โอ้หูยยย แย๊บสวยครับ ขวาถึงไม๊ ๆ ถึงไม๊ ถึง โอ๊ย โอ๊ย เขวี้ยงขวาละครับ บังอาวุธได้ครับ มีโต้ละครับ ศอกตัด โอ๊ยโดนไม๊ๆ โอ๊ย เสี้ยวใส้ครับ โอ๊ย ๆ โอ๊ยยยยย …
ที่โอ๊ยๆ ไม่ใช่เสียงร้องนักมวยบนเวทีนะ แต่เป็นเสียงคนพากษ์ คอยเร้าอารมณ์ให้กับการแข่งขัน
อันเนื่องมาจากมวยเป็นทั้งกีฬาและมหรสพในเวลาเดียวกัน เหมือนอีกหลายกีฬาการแข่งขัน เพียงแต่บังเอิญมวยถูกจัดวางในฐานะศิลปะประจำชาติ เพราะไปผูกพันกับโครงสร้างอำนาจนิยมของรัฐ
เนื่องจากมวยเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกหัดบริวารให้ร่างกายมีพละกำลังแข็งแกร่ง พร้อมรบกับข้าศึกศัตรู เป็นไพร่พลกองกำลังของนักปกครองขุนนาง ซึ่งก็มักจะเป็นกลุ่มที่นั่งชมชกมวยเพื่อความบันเทิง สร้างความภาคภูมิใจและสบายใจว่าสามารถสะสมบริวารที่มีความสามารถในการต่อสู้ การแข่งขันต่อยมวยจึงเป็นการฝึกฝนฝีมือสม่ำเสมอจนชำนาญและแสวงหาชายหนุ่มที่มีความสามารถมารับใช้ ชายหนุ่มที่ฝึกหัดวิชามวยจนเก่งฉกาจกว่าย่อมเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายและได้รับการเลี้ยงดูดีกว่า
มวยแม้จะเป็นศิลปะป้องกันตัว แต่ก็เพื่อป้องกันตัวผู้ปกครองเช่นกัน
ในโลกของอำนาจนิยม นักมวยจึงถูกเลี้ยงไว้ใช้เป็นแรงงานและดูเล่นไปพร้อมกัน จับมาโยนลงเวทีเพื่อต่อสู้กัน เหมือนการแข่งชนด้วงกว่าง ไก่ชนที่เลี้ยงไว้แข่งขันเพื่อความบันเทิงและพนันขันต่อ
เช่นเดียวกับการดวลประยุทธ์ของเหล่าอัศวินในยุโรปยุคกลางถึงสมัยใหม่ ด้วยทวนหรือดาบบนหลังม้าในงานเฉลิมฉลองของราชสำนัก ชิงรางวัลอันมากมายมหาศาล ขณะเดียวกันก็เป็นเกมกีฬาของชนชั้นปกครอง เจ้าชายและพระราชาเพื่อประกาศถึงอัจฉริยภาพ ชื่อเสียงเกียรติยศ แม้จะสุ่มเสี่ยงถึงกับชีวิตก็ตาม
ขณะเดียวกันมันก็เป็นสังเวียนพิสูจน์วัดระดับ ‘ความเป็นชาย’ ของผู้ชายในโลกปิตาธิปไตยแห่งนี้
เพราะกีฬาในลักษณะการต่อสู้แบบดวล (duel) มักเสี่ยงอันตรายที่บางครั้งก็ถึงกับชีวิต เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการประกาศ ‘ความเป็นชาย’ และเกียรติยศศักดิ์ศรี ที่ผู้ชายต้องอาศัยความกล้า พอๆ กับการแสดงออกถึงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งหากเชื่อว่าบริสุทธิ์ใจจริงย่อมกล้าที่จะเผชิญและเสี่ยงชีวิต เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีระหว่างคู่ดวลว่าการดวลจะต้องสิ้นสุดลงด้วยการมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้อย่างชัดเจน ในพื้นที่ของผู้ชาย เช่น โรงเรียนชายล้วน ค่าย การต่อสู้ด้วยการดวล โดยมีลานสวน เวที หลังโรงเรียน พื้นที่เปิดโล่งให้คนได้เห็นเป็นสักขีพยาน และเป็นสถานที่ตัดสินในเรื่องที่ตกลงไม่ได้ ซึ่งผู้ที่ชนะก็จะได้เป็น ‘พระเอก’ ขณะที่ผู้แพ้ก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักสู้’ ไป
ผู้ชนะจึงได้เป็นชายต้นแบบชายชาตรีที่นอกจากจะเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ กล้าหาญกล้าต่อสู้และรับคำท้าทาย เมื่อยิ่งชนะก็ยิ่งมี ‘ความเป็นชาย’ เหนือกว่าผู้แพ้ กลายเป็น hegemonic masculinity เพราะแข็งแกร่งกว่า หมัดหนักกว่า คล่องแคล่วว่องไวรบเก่งกว่า ผู้ชายที่มี ‘ความเป็นชายรอง’ หรือ subordinate masculinity ถือซะว่า ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’
การวัด ‘ความแมน’ จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ลื่นไหลไปตามบริบทซึ่ง hegemonic masculinity เองก็หมายถึงผู้ชายที่มีอำนาจ มีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่น ชี้นำสังคมได้ นักมวยต่อให้มาจากครอบครัวที่ยากจน ถูกนายทุนกดขี่โขกสับข่มเหงมา ก็สามารถอยู่ในกลุ่มเดียวกับ hegemonic masculinity ได้ เทียบเท่ากับอภิมหาเศรษฐี ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ (Hugh Hefner) ถ้าได้เป็นแชมป์มวยโลก หรือแชมป์โอลิมปิก เพราะเท่ากับว่าเป็นอีกชายคนหนึ่งที่มีอิทธิพลทางสังคม เช่นเดียวกับดารานักแสดงหรือตัวละครในภาพยนตร์ หรือบุคคลสาธารณะผู้ทรงอิทธิพลอำนาจในระดับสถาบัน เช่น สถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ ทหาร การปกครอง
นักมวยเองก็ได้ก้าวขึ้นมาสู่อีกตำแหน่งแห่งที่ของ ‘ความเป็นชาย’ ผ่านไฟต์ต่างๆ เป็นความเป็นชายสูงสุดแบบ hegemony ที่มีพละกำลังเหนือชายคู่ต่อสู้ รวมไปถึงผู้ชายคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีหมัดหนักทัดเทียมได้
เมื่อการต่อยมวยกลายเป็น ‘ศึกลูกผู้ชาย’ ในโลกชายเป็นใหญ่ เวทีมวยจึงเปรียบเสมือนบัลลังก์สถาปนาความยิ่งใหญ่ของลูกผู้ชาย และการเรียนวิชาความรู้การฝึกหัดลูกผู้ชาย แต่ไหนแต่ไรมาบางค่ายมวยจึงมีคติห้ามผู้หญิงขึ้นเวทีมวย หากไม่ใช่กีฬามวยหญิง ผู้หญิงจะอนุญาตให้ขึ้นเวทีได้ก็ต่อเมื่อนุ่งน้อยห่มน้อยเว้าๆ แหว่งๆ เป็น sex object ชูป้ายบอกว่ายกที่เท่าไหร ให้ผู้ชายดูเป็นอาหารตากระชุ่มกระชวยท่ามกลางมวลมหาประชาชาย
ขณะที่ผู้ชายที่ลุ้นมวยจนเยี่ยวเหนียวรอบเวทีก็มี ‘ความเป็นชาย’ อีกประเภทในฐานะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด (complicity) ให้ ‘ความเป็นชายแบบเจ้าโลก’ (hegemonic masculinity) ดำรงอยู่ ซึ่งก็ประชากรส่วนใหญ่นี่แหละที่คอยเชียร์อยู่ไม่ว่าจะมาเกาะขอบสนามหรือชมทางบ้าน ที่ต่างคอยสนับสนุนและฝาก ‘ความเป็นชาย’ ในอุดมคติของพวกเขาไว้กับนักมวยที่ตัวเองเชียร์ ด้วยความพยายามอยากจะเป็น ‘ชายแบบเจ้าโลก’ บ้าง ทว่าศักยภาพไม่ถึง ทำได้แต่เพียงเชียร์อยู่ขอบสนามหรือหน้าจอทีวี เพราะในชีวิตจริงไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติ พวกเขาอาจจะไม่ได้ฝึกซ้อมออกกำลัง มีซิกซ์แพ็กเท่านักกีฬา หมัดไม่หนัก พวกอาจจะเป็นคุณพ่อมีลูกมีเต้าต้องเลี้ยง ต้องประนีประนอมกับผู้หญิง บางคนอาจจะกลัวเมีย (อาจจะแอบมีเมียน้อยเพื่อทวง ‘ความเป็นชาย’ ในจิตใจบ้าง) การได้เชียร์ติดขอบสนาม จึงเป็นอีกทางออกของการได้ปลดปล่อยของเขา หรือไม่ก็ประกาศอยากยิงนักมวยเพียงเพราะตระหนักได้ว่าไม่ได้มีหมัดหนักพอ แต่เชื่อว่าตนเองมีอาวุธที่รุนแรงมากกว่าพอจะล้มนักมวยได้
เมื่อเทียบหมัดกับปืน ปืนย่อมชนะ เช่นเดียวกัน ‘ความเป็นชาย’ มันไม่ได้มีมาตรวัดเดียวตายตัว หากแต่สัมพันธ์กับบริบทที่ลื่นไหล ในฐานะที่เป็นสิ่งประกอบสร้าง นักมวยเองเมื่อเทียบกับเจ้าของค่ายมวย โปรโมเตอร์ เขาอาจจะเป็นรองอีกที เมื่อไม่ได้วัด ‘ความเป็นชาย’ กันที่แรงของหมัด ยิ่งในธุรกิจกีฬามวย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติของเกมกีฬา มีโปรดักชั่นใหญ่ ไม่ใช่ตี่จับในสนามเด็กเล่น จึงต้องพึ่งทุน พึ่งโปรโมเตอร์ ค่ายมวย เครือข่าย ที่มาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ
ในเรื่องของการแข่งบารมีและอิทธิพลทางเศรษฐกิจสังคม เข็มขัดทองแชมป์เปี้ยนก็ย่อมสู้ทองเฉยๆ ไม่ได้ ‘ความเป็นชาย’ ของนักมวยจึงเป็นรองเสี่ยและเจ้าพ่ออีกที ที่มักอุปถัมภ์ค้ำชูนักมวยเป็นบริวาร เป็นแขนขาและอาวุธ เหมือนในยุคศักดินาที่นักมวยก็มี ‘ความเป็นชายรอง’ ต่อขุนนางเจ้านาย
มวยจึงเป็นอาชีพและกีฬาการธำรงรักษาและอยู่คู่ระบบอุปถัมภ์ในสังคม จึงไม่แปลกใจอะไร หากจะมีใครวาง ‘มวยไทย’ ในฐานะศิลปะประจำชาติเหมือนกับเป็นการแสดงและสินค้า ผูกโยงกับชาตินิยมให้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับข้าศึก เหมือนกับที่ชาติมักถูกโยงกับทหารและการสงครามอย่างไม่จำเป็น เรื่องของแม่ไม้มวยไทยจึงมีการแต่งตำนานสร้างตัวละครนักมวยขึ้นมาเชื่อมโยงการลัทธิรักชาติแบบนักรบ เช่นการแต่งเรื่องนายขนมต้มแห่งอาณาจักรอยุธยา
เมื่อมวยกลายเป็นการมหรสพแสดงและสินค้าเพื่อความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ จึงไม่แปลกใจอีกเช่นกัน ที่นักมวยจะถูกเสิร์ฟเป็นอาหารตาให้จับจ้องกล้ามแบบชายฉกรรจ์ มันและชุ่มไปด้วยเหงื่อ หรือจะมีการจับดารามาใส่นวม ตีศอกหมัดเสยกันบทเวที และในบางสนามมวย เราก็สามารถนั่งชิลดื่มเบียร์เชียร์มวยไปพลาง ขณะที่นักมวยกำลังดื่มเหงื่อดื่มเลือดของตนเอง
เมื่อมันได้ก้าวข้ามกีฬาไปไกล ไปเป็นทั้งอาชีพ ปากท้อง สินค้า การแสดง ใต้ระบอบชายเป็นใหญ่และระบบอุปถัมภ์ พ่วงลัทธิชาตินิยมเข้าไปอีก แม้ว่าการแข่งขันจะจบลง แต่คนจึงยังไม่จบง่ายๆ เหมือนกับที่ดราม่าเวทีมวยดาราที่ผ่านมากลายเป็นประเด็น ‘ลืมตัว’ การเงินฟาดค่าตัวขึ้นชก สัมมาคารวะความเป็นไทย มากกว่าจะตระหนักถึง ‘ความมี-ไม่มีน้ำใจนักกีฬา’ แพ้แล้วพาลท้าตีท้าต่อย