“ดูคนพิการคนนั้นสิ เขาลำบากแค่ไหน เขายังไม่คิดฆ่าตัวตายเลย”
เคยได้ยินประโยคคล้ายๆ อย่างนี้ เวลามีคนพยายามปลอบหรือให้กำลังใจคนที่ตกอยู่ในอาการซึมเศร้าไหมครับ?
ไม่แปลกหรอกครับ ผมเองเคยได้ยินประจำ ขนาดผมเองตอนที่เศร้าๆ ยังเคยคิดแบบนั้นเลย แถมพอเป็นยุคอินเตอร์เน็ต โซเชียลเน็ตเวิร์ก เราก็ได้เห็นการผลิตคอนเทนต์แบบนี้อยู่เป็นประจำ ตามสไตล์คอนเทนต์ให้กำลังใจในสังคมโหยหากำลังใจ และพร้อมจ่ายเงินให้คนมาสอนการใช้ชีวิตเสมอ
หลายครั้งที่ ความพิการ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนปกติแขนขาครบแบบพวกเรา แต่เราเคยตั้งคำถามกลับไหมว่า
แล้วคนพิการที่เป็นที่มาของแรงบันดาลใจเหล่านั้นเขารู้สึกอย่างไร?
ประเด็นนี้ก็เคยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมญี่ปุ่น และก็คงจะต้องถกเถียงกันต่อไปเพราะงานใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า
ที่ถกเถียงกันก็เพราะว่า เป็นช่วงเวลาของรายการ ‘ทีวี 24 ชั่วโมง [ความรักจะกอบกู้โลก] ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์การกุศลชื่อดังประจำปีของเครือ Nihon Television ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปีค.ศ. 1978 ซึ่งในตอนนั้นการที่สถานีแพร่ภาพแบบ 24 ชั่วโมงก็คงยังเป็นเรื่องพิเศษอยู่ และรูปแบบในปัจจุบันคือ รายการดังๆ ของสถานีมักจะจัดตอนพิเศษเพื่อฉายในช่วงเวลานี้โดยเฉพาะ และโดยมากก็มักจะเป็นรายการสด เป็นการร่วมมือกันทั้งสถานี ซึ่งมักจะมีละครสั้นพิเศษเพื่อเรียกเรตติ้ง ส่วนกิจกรรมสำคัญก็คือให้ดาราคและคนดังต่างๆ ทำกิจกรรมที่ยากลำบาก ทุกข์ทรมาน เช่นวิ่งมาราธอน ลงแข่งไตรกีฬา จะทำสำเร็จหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการได้เห็นหยาดเหงื่อและความพยายามของเหล่าคนดังทั้งหลายที่ทุ่มเทเพื่องานการกุศล พร้อมทั้งเชิญชวนให้คนบริจาคเงิน
แต่ที่กลายมาเป็นเรื่องถกเถียงกันก็เพราะว่า ส่วนหนึ่งของรายการที่แทบจะขาดไม่ได้คือ การให้คนพิการมาทำกิจกรรมที่แสนลำบากเหล่านั้นด้วย ทั้งปีนเขา และว่ายน้ำระยะไกล พร้อมทั้งการพยายามฉายความยากลำบากของผู้พิการในการทำกิจกรรมท้าทายเหล่านั้นท่ามกลางเสียงเพลงประกอบชวนซึ้งเหมือนโฆษณาประกันชีวิต บิลด์อย่างเต็มสูบแบบที่เรียกได้ว่าถ้าไม่รู้สึกซึ้งก็เป็นคนใจสุนัขเลยทีเดียว
ซึ่ง เดฟ สเป็กเตอร์ (Dave Spector) หนึ่งในชาวอเมริกันที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงญี่ปุ่น ก็ได้ทวิตแซะรายการรัวๆ โดยปิดท้ายว่า รายการนี้ควรจะเป็นรายการเพื่อผู้พิการแท้ๆ แต่กลับกลายเป็นการหากำไรของกลุ่มธุรกิจใหญ่กับเอเจนซี่โฆษณามาโดยตลอด อยากจะให้คิดว่า จริงๆ แล้ว อาสาสมัครควรจะเป็นอย่างไรมากกว่า (ยังไม่นับว่า คอนเซ็ปต์ 24 ชั่วโมงนี่เชยมาก และการทำงานยาวๆ ขนาดนี้มันเหมาะกับยุคนี้ที่ควรปรับรูปแบบการทำงานไม่ให้หามรุ่งหามค่ำเกินไปรึเปล่า)
และก่อนหน้านี้ ประเด็นนี้ก็เคยเป็นประเด็นร้อนมาแล้วทีนึง เมื่อรายการ Bari Bara (ย่อมาจาก Barrierfree Variety รายการวาไรตี้ไร้สิ่งกีดขวาง) ทางช่องการศึกษาของ NHK ก็ได้จัดทำตอนที่ชื่อว่า “เสียงหัวเราะเท่านั้นที่จะกอบกู้โลก” โดยให้ผู้ร่วมรายการที่เป็นผู้พิการทำกิจกรรมธรรมดาสามัญ แล้วให้คนอื่นในห้องส่งทำท่าทางประทับใจซาบซึ้งน้ำหูน้ำตาไหล จนต้องใช้คำว่า ‘ฟูมฟาย’ เป็นมุกจิกกัดอย่างแสบสัน และยังได้เผยผลแบบสอบถามผู้พิการ
ซึ่งก็ได้คำตอบว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่ชอบที่ถูกรายการทีวี
เอาไปฉายภาพสร้างแรงบันดาลใจแบบนั้น
ที่สำคัญคือ วันที่รายการตอนนี้ออกอากาศในปีค.ศ. 2016 ก็เป็นวันเดียวกับรายการทีวี 24 ชั่วโมงในปีนั้น เรียกได้ว่า กะชนกันโดยตรงเลย ซึ่งรายการวันนั้นก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ Kandou Porn หรือ Inspiration Porn ของรายการทีวี 24 ชั่วโมงอย่างตรงไปตรงมา และทำให้คำคำนี้กลายเป็นที่สนใจของสังคม
‘Inspiration Porn’ คือคำที่เสนอโดย สเตลล่า ยัง (Stella Young) ตลกและผู้สื่อข่าวหญิงที่พิการผู้ล่วงลับ ซึ่งเธอเสนอคำนี้เพราะเธอมองว่า ตัวตนของเธอและผู้พิการอีกหลายคน ไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ซึ่งในยุคโซเชียลมีเดีย เรามักจะเห็นได้บ่อยๆ ว่า มีรูปเด็กหญิงพิการใส่ขาเทียมลงวิ่งแข่ง แล้วปะคำโปรยว่า “คุณมีข้ออ้างอะไร” ตัวสเตลล่าเองก็มีประสบการณ์ไปสอนในโรงเรียนมัธยมแล้วถูกถามว่า เมื่อไหร่จะเริ่มพูดอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจล่ะ
สเตลล่าเองก็บอกว่าเธอเคยถูกเสนอให้รับรางวัลประชาชนดีเด่นของเมือง แต่เธอก็บอกว่าไม่รู้จะรับได้ยังไง เพราะเธอแค่ใช้ชีวิตของเธอเท่านั้นเอง การพยายามมอบรางวัลเหล่านี้หรือการพยายามเอาคนพิการมาเป็นแรงบันดาลใจ สเตลล่ามองว่าเป็นมุมมองของคนที่ครบ 32 ประการ และมองเห็นคนพิการทั้งหลายเป็นสิ่งกระตุ้นความสุข แรงบันดาลใจ เพื่อความฟินของตัวเองเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นคำที่ทำให้เราสะอึกได้เหมือนกัน (ชวนดู TED Talk ของเธอ ครับ)
และรายการ Bari Bara ก็นำคำนี้มาโดยแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Kandou Porn ซึ่ง Kandou (感動) ก็แปลว่า ประทับใจ นั่นเอง และถ้าใครดูรายการทีวีญี่ปุ่นบ่อยๆ ก็มักจะเห็นคอนเทนต์แบบนี้อยู่เป็นประจำ ไม่ใช่แค่กับคนพิการ แต่ยังรวมไปถึงคนไร้บ้าน แม่เลี้ยงเดียว ลูกครึ่ง หรือพูดรวมๆ ก็คือ คนส่วนน้อยของสังคมญี่ปุ่น ที่หลายครั้งถูกนำเสนอในแง่คอนเทนต์ให้กำลังใจ หรือชวนซึ้งน้ำหูน้ำตาไหล เล่นใหญ่กันเต็มที่ ทำให้คนดูทางบ้านประทับใจ ฟินกันไปเสมอ ซึ่งรายการก็ตั้งคำถามกับกลุ่มที่ถูกนำเสนอว่ารู้สึกอย่างไร
ก็นั่นแหละครับ ใครเขาจะพอใจกัน
เท่าที่ไล่อ่านความเห็นต่างๆ ก็มีคนเห็นด้วยกับความคิดแบบนี้ไม่น้อยเหมือนกัน เราเองก็ติดนิสัยคิดว่า “ดูนั่นสิ ขนาดเขา XXX เขายังสู้เลย” รวมไปถึงมีคนพิการชื่อดังที่สร้างชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือให้กำลังใจ เช่น ฮิโรทาดะ โอโททาเกะ (Hirotada Ototake) ชายไร้แขนและขา เจ้าของหนังสือ No One’s Perfect (คล้ายๆ กับ Nick Vujicic อีกคนที่มีหนังสือแปลไทย)
กลายเป็นว่าเราๆ ที่มีแขนขาครบทั้งหมดก็คอยหา
แรงบันดาลใจจากพวกเขา จนกลายเป็นติดนิสัยไป
คำถามคือ แล้วถ้าคนพิการหรือคนกลุ่มน้อยเหล่านั้นไม่ได้ตั้งใจหรือพยายามอะไร พวกเขาไม่มีค่าชวนให้ซึ้งหรือไม่? แล้วเราจะมองข้ามเขาไปไหม? หรือเขาจะถูกปฏิบัติอย่างไร? คนพิการบางคนก็แค่อยากจะใช้ชีวิตเฉยๆ ไม่ได้อยากให้ถูกเอาไปเปรียบเทียบกับใคร ไม่อยากถูกมองอะไร
ขณะเดียวกัน ก็มีนักเขียนที่เป็นผู้พิการเช่นกันเห็นแย้งว่า แน่นอนว่าหลายครั้งเจ้าตัวก็รู้สึกว่าถูกคนรอบข้างยกย่องเกินควร เช่น ได้รับรางวัลนักเรียนดีเด่น ซึ่งก็เรียนดีจริง แต่ก็แพ้อีกหลายคน เหมือนมีแต้มต่อโดยไม่ต้องทำอะไร แต่จริงๆ แล้ว การไปเรียน การใช้ชีวิตประจำวันทั้งหลาย ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าไม่ได้ทำอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นก็คือกำแพงที่ต้องเจอในแต่ละวัน เช่น การจะทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี ก็ต้องฝึกทำให้เร็วเท่าคนอื่นให้ได้ ไม่ใช่อ้างว่าเป็นคนพิการ ต้องขอเวลาเพิ่ม ดังนั้นถึงจะถูกมองว่ากลายมาเป็นสิ่งกระตุ้นแรงบันดาลใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีมากกว่าเสียไม่ใช่เหรอ แถมแน่นอนว่าคนพิการหลายคนก็ไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ ไม่มากก็น้อยก็ต้องรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
จริงๆ เรื่องแบบนี้มันก็หาข้อสรุปได้ยากเช่นกัน เพราะต่างคนก็ต่างความเห็น บางคนก็มองว่า ‘อย่างน้อย’ เน้น ‘อย่างน้อย’ ก็ยังเป็นเรื่องดี เพราะในสื่อบันเทิงแต่ก่อนเอาความพิการของร่างกายมาเป็นเรื่องตลกเสียด้วยซ้ำ (บ้านเราเองก็คงคุ้นๆ กัน) แต่ในปัจจุบันก็เปลี่ยนมุมมองมาเป็นแนวทางให้กำลังใจแทน
แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรมองมากๆ คือ แทนที่จะมารับแรงบันดาลใจจากผู้พิการที่ทำอะไรยากลำบากในวันนั้นวันเดียว เราควรจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการในสังคมมากกว่าหรือไม่ ไม่ใช่ว่า เพราะพิการจึงได้รับการปฏิบัติอย่างพิเศษ แต่ควรเป็นถึงจะพิการแต่ก็ได้รับการปฏิบัติเช่นทุกคน นั่นก็คือการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้พิการ ตามชื่อรายการ Barrier Free นั่นล่ะครับ
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่จัดว่าพัฒนาไปในเรื่องนี้ได้ไกลเอาเรื่องแล้ว แต่ถ้าเทียบกับประเทศทางสแกนดิเนเวีย ชาวญี่ปุ่นเองก็ยอมรับว่ายังตามหลัง เพราะที่นั่นคือสร้างสังคมที่ทุกคนใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนกัน ที่สำคัญคือเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวในสังคมญี่ปุ่น เพราะต่อจากนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้พิการที่ต้องพึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ยังจะมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมาก ที่ต่อไปจำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ แล้วญี่ปุ่นจะเตรียมการรับมือกับสิ่งนี้ต่อไปอย่างไร
และถ้ามองเรื่องที่กำลังจะมาถึง ก็คงหนีไม่พ้นพาราลิมปิกที่กำลังจะมาถึงในปีหน้า ว่าทางญี่ปุ่นจะนำเสนอเช่นไร น่าสนใจว่าเราจะสามารถชื่นชมความสามารถทางการกีฬาของผู้เข้าแข่งขัน โดยไม่ต้องฟูมฟายจนเกินไป ไม่อย่างนั้นก็คงหนีไม่พ้น
“ดูเขาสิ เป็นอย่างนั้นแท้ๆ แต่ยังสู้เลย”
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก