“ที่ๆ คนในวงการบันเทิงอยู่ควรจะเป็นบนพรมแดง มากกว่าการออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองโดยที่พวกเขาอาจจะไม่ได้ตระหนักเลยว่า การออกมาพูดแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบกับชื่อเสียงและฐานแฟนคลับของตัวเองมากขนาดไหน”
ข้อความข้างต้นเป็นการขมวดใจความจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าด้วยประเด็น ‘นักแสดงกับความเห็นทางการเมือง’ จัดทำโดย Hollywood Reporter และ Morning Consult ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้คนดังออกมาแสดงความเห็นหรือจุดยืนทางการเมือง
แม้ผลสำรวจจะออกมาแบบไหน ฟีดแบ็กจะดีหรือแย่อย่างไร แต่นักแสดงและศิลปินในสหรัฐอเมริกาหลายคนก็ยังเลือกที่จะแสดงความคิดเห็นของพวกเขาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หรือกระทั่งการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์อยู่ดี มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับคนดังเหล่านี้แต่ก็ต้องยอมรับว่า การออกมาเปิดหน้าแสดงจุดยืนท่ามกลางสปอร์ตไลท์ดวงใหญ่ก็ต้องแลกเสรีภาพเหล่านั้นมาด้วยคำด่าทอและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนมากมาย
นักแสดงชื่อดังจากภาพยนตร์ ‘Ted’ อย่าง มาร์ก วาห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg) มองว่า นักแสดงไม่ควรออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเพราะดาราฮอลลีวูดมีสถานะเหมือน ‘ฟองสบู่’ ที่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาเหล่านี้ การออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะจะทำให้ตัวนักแสดงกลายเป็นเป้านิ่งได้ เพราะพวกเขาไม่มีความเข้าใจในปัญหาที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่จริงๆ
ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา มาร์กถือว่าเป็นส่วนน้อยของดาราในวงการที่เลือกจะเก็บตัวเงียบ ไม่ออกมาโพสต์สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคใดเลย ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงประเด็นนี้ว่า ตัวเขาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้
“ไม่ว่าคุณจะออกมาพูดอะไร ประชาชนก็ไม่ได้สนใจความเห็นของคุณอยู่ดี เขาอาจจะเคยซื้อซีดีเพลงคุณฟัง อาจจะเคยดูผลงานการแสดงของคุณมาบ้าง แต่ดาราไม่ได้เข้าไปใช้ชีวิตกับคนเหล่านั้นจริงๆ คุณไม่ได้ทำกับข้าวให้เขากิน ไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายให้พวกเขา ดาราฮอลลีวูดไม่มีทางเข้าใจชีวิตของคนทั่วๆ ไปได้หรอกว่าพวกเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง”
และแม้จะออกตัวว่า ไม่ต้องการแสดงความเห็นทางการเมือง แต่มาร์กก็บอกว่า ตัวเขาเองตระหนักถึงปัญหาที่ชาวอเมริกันเผชิญเป็นอย่างดี เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมบอกว่า ชาวมุสลิมไม่ได้เท่ากับผู้ก่อการร้ายอย่างที่ทรัมป์ตั้งสมมติฐาน “ผมมีเพื่อนเป็นชาวมุสลิมจำนวนมาก แล้วคนเหล่านั้นก็มีความสามารถที่น่าทึ่งมากๆ ด้วย”
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนดังอีกหลายคนที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจน หนึ่งในนั้นคือ ป๊อปสตาร์ระดับโลก เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) เมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.2018 เทย์เลอร์ตัดสินใจโพสต์ในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า เธอจะสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต 2 คนในการเลือกตั้งรัฐเทนเนสซี ซึ่งเธอยังระบุข้อความที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ส.ว.จากพรรครีพับลิกันมีท่าทีไม่สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ
“จุดยืนในการเลือกผู้สมัครของฉันคือ คนๆ นั้นต้องพร้อมที่จะปกป้องและต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนให้กับพวกเรา ฉันเชื่อว่าเราทุกคนในประเทศสมควรได้รับสิ่งเหล่านี้”
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เทย์เลอร์ไม่เคยออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเลย แม้เธอจะเก็บตัวเงียบแต่ก็ยังไม่วายถูกมองว่า ‘ความเงียบ’ นั้นสื่อเป็นนัยว่า เธอเป็นฝ่ายขวาและเห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์
นอกจากนี้ ยังมีคนบางกลุ่มยกให้เธอเป็น ‘supremacist’ หรือกลุ่มฝ่ายขวาจัดที่นิยมคนผิวขาวด้วยกันจนมีชื่อเรียกเฉพาะกลุ่มว่าเธอเปรียบเสมือน ‘Aryan Goddess’ จนในที่สุดเทย์เลอร์ก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวด้วยการสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ ทำให้ท่าทีทางการเมืองของเธอชัดเจนขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ดาราศิลปินที่ออกมาสนับสนุนทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาอย่าง คานเย่ เวสต์ (Kanye West) ก็ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายเหมือนกันว่า ขณะที่ทรัมป์มีลักษณะชาตินิยมขวาจัด แต่ทำไมแร็ปเปอร์ผิวสีจึงออกตัวชื่นชมทรัมป์มากขนาดนี้
คานเย่ให้เหตุผลว่า “มีหลายครั้งที่ผมพูดคุยกับคนผิวขาวเกี่ยวกับเรื่องนี้และเขาพูดว่า คุณชื่นชอบทรัมป์ได้ยังไงเขาเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ ผมเลยตอบกลับไปว่า ถ้าฉันกังวลเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ ฉันก็ย้ายออกจากอเมริกาไปนานแล้ว”
การออกมาแสดงความเห็นผ่านรายการเพลงของคานเย่กลายเป็นกระแสอย่างมากในครั้งนั้นเขาได้สวมหมวกแก๊ปสีแดงที่ปักข้อความ ‘Make America Great Again’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทรัมป์ใช้หาเสียง และมัดใจชาวอเมริกันหลายกลุ่มได้สำเร็จ
การออกมาแสดงความเห็นของเหล่าคนดังนำไปสู่การตั้งคำถามมากมายจากนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ และสาธารณชน ด้วยภาพของเซเลบริตี้ที่ถูกมองว่า ขายความสวยหล่อ จนถูกปรามาสว่า พวกเขาไม่ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐเท่าไหร่
ขณะเดียวกัน คนดังจำนวนมากก็ถูกตัดสินไปแล้วว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางการเมือง หนักเข้าหลายคนกลับโดนตีตราว่า ออกมาเคลื่อนไหวตามกระแส และหวังโกยคะแนนนิยมจากประชาชนมากกว่า
นักวิชาการมองว่า สาเหตุที่คนดังต้องระวังการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเพราะดาราอยู่ในสถานะ ‘unusual position’ หรืออยู่ในตำแหน่งที่พิเศษกว่าคนทั่วไป หากคนธรรมดาพูดเรื่องการเมืองบทสนทนานั้นก็เป็นเพียงการคุยกันปกติ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คนดังออกมาแสดงความเห็น เราทุกคนจะฟังเขาถ้านั่นคือสิ่งที่ผู้คนต้องการได้ยิน
สิ่งที่คนดังมีและใช้ในการกระจายข้อคิดเห็นของตัวเองได้ก็คือ แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ถ้าดาราใช้พื้นที่ตรงนี้ได้คล่องแคล่ว โปรโมตความคิดเห็นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพยายามขับเคลื่อน
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่น กฎหมายครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา จะทำให้ดารานักแสดงตกเป็นเป้าจากสาธารณชนได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้อีกเช่นกันเพราะการออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนกฎหมายเพื่อ LGBT ในยุคก่อนก็ถูกมองเป็นเรื่องต้องห้าม
ในขณะที่ปัจจุบัน หากดารานักแสดงคนไหนออกมาสนับสนุนประเด็นนี้ก็จะได้รับเสียงชื่นชมและคะแนนความนิยมจากผู้คนมากกว่าช่วงก่อนหลายเท่าตัว ซึ่งเทย์เลอร์ สวิฟต์ ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่ออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ด้วย
ผลสำรวจประชาชนเกือบ 2,200 คนในสหรัฐฯ ว่าด้วยการแสดงความเห็นทางการเมืองของดาราฮอลลีวูดออกมาค่อนข้างสูสี ประมาณร้อยละ 28 มองว่า ดาราควรใช้พื้นที่ในการเดินพรมแดงและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทางทวิตเตอร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและสังคม ในขณะที่ร้อยละ 29 มองว่า ดาราไม่ควรแสดงความเห็นในลักษณะนี้บนพื้นที่สาธารณะ
จากโพลนี้ยังระบุสาระสำคัญไว้ด้วยว่า หัวข้อที่ปลอดภัยที่สุดที่คนดังออกความเห็นได้คือ ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนดังจะออกความเห็นที่เป็นในเชิงบวกกับภาพรวมของสังคม มากกว่าจะเฉพาะเจาะจงไปที่การสนับสนุนนโยบายพรรคใดพรรคหนึ่ง
สิ่งที่น่าสนใจในผลโพลนี้อีกอย่างคือ เปอร์เซนต์ความสูสีของปัญหาที่เซเลบยกขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายควบคุมอาวุธปืน การคุกเข่าของทีมอเมริกันฟุตบอล ‘NFL’ เพื่อต่อต้านทรัมป์ สนับสนุนการสร้างห้องน้ำสาธารณะสำหรับเพศทางเลือก และการต่อต้านการสร้างกำแพงเม็กซิโก หัวข้อเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ดารานักแสดงหลายคนเคยออกมาแสดงความเห็น
ซึ่งผลโพลนี้ได้แสดงให้เห็นว่า แม้อเมริกาจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศปีกเสรีนิยม แต่ถ้าลึกลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยแล้ว ประชาชนบางกลุ่มก็ยังไม่เห็นด้วยกับการให้พื้นที่กับผู้คนที่มีความแตกต่างในสังคมมากขนาดนั้นอยู่ดี
ส่วนวงการบันเทิงไทยเมื่อเร็วๆ นี้มีแฮชแท็ก #ดาราไม่สลิ่ม ที่ได้รับความนิยมติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไปหลายวัน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีผ่านแอคเคาต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว และดูเหมือนว่า กระแสในทวิตเตอร์ก็ดูจะชื่นชมและสนับสนุนความคิดเห็นของเขาด้วย
แต่ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มอื่นๆ ของป้องอย่างอินสตาแกรมก็พบว่า มีหลายคอมเมนต์ออกมาแสดงความผิดหวังพร้อมฝากข้อความไว้ด้วยว่า เสียใจ และขอเลิกติดตามผลงานของเขาเด็ดขาด
ถัดมาไม่กี่วัน หมาก-ปริญ สุภารัตน์ ก็ออกมาแสดงความเห็นผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวแบบไม่ได้ระบุชัดว่า หมายถึงใครกันแน่แต่ก็ทำให้หลายกลุ่มตีความไปในทิศทางคล้ายๆ กันว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองที่ค่อนข้างร้อนระอุมากๆ ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา แต่หลังจากเป็นกระแส หมากก็ออกมาโพสต์ชี้แจงว่า โพสต์ดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเมือง และรู้ดีว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในสถานะที่มีสิทธิจะทำแบบนั้น
ทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนถึงราคาที่ต้องจ่ายในฐานะดารากับการแสดงความเห็นทางการเมือง ทางด้านป้อง แม้จะมีกระแสบวกในสื่อโซเชียลแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับเขา
ส่วนหมากเองที่มีกระแสตรงข้ามกับป้อง โดนวิจารณ์ในทางลบมากกว่าเพราะความเห็นทางการเมือง (ที่เจ้าตัวบอกชัดว่าไม่ใช่การเมือง) อาจจะไม่ถูกใจชาวทวิตเตอร์กันสักเท่าไหร่ ก็มีหลายความเห็นระบุชัดเหมือนกันว่า จะเลิกติดตามผลงานของเขาเช่นกัน
เราลองติดต่อสอบถามไปยังนักแสดงวัยรุ่นที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในสังคมถึงประเด็นนี้ เธอให้คำตอบกับเราว่า อาชีพนักแสดงมาพร้อมกับชื่อเสียง เงินทอง และอภิสิทธิมากมายที่ขึ้นอยู่กับการให้โอกาสจากนายทุนหรือผู้ใหญ่ในวงการ หากดาราแสดงความเห็นออกไปแล้วไม่ตรงกับผู้ใหญ่เหล่านี้ อนาคตในวงการก็อาจสั่นคลอนได้ ทำให้ดาราหลายคนเลือกที่จะไม่เอาตัวเข้าไปเสี่ยงตั้งแต่แรก
“คำพูดที่จะได้ยินบ่อยมากๆ คือ อยู่นิ่งๆ ไปนั่นแหละดีแล้ว ไม่ต้องไปแสดงความเห็นอะไรมันไม่ใช่เรื่องของเรา ซึ่งตัวเราเองไม่เห็นด้วยเลยกับการเพิกเฉยแบบนี้ ทำไมมันจะไม่ใช่เรื่องของเรา มันคือเรื่องของเรา ถ้าเรากลัวจะไม่มีงานแล้วเราไม่กลัวเหรอว่า อนาคตอาจจะแย่กว่านี้ อาชีพดาราอาจจะไม่มีแล้วก็ได้ อนาคตอาจจะหายไปแล้วก็ได้ แต่ที่ทุกวันนี้ยังทำไม่ได้ก็เพราะประเทศเรายังไม่ใช่ประชาธิปไตยจริงๆ ประชาธิปไตยคือ การเคารพความเห็นต่าง แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่”
เธอทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ตอนนี้เพื่อนดารานักแสดงหลายคนก็เริ่มออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองบ้างแล้ว อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในจุดที่บางคนรู้สึกเลยขีดจำกัดไปมากซึ่งเธอมองว่า จริงๆ แล้วประเด็นทางการเมืองควรจะเป็นเรื่องที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้เป็นเรื่องปกติ มากกว่าการต้องมานั่งรอให้ถึงจุดที่ทนไม่ไหว
กลายเป็นว่า การเข้ามาอยู่ในพื้นที่สาธารณะท่ามกลางแสงไฟและผู้คนมากมาย ดารานักแสดงกลับไม่สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแสดงความเห็นของพวกเขาได้อย่างอิสระ เพราะนอกจากจะต้องมานั่งแคร์กับกระแสแล้ว เรื่องนี้อาจกระทบไปถึงต้นสังกัดหรือผลงานในอนาคตของพวกเขาอีกด้วย