อย่าเพิ่งถาม อย่าเพิ่งสงสัยอะไร ก่อนจะอ่านต่อไป ขอให้เริ่มต้นดูคลิปนี้ เสียก่อน เพราะ
1. ถ้าคุณไม่ดู – คุณจะไม่เข้าใจเลยว่าเรากำลังจะพูดอะไรกัน
2. ถ้าคุณแอบอ่านต่อก่อนจะดู – ก็เท่ากับคุณจะถูก ‘สปอยล์’ คลิปนี้ ทำให้ดูแล้วไม่ได้อรรถรส เนื้อหา และไคลแมกซ์ อย่างที่ควรจะได้
เพราะฉะนั้น ดูก่อนนะครับ แล้วค่อยคลิกลิงก์นี้เพื่ออ่านต่อไป
1
เป็นอย่างไรครับ คุณมองเห็น ‘หมี’ ในคลิปหรือเปล่า หรือว่าจดจ่ออยู่แต่กับการส่งลูกบอลจนไม่เห็นหมีเลย
ถ้าคุณไม่เห็นหมี ก็ไม่เป็นไรหรอกนะครับ เพราะคนจำนวนมากที่ได้ดูคลิปนี้ก็ไม่เห็นหมีเหมือนกัน
คลิปที่นำมาให้ชมนี้ เป็นของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ทำขึ้นโดยปรับบริบทให้เข้าใจง่ายขึ้น จากเดิมเป็นการทดลองทางจิตวิทยาชื่อดังที่เรียกว่า The Invisible Gorilla โดยในต้นฉบับดั้งเดิมไม่ใช่หมี แต่เป็นลิงกอริลล่า เป็นการทดลองที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี 1975 โน่นแน่ะครับ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์และฮาร์วาร์ดร่วมกัน
วิธีการก็เป็นอย่างที่เห็นในคลิปนั่นแหละครับ คือเขาจะให้ผู้เข้าร่วมทดลองจดจ่อความสนใจไปที่การส่งลูกบอลให้คนที่ใส่ชุดสีขาว คือต้องคอยนับว่ามีการส่งลูกบอลกี่ครั้ง และในระหว่างนั้นก็ส่งคนแต่งชุดกอริลล่าเข้ามา ตอนจบถามว่าเห็นคนใส่ชุดกอริลล่าหรือเปล่า (ทั้งที่ ‘ต้อง’ เห็นอยู่กระจะตา)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะทดลองกับกลุ่มไหน พบว่าราว 50% หรือครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมทดลองจะตอบว่าไม่เห็นกอริลล่าเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก เพราะคนใส่ชุดกอริลล่านั้นไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็น ‘ของแปลกปลอม’ (Anomaly) อย่างหนึ่งที่สอดแทรกเข้ามาอย่างเด่นชัด – แล้วทำไมถึงไม่เห็น
คำอธิบายของการทดลองนี้คือ เวลาที่เรากำลังสนใจกับอะไรบางอย่างที่โดดเด่น ยาก หรือต้องจับตา ต้องโฟกัสพุ่งความสนใจ จะทำให้สิ่งอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมกลายเป็นเรื่องที่พร่าเลือนในการรับรู้ไปจนหมด ยิ่งมีการโยนลูกบอลมากครั้งเท่าไหร่ พบว่าเปอร์เซ็นต์ของคนที่ไม่เห็นกอริลล่า (หรือเห็นหมี – ในกรณีของไทย) ก็ยิ่งมากขึ้น
สภาวะแบบนี้ นักจิตวิทยาเรียกว่า Inattentional Blindness หรือภาวะ ‘ตาบอดเพราะไม่ใส่ใจ’
คำถามก็คือ – ทำไมสภาวะแบบนี้ถึงเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้?
2
ทฤษฎีที่ชื่อ Perceptual Load บอกว่า กระบวนการรับรู้หรือ Perception ของคนเรานั้น เป็นกระบวนการที่จำกัดในตัวเอง (คือเป็น Limited Process) พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราทำงานหลายอย่าง (Multitasking) ในเวลาเดียวกันไม่ได้ดีนัก ดังนั้น ระดับการรับรู้จึงขึ้นอยู่กับ ‘ตัวกระตุ้น’ (Stimulus) นั่นคือ ตัวกระตุ้นอะไรโดดเด่นที่สุด เราก็จะหันไปสนใจเรื่องนั้น และลดความสนใจเรื่องอื่นๆ ลงไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ก็เพราะ ‘ทรัพยากร’ (Resource) ทางสมองของเรามีจำกัด
ตัวกระตุ้นในการทดลองเห็นหมี ก็คือการที่เราต้องพยายามนับการส่งลูกบอล ทำให้เราใช้ทรัพยากรหรือพลังทางสมองไปกับการนับนี้ ดังนั้นจึงเหลือทรัพยากรเอาไว้สังเกตสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างน้อยลง เขาบอกว่า ย่ิงใครมี ‘สมาธิ’ คือโฟกัสหรือให้ความสนใจกับเรื่องหนึ่งๆ เก่งกว่าคนอื่นๆ ก็จะยิ่งมองเห็นตัวกระตุ้นอื่นๆ ที่ตัวเองไม่ได้สนใจน้อยลงไปด้วย แม้ว่าตัวกระตุ้นนั้นๆ จะเป็นตัวกระตุ้นมหึมา ฉูดฉาด แปลกประหลาด หรือเห็นชัดเพียงใด
เคยมีการทดลองโดยใช้เครื่อง MRI สแกนสมอง แล้วให้ผู้เข้าทดลองทำโจทย์คณิตศาสตร์สองแบบ แบบหนึ่งต้องใส่ใจสูง อีกแบบหนึ่งไม่ต้องใส่ใจมากก็ได้ แล้วระหว่างทำโจทย์ ก็ใส่สิ่งเบี่ยงเบนความสนใจเข้าไป พบว่าถ้าเป็นโจทย์แบบที่ไม่ต้องใส่ใจมาก สมองส่วน Primary Visual Cortex จะทำงาน แปลว่าคนคนนั้นเห็นสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ (หรือตัวกระตุ้น) นั้นๆ แต่ถ้าเป็นโจทย์ที่ต้องใส่ใจมากๆ ปรากฏว่าการทำงานของสมองส่วนนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 1995 เคยมีตำรวจอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อ เคนนี่ คอนลีย์ (Kenny Conley) เขาไล่ล่าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือปืนคนหนึ่ง ปรากฏว่าไล่ล่าไปมา ดันหลุดเข้าไปในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งเกิดยิงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกคนหนึ่งตายโดยไม่ได้ตั้งใจ
คอนลีย์ถูกนำตัวขึ้นศาลในฐานะพยาน เพราะทุกคนคิดว่าเขาเห็นเหตุการณ์แน่ๆ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุโดยตรง แต่คอนลีย์กลับให้การว่าเขาไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งนั้น สุดท้าย คอนลีย์เลยถูกศาลตัดสินว่าให้การเท็จและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นว่าเขาเป็นคนผิดไปเสียอย่างนั้น
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่เชื่อเรื่อง Inattentional Blindness หรือภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจ จึงทำการทดลองขึ้นมาโดยจำลองสถานการณ์คล้ายๆ กับที่คอนลีย์เจอ นั่นคือให้ผู้เข้าร่วมทดลองวิ่งตามผู้ทดลอง โดยบอกให้ผู้เข้าร่วมทดลองนับว่า ผู้ทดลองเอามือแตะศีรษะของตัวเองกี่ครั้ง โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือให้สังเกตเวลาผู้ทดลองเอามือสองข้างแตะศีรษะ กลุ่มที่สองคือให้สังเกตเวลาผู้ทดลองเอามือข้างเดียวแตะศีรษะ และกลุ่มสุดท้ายคือไม่บอกอะไรเลย แต่จะถามตอนสุดท้ายว่าเห็นผู้ทดลองเอามือแตะศีรษะกี่ครั้ง
ในระหว่างการวิ่ง มีการจัดฉากให้เกิดการต่อสู้อยู่ใกล้ๆ และเห็นได้เด่นชัด โดยการต่อสู้กินเวลาราว 15 วินาที (การวิ่งใช้เวลา 2 นาที 45 วินาที) จากนั้นก็มาถามว่า ผู้เข้าร่วมทดลองเห็นการต่อสู้นั้นหรือเปล่า
พบว่าคนกลุ่มที่สาม (ที่ไม่ได้จดจ่อมองดูการเอามือแตะศีรษะ) เห็นการต่อสู้มากที่สุด (คือ 72%) ในขณะที่กลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง เห็นเหตุการณ์ต่อสู้เพียง 42% และ 56% ตามลำดับเท่านั้น
ผลการทดลองนี้คือการยืนยันให้เห็นว่า ภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจนั้นเกิดขึ้นได้จริงใน ‘โลกจริง’ ของเรา และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ กระทั่งก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงระดับทำให้เครื่องบินตกและมีผู้เสียได้ด้วย เช่นในกรณีของเครื่องบินจากสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบินที่ 447 ที่บินจากริโอเดอจาเนโรไปยังปารีส และเกิดตกเพราะนักบินผู้ช่วยที่ดูแลการบินขณะนั้นพุ่งความสนใจไปที่การบังคับเครื่องบินในแบบที่ผิดพลาด กระทั่งไม่สนใจคำเตือนที่ระบบควบคุมการบินส่งเสียงออกมา
แต่ภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะในวงการบันเทิง เพราะคนส่วนมากจะไม่ค่อยสังเกตเห็นความผิดพลาดในการสับเปลี่ยนคน หรือการเปลี่ยนฉากที่ไม่ต่อเนื่อง
เช่นมีผู้ยกตัวอย่างหนังเรื่อง Goodfellas ซึ่งมีฉากหนึ่งที่มีเด็กเล่นของเล่นอยู่ แต่กลับหายตัวไปแล้วปรากฏกลับมาใหม่ข้ามฉาก ซึ่งถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็จะไม่รู้เลย เพราะคนดูมัวแต่จดจ่ออยู่กับเนื้อเรื่อง ภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจจึงเป็นประโยชน์ในวงการมายา เพราะช่วยกลบเกลื่อนความผิดพลาดต่างๆ ได้
เคยมีอีกการทดลองหนึ่งที่น่าทึ่งมากๆ (น่าสนใจว่าคนเราจะ ‘ไม่ใส่ใจ’ ได้ถึงขนาดนั้นเลยจริงๆ หรือ) นั่นก็คือให้มีคนมาถามทางกับผู้เข้าร่วมทดลอง จากนั้นระหว่างที่พูดคุยอธิบายเส้นทางกันอยู่ ก็ให้มีคนถือบานประตูเดินตัดหน้าขวางกลางไปพร้อมกับคนที่มาถามทางเดินออกจากสถานการณ์ไปพร้อมบานประตูด้วย แล้วให้มีคนใหม่มาแทนที่
ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมทดลองถึง 50% ไม่รู้นะครับ ว่ามีการเปลี่ยนตัวคนที่ตัวเองกำลังคุยอยู่ด้วย ทั้งที่คนที่สับเปลี่ยนเข้ามาอาจมีความแตกต่างในหลายเรื่อง เช่น รูปร่าง ทรงผม หรือแม้แต่ใส่เสื้อผ้าคนละแบบ
ภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจจึงมี ‘พลัง’ มากกว่าที่เราคิดเยอะเลยทีเดียวครับ
ว่าแต่ว่า – แล้วเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้, เกี่ยวอะไรกับพี่ตูนด้วยเล่า?
3
มองเผินๆ การที่นายกรัฐมนตรีให้พี่ตูนเข้าพบ หรือมีการเรี่ยไรคนในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมบริจาคเงินให้พี่ตูน น่าจะเป็นเรื่องปกติวิสัยที่สุดใช่ไหมครับ เพราะรัฐก็ควรจสนับสนุนคนที่ ‘ทำดี’ ให้แก่รัฐ (หรือให้แก่ประชาชนคนอื่นๆ ที่อยู่ในรัฐ) อยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจเลย
แต่ต้องไม่ลืมนะครับ ว่าพี่ตูนไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ ที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก เพราะพี่ตูนเป็น ‘ซูเปอร์สตาร์’ ที่อยูในระดับสุดยอดคนหนึ่งของวงการบันเทิงไทย
ที่สำคัญไปกว่านั้น ตัว ‘กิจกรรม’ ที่พี่ตูนประกาศว่าจะทำ คือการวิ่งจากใต้สุดขึ้นไปเหนือสุดเพื่อหาเงินบริจาคให้กับโรงพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังเป็นกิจกรรมที่มีสีสัน ดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้มากมาย เพราะจะเป็นกิจกรรมที่ ‘ไม่ธรรมดา’ คือเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องน่าชื่นชม เป็นเรื่องน่าสนับสนุน เพราะทั้งช่วยเหลือรัฐและช่วยเหลือคนที่กำลังมีความทุกข์ ไม่ควรเลยที่ใครจะไม่เห็นด้วย ที่สำคัญ ยังเป็นกิจกรรมที่ ‘เข้าถึง’ ผู้คนทั้งประเทศอีกด้วย พี่ตูนวิ่งผ่านจังหวัดไหน ผู้คนทั้งจังหวัดก็สามารถไปต้อนรับ ไปบริจาคเงิน ไปชื่นชมและร่วมวิ่งด้วยได้
[ซึ่งก็ต้องขอบอกไว้ตรงนี้ก่อนว่า ผมเองก็อยากไปร่วมวิ่งกับพี่ตูนมากๆ ครับ แต่ยังไม่มีโอกาส ถ้ามีโอกาสจะไม่พลาดไปร่วมวิ่งกับพี่ตูนแน่ๆ]
สิ่งที่พี่ตูนทำนั้นน่าชื่นชมอย่างมาก เพราะทั้งกล้าหาญ งดงาม เอาตัวเองเข้าเสี่ยง แต่กระนั้น ก็ต้องบอกพี่ตูนตรงๆ ด้วยความชื่นชมพี่ตูนนี่แหละครับ ว่าพี่ตูนกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ (Stimulus) ที่ทำให้เกิดอาการ Inattentional Blindness ในหมู่ผู้คนจำนวนมาก
ยิ่งกิจกรรมที่พี่ตูนทำมีสีสัน ดึงดูดความสนใจ ดีงาม และยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนจำนวนมากหันไปใส่ใจแต่กับกิจกรรม ‘การวิ่ง’ ของพี่ตูน โดยไม่ได้มองว่าแท้จริงแล้ว ปัญหาสาธารณสุขของไทยมันมีความซับซ้อน หมักหมม และย้อนแย้งในตัวเองมากมายแค่ไหน
คนจำนวนมากอยากให้กำลังใจพี่ตูนในการวิ่ง จนละเลยการวิพากษ์รัฐไทยกับการจัดการปัญหาสาธารณสุข ปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และคนไทยที่จำเป็นต้องรับการรักษา ตกอยู่ในสภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาเหล่านี้เป็นทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาทางเทคนิคที่แก้ไม่ได้ด้วยเงินบริจาคเฉยๆ แต่ต้องไปแก้ไขที่ระบบคิดระบบทำทั้งหมดด้วย การวิ่งของพี่ตูนจึงเป็นการสร้าง ‘จุดโฟกัส’ ที่การวิ่งอันแสนงาม (ซึ่งเป็นการกระทำที่ดีงาม เกิดจากความตั้งใจที่งดงามโดยแท้) จนทำให้เรา ‘พร่าเลือน’ ไปจากการแก้ปัญหาแท้จริง จึงพูดได้ว่า การวิ่งของพี่ตูนทำให้เกิดภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจ เหมือนเรามัวแต่เพ่งมองและชื่นชมพี่ตูน จนไม่ ‘เห็นหมี’ ที่แทรกร่างมหึมาอยู่ในระหว่างกลางของกลุ่มก้อนผู้คน
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกด้วยว่า – ในด้านหนึ่ง ภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจอาจเกิดขึ้นเพราะความชื่นชมพี่ตูน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาวะตาบอดเพราะไม่ใส่ใจก็เกิดขึ้นเพราะความชิงชังรังเกียจรัฐไทย กระทั่งไม่สามารถมองเห็นความตั้งใจดีของพี่ตูนด้วย
หลายคนวิพากษ์วิจารณ์พี่ตูน – ว่าสิ่งที่พี่ตูนทำ คือการหาเงินไปสนับสนุนรัฐเผด็จการโดยไม่สนใจว่าปัญหาใหญ่อย่างปัญหาสาธารณสุขนั้นมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การหาเงินมา ‘ถม’ ลงไป ต่อให้ได้เป็นพันๆ ล้าน ต่อให้ไม่มีการคอร์รัปชั่นในภาครัฐเลย – ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้สักเท่าไหร่ ตราบเท่าที่ตัวระบบยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งโดยส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นคำวิจารณ์ที่ถูกต้องแหลมคมมาก
แต่กระนั้น การที่เรา ‘เพ่งโฟกัส’ ไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐนี้มีอยู่ – มากเกินไป ก็อาจทำให้เราเกิดภาวะ ‘ตาบอดเพราะไม่ใส่ใจ’ ต่อความตั้งใจดีของพี่ตูนได้ด้วยเหมือนกัน
เพราะปัญหาของรัฐไทยนี่แหละ คือตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เราต้องโฟกัสมอง (พร้อมกับก่นด่าคนที่ไปโฟกัสสิ่งอื่นๆ จนมองไม่เห็นปัญหานี้) ผลลัพธ์จึงกลายเป็นว่า หลายคนด่าทั้งรัฐไทย ด่าทั้งพี่ตูน พร้อมกับด่าความตั้งใจดีของพี่ตูนไปพร้อมๆ กัน
แล้วเราจะทำอย่างไรดี?
คำตอบที่อาจฟังดูเป็นไปได้ยากสำหรับทั้งฝ่ายเชียร์พี่ตูนและฝ่ายวิพากษ์พี่ตูนก็คือ เราต่างต้องมองให้ ‘เห็นหมี’ ที่ซ่อนอยู่ในความคิดของตัวเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้อง ‘เห็นหมีในปรากฏการณ์พี่ตูน’ ในมิติและจุดที่ตัวเองยืนอยู่ให้ได้ ไม่ใช่เห็นแต่การวิ่งของพี่ตูนหรือเห็นแต่ปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐเพียงเท่านั้น
จะว่าไป – การวิ่งของพี่ตูนเป็นทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างในตัวมันเอง และเป็นทั้งวิธีที่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จะสามารถทำได้เพื่อพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นด้วยการใช้เลือดเนื้อและกำลังแรงของตัวเอง – ย้ำว่า, เท่าที่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะพอทำได้
ผมคงไม่บอกพี่ตูนหรอกว่า พี่ตูนควรจะวิ่งไปด้วย – วิพากษ์รัฐไทยไปด้วย, ควรรับเงินเรี่ยไร ‘ในนาม’ ของกระทรวงสาธารณสุขไปด้วย และวิพากษ์การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขไปด้วย และคงไม่ถามฝ่ายที่วิพากษ์พี่ตูนหรอกว่า จะวิพากษ์รัฐไทยต่อไปให้แหลมคมยิ่งขึ้น พร้อมกับมองให้เห็นถึงความตั้งใจดีของพี่ตูนไปด้วย – ได้ไหม, เพราะผมคิดว่าแต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลในตัวเองที่จะทำหรือไม่ทำอะไร และความหลากหลายของความแตกต่างก็เป็นสิ่งที่สวยงามดี
แต่สิ่งที่ผมอยากชวนในเบื้องต้นก็คือ ลองตั้งสติ เปลี่ยนโฟกัส แล้วมองไปรอบๆ ให้ละเอียดๆ ด้วยใจที่เปิดกว้างๆ
มี ‘หมี’ อยู่ตรงนั้นตรงนี้บ้างไหม
และเราเห็นหมีพวกนั้นหรือเปล่า?