เราอาจเรียกวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเอเชียช่วงปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540 หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง) เป็นบาดแผลที่ได้ฝากรอยจารึกสำคัญไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ความวิปโยคทางการเงินโบกสะพัดพายุแห่งความโกลาหลไปทั่ว และกว่าที่สภาพเศรษฐกิจจะฟื้นคืนกลับมาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายคนอาจจดจำบรรยากาศอันตึงเครียดในประเทศไทยได้ดี หายนะที่สร้างบาดแผลในทุกๆ พื้นที่ ฝากความทรงจำอันเจ็บปวดและไม่อยากจะนึกถึง แต่ในประเทศที่ไม่ไกลจากบ้านเรา การผ่านพ้นปี 1997 ไปได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะที่ใหญ่กว่ามากนัก หายนะที่จะส่งกลิ่นคาวเลือด และเสียงกรีดร้องอันบ้าคลั่งให้แพร่กระจายไปทั่วประเทศที่ชื่อ อินโดนีเซีย
ผมไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์อินโดนีเซียสักเท่าไรนัก เพิ่งจะได้มาอ่านเอาจริงๆ ก็เมื่อไม่นานเพราะเกิดสนใจวรรณกรรมของประเทศนี้ขึ้นมา จนได้ค้นพบว่าประเทศเกาะแห่งนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจทีเดียวครับ ฉะนั้นแล้ว ก่อนจะกระโดดเข้าเนื้อหาของหนังสือประจำสัปดาห์นี้ ผมขอบอกไว้ก่อนว่า In the Time of Madness เป็นหนังสือที่แม้คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องประเทศอินโดนีเซียอย่างผมก็สามารถอ่านได้อย่างลื่นไหล ไม่จำเป็นต้องมีพื้นเพประวัติศาสตร์ใดๆ ก็อ่านรู้เรื่องครับ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Richard Llyod Parry นักข่าวผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอินโดนีเซียเลยแม้ในวันที่เขาจำต้องมาทำข่าวในประเทศแห่งนี้
In the Time of Madness คือบันทึกการเดินทางในฐานะนักข่าวของตัว Parry เอง ระหว่างที่เขาคลุกคลีอยู่กับความโกลาหลบนแผ่นดินอินโดนีเซียทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังจากที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตลงจากอำนาจในปี ค.ศ. 1998 แต่ก่อนเราจะว่ากันที่ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ ผมขออนุญาตพาคุณผู้อ่านออกนอกเส้นทางสักเล็กน้อยครับ
ย้อนกลับไประหว่างปี 1965-1966 เกิดเหตุการณ์ที่ในเวลาต่อมาถูกจดจำในชื่อ Indonesian Mass Killings
เมื่อกองทัพอินโดนีเซียได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของประธานาธิบดีซูการ์โนลง พร้อมทั้งตั้งตนขึ้นปกครอง และเพราะเห็นว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อการปกครองของตน พวกเขาก็ได้ร่วมมือพร้อมให้อำนาจกับกลุ่มอันธพาลท้องถิ่นในการจัดการ ‘ฆ่า’ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้ในทันที โดยไม่สนใจว่ากลวิธีสังหารจะพิลึกพิสดารหรืออำมหิตเพียงใด
ระหว่างปี 1965 – 1966 มีรายงานตัวเลขผู้ถูกสังหารในการกวาดล้างครั้งนั้นกว่า ‘หนึ่งล้าน’ คน แต่แม้เวลาผ่านไปหลายสิบปีจนถึงทุกวันนี้ หากเหตุการณ์พลเรือนฆ่าพลเรือนในอดีตกลับเป็นเพียงเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่แผ่วเบาเสียยิ่งกว่าเสียงกระซิบ เหล่าอันธพาลฆาตกรหรือทหารที่มีส่วนข้องเกี่ยวในการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ไม่เคยมีใครถูกพิพากโทษ ซ้ำร้าย พวกเขายังดำเนินชีวิตที่สุขสบาย ใช้จ่ายเงินทองสุรุ่ยสุร่าย เดินเชิดหน้าชูตาในสังคมอย่างไม่รู้สาในความชั่วร้ายที่ตนเคยกระทำ
ซูฮาร์โตเถลิงขึ้นสู่อำนาจก็จากช่วงเวลานี้แหละครับ นับจากวันนั้นจนถึงปี 1998 ก็เป็นเวลากว่าสามสิบปีที่นายพลท่านนี้ปกครองอินโดนีเซีย แต่แล้วในช่วงของการเปลี่ยนสหัสวรรษนี้เองที่ก็ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งสั่นสะเทือนบัลลังก์ของซูฮาร์โต้จนเขาต้องทิ้งตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด
แม้ In the Time of Madness จะเป็นหนังสือที่พูดถึงความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วง เหตุจลาจล และการปะทะกันระหว่างพลเรือนที่ไม่พอใจและต้องการขับไล่ซูฮาร์โตกับกองทัพอินโดนีเซีย ทว่าผู้เขียนก็ไม่ได้ชักชวนให้เราไปจับจ้องแค่กับฉากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงอย่างที่เราอาจคุ้นเคย ทว่า Perry ได้พาเราไปสำรวจความวิปโยคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายๆ เกาะของอินโดนีเซียซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากการปกครองของซูฮาร์โต ตอนหนึ่งของหนังสือที่ผมชอบมากๆ เล่าถึงช่วงเวลาที่ Perry ได้เดินทางไปยังเกาะบอเนียวเพราะได้ยินว่าเกิดสงครามระหว่างชนเผ่ากันขึ้น และเหตุการณ์ก็ยกระดับความรุนแรงจนยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
เล่าอย่างย่อ มันคือสงครามระหว่างเผ่า Dayak และ Madurese ซึ่งเผ่าแรกเป็นเจ้าถิ่นที่อาศัยอยู่บนเกาะมาช้านาน ส่วนเผ่าหลังเพิ่งอพยพเข้ามา ความน่าสนใจของสงครามครั้งนี้อยู่ที่ว่า ชนเผ่าหนึ่งนับถือคริสต์ศาสนา ส่วนอีกเผ่านับถืออิสลามครับ แต่เปล่าเลยครับ สงครามที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปในลักษณะของสงครามศาสนาแต่อย่างใด นั่นเพราะชนเผ่าทั้งสองต่างไม่ต้องการให้เป็นการสู้รบกันของศาสนาเพราะเหตุตั้งต้นแห่งสงครามก็ไม่ได้มาจากความเชื่ออันแตกต่าง แต่เกิดจากพฤติกรรมที่จงใจหยามเกียรติกันมากกว่า
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือความรุนแรงของสงครามครั้งนี้ครับ ต้องเข้าใจด้วยว่า แม้ชนเผ่าทั้งสองต่างก็นับถือศาสนาที่ไม่สนับสนุนความรุนแรง แต่ด้วยพวกเขายังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและศรัทธาแบบชนเผ่า เกิดการไล่ฆ่ากันอย่างบ้าคลั่ง ถึงขั้นมีการตัดหัวศัตรูมาแขวนประจาน หรือประดับประดาตามจุดต่างๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติ ซ้ำร้ายยังมีการควักหัวใจของศัตรูที่ตายมาเพื่อกัดกินและดื่มเลือดอย่างสดๆ และสาแก่ใจ ความน่าตกใจของเหตุการณ์ครั้งนี้คือ มีคนถูกฆ่าตาย ตัดหัว และควักหัวใจเป็นร้อย แต่กลับไม่มีใครรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งกองทัพและรัฐบาลเองก็พยายามปิดข่าวนี้เงียบด้วยหวาดกลัวว่าจะยิ่งส่งผลเสียต่อตัวซูฮาร์โตเองซึ่งขณะนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่ง
ประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียนั้นเต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง คลุ้งกลิ่นคาวเลือด เหตุการณ์ประท้วงเพื่อโค่นล้มซูฮาร์โตนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงอีกเป็นเท่าทวี ประชาชนบริษัทถูกฆ่าตาย นักกิจกรรมหลายๆ คนถูกลักพาตัวและลอบสังหาร แต่พ้นไปจากความโกลาหลของเหตุการณ์แล้ว สิ่งที่ Perry ถ่ายทอดให้เห็นคือความเหลืออดของประชาชนที่ไม่อาจยอมทนให้รัฐบาลกดขี่บี้หัวอีกต่อไป เขาไม่อาจอยู่กับความยากจน และภาวะขาดแคลนได้อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะกับรัฐบาลเผด็จการที่ไม่มีทีท่าว่าจะยอมลงจากอำนาจสักที
แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าในที่สุดซูฮาร์โตจะลงจากอำนาจ แต่มันไม่ได้แปลว่าอินโดนีเซียจะหลุดพ้นจากวังวนของคอร์รัปชั่น หรือกระทั่งความหวาดกลัวที่ยังคงปกคลุมอยู่ในหลายชุมชน อย่างที่ผมได้เล่าถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 1965-1966 ไปนั่นแหละครับ ที่กระทั่งปัจจุบันฆาตกรในอดีตก็ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมเป็นปกติ ราวกับว่าประวัติศาสตร์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง และไม่ปรารถนาจะถูกบันทึกไว้ในประเทศนี้ ในทางหนึ่งมันน่ากลัวนะครับพอคิดว่า แม้ผู้นำจะเปลี่ยนไป แต่ราวกับว่าความกลัวต่ออำนาจก็ได้ซึมลึกเข้าในจิตใจของชาวอินโดนีเซียจำนวนมากไปเสียแล้ว