อัลแบร์ กามู (Albert Camus) นักเขียนผู้ยิ่งยงชาวฝรั่งเศส เคยกล่าววาทะอมตะเอาไว้ว่า “เรื่องแต่งคือคำโกหกที่เราใช้บอกเล่าความจริง”
ในศตวรรษที่ 21 ‘เกม’ ไม่ว่าจะเล่นผ่านคอมพิวเตอร์ คอนโซล มือถือ หรืออุปกรณ์อื่นใด หลายต่อหลายเกมพิสูจน์ให้เห็นและสามารถยืนยันวาทะนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ต่างจากนิยาย ภาพยนตร์ และสื่อบันเทิงประเภทอื่น
‘Greedfall’ เกมสวมบทบาทแนวบู๊ (action RPG) จาก Spiders สตูดิโออินดี้ฝรั่งเศส สร้างโลกในจินตนาการที่บอกเล่าความจริงอันเจ็บปวดของลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรปในอดีต และการเปลี่ยนผ่านมาสู่ค่านิยมที่เป็นสากลนิยม (cosmopolitan) มากกว่าเดิมในปัจจุบัน ได้อย่างน่าติดตามและแจ่มชัดจนตรึงคนเล่นได้อยู่หมัดตลอดเกม ถึงแม้จะมีข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ในระบบเกมก็ตาม
โลกของ Greedfall โลกแฟนตาซีที่การร่ายเวทเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีเผ่าหรือเมืองไหนในเกมมีอยู่ในโลกจริง แต่ก็ชัดเจนว่าทีมออกแบบเลือกยุโรปในศตวรรษที่ 17 เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโลกและแต่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเกม
ทีมออกแบบให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าพวกเขาเลือกศตวรรษที่ 17 ในยุโรปมาทำเกมเพราะยุคนี้น่าสนใจในหลายมิติด้วยกัน มันเป็นยุคที่เราได้เห็นกองทัพพกพาอาวุธปืนเป็นครั้งแรก กระแสการเล่นแร่แปรธาตุ วิทยาศาสตร์ยุคบุกเบิก ความเชี่ยวชาญในการเดินเรือสำรวจโลก และความขัดแย้งทางศาสนา ทีมออกแบบจึงสร้างฝักฝ่ายต่างๆ ในเกมขึ้นมาโดยให้แต่ละฝ่ายมี ‘จุดเน้น’ ไม่เหมือนกัน เช่น บางพวกนับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด บางพวกหลงใหลในวิทยาศาสตร์ บางพวกเชี่ยวชาญการเดินเรือ บางพวกช่ำชองด้านการเป็นพ่อค้าวาณิช เป็นต้น
ฝ่ายต่างๆ ใน ‘โลกเก่า’ เหล่านี้เดินทางไปตั้งรกรากใน ‘โลกใหม่’ – เทียร์ ฟราดี เกาะใหม่ที่พวกเขาเพิ่งค้นพบได้ไม่นาน แต่เป็นที่พำนักของชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งก็มีหลากหลายเผ่ามานานนมเนแล้วเช่นกัน
เราเล่นเป็น เดอ ซาร์เดต์ (De Sardet) ชายหนุ่มในตระกูลคหบดี/ขุนนางในสมาคมพ่อค้า (Merchant Congregation) ผู้ถูกมอบหมายให้ติดตาม คอนสแตนติน (Constantin) ลูกพี่ลูกน้องของเรา ข้ามน้ำข้ามทะเลไปครองนครรัฐของสมาคมวาณิชบนเกาะเทียร์ ฟราดี คอนสแตนตินถูกส่งไปครองเมืองแทนเจ้าเมืองคนเดิมซึ่งเป็นคนก่อตั้ง แต่ฝ่ายอื่นๆ ในโลกเก่าก็ล้วนแต่ไปจับจองสร้างเมืองของตัวเองก่อนหน้านี้แล้ว เป้าหมายหลักของเราตั้งแต่เริ่มเกมคือการสำรวจหนทางรักษาโรคระบาดปริศนาที่กำลังคร่าชีวิตคนมากมายในโลกเก่า แต่ชนพื้นเมืองบนเทียร์ ฟราดี ดูเหมือนจะไม่มีใครตกเป็นเหยื่อของโรคร้ายนี้เลย ข้อเท็จจริงข้อนี้มอบความหวังให้กับเราว่าจะสามารถค้นพบเบาะแสบนเกาะนี้ที่จะนำไปสู่ยารักษาโรค
ถึงแม้ว่าแรงจูงใจหลักของ เดอ ซาร์เดต์ ตัวละครที่เราในเกมจะเป็นการพยายามค้นหายารักษาโรค ไม่ใช่การฆ่าฟันชนพื้นเมืองหรือหาทางกอบโกยสมบัติ ดังที่บางคนอาจจะคิดจากชื่อเกม (greed แปลว่า ความโลภ) แต่ตัวละครจำนวนมากจากโลกเก่าใน Greedfall โดยเฉพาะฝ่าย เธเลเม (Theleme) ก็แสดงวิธีคิดและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ของลัทธิจักรวรรดินิยมซึ่งครอบงำมหาอำนาจยุโรปหลายประเทศในศตวรรษที่ 17 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะฝรั่งเศส บ้านเกิดของ Spiders ทีมออกแบบ ซึ่งใช้ข้ออ้างที่ว่าอารยธรรมตัวเองสูงส่งและ ‘เหนือ’ กว่าวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง มาอ้างว่ามีความชอบธรรม – มี ‘ภารกิจ’ จากพระเจ้าด้วยซ้ำ – ที่จะนำความเจริญมาสู่ชนพื้นเมืองในแอฟริกาและเอเชีย โดยภารกิจนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘mission civilisatrice’ สืบมาจนปัจจุบัน
ในศตวรรษที่ 17 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อวิทยาศาสตร์และวิทยาการ
ของยุโรปก้าวไกล หลายคนมองประวัติศาสตร์ว่าเป็นกระบวนการ
ที่เดินเป็นเส้นตรงและเดินได้ทางเดียว
สังคมทุกสังคมย่อมวิวัฒนาการไปทางเดียวกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทางนั้นก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นทางที่ยุโรปวิ่งนำหน้า ทิ้งชาติอื่นๆ ไกลลิบ นักล่าอาณานิคมมองชนพื้นเมืองว่า ‘ล้าหลัง’ และไร้ความสามารถในตัวเอง นักคิดสาย ‘ก้าวหน้า’ ในยุคนั้นคือคนที่เสนอว่า ชาวยุโรปมี ‘พันธกิจศักดิ์สิทธิ์’ ที่พระเจ้าประทานให้ ภารกิจนี้คือการช่วยเหลือชนพื้นเมือง “ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความมีอารยะได้ พวกเขาเพียงแต่รอคอยวิธีการจากเรา รอคอยภราดรจากยุโรปไปพบ ไปคบหาเป็นเพื่อนและสาวก” ในคำพูดของ มาร์คีส์ เดอ กอนดอร์เซต์ (Marquis de Condorcet) นักคิดชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18
ความเชื่อมั่นที่ว่าอารยธรรมของตัวเองเหนือกว่า แปลว่าวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองจะต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพื่อที่จะพัฒนาให้ ‘มีอารยะ’ แบบยุโรป พวกเขาต้องปรับตัวถ้าไม่อยากล้มหายตายจากไป เพราะการ ‘เป็นอารยะ’ มีความหมายเดียวเท่านั้น คือ การ ‘เป็นเหมือนพวกเรา’ ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนั้นรวมถึงการเปลี่ยนศาสนาจากการนับถือผีมาเป็นการนับถือคริสต์ด้วย
ความสนุกของ Greedfall ซึ่งก็คือวิธีหลักที่เกมสื่อสาร ‘ความจริง’ ของลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรปอยู่ในการทำภารกิจต่างๆ ในเกม ทั้งภารกิจหลักและภารกิจเสริมหลายสิบกรณี ซึ่งล้วนแต่มีความหลากหลายและน่าติดตาม ไม่มีภารกิจไหนน่าเบื่อ ใส่ๆ มาให้ยืดเวลาเล่น (filler) ทำนอง ‘เก็บ X เอาไปให้ Y’ อย่างที่เราเห็นใน RPG ทั่วไป ระหว่างการสืบเสาะเบาะแสของยารักษาโรค เราก็จะต้องช่วยคอนสแตนตินทำงานทางการทูต
ภารกิจที่สนุกที่สุดคือการพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดจาก ‘การปะทะทางวัฒนธรรม’ ระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ และระหว่างฝ่ายต่างๆ ในโลกเก่าหรือโลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพวกแนวร่วมสะพาน (Bridge Alliance หน้าตาผ้าผมเลียนแบบแขกตุรกีในโลกจริง) ซึ่งหลงใหลในวิทยาศาสตร์ พวก นอทส์ (Nauts) โจรสลัดรักอิสระ, เธเลเม พวกคลั่งศาสนา และชนเผ่าอีกมากมายบนเทียร์ ฟราดี ซึ่งก็มีตั้งแต่เผ่าที่เกลียดชังคนผิวขาวที่ยกพลขึ้นมาแย่งที่ทำกิน อยากทำสงครามขับไล่ให้พ้นเกาะ เผ่าที่อยากประนีประนอมกับผู้มาใหม่ เผ่ารักธรรมชาติที่ไม่ยุ่งกับใคร และอื่นๆ อีกมากมาย
เราจะทำภารกิจทั้งหลายในเกมด้วยการรอนแรมไปในโลกเปิด (open world) ที่มีรายละเอียดสวยงาม (แต่ก็ขัดใจที่บ้านเรือนและโดยเฉพาะวังเจ้าเมืองของเมืองหลักต่างๆ บนเกาะดันหน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบ) ระหว่างเก็บพืชผักต่างๆ ไปทำโพชั่นเพิ่มพลัง อัพเกรดความสามารถ อาวุธและเสื้อเกราะ แถมจะได้รู้ความลับเกี่ยวกับชาติกำเนิดที่แท้จริงของเราอีกด้วย
ได้อารมณ์คล้ายกับกำลังเล่นเกมลูกพี่ลูกน้องของ RPG เน้นเรื่องราวอย่าง Witcher 3 ซึ่งก็โอเคเลยทีเดียว
ระบบเกมใน GreedFall ลื่นไหลและเล่นง่าย เลือกได้ตั้งแต่ต้นเกมว่าจะสร้างตัวละครสายไหน ระหว่าง นักรบ วิศวกร หรือนักเวท แต่ละสายมาพร้อมกับความสามารถตั้งต้นไม่เหมือนกัน แต่ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในการพัฒนา นักรบจะร่ายเวทก็ได้ วิศวกร (เน้นการวางกับดัก โพชั่นโจมตี ฯลฯ) จะแบกขวานหนักด้วยก็ได้ เมื่อเล่นไปสักพักเราจะได้คริสตัลที่ช่วยลบล้างค่าคุณสมบัติและค่าความสามารถต่างๆ สร้างใหม่ได้ทั้งหมด ทำให้มีอิสระค่อนข้างมากในการเล่น จะเปลี่ยนสายกลางทางก็ได้เพื่อทดลองวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปริศนา ซึ่งก็มีหลายวิธีเพื่อรองรับสายการเล่นครบทุกสาย (เช่น ถ้าต้องบุกเข้าไปในค่ายศัตรู จะเลือกบู๊แหลกลุยเข้าไป หาทางลับที่ต้องระเบิดเปิดทางเข้า หรือเอายานอนหลับให้ทหารศัตรูกิน) ไม่มีปริศนาอะไรในเกมนี้ที่ยากเกินแก้ ซึ่งก็ยิ่งช่วยขับให้เรื่องราวที่เป็นจุดเด่นของเกมนี้โดดเด่นยิ่งกว่าเดิม เพราะปริศนาที่ค่อนข้างง่ายช่วยให้เราจะดำเนินเรื่องไปได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัด
จุดเล็กๆ ที่น่ารำคาญของระบบเกมคือการเคลื่อนที่ ซึ่งเรากระโดดหรือปีนป่ายในเกมนี้อย่างใน Assassin’s Creed ไม่ได้ ทำได้แต่วิ่ง ทำให้บ่อยครั้งเราจะวิ่งตามเจ้าลูกศรบอกเป้าหมาย เพียงเพื่อพบว่าไปเจอทางตันในตรอกไหนสักแห่งในเมืองหรือป่าเขาลำเนาไพร ต้องเสียเวลากลับออกมาใหม่ ระหว่างสถานที่เราสามารถวาร์ปไปแบบ fast travel หรือการเดินทางเร็วด้วยการคลิกบนแผนที่ แต่กว่าจะไปถึงจุดที่เดินทางเร็วได้ก็ต้องวิ่งๆๆ พอสมควรอยู่ดี โชคดีที่เรื่องราวในเกมนี้น่าสนใจจนยอมวิ่ง และระบบการต่อสู้ถึงแม้จะไม่ลื่นไหลมากนัก แต่ก็ไม่น่ารำคาญ จุดที่ชอบคือเราสามารถหยุดการต่อสู้ (pause) ชั่วคราวได้ทุกเมื่อเพื่อวางแผนจังหวะต่อไปอย่างละเอียด ฟังก์ชั่นนี้มีประโยชน์มากเวลาที่ถูกสัตว์ประหลาดหลายตัวรุม หรือตอนสู้กับบอสสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์
การที่ฝักฝ่ายต่างๆ ใน Greedfall จำลองอย่างไม่ปิดบังอะไรมากมาจากฝ่ายเจ้าอาณานิคมที่มีอยู่จริงๆ ในศตวรรษที่ 17 ไม่ว่าจะเป็นเหล่ามิชชันนารี หรือพ่อค้าหน้าเลือดแห่งบริษัท อีสต์ อินเดีย เรื่องราวต่างๆ ในเกมนี้ถึงแม้ว่าจะเกิดในโลกแฟนตาซี มันก็เป็นเรื่องราวที่เราคุ้นเคยอย่างยิ่งเพราะเขียนจากประวัติศาสตร์จริง
ความเจ๋งก็คือ ทีมออกแบบกำหนดให้เราอยู่ในสถานะ ‘คนกลาง’ เพราะสมาคมพ่อค้าอยากค้าขายกับทุกฝ่าย ประนีประนอมกับทุกฝ่าย บทบาทนี้ทำให้เรามีอิสระในการสำรวจตรวจตราความคิดความเชื่อของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บทสนทนาตลอดทั้งเกมก็เขียนได้ค่อนข้างดี
ตัวละครทุกตัวไม่มีใคร “เลวบริสุทธิ์” หรือ “ดีไร้ที่ติ”
แต่ทำอะไรๆ ด้วยแรงจูงใจและความคิดอ่านที่มีเหตุมีผลของตัวเอง
นอกจากนี้ เผ่าชนพื้นเมืองทุกเผ่าในเกมยังได้รับการออกแบบอย่างเคารพในความแตกต่างหลากหลาย ทีมออกแบบจะอาศัย ‘แบบฉบับ’ (stereotypes) ชนพื้นเมืองแบบขี้เกียจที่เราเห็นได้เกลื่อนกลาดในเกมทั่วไปก็ได้ เช่น ให้เผ่าหนึ่งเป็นมนุษย์กินคน เอากะโหลกมนุษย์มาประดับบ้าน ฯลฯ แต่ก็ไม่ทำ เลือกที่จะออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม ความเชื่อ และประเพณีของชนเผ่าต่างๆ อย่างระมัดระวังและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งชนพื้นเมืองเหล่านี้แต่ละคนก็มีแรงจูงใจและความคิดอ่านเป็นของตัวเอง บางคนก็ละโมบโลภมากไม่ต่างจากผู้บุกรุกจากโลกเก่า ไม่ใช่ว่าทุกคนไร้เดียงสาหรือดีพร้อมแต่อย่างใด
กลไกหลายอย่างที่ดูเป็นเรื่องปกติในเกม open world RPG พอมาอยู่ใน Greedfall ซึ่งส่งสารที่ชัดเจนว่าด้วยแรงจูงใจและผลกระทบของลัทธิจักรวรรดินิยม กลายเป็นจุดที่ทำให้เราต้องหยุดคิดในทางที่โยงกับสารนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การตักตวงทรัพยากรต่างๆ ในเกม ตั้งแต่พืชผักที่ใช้ทำโพชั่น ไปจนถึงการหยิบของในหีบและตู้ต่างๆ ตามบ้านของชาวบ้านและที่กระจัดกระจายอยู่นอกบ้าน มาเป็นของตัวเอง (ซึ่งหีบเหล่านี้ก็จะปรากฏใหม่อยู่เนืองๆ ในเกม ทำให้เราตักตวงได้ไม่รู้จบ) ชวนให้คิดถึงพฤติกรรมการแย่งชิงทรัพยากรจากน้ำมือชนพื้นเมืองของนักล่าอาณานิคมในโลกจริง ถึงแม้ว่าชนพื้นเมืองใน Greedfall จะไม่เอ่ยปากทัดทานเราเลยก็ตามที
นอกจากนี้ ความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ความที่ Greedfall เป็นเกม action RPG ถ้าไม่มีแอกชั่นเลยก็คงไม่ได้ ถึงแม้เราอาจปลอบใจตัวเองว่าในเกมนี้การฆ่าคนทำไปเพราะต้องป้องกันตัวเองหรือป้องกัน ‘พวกพ้อง’ ซึ่งพอเป็นกรณีหลังก็เริ่มอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม เพราะชีวิตของ ‘พวกเขา’ มีค่าน้อยกว่า ‘พวกเรา’ กระนั้นหรือ แต่ฉากการต่อสู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือฉากการโรมรันกับเหล่า นาเดก (Nadaig) หรือบอสสัตว์ประหลาดในเกม ซึ่งแท้จริงแล้วคือ ‘ผู้พิทักษ์’ (Guardians) – พลังธรรมชาติที่ปกป้องเกาะจากผู้รุกราน และผู้พิทักษ์บางตัวก็เคยเป็นชาวพื้นเมืองก่อนที่จะแปลงร่างในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
เราจะต้องฆ่าผู้พิทักษ์เหล่านี้ให้ตายถึงจะเดินเรื่องต่อไปได้ ไม่ต่างจากที่เจ้าอาณานิคมในอดีตมองว่าชนพื้นเมืองที่ไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมเข้ารีตเป็นคริสต์ ไม่ยอม ‘เป็นอารยะ’ แบบยุโรป คือพวกกีดขวางความเจริญที่ไร้ค่า
การที่เราครุ่นคิดถึงการตักตวงทรัพยากรและการสังหารผู้พิทักษ์ระหว่างเล่นเกม อาจสะท้อนความคิดที่เข้าใกล้ ‘สากลนิยม’ โดยเฉพาะการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการบัญญัติเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศหลายร้อยปีนับจากวันที่เจ้าอาณานิคมกลุ่มแรกยกทัพไปทำ ‘ภารกิจทำให้เป็นอารยะ’ หรือ mission civilisatrice
เกมที่ไม่ ‘ฟอกขาว’ การล่าอาณานิคม เขียนประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อทำให้มันดูดี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ป้ายสีหรือตัดสิน ปล่อยให้เราสำรวจความคิดของทั้งฝ่ายล่าอาณานิคม และฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อของการล่าอาณานิคม ผ่านเรื่องราวที่น่าติดตามและตรงตามประวัติศาสตร์ของจักรวรรดินิยม และทำทั้งหมดนี้ได้ผ่านการสร้างโลกแฟนตาซี – ทั้งหมดนี้ทำให้ Greedfall ควรค่าแก่การเล่น และสืบสานวาทะของกามูที่ว่า “เรื่องแต่งคือคำโกหกที่เราใช้บอกเล่าความจริง” ได้อย่างทรงพลัง