คุณเคยมีความรู้สึกทำนองว่า ‘นี่อ่านเxี้ยอะไรอยู่วะเนี่ย’ ขณะกำลังพลิกหน้าหนังสือไปเรื่อยๆ ไหมครับ สำหรับผม แม้ความคิดทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะรุนแรงไปกว่าครั้งที่พยายามอ่านหนังสือที่ชื่อ ‘Gravity Rainbow’ ของนักเขียนอเมริกันนาม Thomas Pynchon ครับ
ผมอ่านหนังสือเล่มนั้นไม่จบ แต่อาจไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่า Gravity Rainbow นั้นหนากว่าเจ็ดร้อยหน้า แต่เป็นเพราะว่า นับแต่หน้าแรกๆ ผมก็อ่านหนังสือเล่มนี้แทบจะไม่รู้เรื่องแล้ว นักอ่านคงจะคุ้นเคยชื่อของ Pynchon เป็นอย่างดี (นวนิยายเรื่อง ‘The Crying of Lot 49’ ของเขาเคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘การเฝ้ารออันเงียบงัน’ มาแล้ว) และหลายๆ คนย่อมรู้ดีว่า นวนิยายของ Pynchon นั้น อ่านไม่ค่อยง่ายสักเท่าไหร่
อย่าง Gravity Rainbow นวนิยายเล่มโด่งดังของเขาก็ขึ้นชื่อเรื่องความดิบเถื่อนท้าทาย ในระดับที่บางคนอาจเปรียบเทียบมันว่าเป็น Modern day Ulysses บ้างล่ะ มีเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้ไม่รู้เรื่องโดยเฉพาะบ้างล่ะ หรือตัวละครในเรื่องที่มีมากมายมหาศาลจนยากเกินจดจำได้ว่าใครเป็นใครบ้างล่ะ จึงไม่แปลกเลยครับที่ Gravity Rainbow จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมอเมริกันที่อ่านยาก ท้าทาย และกินพลังงานมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
แต่พ้นไปจาก Gravity Rainbow แล้ว นวนิยายเล่มอื่นๆ ของ Pynchon ก็หนักหนาไม่แพ้กันครับ อย่าง Against the Day หนังสือเล่มยักษ์ที่หนากว่าพันหน้า ซึ่งเล่าเรื่องช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ Chicago World Fair งานเฉลิมฉลองครบรอบสี่ร้อยปีในปี 1893 นับตั้งแต่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบอเมริกา ไล่ยาวมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พร้อมกับตัวละครนับร้อยๆ ที่ปรากฏในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
เหตุการณ์สารพัดในนวนิยายเล่มนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกัน ผ่านพื้นที่ และตัวละครมหาศาล จนทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากในการอ่าน Against the Day ก็อาจเป็นเช่นเดียวกับ Gravity Rainbow ครับ นั่นคือการต้องคอยวาดภาพเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหัวตลอดเวลา เพราะเหตุการณ์พร้อมจะพลิกผัน ตัดสลับ หรือก้าวกระโดดไปในทุกๆ หน้า ถึงขนาดมีนักวิจารณ์คนหนึ่งพูดถึงหนังสือเล่มนี้ในเชิงขำๆ ว่า ถ้าคุณอยากจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบและเข้าใจจริงๆ คือต้องทำอย่างเดียวกับชื่อหนังสือ คืออ่านอย่างไม่สนวันเวลา (Against the Day) นั่นเอง
Pynchon เป็นนักเขียนที่แค่เพียงเสียงร่ำลือก็ชวนให้เข็ดขยาด แต่กับ Inherent Vice หนังสือของเขาที่ผมหยิบยกมาพูดในสัปดาห์นี้ น่าสนใจว่าแฟนๆ ของ Pynchon ต่างก็ยกเล่มนี้ให้เป็นเล่มที่อ่านง่าย และท้าทายน้อยที่สุดของเขา พูดอีกอย่างคือ ถ้าใครที่อยากลองเริ่มอ่านงานของ Pynchon ก็ควรเริ่มจากเล่มนี้แหละครับ
อย่างคร่าวๆ Inherent Vice คือนวนิยายสืบสวนสอบสวนนัวร์ๆ ที่มีฉากหลังเป็นแคลิฟอร์เนียในช่วงปี 1970 โดย Pynchon พาเราไปติดตามชีวิตของ Larry ‘Doc’ Sportello นักสืบเอกชนผู้มึนเมากัญชาอยู่ตลอดเวลา อยู่มาวันหนึ่งแฟนเก่าของเขา Shasta ‘Fay’ Hepworth ก็ดันปรากฏตัวอีกครั้ง Shasta นั้นมีสัมพันธ์ลับๆ กับมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งอยู่ ซึ่งเธอเองก็ดันไปรู้มาว่า เมียของมหาเศรษฐีรายนี้กำลังวางแผนลับๆ ที่จะจับเขาส่งโรงพยาบาลบ้า
สำหรับผม Inherent Vice คือนวนิยายที่คล้ายจะวางอยู่กึ่งกลางของอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นผลมาจากฤทธิ์ของกัญชาที่คล้ายจะห่มคลุมสติของ Doc ไว้ตลอดเวลา จนบางครั้งความเป็นจริงก็ถูกเลือนพร่าและหลุดลอย หรือการที่การกระทำของตัวละครหลายๆ ตัวเองก็ไม่อาจจัดวางได้อย่างชัดเจนนักว่าเขาทำไปเพราะอะไร จะเพราะปรัชญา และอุดมการณ์ที่ยึดถือหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่ผลประโยชน์และความละโมบที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งก็ไม่อาจสรุปความซับซ้อนของตัวละครนั้นๆ ได้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด
Pynchon แสดงให้เราเห็นผ่านตัว Doc ว่า แม้เขาจะเป็นนักสืบเอกชนที่ดูไม่มีอำนาจบาตรใหญ่อย่างตำรวจทั่วๆ ไป แต่อาวุธลับประจำตัวที่หลายๆ คนมักมองข้ามไป คือสถานะคนนอกของเขา ความโดดเดี่ยวและมักไปไหนมาไหนลำพังคนเดียว รวมถึงการไม่ต้องขึ้นตรงกับคำสั่งใครๆ ของเขา นั้นช่วยให้พฤติกรรม และการกระทำของ Doc คาดเดาไม่ได้
เราอาจกล่าวได้ว่า Inherent Vice คือนวนิยายที่ให้ความสำคัญกับการก้าวข้ามเส้นแบ่งจากฝั่งหนึ่งสู่อีกฝั่ง กระโดดข้ามพรมแดนจากอีกฟากหนึ่งสู่อีกฟาก อย่างที่ Pynchon เองก็ไม่ได้มีท่าทีจะตัดสิน สั่งสอน หรือเข้าข้างตัวละครใดๆ แม้เขาจะจับจ้องที่ Doc เป็นหลัก แต่เขาก็แสดงให้เห็นว่า กระทั่งตัว Doc เองก็ไม่เคยยืนอยู่ข้างใครจริงๆ เขาไม่ยึดถือว่าอะไรคือความดี หรือความชั่วสัมบูรณ์จริงๆ กล่าวคือ ผ่านตัว Doc ที่ Pynchon ได้เปิดเผยให้เราเห็นถึงโลกอาชญากรรมอันแสนซับซ้อนและทึมเทา ในระดับที่การกระทำใดๆ ไม่อาจเป็นบรรทัดฐานที่จะคาดคะเนพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของตัวละครนั้นๆ ในอนาคตได้ เพราะพวกเขาเองต่างก็เปลี่ยนฝั่งอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าการหยุดอยู่กับความเชื่อ หรืออุดมการณ์ใดนานๆ ไม่ใช่ธรรมชาติของพวกเขา
ฟังดูงงๆ นะครับ แต่ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการที่ Pynchon คล้ายจะย้ำเตือนเราอยู่เรื่อยๆ ว่า จงอย่าเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนไม่เหลือพื้นที่ให้เคลือบแคลงใจ เพราะในโลกนี้ไม่มีความรู้สึก หรือเจตนาใดๆ ที่จะบริสุทธิ์ และจริงแท้อย่าง 100% หรอกครับ ทุกอย่างเป็นสีเทาอย่างที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้ แต่ถึงแม้เราจะมั่นใจว่าพอจะเข้าใจและทำใจกับโลกสีเทาใบนี้ได้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมว่า ถึงยังไงกระทั่งสีเทาเองก็มีอีกเป็นร้อย เป็นพันเฉดนะครับ