เสรีภาพทางวิชาการ หรือ Intellectual Freedom นั้นเรียกได้ว่าเป็นแขนงหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออก หรือ Freedom of Expression ซึ่งได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตรา 19 ที่ว่า
“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”[1]
อย่างไรก็ดีสถานะของเสรีภาพทางวิชาการบ่อยๆ ครั้งมักจะถูกขับเน้นหรือให้คำอธิบายโดยจำเพาะลงไปอีก โดยเน้นย้ำถึงอิสรภาพในการถือครอง รับและเผยแพร่ ‘ความคิด’ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ[2] ที่ผมต้องบอกว่าเสรีภาพทางวิชาการในบางครั้งถูกขับเน้นแยกเป็นพิเศษนั่นก็เพราะว่าพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการโดยหลักการแล้วเป็นพื้นที่ของการทดลองทางความคิดอย่างหนึ่ง ที่มุ่งจะนำเสนอข้อถกเถียงใหม่ๆ หรือการค้นหาข้อเท็จจริงใหม่ๆ จึงมีโอกาสที่ ‘ความคิดหรือข้อมูล/ข้อค้นพบ’ จะไปขัดกับอุดมการณ์หลักของสังคมหนึ่งๆ อยู่เสมอ ฉะนั้นแล้วในที่นี้คำว่า ‘นักวิชาการ’ (Intellectual) จึงมีนัยยะของผู้ที่เข้าท้าทายทางความคิดต่อขนบแบบเก่าๆ ด้วย
แม้ว่าคำว่านักวิชาการหรือ Intellectual จะใช้ครั้งแรกในภาษาอังกฤษเพื่อบ่งชี้ถึง ‘นักคิดที่อ่านออกเขียนได้’ (Literate Thinker) ในช่วงปี ค.ศ. 1920 โดย John Middleton Murry แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วที่มาตั้งต้นของคำๆ นี้ เกิดขึ้นราวๆ ทศวรรษ 1860 – 1870 ในสมัยซาร์ของรัสเซีย โดยใช้คำว่า Intelligentsiya เพื่อเรียกเหล่าคนที่มีการศึกษาหรือสำนักวิชาต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่สมาทานกับแนวคิดของยุคตื่นรู้ (Enlightenment)[3]
ต่อมาคำๆ นี้ก็ถูกใช้อย่างเด่นชัดอีกครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อสาธารณะรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศสเผชิญกับเหตุการณ์แดร์ฟุส (Dreyfus Affairs) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเรียกร้องความยุติธรรมในกระบวนการกล่าวหาและจับตัดสินผู้กระทำผิดในฝรั่งเศส โดยคร่าวๆ มากๆ ก็คือ อีตาแดร์ฟุสนี้ เป็นทหารหนุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเอาความลับของกองทัพฝรั่งเศสไปบอกกับสถานทูตเยอรมนีในกรุงปารีส ในช่วงเดือนธันวาคม 1894 ตาแดร์ฟุสนี่ก็เลยโดนตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เอาไปเอามาในปี ค.ศ. 1896 ก็มีหลักฐานชี้ชัดว่าแดร์ฟุสไม่ผิด แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ยังหาข้อหามาโบ้ยแดร์ฟุสเพิ่มอีกว่าปลอมเอกสาร ก็เลยเกิดข้อถกเถียงยกใหญ่ในสังคมขึ้นมา เพื่อถามหาถึงจุดยืนความยุติธรรมในสังคม ฝ่ายที่สนับสนุนแดร์ฟุสก็เรียกกันว่า Dreyfusard ฝ่ายต่อต้านแดร์ฟุสก็เรียกง่ายๆ ว่า Anti-Dreyfusard
ที่เล่าเรื่องของอีตาแดร์ฟุสนี่มาเสียยาวก็เพราะจะบอกว่า คำว่า Intellectual หรือนักวิชาการนั้น ถูกใช้อย่างจริงๆ จังอีกครั้งเพื่อเรียกกลุ่ม Dreyfusard โดยกลุ่ม Anti-Dreyfusard นี่เองครับ[4] ฉะนั้นในตอนเริ่มต้นฝ่ายต่อต้านก็คงจะมีแนวโน้มจะใช้คำนี้ในลักษณะเหยียดเล็กๆ ในฐานะ “พวกแนวคิดหัวก้าวหน้า หรือต่อต้านอำนาจหลักของสังคม (Establishment)” อย่างไรก็ดี ความเหยียดที่ว่านี้เอง กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของสถานะของตัวตน ‘นักวิชาการ’ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันครับ ในฐานะผู้ทำหน้าที่เสนอความคิดให้กับสังคม โดยเฉพาะความกล้าที่จะเสนอความคิดที่ขัดกับอำนาจหลักที่ควบคุมสังคม
เพราะในทางหนึ่ง การเสนอความคิดแบบอ้าปากตามที่อำนาจในสังคมพยายามเผยแพร่อยู่แล้ว อาจจะไม่สามารถเรียกได้ชัดๆ ว่าเป็นความคิด แต่อาจจะเป็นเพียงการ Copy and Paste วาทะของ ‘ผู้นำ’ มากล่าวซ้ำในภาษาของตนเท่านั้น
เมื่อสำนึกในการนำเสนอความคิดที่ต่อต้านหรือนอกเหนือจากกระแสความคิดของอำนาจหลักของสังคมเป็นเสมือนพันธะกิจกลายๆ ของ ‘นักวิชาการ’ รวมถึงความกล้าจะเผยแพร่หรือเรียกร้องออกมาดังๆ ถูกมองเสมือนเป็น Moral Courage หรือความกล้าหาญทางจริยธรรม (เอาจริงๆ ไม่ค่อยชอบคำนี้แต่ใช้ไปก่อนแล้วกัน) ของชุมชนนี้ไปไม่มากก็น้อย
ที่จู่ๆ ผมได้มาพล่ามเป็นวรรคเป็นเวรเรื่องเสรีภาพทางวิชาการนั้นก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ พอดีผมได้ไปร่วมฟังการเสนอหัวข้อทางความคิดต่างๆ ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ประเทศเชียงใหม่ที่ผ่านมากะเค้าด้วย ก็เลยค่อนข้างจะอินในเชิงหงุดหงิดงุ่นง่านเป็นพิเศษเมื่อทางรัฐบาลดูพยายามเข้ามา ‘กำกับความคิด’ ด้วยการจ่อจะเรียกตัวนักวิชาการบางคนที่ลงชื่อในคำแถลงการณ์จาก 176 นักวิชาการเพื่อเรียกร้อง ‘พื้นที่และเสรีภาพทางวิชาการ’[5] ขึ้นมา…หงุดหงิด แต่ไม่ได้แปลกใจอะไรแม้แต่น้อย เอาจริงๆ ถ้าไม่เรียกนี่สิ จะแปลกใจเสียมากกว่า โดยเฉพาะด้วยมาตรฐานความ ‘ตื่นตูม’ อย่างอ่อนไหวสุดจิตสุดใจของรัฐบาลนี้ด้วย[6]
ข้ออ้างหลักของรัฐบาลนั้นก็ตามเคยแหละครับ คือ อ้างว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์พิเศษ และการออกแถลงการณ์นั้นเป็นการสร้างหรือท้าทายความมั่นคงของรัฐ (อันเป็นเหตุผลสำคัญที่พี่ๆ ทหารเขาหอบเอารถถัง และปืนจากภาษีประชาชน มาแหกรัฐธรรมนูญกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และแหกรัวๆ ต่อเนื่องมายันตอนนี้)
คำถามคือ ที่รัฐแย้งมานั้นถูกต้องหรือเปล่า?
แน่นอนมีกระแสการตอบโต้จิกกัด หรือไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อ ‘คำอธิบาย’ ของฝ่ายรัฐ ว่าการเรียกร้องที่ว่าคือ การท้าทายความมั่นคง หรือที่บอกว่า “คุณ (นักวิชาการ) ยืนยันว่าเป็นสิทธิของคุณ ผมก็ยืนยันของผม”[7] กันอย่างทั่วถ้วน โดยเฉพาะเพื่อนๆ นักวิชาการของผม ว่าคำอธิบายแบบนี้ใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา สุดที่ผมจะพรรณนาได้ครบ (หากท่านเล่นเฟซบุ๊ก และติดตามนักวิชาการสายก้าวหน้า – ในความหมายว่า ไม่ได้เอาด้วยกับรัฐ – ก็จะพบเห็นได้ไม่ยากนัก)
ผมอยากจะเห็นต่างจากเพื่อนๆ หรืออาจารย์ผมบางท่านตรงนี้ครับว่า จริงๆ ผมคิดว่าที่ทางรัฐแย้งมานั้น เหตุผลเขาถูกแล้ว โอเคแล้ว คือ ผมคิดว่าการที่เราพยายามบอกว่าการประชุมวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร หรือสิทธิเสรีภาพทางวิชาการที่เรากำลังเรียกร้องให้ได้มาอยู่นั้นเป็นคุณค่าสากลที่พึงได้รับอยู่แล้ว ฯลฯ เหล่านี้ผมล้วนเห็นด้วยในทางหลักการทั้งสิ้น แต่หากเราเชื่อหรือยืนยันแบบนั้นจริงๆ สุดท้ายแล้วมันเป็นการไม่ยอมรับความเป็นจริงในทางที่กำลังเป็นอยู่ (de facto) ว่า เอาเข้าจริงๆ “ประเทศไทยทั้งประเทศมันก็คือค่ายทหาร” ดีๆ นี่เอง
เพราะประเทศไทยถูกทำให้กลายเป็น ‘ค่ายทหาร’ ไม่ใช่หรือ เราจึงต้องมาเรียกร้องในเสรีภาพทางวิชาการกัน แต่คำถามคือนักวิชาการกำลังเรียกร้องจากใคร?
พูดกันอย่างถึงที่สุดและไม่ต้องรักษาหน้ากันมากแล้ว ผมก็คิดว่ามันคือเมสเสจถึง ‘ผู้ถือครองอำนาจในการปกครองรัฐ’ อย่างทหารนั่นแหละ ฉะนั้นในทางปฏิบัติแล้ว ผมคิดว่ามันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกแถลงการณ์ที่มีลักษณะเรียกร้องโดยตรงกับตัวรัฐนั้น แม้เนื้อความจะมีทิศทางในการจำกัดอำนาจผู้ถือครองอำนาจ อย่างทหารหรือรัฐบาล แต่พร้อมๆ กันไป มันก็เท่ากับการยืนยันตำแหน่งแห่งที่ทางอำนาจของ ‘ผู้ถือครองอำนาจ’ ที่เหล่านักวิชาการกำลัง ‘ส่งการเรียกร้อง’ ไปถึงพร้อมๆ กันไปด้วย
ผมไม่ได้เขียนย่อหน้าเมื่อกี้ในเซ้นส์ของการด่าอะไรนะครับ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองมันทำได้หลายระดับ และมันไม่มีทางที่จะสมบูรณ์เพอร์เฟกต์ในหลักการตลอดเวลาได้ (ผมเองก็ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย คือ หากเห็นว่าเป็นอะไรที่มันผิดในทางส่วนตัว ก็คงไม่ลงชื่อไปหรอกครับ) คือ เราไม่สามารถต่อสู้กับผู้ซึ่งถือครองอำนาจโดยเฉพาะอำนาจในการใช้กำลังในทางกายภาพด้วยกระดูกสันหลังที่แข็งแกร่งแต่เพียงอย่างเดียวได้ ฉะนั้นการออกแถลงการณ์ในค่ายทหารที่เรียกประเทศไทยนั้น แม้จะหลีกหนีไม่พ้นการยอมรับในระดับหนึ่งในตัวมันเองว่า บุคคลซึ่งไม่ชอบธรรมถือครองอำนาจอยู่ แต่มันก็มีบทบาทสำคัญในตัวมันเอง ที่เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงสภาวะความจำยอมใต้อำนาจกระบอกปืนอยู่ในตัวมันเอง เพราะความจำยอม คือ สภาวะที่บ่งชี้ความเป็นขบถในตัวมันเองรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน
คำว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ในบริบทของประเทศไทยตอนนี้ สุดท้ายแล้วมันจึงเป็นการพยายามแสดงออกถึงความขบถ ผ่านสภาพของความ ‘จำยอม’ หรือกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่ต้องการให้มีพื้นที่ให้ความรู้และแนวคิดใหม่ๆ ได้มีโอกาสเกิดขึ้นบ้าง ได้สามารถพูดถึงได้บ้างอย่างน้อยก็ในทาง ‘วิชาการ’ ฉะนั้นความพยายามจะขบถในเงื่อนไขว่ามีปืนจ่อหัวคุกจ่อคออยู่มันจึงต้องมาลงเอยอยู่ในลักษณะของการ ‘คุกเข่าต่อต้าน’ อย่างที่เกิดขึ้น
ที่มันน่าโมโหก็คือ ขนาดคุกเข่าต่อต้าน แล้วยังไม่ยอมกันอีกหรือ จะต้องให้อุดปากทุกสิ่งๆ จริงๆ เลยหรือ? นั่นคือสิ่งที่คับข้องใจผม
แต่ก็อย่างว่า สิ่งที่รัฐบาลทหารเกรงกลัวประชาชนที่สุด คงหนีไม่พ้น 2 เรื่อง คือ (1) ความสามารถในการลุกขึ้นสู้ได้ในเชิงกำลัง และ (2) การหลุดพ้นจากสภาวะอวิชชา หรือความไม่รู้ ที่จะยอมเชื่อว่าอำนาจอันไม่ชอบธรรมในมือผู้ปกครองคือความถูกต้อง เพราะสำหรับผู้ปกครองที่ไร้ความชอบธรรมแล้ว ความไม่รู้นั้นคือพลัง
เช่นนั้นมันก็คงจะไม่แปลกที่เขาจะร้อนรนหรืออ่อนไหวเสียเหลือเกินกับ ‘ข้อเรียกร้อง’ ที่เรียกได้คุกเข่าต่อต้านถึงขนาดนี้แล้ว ก็น่าสนใจดีครับ ว่าขนาดคนไม่กี่คนคุกเข้าต่อต้านยังต้องแสดงท่าทีหวาดหวั่นเสียปานนี้ หากมีสักวันที่ประชาชนพร้อมจะเลิกคุกเข่าก้มหน้า แล้วลุกขึ้นต่อสู้ จะทำให้พวกเขาหวาดกลัว อ่อนไหวได้ปานใด… และก็ได้แต่หวังว่าชุมชนนักวิชาการจะมีกำลังใจสู้หรือพยายามขบถต่อไป สมกับที่มาที่ไปของคำว่า Intellectual นะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดอ่าน humanrights.mfa.go.th
[2] จาก American Library Association
[3] โปรดดู Raymond Williams (1983). Keywords: A Vocabulary of Culture and Society. pp. 169- 171.
[4] โปรดอ่าน Hannah Arendt (1958). The Origins of Totalitarianism, pp. 89 – 95.
[5] โปรดดู www.prachatai.com
[6] โปรดดู www.matichon.co.th
[7] เพิ่งอ้าง