วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เป็นวันที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองและหมุดหมายการต่อสู้ประเด็นผู้หญิง และ “ความเป็นหญิง” ทั้งสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค การต่อสู้กับความอยุติธรรมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ รำลึกขอบคุณหญิงนักสู้ที่ปลุกระดมเคลื่อนไหวสังคม จุดประกายเรียกร้องสิทธิและสวัสดิภาพที่ดี รวมทั้งการลุกฮือของพวกเธอเดินขบวนประท้วงการทารุณกดขี่ขูดรีด โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่เป็นกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิกดขี่ซ้ำซ้อนทั้งเรื่องชนชั้นแรงงานและเพศ
ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ประเทศไทยแลนด์ นักศึกษาและนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำคนสำคัญและผู้ปราศรัยที่ออกมาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อปกป้องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เธอได้ถูกฝากขังส่งตัวไปยังเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี หลังอัยการสั่งฟ้องในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 จากการชุมนุม พร้อมกับแกนนำชายอีก 2 คน ซึ่งศาลไม่ให้ปล่อยตัว ไม่ให้สิทธิประกันตัว ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เธอต้องได้ กลายเป็นอีกครั้งของความอัปยศและไร้ซึ่งยุติธรรมที่เกิดจากการใช้มาตรา 112
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารุ้งเป็นวีรสตรีที่กล้ามาก เก่งมาก และต้องขอบคุณเธอกับการเคลื่อนไหวผลักเพดานสังคม รุ้งเองยังสนใจสิทธิและสวัสดิภาพของนักโทษหญิง จัดกิจกรรมร่วมกับ ทราย เจริญปุระ และกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก จัดแคมแปญบริจาคผ้าอนามัยและชุดชั้นในให้นักโทษในทัณฑสถานหญิงและเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ใส่ใจสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิภาพของนักโทษ และเธอก็ควรจะได้รับการชื่นชมอย่างเป็นทางการในวันสตรีสากลมากกว่า ทว่ามันเป็นกลายเป็นความย้อนแย้งใต้ฟ้าเมืองไทยที่เธอต้องมาถูกขังในวันนี้ นี่ไม่ใช่การบอกให้ไปคุมขังเธอวันอื่น อย่ามาทำแบบนี้กับผู้หญิงในวันสตรีสากล ราวกับมันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ห้ามสวดศพ ห้ามเผาผี แต่เธอไม่ควรถูกจับกุมดำเนินคดีเลยด้วยซ้ำ
มันช่างเป็นประเทศที่มืดมนอนธการเหลือเกิน วังเวงเงียบงัน ไม่เพียงเพราะมาตรา 112 พยายามปิดปากประชาชนให้เป็นเสียงเงียบ แต่บรรดาองค์กรสถาบันสตรี สภาสตรี กลุ่มสตรีศึกษา ที่อ้างตัวเองเป็นเฟมินิสต์สตรีนิยม หรือออกมาช่วยเหลือหญิงที่โดนข่มเหงรังแกความไม่ยุติธรรมเรื่องต่างๆ ก็ไม่ได้ออกมาปกป้องเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับหญิงนักเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างรุ้ง แค่กลับเงียบงำอมพนำ อมอะไรอยู่ก็ไม่รู้
พวกเขามักมีข้ออ้างประเภท ‘เป็นกลาง’ ‘ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ หรือ ‘ไม่คลั่งการเมือง’ เพื่อที่จะผลักสามัญสำนึกบางประการออกจากความสนใจและโลกทัศน์ หรือเข้าใจว่าตนเองไร้เดียงสา naïve เกินไปจนต้องวางการเมืองไปห่างๆ ให้พื้นมือ แต่ตราบได้ที่สมาทานแนวคิดสตรีนิยม เป็นองค์กรพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศสิทธิของผู้หญิง จะมาอ้างไม่สนสี่สนแปด ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ เพราะประเด็นสตรีนิยม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิของผู้หญิง ทั้งหลายทั้งปวงนี้แหละ คือการเมืองในตัวของมันเอง โคตรจะการเมืองเลยย่ะ
หลักๆ ของสตรีนิยมคือการเคลื่อนไหวสู้ต่อ
ความไม่เสมอภาค (inequality)
การถูกกดทับเอารัดเอาเปรียบ(oppression)
และความเป็นรอง (subordination) มันจะไม่การเมืองตรงไหนวะ
ทั้ง ๆ ที่สถาบันการศึกษาและสมาคมสภาด้านผู้หญิงและ ‘ความเป็นหญิง’ ก็มักจะอินกับ ‘หญิงแกร่ง’ ‘หญิงเก่ง’ ผู้หญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพ หรือออกมาขับเคลื่อนสังคม ออกมาทำงานนอกบ้าน มีบทบาทหน้าที่ที่เคยเป็นของผู้ชายมาก่อน ประธานาธิบดีหญิง นายกหญิง แพทย์หญิง นักธุรกิจหญิง นักรบหญิง วีรสตรี ทว่าหากถามวีรสตรีหรือผู้หญิงที่สำคัญต่อการเมืองและชาติไทยคือใคร ก็อ้าปากตอบได้แค่ว่า พระสุริโยทัย พระสุพรรณกัลยา ท้าวสุรนารี คุณหญิงจันคุณหญิงมุก กลายเป็นความทรงจำอันไกลโพ้นไปถึงสมัยยังเป็นรัฐจารีต ตัวละครในประวัติศาสตร์กึ่งตำนานกึ่งนิทาน หากถามว่านักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีที่รู้จักคือใคร ก็มักตอบอย่างภาคภูมิใจว่า อำแดงหมือนใน พ.ศ. 2408 นู่นนนนนน ก้าวไม่ไกลไปกว่าระบอบเทวราชา ที่อำแดงเหมือนไปตีกลองวินิจฉัยเภรีถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 4 เรียกร้องสิทธิของเธอ จนนำไปสู่ประกาศ พรบ. ยกระดับสถานภาพสตรี ไม่ใช่ “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” อีกต่อไป ให้ผู้หญิงมีเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง และจำกัดอำนาจพ่อแม่ไม่ให้ขายลูกตนเองได้ตามอำเภอใจ
และด้วยความภาคภูมิใจที่เดินทางมาไม่ถึงประชาธิปไตย romanticize กับการเรียกร้องยกระดับสถานภาพสิทธิสตรีแบบถวายฎีกาของนางเหมือน สถาบันสมาคมสตรีในไทยจำนวนมากจึงคุ้นชินกับการเคลื่อนไหวของผู้หญิงแบบระบอบเก่ามากกว่าจะใช้กระบวนการแบบประชาธิปไตยเคลื่อนไหวผลักดันประเด็นต่าง ๆ และด้วยคุ้นชินกับระบบอุปถัมภ์ การจัดลำดับช่วงชั้น จึงมักตั้งชื่อสถาบันองค์กรว่าอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงท่านใดท่านหนึ่ง หรือตั้งชื่อเป็นภริยาแม่บ้านข้าราชการต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสร้างตัวตนของผู้หญิงที่อ้างอิงอยู่ที่หน้าที่อาชีพการงานของผู้ชาย และกลายเป็นพื้นที่ลอบบี้และสร้างเครือข่ายอำนาจของสามีผ่านภริยา
สถาบันองค์กรประเภทนี้ดำรงอยู่ในฐานะชุมชนของคุณหญิงคุณนายผ้าไหม ของโครงสร้างสังคมที่นิยมการจัดลำดับช่วงชั้น บรรดาภริยาข้าราชการชั้นสูงที่มีคนรับใช้และชีวิตสุขสบายจนมีเวลาว่างเหลือเฟือ ประกอบกิจกรรมสังคมสงเคราะห์กึ่งการกุศลกึ่งอุปถัมภ์อยู่ในฐานะผู้เจริญกว่า รวยกว่า เข้าถึงทรัพยากรมากกว่า และมีเมตตาธรรมค้ำจุนโลกา ออกงานทำบุญบำเพ็ญกุศล งานลงนาม งานถวายแจกัน เลือกตั้งคณะกรรมการภายในสมาคมสโมสร
เราจึงไม่สามารถคาดหวังให้องค์กรเหล่านี้จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ปฏิรูประบบราชการ แก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง ยกระดับสวัสดิการสังคมหรือสร้างสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเสมอภาค เพราะตราบใดที่ยังรักษาโครงสร้างการจัดลำดับชั้นและความเหลื่อมล้ำ พวกเธอก็จะมีงานทำ มีหน้ามีตา มีพื้นที่สร้างความมั่นคงให้กับสามี
ถ้าการเมืองดี พวกเธอก็จะไม่มีอะไรให้ทำ
เท่าที่เห็น ความพยายามสากลของกลุ่มหรือผู้ที่หาแสงหากินกับประเด็นสตรี จึงเป็นการแสดงตนว่ายกย่องผู้นำหญิงทั่วโลก เที่ยวไป #saveอองซานซูจี ไว้อาลัยมาร์กาเรต แทตเชอร์ว่าเป็นหญิงเหล็กแต่ไม่รู้หรอกว่านางทำระยำตำบอนอะไรให้ให้ชนชั้นแรงงาน ตะเตือนไตกับการถูกลอบสังหารของ เบนาซีร์ บุตโต แต่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวคราวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดนโจมตีเรื่องเพศเรื่อง “หู” โดนด่าทอคุกคามทางเพศสารพัด แม้แต่โดนรัฐประหาร
คอยเอาใจช่วยมะลาละห์ ยูซาฟไซ แต่หงุดหงิดฉิบหายกับข้อเสนอของรุ้ง ปนัสยา
ทั้งๆ ที่โลกสากล ผู้หญิงที่ต่อสู้ทางการเมืองภาครัฐได้รับการยกย่อง และบรรดาเฟมินิสต์ก็ตระหนักดีว่า แนวคิดเฟมินิสต์ไม่ใช่ความรู้วิชาการอย่างเดียวแต่มีเป้าหมายทางการเมืองในการมวงความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ผู้หญิงจึงออกจากบ้านมาประท้วงปลุกระดมมวลชนให้ออกมาเดินถนนเคลื่อนไหวทางการเมือง สิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง ก็เห็นมาแล้วนับ 100 ปี เช่นวันที่ 3 มีนาคม 1913 อันเป็น 1 วันก่อน Woodrow Wilson เข้าพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดี กลุ่มผู้หญิงจำนวนมหาศาลมากกว่า 5,000 คน ทั้งนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ดารานักแสดง นักกิจกรรม ต่างนั่งรถม้า เกวียน ขี่ม้า เดินเท้า ประท้วงเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิในการออกเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดี แสดงความไม่ยอมรับองค์กรทางการเมืองที่ผลักผู้หญิงออกไปจากการมีส่วนร่วม และพวกเธอก็ถูกรวมอยู่ในกลุ่ม feminism คลื่นลูกแรก
ขณะเดียวกันในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 2 ที่มีคำขวัญว่า ‘the personal is political’ ถูกนำมาใช้โดยนักสตรีนิยมไทยพูดกันปาวๆ ว่า “เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง” ไม่ว่าอะไรก็เป็นเรื่องการเมือง การเมืองอยู่กับเราแม้แต่เรื่องส่วนตัว ในบ้าน ในครัว โต๊ะอาหาร ห้องน้ำ ห้องนอน บนเตียง งานครัวงานเลี้ยงลูกซักผ้าล้างจาน เรื่องผัวๆ เมียๆ ปี้ๆ เอาๆ จู๋ๆ จิ๋มๆ มันก็เลี่ยงการเมืองโครงสร้างสังคมไม่พ้นทั้งนั้น เรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องการเมือง เพื่อที่จะบอกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องเฉพาะพื้นที่สาธารณะไม่ได้อยู่แค่ในสภา หากแต่อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน การเมืองมันอยู่ทุกที่
เพราะความไม่สามารถเชื่อมโยงกับสำนึกโลกสากล
และประชาธิปไตยได้ มันถึงต้องมี ‘วันสตรีไทย’ แทน
เป็นวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เพื่อนิยามผู้หญิงแบบไทย ๆ ที่เน้นบทบาทผู้หญิงต่อการเป็นแม่ แม่บ้าน และครอบครัว เฉลิมฉลองภาคภูมิใจกันเองแบบไทยๆ และมีลักษณะราชการ ซึ่งก็เป็นวันที่เกิดขึ้นโดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ในปี พ.ศ.2546
อ้อ! วันสตรีสากล 8 มีนาที่ผ่านมาประเทศนี้เค้าก็จัดงานนะ ปีนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนดสโลแกน “เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง สู่ความเสมอภาค ร่วมตัดสินใจ ไร้ความรุนแรง” มีกิจกรรมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้หญิงที่มีบทบาทโดดเด่นและหน่วยงานองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้อง และกิจกรรมเสริมแม่เลี้ยง “สดุดีฮีโร่ แม่ น้า อา ป้า ย่า ยาย เลี้ยงเดี่ยว” อิหยังวะ…
นี่ก็ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีหน่วยงานองค์สตรีสี่แปด สตรีศึกษาที่ไหน ออกมาช่วยปกป้องอยู่เคียงข้างนักเคลื่อนไหวหญิงอย่าง รุ้ง ปนัสยา ที่ต้องถูกดำเนินคดีอย่างไร้ซึ่งความยุติธรรม เพียงเพราะเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเลย