1. เจมส์ เชมัส (James Schamus) อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูนัก เพราะในฐานะผู้กำกับ Indignation ถือว่าเป็นผลงานชิ้นแรกของเขา แต่แม้จะเป็นการเข้ากุมบังเหียนเองครั้งแรก ก็ไม่ได้แปลว่าเชมัสเป็นหน้าใหม่ของวงการภาพยนตร์แต่อย่างใด นั่นเพราะในบทบาทของโปรดิวเซอร์และนักเขียนบทหนัง ประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขานั้นจะเรียกว่าโชกโชนก็คงไม่เกินเลยแต่อย่างใด
ด้วยหนังรางวัลหลายเรื่อง (ส่วนมากเป็นหนังของอั้งลี่) ไม่ว่าจะ Crounching Tiger, Hidden Dragon, Brokeback Mountain หรือ Lust, Caution ล้วนเคยอยู่ในการดูแลของเขามาแล้วทั้งนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ว่า เมื่อเชมัสเกิดคันไม้คันมืออยากลองกำกับหนังดูเองสักครั้งบ้าง ผลที่ปรากฏออกมาก็กลายเป็นหนังชั้นดีอีกเรื่องหนึ่งที่ทำเอาผมอดไม่ได้ที่จะแนะนำอย่างออกนอกหน้าเลยทีเดียว
2. ไม่เพียงแค่รับหน้าที่ผู้กำกับ แต่ยังดัดแปลงบทด้วยตัวเอง เพราะ Indignation นั้น เดิมคือนวนิยายของนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันนาม ฟิลิป รอธ (Philip Roth) อีกหนึ่งตัวเต็งที่หลายๆ คนลุ้นให้ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมพอๆ กับฮารูกิ มูราคามิ เลยทีเดียว
Indignation พาเราย้อนกลับไปยังสหรัฐฯ ในปี 1951 ช่วงเวลาที่โลกเพิ่งจะผ่านพ้นจากสงครามโลกครั้งที่สองมาเพียงไม่นาน หากเช่นกันที่เปลวเพลิงของสงครามเกาหลีก็กำลังโหมกระพือ ด้วยไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารเพื่อไปรบในสมรภูมิที่อยู่อีกซีกโลก มาร์คัส เมสเนอร์ (รับบทโดย โลแกน เลอร์มาน) จึงได้จากบ้านเกิดของเขาที่รัฐนิวเจอร์ซี เดินทางไปโอไฮโอเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยผลการเรียนที่โดดเด่น มันสมองที่เป็นเลิศ ทั้งเขาเองก็หลงใหลการอ่านหนังสือ จึงไม่แปลกหากเขาจะกลายเป็นประหนึ่งดาวเด่นจน โอลิเวีย ฮัตตัน (รับบทโดย ซาราห์ กาดอน) สาวสวยเพื่อนร่วมชั้นเรียนถูกใจเขาขึ้นมา ด้วยมาร์คัสเองก็ชอบพอเธออยู่ไม่น้อย ไม่นานทั้งสองก็พากันไปเดท ธรรมดาสามัญเช่นวัยรุ่นทั่วไป เพียงแต่ก่อนจะสิ้นสุดเดทครั้งนั้น โอลิเวียได้ชักชวนให้เขาเลี้ยวรถเข้าไปในสุสาน และใช้พื้นที่ปิดซ่อนนั้นสำเร็จความใคร่ให้เขาด้วยปาก ด้วยคิดว่าสิ่งที่ทำไปจะทำให้มาร์คัสพึงใจ แต่กลับกลายเป็นว่าชายหนุ่มกลับไม่อาจรับในสิ่งที่เธอทำให้ได้ เป็นเหตุการณ์นี้เองที่ได้กลายเป็นชนวนสำคัญที่ปอกลอกตัวตนของมาร์คัสให้เราได้เห็นว่าข้างในตัวเขานั้น แท้จริงแล้วแอบซ่อนระเบิดอันซับซ้อนที่พร้อมจะปะทุออกมาได้ในทันที
3. Indignation สามารถแปลได้ว่า ความโกรธ, ความเดือดดาล และผ่าน มาร์คัส ตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นอย่างซับซ้อนที่หนังได้ตีแผ่ให้เราเห็นระดับของความโกรธที่ไต่ระดับขึ้นๆ ลงๆ พร้อมกับการเปิดเผยให้เห็นถึงความลักลั่นและอาการหวาดระแวงของสังคมอเมริกันในช่วงเวลานั้น
ประเด็นหนึ่งที่หนังถ่ายทอดออกมาได้น่าสนใจคือเรื่องของศาสนา ด้วยตัวมาร์คัสซึ่งครอบครัวเป็นชาวยิวที่ค่อนข้างเคร่งครัด หากแต่ตัวเขากลับประกาศว่าตัวเองเป็น Atheist หรือผู้ที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าอยู่จริง และแม้เมื่อเข้ามหา’ลัย จะต้องเจอกับกฎเกณฑ์ที่บังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องเข้าฟังเทศน์ไม่เช่นนั้นจะเรียนไม่จบ ซึ่งมาร์คัสก็จำยอมปฏิบัติตามโดยดี หากแต่เมื่อเขาถูกอธิการบดีผู้เคร่งศาสนาเรียกไปพบ สอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเขาโดยอ้างว่าตนนั้นหวังดี และอยากให้ทุกอย่างในมหา’ลัยไม่สร้างภาระให้กับการใฝ่เรียนของมาร์คัส แต่ทีละน้อยเมื่ออธิการฯ ค่อยๆ ถามไล่ไปถึงชีวิตส่วนตัวของเขา ถึงความเชื่อทางศาสนา เป็นตอนนั้นเองที่มาร์คัสไม่อาจทนไหว และระเบิดอารมณ์ออกมา พลางวิพากษ์วิจารณ์มหา’ลัย อย่างเผ็ดร้อนถึงการบังคับให้ต้องเข้าฟังธรรมซึ่งถือเป็นการจำกัดอิสระทางความคิดและศรัทธา และมุ่งแต่จะปลูกฝังความเชื่อทางศาสนาอย่างหน้ามืดตามัว
ฉากการโต้เถียงระหว่างมาร์คัสและอธิการดำเนินไปอย่างเดือดพล่านเป็นเวลาร่วมสิบห้านาที และภายในสิบห้านาทีนี้เองที่หนังได้ปอกลอกทั้งความคิดและศรัทธาของเขาให้เราได้เห็น มาร์คัสหยิบเอานักปรัชญาอังกฤษที่เขาศรัทธานาม Bertrand Russell ผู้เขียนบทความที่ชื่อ Why I Am Not a Christian ที่ตัวผู้เขียนอรรถาธิบายว่าอะไรคือสาเหตุที่เขาไม่เชื่อในพระเจ้า ไม่เชื่อในการดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ และไม่เชื่อว่าพระคริสต์คือผู้ประเสริฐสุด
สิ่งที่มาร์คัสยกขึ้นมานั้นคือการถกเถียงโดยอาศัยตรรกะและเหตุผล เพื่อชี้แจงให้อธิการฯ ได้ประจักษ์ว่าแม้เขาจะต้องทนฟังพระธรรมเทศนา กระนั้นมันก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวเขาไปสู่ผู้ศรัทธาในพระเจ้าได้ หรือก็คือหากเรามองการศรัทธาต่อศาสนาหนึ่งๆ ในแง่ของความคิดที่ถูกส่งต่อจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่น ในฐานะของมรดกที่ทำได้แต่ต้องยอมรับ ด้วยกระบวนการทำให้เชื่อนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่เขาจะรู้เดียงสา ก่อนที่เขาจะเกิดปัญญาที่จะสามารถคิด วิเคราะห์ ยอมรับ หรือปฏิเสธได้ด้วยตัวเอง กล่าวคือ เขาทำได้แต่ต้องน้อมรับโดยดุษณี จำต้องยึดถือและปฏิบัติตามโดยไม่อาจเบี่ยงเบนเป็นอื่นในช่วงวัยหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ มาร์คัสจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ปลดล็อกตัวเองจากมรดกทางความเชื่อที่ถูกส่งผ่านจากบรรพบุรุษ มาร์คัสเลือกที่จะไม่เชื่อในสิ่งหนึ่ง และหันไปเชื่อในอีกสิ่งหนึ่งแทน แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันการที่เราจะเห็นใครสักคนประกาศตัวต่อสาธารณะว่าเขาไม่ได้ศรัทธาต่อพระเจ้า ไม่มีศรัทธาในศาสนาจะไม่ใช่เรื่องแปลก หากแต่ในบริบทของสังคมอเมริกันในปี 1951 ที่ความกลัวนั้นปกคลุมไปทั่ว ไม่เพียงแต่ความกลัวต่อผู้ไร้ศาสนาและผู้ปฏิเสธพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวาดกลัวในทางการเมือง หวาดกลัวต่อผู้คนที่เห็นต่าง หวาดกลัวว่าอีกไม่นานแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์จะแผ่กระจายไปทั่วโลก
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องเห็นว่า แม้ตัวมาร์คัสนั้นหาได้ผิดอะไรเลยเพียงเพราะเขาแค่คิดต่าง แต่ด้วยสังคมที่ตีกรอบไว้เสียหนา และดึงดันที่จะบีบอัดเขาจนกระทั่งถึงวันที่ตัวเขาแตกสลาย ถือเป็นความชอบธรรมของทั้งพื้นที่และยุคสมัย น่าเศร้าที่แม้ความเดือดดาลในตัวมาร์คัสจะตะโกนอย่างบ้าคลั่งต่อความอยุติธรรมของสังคมรอบตัวเขา และหวังจะให้ใครสักคนได้ยินสักเท่าไหร่ หากที่สุดแล้วความโกรธที่เขามีก็ได้แต่ถูกจองจำไว้ข้างในจิตใจ จิตใจที่ใครๆ ต่างมองว่าไร้ค่า เย็นชา และเป็นอันตราย