ลองนึกเล่นๆ ว่าเราได้กลับไปหาพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายแบบพร้อมหน้าพร้อมตาจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไร
ด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนี้ที่เปลี่ยนไปสู่การใช้ชีวิตแบบลำพังมากขึ้น จากครอบครัวใหญ่ถูกแยกย่อยออกเป็นครอบครัวเล็ก ซึ่งอาจเป็นเพราะหน้าที่การงาน การแต่งงาน หรือเหตุผลอื่นๆ การได้กลับมารวมตัวกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาก็น่าจะเป็นแค่ช่วงเทศกาลวันหยุดหรือวันเชงเม้งรวมญาติเท่านั้น
แตกต่างจากสมัยอดีตที่ครอบครัวไทยคือครอบครัวใหญ่ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกในครอบครัวหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น จากผลสำรวจ คนไทยจำนวนไม่น้อยกลับต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่นเกิดเป็นครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่นกว่า
ไม่ว่าเราจะเป็นสมาชิกคนไหนภายในบ้าน อยากให้ลองรู้จักกับแนวคิด Intergeneration Family Living ที่ทำให้เราอยากกลับมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น
เพราะเด็กต้องการความอบอุ่น
ไม่แปลกที่อัตราการเกิดของคนไทยทุกวันนี้มีอัตราที่น้อยลง เพราะคนเจนวายทุกวันนี้อยู่ในช่วงวัยทำงาน บทบาทของความเป็นแม่ถูกให้ความสำคัญน้อยลง และบทบาทในเรื่องการทำงานของผู้หญิงมีมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายหลักในชีวิตส่วนใหญ่ของคนทำงานวัยนี้ คือการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำให้เรื่องการสร้างครอบครัวหรือการมีลูก จึงกลายเป็นเป้าหมายรองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ขณะเดียวกัน สำหรับบางครอบครัวที่มีเจ้าตัวน้อยแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูด้วยเช่นกัน เพราะช่วงขวบปีแรกคือช่วงเวลาการเติบโตที่สำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็ก พ่อแม่ต้องใส่ใจในการเลี้ยงดูเป็นพิเศษ รวมถึงถ้ามีอีกเจนอย่างปู่ย่าตายายมาช่วยเลี้ยงดู เด็กจะเติบโตขึ้นท่ามกลางความอบอุ่นอันเต็มเปี่ยม แต่ปัญหาที่พบเจอคือพ่อแม่วัยทำงานไม่มีเวลาเลี้ยงดูทั้งคู่ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงาน จึงต้องอาศัยการฝากเลี้ยง ช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูกจะได้ใช้เวลาร่วมกันจริงๆ คือช่วงเช้าและช่วงเย็นเท่านั้น ประกอบกับการแยกครอบครัวออกมา ทำให้ไม่ได้พบเจอกับปู่ย่าตายายเลย ความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่จึงไม่ดีนัก กลายเป็นปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูที่ลูกไม่ได้รับความรักโดยตรงจากพ่อแม่ การวิดีโอคอลหากันย่อมเทียบไม่ได้เลยกับการได้อยู่ใกล้กันจริงๆ ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและการเติบโตของเด็กในระยะยาว ภาพครอบครัวอันแสนอบอุ่นและมีเวลาให้กันครบทั้ง 3 รุ่น จึงกลายเป็นภาพความฝันสำหรับคนยุคนี้ที่ต้องทำให้สำเร็จ
เพราะผู้สูงอายุต้องการการดูแล
นอกจากเรื่องอัตราการเกิดของเด็กที่ลดน้อยลงแล้ว อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 และที่น่าตกใจไปกว่านั้น มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2575 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society) หรือมีประชากรผู้สูงอายุถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าแทบทุกบ้านจะเต็มไปด้วยคนวัยปู่ย่าตายาย แต่เมื่อตัดมาที่ภาพปัจจุบันกลับเป็นภาพของพ่อแม่วัยชราที่ต้องอาศัยอยู่บ้านตามลำพัง ส่วนลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือภาพที่น่าสะเทือนใจไปกว่านั้น คือสถานสงเคราะห์คนชราหรือเนิร์สซิงโฮม เต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
ในปั้นปลายของชีวิตทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการอยู่กับทั้งสถานที่ที่รักอย่างบ้าน และคนที่รักอย่างลูกหลาน ภาวะเหงาและอาการซึมเศร้าเมื่ออายุมากขึ้น จึงเป็นเหมือนฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ ตรงกันข้าม หากลูกหลานและสมาชิกทุกคนในบ้านเอาใจใส่และดูแลผู้สูงอายุในบ้านอย่างดี ไม่เพียงแต่ทำให้ปู่ย่าตายายมีชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุขแล้ว ลูกหลานอย่างเราๆ จะมีศูนย์รวมจิตใจหรือที่พึ่งทางความรู้สึกของคนภายในบ้าน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่ได้รับความผูกพันทางอารมณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเติบโต เกิดเป็นความสัมพันธ์ข้ามช่วงวัยอันแสนอบอุ่น
เพราะ Intergeneration Family Living ทำให้ทุกคนได้กลับมาอยู่ร่วมกัน
จากความสำคัญของการดูแลทั้งเด็กและผู้สูงวัยในครอบครัวที่กล่าวมาข้างต้น นำไปสู่เทรนด์ Intergeneration Family Living หรือการอยู่อาศัยของครอบครัวหลายช่วงวัย ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะจากผลสำรวจของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่า กลุ่มตัวอย่างอายุ 15 – 65 ปี รวม 400 คน ต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่นหรือครอบครัวใหญ่ถึง 70.8 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันภายในบ้านและมีปฏิสัมพันธ์กันในทุกๆ วัน โดยที่ไม่ต้องหาโอกาสพิเศษในวันสำคัญตามเทศกาลต่างๆ หรือวันรวมญาติเพื่อพบเจอกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะกลุ่มตัวอย่างถึง 30.3 เปอร์เซ็นต์ มองว่าการไม่ได้พักอาศัยในบ้านเดียวกันเป็นข้อจำกัดอันดับแรกของการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
เหนือสิ่งอื่นใด การที่บ้านประกอบไปด้วยสมาชิกทั้ง 3 รุ่น ทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และลูกหลาน มีค่าเฉลี่ยสุขภาพจิตดีกว่าครอบครัวแบบอื่นเกือบทุกด้าน มีรอยยิ้มและความเอาใจใส่กันตลอดเวลา ได้ใช้เวลาร่วมกันโดยไม่ต้องหาโอกาสพิเศษใดๆ ทำให้สมาชิกในครอบครัวทุกช่วงวัยรู้สึกอบอุ่นและผูกพันกันอย่างมาก เมื่อเจ็บป่วยก็รู้สึกอุ่นใจที่มีคนคอยดูแล และรู้สึกมั่นคงปลอดภัย
ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร แต่เมื่ออยู่ในบ้าน สมาชิกทุกคนก็พร้อมจะเป็นที่พึ่งทางใจได้เสมอ ครอบครัวจึงเป็นครอบครัวได้อย่างเต็มความหมาย