1.
ตอนที่ผมดูหนังเรื่องจูราสสิค พารค์ ภาคแรก (ปี 1993, ใครที่ได้ดูในโรงแสดงว่าน่าจะแก่พอสมควรนะครับ :P) ฉากที่ผมชอบมากที่สุดจนจำได้มาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ฉากที่หนังเล่าเรื่อง วิธีการคืนชีพไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่พวกมันสูญพันธุ์ไปเมื่อกว่าร้อยล้านปีก่อน
ในหนัง นักวิทยาศาสตร์ของจูราสิค พาร์ค ให้กำเนิดใหม่แก่เหล่าไดโนเสาร์ด้วยการเอาเลือดของไดโนเสาร์มาสกัดดีเอ็นเอและทำโคลนนิ่ง โดยเลือดไดโนเสาร์ที่ว่านี้ได้มาจากฟอสซิลของยุงที่อยู่ร่วมยุคกับพวกมันอีกต่อหนึ่ง
โคตรล้ำเลยไหมหละครับ !!
ที่ผมชอบฉากนี้เป็นเพราะผมคิดว่า ทฤษฎีนี้มันเป็นไปได้นี่หว่า แต่เมื่อโตขึ้นตามวัย ผมกลับคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของจินตนาการมากกว่าความจริง … การเปลี่ยนความคิดไม่ใช่เรื่องน่าเสียดายเท่ากับว่า ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตัวเองจึงเปลี่ยนความคิด
แต่ตอนนี้ผมกำลังจะเปลี่ยนความคิดอีกครั้งแล้วครับ และครั้งนี้ผมรู้ว่าผมเปลี่ยนเพราะอะไร จึงอยากแบ่งปันและชวนคุณผู้อ่านคิดไปพร้อมกัน
2.
ในปี 2013 มนุษย์ได้สร้างประวัติศาสตร์และมีสถานะใกล้เคียงพระเจ้าเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวสเปนและฝรั่งเศษได้ให้กำเนิดบูคาโด (bucardo) แพะป่าที่สูญพันธุ์ไปแล้วขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยพวกเขานำเอาดีเอ็นเอของบูคาโดมาเพาะเป็นตัวอ่อนและฝากเข้าไปในท้องของแพะธรรมดา 57 ตัว ผลปรากฎว่า มีตัวอ่อนตัวหนึ่งสามารถอยู่รอดจนคลอดออกมาได้ แม้ว่ามันจะตายหลังจากลืมตาดูโลกมาได้ไม่นานก็ตาม
ความสำเร็จครั้งนี้จุดประกายความหวังให้กับแนวคิด ‘การฟื้นคืนการสูญพันธุ์’ (deextinct) เป็นอย่างมากเลยนะครับ โครงการวิจัยหลายโครงการได้เริ่มดำเนินการทดลองนำสิ่งมีชิวิตที่สูญพันธุ์แล้วกลับมาอย่างจริงจัง เช่น นกพิราบป่าแห่งอเมริกาเหนือ และกบออสเตรเลียที่ออกลูกทางปาก เป็นต้น
กลับมาโลกจูราสิค ถึงแม้ว่าการเอาไดโนเสาร์กลับมาเหมือนในหนังจะยังห่างไกลความเป็นจริง เพราะยังมีเรื่องที่ต้องคิด ต้องแก้ไขอีกเยอะ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยนะครับ ในทางทฤษฎีนักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการเพาะพันธ์แมมมอธกันแล้ว (เพราะช้างในปัจจุบันมีดีเอ็นเอใกล้ชิดกับแมมมอธนั่นเอง)
3.
เทคโนโลยีการฟื้นคืนการสูญพันธ์สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าอย่างมหาศาลขององค์ความรู้เกี่ยวกับพันธุศาสตร์ (เชี่ย ลองคิดดูสิครับ นี่เล่นเพาะพันธ์แมมมอธเลยนะ!!) และเมื่อองค์ความรู้ก้าวไกลขนาดนี้ย่อมมีคนเอาไปต่อยอดทางธุรกิจแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มสุขภาพ
ในปี 2014 Craig Venter อดีตนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบัน National Institute of Health (NIH) ในสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา 2 บริษัท หลังจากที่เขาอ้างว่า เขาคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่เคราะห์โครโมโซม X ของมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่ถูกปฏิเสธการให้ทุนมูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจาก NIH เห็นว่ามีราคาแพงเกินไป
บริษัทแรกที่ Venter ตั้งขึ้นมีชื่อว่า Synthetic Genomics บริษัทแห่งนี้ให้บริการที่หลากหลายเช่น การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ การโคลนดีเอ็นเอ ซึ่งสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และในอุตสาหกรรมได้ แต่ที่เด็ดสุดคือ Synthetic Genomics ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูไปสู่คนสามารถทำได้อย่างปลอดภัย ในเบื้องต้น Venter ตั้งใจว่าจะพัฒนาปอดก่อน แต่เขาบอกว่าในอนาคต หัวใจ ตับ และไต ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน (ใครที่ชอบกินต้มเครื่องในหมู อาจจะเปลี่ยนใจก็คราวนี้แหละครับ)
อีกบริษัทที่ Venter ตั้งขึ้นมีชื่อว่า Human Longevity, Inc. (HLI) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น (ตามชื่อบริษัทเลย) ในเบื้องต้น Venter ตั้งใจให้บริษัทแห่งนี้มีสถานะศูนย์การวิเคราะห์ยีนส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เป้าหมายที่แท้จริงของเขาและทีมคือ “การพิชิตความแก่ในระดับดีเอ็นเอ” Venter เชื่อว่าปริศนาความแก่ตัวของคนนั้นอยู่ในดีเอ็นเอ และถ้าเขาไขปริศนานี้ได้ เขาก็จะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยับยั้งความแก่ในระดับมูลฐานได้
แม้จะฟังดูขายฝัน แต่ฝันของ Venter ก็ขายได้กว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อ HLI สามารถระดมทุนจาก venture capital ได้ภายในระยะเวลาแค่ 8 เดือนหลังจากตั้งบริษัท เงินจำนวนนี้นับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับทุนวิจัยที่เขาถูกปฏิเสธจากที่ทำงานเก่า
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเจ๋งมากก็คือ กรณีของ Dr.Lukas Wartman นักพันธุกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่ค้นคว้าการรักษามะเร็งมาตลอดชีวิตนักวิจัยของเขา แต่โชคชะตาดันมาเล่นตลก เมื่อตัวเขาดันเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเสียเอง ข่าวร้ายสำหรับเขาคือ ในขณะนั้น (ปี 2011) โลกยังไม่มีวิธีการใดๆ ที่สามารถรักษาเขาได้
ในคราวนั้น เพื่อนร่วมงานของเขาที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันได้เสี่ยงทุ่มทรัพยากรทั้งหมดวิเคราะห์ดีเอ็นเอเซลล์มะเร็งของ Wartman โดยมหาวิทยาลัยต้องใช้เครื่องวิเคราะห์ยีนส์ทั้งหมดที่มี (จำนวน 26 เครื่อง) และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์รวมซึ่งเป็นงบประมาณหลายล้านเหรียญ หลังจากใช้เวลาหลายสัปดาห์ การวิเคราะห์ยีนส์ตรวจพบว่า พันธุกรรมตัวหนึ่งของ Wartman เป็นต้นเหตุให้ร่างกายผลิตโปรตีนบางชนิดมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นต้นตอของมะเร็งอีกทีหนึ่ง
การวิเคราะห์ยีนส์ช่วยให้แพทย์สามารถหาต้นตอที่แท้จริงของมะเร็งได้ แต่การจะรักษาได้หรือไม่ก็อยู่ที่ดวงด้วยเหมือนกัน เพราะปกติแล้วไม่มียาตัวใดที่มุ่งรักษาอาการที่เกี่ยวกับความผิดปกติของยีนส์โดยเฉพาะ แต่ Wartman โชคดีพอที่จะรอด เพราะตอนนั้นความรู้ทางเภสัชศาสตร์มียาที่สามารถระงับโปรตีนที่ก่อมะเร็งของเขาได้ หลังจากกินยาได้สองอาทิตย์ อาการของ Wartman ก็ดีขึ้นอย่างมาก เมื่อร่างกายแข็งแรงพอ เขาก็เข้ารับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลายพันธ์ุ
เราคงต้องยอมรับนะครับว่า ความสำเร็จในกรณีของ Wartman นั้นเป็นกรณียกเว้น เพราะหากเขาไม่ใช่นักวิจัยด้านพันธุศาสตร์แล้ว ก็คงยากที่นักวิจัยชั้นนำและมหาวิทยาลัยจะยอมทุ่มทรัพยากรให้มากขนาดนี้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เรื่องราวของเขาได้เปิดประตูความเป็นไปได้ให้กับการรักษามะเร็งแบบใหม่ๆ ที่อาจกลายเป็นบริการที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ในอนาคต
อนาคตของอุตสาหกรรมพันธุกรรมจะเป็นอย่างไรนั้น คำตอบอาจไม่ใช่ตัวเลขทางธุรกิจมากเท่ากับประเด็นเชิงศีลธรรมหรอกนะครับ
ในด้านธุรกิจ แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมพันธุกรรมมีมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหลักของโลกอย่างอุตสาหกรรมไอที (มูลค่ากว่า 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) แต่ ผู้เชี่ยวชาญต่างทำนายตรงกันว่า อุตสาหกรรมนี้จะกลายเป็น ‘อุตสาหกรรมล้านล้าน’ ภายในเวลาไม่กี่ปีนี้แน่ๆ
ยิ่งถ้ามองเทรนด์การพัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว อุตสาหกรรมพันธุกรรมนี่เดินตามสูตรอุตสาหกรรมดาวรุ่งเป๊ะเลย นั่นคือ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ จนสามารถเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากได้ คิดดูสิครับ ในปี 2012 ค่าบริการการวิเคราะห์ยีนส์หนึ่งครั้งนี่ล่อเข้าไป 100,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ถ้าใครอยากลองก็จ่ายเพียงแค่ 4,000 เหรียญสหัรฐฯ เท่านั้น ส่วนใครคิดว่ายังแพงอยู่ก็รออีกสักหน่อยก็ได้ ว่ากันว่า ในอีก 2 -3 ปีข้างหน้า ราคาน่าจะอยู่ในระดับ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
(ถ้าคิดราคาตั้งต้นจริงๆ ราคาการวิเคราะห์ยีนส์นี้ถูกลงกว่า 1,000,000 เท่าเลยทีเดียวหละครับ เพราะในยุคแรกนั้นการวิเคราะห์ยีนส์หนึ่งครั้งต้องทุ่มวิจัยกันระดับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว)
ในด้านศีลธรรม ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ (แม่ง) ต้องวุ่นวายน่าดูเลยทีเดียว, แค่เอาปอดหมูมาแทนปอดคน ถึงเวลาทำจริงคงเถียงกันวุ่นวายน่าดู
ไม่ต้องพูดถึงว่า ถ้าเราสามารถเพาะพันธ์ุแมมมอธได้จริงๆ
คุณผู้อ่านคิดว่าเราควรจะทำมันไหม?