ฤดูการล่าคนไปเป็นทหารโดยการบังคับขืนใจเวียนมาอีกรอบ และมาแบบต้องการเยอะเสียเหลือเกิน ใช่ครับ ผมกำลังละเหี่ยใจซ้ำๆ อีกรอบกับการเกณฑ์ทหารที่กำลังเวียนมาใหม่ ให้ด่าใหม่จนปากจะฉีกถึงรูหูกันแล้ว ไม่เพียงไม่มีอะไรดีขึ้นยังยอดเพิ่มมากขึ้นแทบทุกปี และมักจะมากับข้ออ้างอย่าง เกาหลีใต้ หรืออิสราเอลเขาก็เกณฑ์ ฯลฯ
วันนี้เลยอยากจะชวนคุยเรื่องนี้ไปเลยว่า การเกณฑ์ทหารมีที่ทางอย่างไรในกองทัพสมัยใหม่ (Modern Army) และผมจะพยายามไม่พูดผ่านกรอบของ ‘หลักสิทธิมนุษยชน การบังคับขืนใจ ความไม่เป็นธรรม’ อะไรด้วย เพราะพูดกันไปเยอะแล้ว หลายคนก็พูดถึงแล้ว (ฉะนั้นในทำนองเดียวกัน เมื่อผมพยายามไม่พูดในมุมที่ว่าแล้ว ก็มิพึงมาเถียงด้วยข้ออ้างของความรักชาติ เสียสละเพื่อชาติอะไรกับผมอีก)
การเกณฑ์ทหารหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า (Military Conscription/Draft) นั้น ว่ากันอย่างไม่อ้อมค้อมเลยก็คือ ตอนนี้กลายเป็นส่วนน้อยในโลกแล้ว เป็นเรื่องที่กองทัพแทบทุกที่ในโลกไม่ให้ราคามากนัก เพราะนอกจากจะมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิต่างๆ แล้ว ที่พูดถึงกันเยอะมากและตั้งใจไม่พูดในรอบนี้คือ มันยังเป็นปัญหาในเชิงประสิทธิภาพของกองทัพเองด้วย ไม่ต้องนับไปถึงความไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจเลย ถูกแล้วครับ รอบนี้ผมจะพยายามอภิปรายเรื่องนี้ผ่านฐานคิดที่เรียกว่า Utilitarianism หรืออรรถประโยชน์นิยมแทนดู คือ เราจะไม่คุยเรื่องนี้ด้วยสายตานักสิทธิมนุษยชนแล้ว เพราะพูดไปก็ไม่เข้าหูกองทัพที่ถูกสอนมาให้เน้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก แต่จะพูดด้วยสายตาแบบกองทัพเองนี่แหละ ว่าการเกณฑ์ทหารมันเป็นปัญหาอย่างไรในสายตาของกองทัพสมัยใหม่ ทำไมเขาถึงเลิกใช้กันไปแทบจะทั้งหมดแล้ว
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2016 พ.อ. ไตรจักร์ นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองสัสดี ได้เคยตอบคำถามของคุณจอมขวัญ ในรายการ ‘ถามตรงๆ กับจอมขวัญ’ ว่า หากไม่ต้องการเป็นทหารแม้แต่วันเดียวจะต้องทำอย่างไร? พันเอกแกตอบว่า “ง่ายเลยฮะ ก็ไม่ต้องเป็นสัญชาติไทย”[1] นอกจากจะไม่ใช่คำตอบที่ฉลาดนัก ตามประสาคำตอบของสายทหารโดยส่วนใหญ่แล้ว เอาเข้าจริงๆ คือ มันไม่ได้ง่ายด้วยนะครับ การเปลี่ยนหรือย้ายสัญชาติเนี่ย แต่นอกเหนือจากความไม่ฉลาดนักในการตอบแล้ว คำตอบดังกล่าวยังสะท้อนวิธีคิดของการผูกติดการเกณฑ์ทหารเข้ากับความเป็นชาติอย่างชัดเจน คือ การเป็นชายไทยมีพันธะหน้าที่ (Obligation) ในการเป็นทหาร ในการรับใช้ชาติ ในการ ‘บริการประเทศชาติ’ ว่าง่ายๆ ก็คือ ต้องรักชาตินั่นเอง
มีการตั้งคำถามต่อข้ออ้างแบบนี้มากแล้วว่า “รักชาติวิธีอื่นไม่ได้หรือไง?” อย่างทาง The MATTER เองก็เพิ่งทำคลิปสั้นๆ บนฐานวิธีคิดที่ว่านี้ไปไม่นานนี้ (ดูได้จาก www.facebook.com/thematterco) แต่ผมคิดว่าเราควรต้องตั้งคำถามไปไกลกว่านั้น คำถามควรเป็น ทำไมเราต้องรักประเทศชาติ ประเทศชาติต่างหากที่ควรจะรักพวกเราไม่ใช่หรือ?
ผมถามแบบนี้ไม่ใช่การตั้งแง่กวนตีนด้วยคำถามเชิงโวหาร (Rhetorical Question) นะครับ แต่หมายความแบบนั้นจริงๆ ตามตัวอักษรเลย เพราะว่าวิธีคิดแบบที่ว่าประชาชนต้องรักและรับใช้ชาตินั้น โคตรจะโบราณคร่ำครึเลย มันคือวิธีการคิดของรัฐก่อนสมัยใหม่ชัดๆ ถ้าของไทยก็นึกถึงการสักเลกดูครับ ที่ประชาชนมีหน้าที่ในการไปถวายตัวรับใช้ชาติอันเป็นสมบัติของเจ้าผู้ปกครองอย่างพระมหากษัตริย์ในยุคนั้นๆ
ในโลกตะวันตกเองก็เช่นกัน แนวคิดเรื่องการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคโบราณ อย่างในบันทึกของอารยธรรมเมโสโปเตเมียตั้งแต่เกือบ 4 พันปีก่อนนั้น มีบันทึกว่าสมัยของจักรพรรดิฮัมมูราบี ก็มีการเกณฑ์คนไปเป็นทหารในยามเกิดศึกสงคราม หรือรับใช้ชาติในลักษณะต่างๆ ซึ่งเรียกกันว่า Ilkum ครับ[2]และแนวคิดลักษณะนี้ก็สืบต่อเรื่อยมาในโลกตะวันตกด้วย
โลกยุคก่อนการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยเสรีและพัฒนาการทางเทคโนโลยีของทางการทหาร จึงต้องการให้คนรักชาติ รับใช้ประเทศชาติ จึงเกิดการเกณฑ์ทหารขึ้นเป็นเรื่องสามัญธรรมดา อีกทั้งยังมีการขยายเขตอำนาจเศรษฐกิจผ่านการสงครามอีกด้วย ฉะนั้นการก่อสงครามจึงไม่ใช่การสูญเสียงบประมาณล้วนๆ แต่ในอีกทางหนึ่งเป็นการลงทุนระดับชาติอีกด้วย
แต่โลกยุคหลังการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็นนั้น การขยายอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านการสงครามมันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ อีกต่อไป การจะไปรุกรานประเทศอื่น เพื่อแย่งชิงทรัพยากรนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน หรือต่อให้เกิดขึ้น ด้วยระดับเทคโนโลยีทางการสงครามที่เกิดขึ้น ก็ทำให้การเกณฑ์ไพร่พลมนุษย์ไปรบนั้น เป็นอะไรที่ไม่คุ้มค่าทั้งในแง่เศรษฐกิจและประสิทธิภาพอีกต่อไป ไม่ต้องนับด้วยว่า ด้วยระบบวิธีคิดของสังคมประชาธิปไตยเสรี เป็นหน้าที่ของรัฐชาติที่จะต้องรักและบริการประชาชน ไม่ใช่ประชาชนไปรักและบริการรัฐชาติ
ฉะนั้นคำถามต่อเรื่องการเกณฑ์ทหารนั้นมันไม่ควรจะหยุดอยู่แค่ว่า “ทำไมจะรักชาติด้วยวิธีอื่นแทนไม่ได้ แต่ต้องเป็นเราจำเป็นอะไรต้องไปรักชาติ”
ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องไปรักชาติ การจะรักหรือไม่รักชาติเป็นสิทธิของเรา เป็นทางเลือกของเรา แต่ประเทศชาติต่างหากที่มีหน้าที่ที่จะต้องรักและบริการเรา เราตอบแทนชาติไปแล้วด้วยการจ่ายเงินภาษี ด้วยการเป็นต้นตอทางทรัพยากรต่างๆ ด้วยการเป็นกลไกทางเศรษฐกิจ และด้วยการโดนบังคับจับยัดให้ต้องถือครองสัญชาติของรัฐชาตินั้นๆ แต่กำเนิด ว่าง่ายๆ ก็คือเราได้ทำการแลกเปลี่ยนหรือ ‘จ่าย’ ให้กับรัฐชาติไปมากมายแล้ว รัฐชาติต่างหากที่อยู่ในพันธะหน้าที่ที่จะต้องหาทางตอบแทนการแลกเปลี่ยนนี้ด้วยมูลค่าที่ทัดเทียมกัน ไม่ใช่มาเรียกร้องบังคับจากประชาชนเพิ่มอะไรอีก
และอย่างที่ผมบอกครับว่า นอกจากจะไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่เรื่องที่เราพึงต้องแคร์แล้ว มันยังไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก และเป็นการผลาญทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะในสภาวะที่ชัดเจนว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ นั้น ทำให้ทหารขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย เพราะว่าเขาไม่ได้อยากจะมาทำหน้าที่ในส่วนนี้ แต่โดนบังคับมาครับ
ที่ว่ามานี้ไม่ได้พูดมาแบบลอยๆ ในประเทศตะวันตกมีการประเมินตัวเลขต่างๆ เหล่านี้มามากมายแล้ว ทั้งยังทำมาตั้งนานแล้วด้วย อย่างในปี 1988 ทาง New York Times ได้รายงานว่ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ประเมินว่าหากสหรัฐอเมริกาจะกลับไปใช้ระบบทหารเกณฑ์อีกครั้ง โดยที่ยังคงประสิทธิภาพของกองทัพให้ดีดังเดิมอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ (ซึ่งก็คือตั้งแต่ปี 1988 โน่น) สหรัฐอเมริกาจะต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นมากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (หรือราวๆ 3 หมื่นกว่าล้านบาท) และนี่คือการประเมินมูลค่าในปี 1988 นะครับ ที่หากคำนวนเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ และประสิทธิภาพของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในทางเทคโนโลยีแล้ว ตัวเลขนั้นคงจะพุ่งไปอีกไกลเลยทีเดียว[3]
ยอดเงิน 3 หมื่นกว่าล้านบาท สามารถนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง คงไม่มีใครจะมีปัญญากล่าวถึงได้หมดในช่วงไม่กี่หน้ากระดาษนี้ และยอดเงินที่จะเพิ่มขึ้นนี้ ทั้งหมดอยู่บนฐานคิดว่า ‘ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม’ ด้วย แปลความแบบกำปั้นทุบดินเลยก็คือ สามารถลดงบประมาณกองทัพได้เยอะมาก จากระบบการเกณฑ์ทหาร โดยยังคงได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม หรืออาจจะมากยิ่งขึ้น
Walter Y. Oi ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้เสนอไว้ตั้งแต่ปี 1967 ซึ่งตอนนั้นในสหรัฐอเมริกายังคงมีทหารเกณฑ์อยู่บ้างบางส่วน Oi อภิปรายไว้ผ่านแนวคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือ Opportunity Cost ว่า งบประมาณที่ถูกใช้ไปกับการเกณฑ์ทหารนั้น นอกจากจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนักเมื่อเทียบกับทหารแบบอื่นๆ แล้ว งบประมาณเดียวกัน หากนำมาใช้กับเรื่องอื่น จะเกิดประสิทธิภาพมากกว่ามาก ว่าอีกแบบคือ ถ้าอ้างว่ารักชาติจริง ก็ควรเอางบชุดเดียวกันนี้ไปทำอย่างอื่น จึงจะเป็นประโยชน์มากกว่า รวมไปถึงการเกณฑ์คนมาเป็นทหาร เท่ากับไปริบเอาอาชีพการงานของคนคนนั้นมาด้วย ซึ่งก็เท่ากับการสูญเสียประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเองอีกต่างหาก (ไม่ต้องไปพูดไกลถึงว่าครอบครัวหนึ่งๆ อาจจะชีวิตย่อยยับไปเลยด้วย)
ด้วยตัวเลขตั้งแต่ปี 1967 แล้ว Oi สรุปว่าการเป็นทหารเกณฑ์นั้น โดยรวมแล้ว ทำให้คนคนหนึ่งสูญเสียรายได้ประมาณ 3,000 ดอลล่าร์ต่อไป และโดยมวลรวมอยู่ที่ราวๆ 691 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ย้ำอีกรอบนี่คือตัวเลขปี 1967 ที่ยังไม่ได้คำนวนเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนะครับ รวมถึงยังไม่ได้คำนวนผลกระทบต่อเนื่องจากการสูญเสียบุคลากรที่ต้องเสียไปเพื่อไปเป็นทหารของบริษัทต่างๆ ด้วย คือ คำนวนเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงตัวตัวบุคคลเลยยังมหาศาลขนาดนี้[4]
นอกจากนี้ หากดูจากมุมมองของกองทัพเองเลย การมีอยู่ของทหารเกณฑ์นั้นเป็นภาระของตัวกองทัพเองด้วยครับ ในรายงานเรื่อง Military Draft and Economic Growth in OECD Countries (2008)[5]ทั้งในแง่ทางเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของตัวกองทัพเอง เพราะนอกจากจะเป็นการทำงานในสภาวะที่บังคับขืนใจคนแล้ว ยังต้องใช้งบประมาณในการเตรียมพื้นที่อยู่อาศัย ดูแล หุงหาอาหาร มีค่าตอบแทนเลี้ยงดูเหล่าคนที่ถูกบังคับให้มาเป็นทหารโดยไม่สมัครใจเหล่านี้ตลอดเวลาด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือ input ของการลงทุน มันเกินกว่า output ของประสิทธิผล หากใช้งบประมาณชุดเดียวกันนี้ไปพัฒนากองทัพด้านอื่นๆ เช่นผลิตอาวุธที่จะมาทดแทนกำลังพลได้ หรือเพิ่มค่าตอบแทนให้กับทหารอาชีพที่สมัครใจเข้ามาทำงานเอง จะได้ผลสัมฤทธิ์ที่สูงกว่าสำหรับตัวกองทัพเองนั่นเอง
พูดให้ชัดๆ เลยก็คือ แม้แต่ด้วยสายตาแบบกองทัพเอง “การไม่มีทหารเกณฑ์ แต่ปรับไปใช้ระบบให้สมัครตามความสมัครใจทั้งหมด” นั้น ดีกว่าเป็นไหนๆ ครับ นี่ไม่ได้พูดจากจุดยืนทางสิทธิมนุษยชนอะไรใดๆ เลยนะครับ เพราะพูดไปบ่อยแล้ว พูดในฐานะกองทัพล้วนๆ ว่าจะพัฒนาประสิทธิภาพของกองทัพให้ดีขึ้นยังไง
เพราะแบบนี้เองกองทัพสมัยใหม่แทบจะทั่วโลกจึงเลิกใช้ระบบทหารเกณฑ์ไปแล้ว และปรับมาเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด หรือต่อให้มีก็มีแต่ระบบทหารเกณฑ์แต่ในนาม ไม่มีในทางปฏิบัติจริง เพราะมีช่องทางอื่นๆ ให้เลือกทำทดแทนได้มากมาย เป็นต้น
กองทัพสมัยใหม่ที่ยังคงมีระบบการเกณฑ์ทหารอยู่ โดยมากแล้วก็คือ กองทัพของประเทศที่อยู่ในสภาวะสงคราม อย่างอิสราเอล หรือเกาหลีใต้ที่ชอบอ้างกัน โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่แทบทุกปีจะมาแปะรูปดาราหนุ่มหน้าหยก ผ่านการเกณฑ์ทหารมา และกล่าวชื่นชมการเกณฑ์ทหารต่างๆ นานา ผมคิดว่าวิธีการอ้างแบบนี้ ผิดใน 2 ระดับใหญ่ๆ ครับ
1. อย่างที่บอกไปว่าเขาอยู่ในสภาวะสงคราม การเกณฑ์คนไปเป็นทหารนั้นจึงมักอยู่บนคำอธิบายว่าเพื่อเป็นการฝึกประชาชนของเขาให้รู้วิธีการรับมือ หรือป้องกันตัวได้ในสภาวะฉุกเฉินหรือต้องป้องกันประเทศแบบเร่งด่วน แต่มไม่ได้แปลว่าทำให้กองทัพประเทศเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือคนเกาหลีใต้/อิสราเอลเองจะชื่นชอบการกณฑ์ทหารกันทุกคน
ไม่เพียงเท่านั้น ความจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามใดๆ หรือกระทั่งเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะสงครามใดๆ ที่จะมาใช้ข้ออ้างแบบนั้นได้ สงครามหลักของกองทัพไทยคือการรบกับประชาชนตัวเอง และทำการยึดอำนาจรัฐประหารแค่นั้นเลยครับ ซึ่งส่วนนั้นผมไม่คิดว่าต้องฝึกอะไร
2. ไม่ใช่แค่เรื่องเกณฑ์ทหารนะครับ แต่แทบทุกเรื่องเลย ที่เป็นปัญหาของประเทศนี้ เป็นเรื่องของการทำลายผลประโยชน์ของประชาชนเราเอง หรือริดลอนสิทธิของเรา ว่าแบบตรงๆ ก็คือ เรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเรานี่แหละ เราก็จะอ้างว่า “จะมาว่าฉันทำไม เกาหลีใต้เขาก็ยังทำเลย”, “แล้วทีประเทศอิสราเอลล่ะ?” ฯลฯ แบบนี้คือวิธีการที่เรียกว่า Whataboutism ครับ (หากมีโอกาสจะเขียนถึง) วิธีการนี้มันไม่ได้ตอบคำถาม หรือตอบปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่กำลังถูกวิจารณ์ แต่ใช้วิธีการเบี่ยงประเด็นไปว่า “เอ๊า แล้วทีคนนั้นทำล่ะ คนนี้ทำล่ะ” ไปแทน
ปัญหาของ Whataboutism ก็คือ การที่มีคนอื่นทำเรื่องแย่ๆ แบบเราอยู่ด้วย ไม่ได้แปลว่าสิ่งแย่ๆ ที่เรากำลังทำอยู่เป็นเรื่องที่ถูกต้องขึ้นมา หรือกระทำได้ แต่มันยิ่งสะท้อนไงครับว่า แก้ต่างกันอะไม่ได้แล้ว ก็ได้แต่หาตัวอย่างแย่ๆ มาเป็นแบบอย่างเพื่อให้ความชอบธรรมกับความเลวร้ายของตนเองต่อไป ซึ่งเป็นวิธีการของคนโง่ที่แท้ทรู
น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงตัวเลขของต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเกณฑ์ทหาร เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลือกแบบอื่นๆ ในกองทัพไทยเลย แต่ด้วยนโยบายการจัดซื้อของกองทัพในหลายปีที่ผ่านมา ที่เห็นได้ชัดว่ามีการสั่งซื้อเครื่องจักรสงครามจำนวนมากเข้ามานั้น ทั้งรถถัง เรือดำน้ำ เครื่องบินรบ ฯลฯ มันชัดเจนว่า เราควรลด หรือกระทั่งเลิกการเกณฑ์ทหารได้แล้ว เพราะกองทัพขยับไปทาง machine base มากขึ้นเรื่อยๆ ใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนมากขึ้นตลอดเวลา แต่ดันเรียกเกณฑ์กำลังคนเพิ่มขึ้นอีก มันคือเรื่องตลกที่ไร้ซึ่งเหตุผลครับ
หากมองด้วยสายตาแบบกองทัพสมัยใหม่ ก็คงต้องตั้งคำถามกับกองทัพไทยให้มากๆ แล้วในเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ประโยชน์ในทางใดๆ เลย ทั้งในแง่สิทธิมนุษยชน ในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และทั้งในแง่ประสิทธิภาพของตัวกองทัพเองด้วย
เห็นแบบนี้แล้วสรุปได้แบบเดียวจริงๆ ว่า “กองทัพไทยไม่รักประเทศชาติ ไม่รักแผ่นดินเกิด ไม่เสียสละเพื่อชาติ” อย่างชัดเจนครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู news.mthai.com
[2] โปรดดู Postgate, J.N. (1992). Early Mesopotamia Society and Economy at the Dawn of History. Routledge. p. 242.
[3] โปรดดู www.nytimes.com
[4] โปรดดู Walter Y. Oi (1967), “The Economic Cost of the Draft” in The American Economic Review. Vol. 57: No. 2, pp. 39 – 62.
[5] โปรดดู Katarina Keller, Panu Poutvaara, and Andreas Wagener (2008). Military Draft and Economic Growth in OECD Countries.