ในพจนานุกรมฯ พ.ศ. 2554 เปลี่ยนจากฉบับพ.ศ. 2542 ที่สะกดว่า ‘แซบ’ เหตุผลที่ใส่ไม้เอกคือ ‘เพื่อบ่งว่าเป็นเสียงวรรณยุกต์โทและออกเสียงสั้น (อย่างคำว่า แน่บ)’
เห็นแล้วเม้มปากเลียแพล่บๆ แท่บจะโกยแน่บ ราวกับเป็นคำถามจากรายการปริศนาฟ้าแล่บ! อุ่ย ท่ดๆ อี่หลีแล้วต้องเขียนว่า เม้มปากเลียแพล็บๆ แทบจะโกยแน่บ ราวกับเป็นคำถามจากรายการปริศนาฟ้าแลบ! อยากจะหนีจากกะโป๋ะปะเทดไปใช้ภาษาอังกลิศ ไม่ก็ภาษาเกาหรีจริงๆ
คำว่า ‘แซบ’ หรือ ‘แชบช้อย’ เสียงยาว ปรากฏตั้งแต่ในวรรณคดีลาวโบราณนั้น ไม่เพียงหมายถึงรสชาติอร่อยของภักษาหาร แต่ยังอาจใช้พรรณนารสสวาทของคู่ซ้อนนอนเคียงด้วย
แต่ก่อนสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ภาษาอีสาน’ มีตัวอักษรของตัวเองถึงสองชุด ผู้มีการศึกษาก็เขียนไปตามคัมภีร์ใบลาน และอ่านออกเสียงด้วยสำเนียงบ้านตัวเอง
ไม่ว่าสำเนียงบ้านท่านเมืองท่านจะว่า “ม่าๆ กิ๋นเข้า” หรือ “ม่าๆ กิ้นเข่า” หรือ “ม้าๆ กิ่นเข่า” มันก็เขียนเหมือนกันว่า “มาๆ กินเข้า” แปลว่า “Come eat rice!” ไม่มีใครหัวเสีย (brain malfunction) เกิดเสียงผุดขึ้นมาผิดติดรำคาญ ไยญาท่านบ่กำกับปรับสำเนียง!
ยุคต่อมา ตัวอักษรไทยน้อยและตัวอักษรธรรมถูกบังคับให้เลิกใช้ ให้ลูกหลานมาเรียนตัวอักษรกรุงเทพฯ ผ่านระบบการศึกษาภาคบังคับแทน ด้วยคำมั่นสัญญาว่า ภาษามาตรฐานจะเป็นเครื่องมือเข้าถึงการกลายเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันของรัฐ
โสภา พลตรี (พ.ศ. 2425-2485/2486) หมอลำผู้ลุกขึ้นมาต่อต้านนโยบายยัดเยียดภาษาเขียนอย่างใหม่นี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้ ‘ภาษาไทยกินเด็ก’ หลังปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล เขาต้องถูกทางการจับกุมคุมขัง จับไป #ถ่วงน้ำเสี่ยงทาย แล้วดันรอด สุดท้ายเสียชีวิตตอนจะได้ปล่อยตัวพอดี เพราะปวดฟันแล้วเขาฉีดยาแก้ปวดให้ แต่กลับตาย
มาถึงวันนี้ คำลาว หรือ ‘ภาษาถิ่น-อีสาน’ หลายคำไหลล่องเข้ากระแสหลัก กลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปอย่างเช่นคำว่า ‘แซบ’ แต่สำนักงานราชบัณฑิตยสภากลับพรากคำนี้จากต้นตอ เอาไปบรรจุหีบห่อใหม่เป็น ‘แซ่บ’ ให้เข้ากับ ‘ความนิยม’ ของใครก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าไม่ใช่ความนิยมของพลเมืองจำนวนมหาศาลของประเทศ ที่ยังลากเสียงยาวอยู่ดังเดิม
ผิดทั้งการเขียนตามแบบแผนอักขรวิธี ผิดทั้งการเขียนตามการออกเสียง จักหญังดอกไทบางกอกบักกืก ฮู้ภาษาของเฮาอี่หลีบ่นี่
ถ้าจะอ้างความถูกต้องของภาษาไทยมาตรฐานเพื่อกีดกันการใช้คำว่า ‘นะค่ะ’ อันเสมือนเป็นเงาของคำว่า ‘เด้อค่ะ’ ของคนที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ก็ควรจะอ้างได้เช่นกันว่าต้องกีดกันการใช้คำว่า ‘แซ่บ’ ของคนที่เลียนภาษาลาวเป็นภาษาถัดมา
เดชะบุญ อีสานไม่มีสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โล่งเอิ็กไป! ดีเสียอีก คนอีสานอย่างเราๆ จะได้คงความสามารถอ่านการสะกดที่ผิดแผกกันได้โดยไม่รำคาญต่อไป ตราบใดที่เนื้อความที่ต้องการสื่อสารยังส่งมาถึงก็เป็นพอ
เพื่อเป็นการฉลองเสรีภาพ เรามากิน ‘ต้มแซบ’ ให้โล่งคอกันเถอะ!
เอ้อ เจ๊ก้อย ได้ข่าวว่าเขียน “ซุปหน่อไม้” มันผิดเด้อค่ะเด้อ เอ๋า ซุบหน่อไม้สไตล์ลาวเฮามันเขียนบ่คือซุปไก่สกัดในกระเช้าพวกเจ๊กเด๊ะ ขอตำซาดิสนำแหน่ ใส่แค๊ปหมูหลายๆ เอ๊ะ เขียนจั่งใด๋น้อบาดนี่ cab หมู ก็ดาย…