วันนี้ คือวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี คือวันทำแท้งปลอดภัยหรือ International Safe Abortion Day
ในโลกที่การทำแท้งเป็นเรื่องไม่ปกติ เป็นเรื่องผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ หนึ่งที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้แบบปกติ ในโลกแบบนี้ – การทำแท้งมักจะไม่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยอันตรายสำหรับผู้หญิง
บ่อยครั้ง – ที่อันตรายถึงชีวิต!
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ข่าวเศร้าข่าวหนึ่งที่สั่นสะเทือนวิธีคิดเกี่ยวกับการทำแท้งไปทั่วอาร์เจนตินาก็คือ ผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
ถามว่าเธอติดเชื้อในกระแสเลือดเพราะอะไร คำตอบที่น่าตระหนกก็คือ เพราะเธอใช้พาร์สลีย์ ซึ่งเป็นพืชผักสวนครัวธรรมดาๆ มาช่วยทำแท้ง เพราะมีความเชื่อว่า พาร์สลีย์ช่วยให้ช่องคลอดเปิดกว้าง เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณนั้นมาก และทำให้เกิดอาการแท้งขึ้นมาได้
ฟังดูตลกใช่ไหมครับ ฟังดูประหลาดใช่ไหมครับ แต่การใช้พาร์สลีย์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแท้งนั้น คือการใช้สมุนไพรที่เข้าข่าย Abortifacients หรือสมุนไพรที่ทำให้แท้งได้ ซึ่งจริงๆ มีอยู่หลายชนิด ปกติพืชเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายอะไร แต่วิธีใช้งานที่ต้องใช้พาร์สลีย์เข้มข้นใช้ปริมาณมาก ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อผู้ใช้ เช่น ต้องนำพาร์สลีย์มาปั่นเพื่อดื่มเข้าไปในปริมาณมาก และต้องสอดพาร์สลีย์เข้าไปในช่องคลอดเป็นปริมาณมากด้วยเพื่อให้ออกฤทธิ์ (ที่ก็ไม่รู้ว่ามีฤทธิ์จริงหรือเปล่า เนื่องจากเป็นแค่ความเชื่อ) การกินพาร์ลีย์ปริมาณมากจะทำให้เกิดความเสียหายต่อตับและไต และการสอดพาร์สลีย์เข้าไปในช่องคลอดก็เสี่ยงต่ออาการติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อต้องลักลอบและรีบทำ จนไม่ได้ล้างพาร์สลีย์ให้สะอาด ผู้หญิงคนนี้ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งคาดว่ามาจากดินที่ยังติดอยู่กับรากของพาร์สลีย์
ว่าแต่ – ทำไมเธอถึงต้องตัดสินใจทำแท้งด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ปลอดภัยด้วย?
คำตอบที่ไกลไปถึงระบบยุติธรรมของอาร์เจนตินา และชุดศีลธรรมที่ครอบครองสังคมแห่งนั้นอยู่ ก็คือไม่กี่วันก่อนหน้าที่เธอจะตัดสินใจทำแท้งด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัยเองนั้น สภาของอาร์เจนตินาเพิ่งออกกฎหมายจำกัดการทำแท้งให้แคบลง นั่นคือสามารถทำแท้งได้จนถึงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์เท่านั้น เธอจึงไม่สามารถไปรับบริการทำแท้งได้
ที่สุด เธอจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้หญิงอาร์เจนตินาราว 40 คน ที่เสียชีวิตจากการทำแท้งด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัยในแต่ละปี
นี่คือเรื่องน่าเศร้า
โดยสถิติแล้ว ในแต่ละปี (ตั้งแต่ปี 2010-2014) ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ราว 25% ทั่วโลก (ซึ่งคิดเป็นราว 56 ล้านคน) จะยุติการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้ง (Induced Abortion) เพราะมีปัญหาต่างๆ ในชีวิต การทำแท้งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในทุกประเทศ กับผู้คนทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ แต่จะเกิดมากกว่าในประเทศกำลังพัฒนา ประมาณว่า แต่ละปีมีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอยู่ราว 25 ล้านครั้ง ซึ่งแทบทั้งหมดเกิดในประเทศกำลังพัฒนา และราว 8 ล้านกรณี เกิดในสภาวะที่ปลอดภัยน้อยมากหรือถึงขั้นอันตรายด้วยซ้ำ (ตัวเลขที่ว่ามา มาจากองค์การอนามัยโลก ดูรายละเอียดได้ที่นี่)
ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ถ้าดูในอเมริกา การทำแท้งราว 61% เกิดกับผู้หญิงที่อยู่ในวัย 20-29 ปี โดย 59% มีสถานะเป็นแม่คนอยู่แล้ว คือเคยมีลูกมาก่อน (และ/หรือ ยังมีลูกอยู่) โดยเกือบสองในสาม เป็นคนที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งด้วย นั่นแปลว่าคนที่ทำแท้งส่วนใหญ่ในอเมริกา ไม่ใช่คนไร้ศาสนา หรือเป็น ‘วัยรุ่น’ ที่เพิ่งจะนมแตกพานริมีเพศสัมพันธ์แล้วพลาดพลั้งไม่ป้องกันตัว ทว่าจำนวนมากเป็นผู้ใหญ่ที่ควรมีสิทธิในการจัดการกับร่างกายของตัวเอง
ตัวเลขในอเมริกานี้สอดคล้องกับสถิติการทำแท้งในไทย (ดูรายละเอียดได้ทางรายการ ‘นโยบาย By ประชาชน’) ที่ระบุว่าคนที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ทำแท้ง มีจำนวนแค่ราว 25% เท่านั้น ในขณะที่ผู้หญิงที่เป็นแม่คนแล้ว แต่มีความจำเป็นในชีวิตที่ต้องทำแท้งมากถึง 30-40%
เฉพาะตัวเลขแบบนี้ก็กลับข้างความเชื่อของเราไปมากทีเดียว เดิมทีเราอาจคิดว่าคนที่ทำแท้งหรืออยู่ในภาวะท้องไม่พร้อม น่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น (ภาพในหัวของเราอาจเป็น ‘วัยรุ่นใจแตก’) ที่รักสนุก เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ไม่สามารถเรียนต่อได้ จึงลุกขึ้นทำแท้งเพื่อจะกลับมาสนุกสนานบันเทิงกับชีวิตได้ต่อไป แต่ตัวเลขคนที่ ‘มีความจำเป็นต้องทำแท้ง’ ที่พ้นวัยรุ่นไปแล้ว และจำนวนมากเป็นแม่คนนั้น – น่าจะบอกเราได้ว่า ปัญหาเรื่องนี้ของแต่ละคนซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะนำโมเดลวัยรุ่นใจแตกไปใช้กับทุกคน และซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะนำมาตรฐานศีลธรรมชุดใดชุดหนึ่งของเราไปตัดสินได้
ที่จริงการทำแท้งมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว มีหลักฐานว่าแต่ละอารยธรรมมีเทคนิควิธีทำแท้งต่างๆ กันไป (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ ) เช่นการใช้น้ำลายอูฐ ใช้ขี้ของจระเข้ ใช้ขี้ของหนู ใช้ฝิ่น ฯลฯ แต่เราจะเห็นว่า การทำแท้งในสมัยโบราณล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่อันตรายทั้งสิ้น นี่ยังไม่นับรวมวิธีทำแท้งที่เราคุ้นตาในหนังไทย เช่น การกลิ้งตัวตกบันได หรือการใช้ไม้แขวนเสื้อสอดเข้าไปในมดลูก ซึ่งไม่สะอาดและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า การทำแท้งโดยแพทย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ปลอดภัยกว่าการคลอดลูกเสียอีก
โดยทั่วไป เรามักจะเชื่อกันว่า ถ้าหากทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย อัตราการทำแท้งจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไปดูสถิติหรือข้อมูลเชิงประจักษ์แล้ว ภาพที่เกิดขึ้นกลับเป็นตรงข้าม
แรกสุด มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่า การทำให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรม (Abortion Criminalization) หรือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ได้ลดจำนวนการทำแท้งลง ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ มันทำให้การทำแท้งด้วยวิธีที่ผิดและอันตรายมีมากขึ้นต่างหาก เนื่องจากผู้หญิงที่ตกอยู่ในสภาวะท้องไม่พร้อมนั้น ไม่สามารถหาทางออกด้วยการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยได้ จึงต้องลักลอบทำ ในประเทศแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งมีการห้ามหรือจำกัดการทำแท้งอย่างเข้มงวด กลับพบว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการทำแท้งสูงที่สุดใลก
อย่างที่สอง ในประเทศที่การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และผู้คนสามารถเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างกว้างขวาง เช่นในอเมริกาเหนือหรือในยุโรปตะวันตก อัตราการทำแท้งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วกลับต่ำกว่า และผู้หญิงก็สามารถทำแท้งอย่างปลอดภัยได้มากกว่าด้วย
นั่นนำมาสู่เรื่องที่สาม นั่นคือเมื่อการทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม อัตราการตายและบาดเจ็บในผู้หญิงที่ทำแท้งก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น เมื่อโรมาเนียยกเลิกกฎหมายที่บอกว่าการทำแท้งเป็นอาชญากรรมในปี 1990 อัตราการตายของผู้หญิงที่ทำแท้งลดลงราวครึ่งหนึ่ง ส่วนในแอฟริกาใต้ อัตราการตายก็ลดลงถึง 91% ในสี่ปีแรกหลังมีกฎหมายที่เรียกว่า Choice on Termination of Pregnancey Act หรือกฎหมายว่าด้วย ‘การเลือก’ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ในปี 1996
พูดอีกอย่างก็คือ ในเมื่อการทำแท้งเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างถูกกฎหมาย คือเป็น ‘ทางเลือก’ ที่คนสามารถมองได้ด้วยสายตาปกติแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปหาวิธีเสี่ยงอันตรายและไม่ถูกสุขอนามัย ในอันที่จะยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์อีก แต่สามารถเดินเข้าไปในสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ให้บริการในเรื่องนี้อย่างสะอาดและปลอดภัย
ข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาทบทวนกฎหมายว่าด้วยการทำแท้งในประเทศตัวเองกันมากขึ้น พบว่านับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีมากกว่า 30 ประเทศแล้ว ที่ ‘ปลดปล่อย’ การทำแท้งออกจากการเป็นอาชญากรรม แต่กระนั้นก็ยังมีอีกหลายประเทศที่เดินไปอีกทางหนึ่ง เช่นอาร์เจนตินาที่ยกมาข้างต้น
แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ในบางประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ แม้จะมีกฎหมายเปิดกว้างให้คนได้ ‘เลือก’ ว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่แล้ว แต่ปรากฏว่ามีการให้บริการทำแท้งที่ถูกวิธีและปลอดภัยในคลินิกและโรงพยาบาลทั่วประเทศเพียง 5% เท่านั้น และผู้หญิงอีกถึงราวหนึ่งในสาม ก็ยังไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้อยู่ และในบางประเทศอย่างโมร็อคโค ไม่ใช่แค่การทำแท้งจะผิดกฎหมายเท่านั้น แต่แค่คุณลุกขึ้นรณรงค์เรื่องสิทธิที่จะทำแท้ง – ก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้ว ใครออกมารณรงค์เรื่องนี้ต้องถูกจับกุม
ฝั่งคิดที่อยู่ตรงข้ามกับการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ ‘เลือก’ ที่จะทำแท้ง ก็คือศาสนจักรคาทอลิกและแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งหลายคนก็เข้าใจได้ว่า ในทางศาสนานั้น การทำแท้งคือการทำผิดพระประสงค์ของพระเจ้า เพราะมนุษย์ยื่นมือเข้าไปทำลายการเกิดของชีวิตที่พระเจ้าสร้างขึ้น ดังนั้นในทางศาสนาจึงยอมรับการทำแท้งไม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น กระทั่งพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ได้ชื่อว่าทรง ‘ก้าวหน้า’ ที่สุดแล้วเท่าที่เคยมีพระสันตะปาปามา ก็ยังทรงประณามการทำแท้ง
ดังนั้น การมองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดร้ายจึงไม่ใช่ปัญหากฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทางศาสนาที่เกี่ยวโยงมาถึงวัฒนธรรมด้วย หลายสังคมมองว่าการทำแท้งเป็นบาป และบาปนั้นมักจะตกหนักอยู่กับผู้หญิง ที่เห็นได้ชัดก็คือสังคมไทยที่มีความเชื่อว่า ถ้าผู้หญิงคนไหนทำแท้ง เด็กที่ตายไปจะมาเกาะบ่าเกาะไหล่ ตามติดไปทุกหนทุกแห่ง ทำให้ชีวิตไม่เป็นสุข ทั้งที่แท้จริงแล้วก็คือ ‘วิธีคิด’ แบบนี้นี่แหละครับ ที่ตามรังควานผู้หญิงที่เคยทำแท้งอยู่ตลอดเวลาจนไม่เป็นสุข และทำให้การทำแท้งไม่อาจเป็น ‘ทางเลือก’ ที่ปกติธรรมดาอย่างหนึ่งได้
ต้องเน้นไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ ว่าผมไม่ได้สนับสนุนให้คนลุกขึ้นมาทำแท้งกันอย่างเอิกเกริก แต่หากเกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา และตรองดูแล้วเห็นว่า ‘ต้นทุน’ ในชีวิตของตัวเองไม่เพียงพอที่รักษาครรภ์นั้นต่อไป (ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านไหนก็ตาม) คนเหล่านี้ก็ควรมี ‘ทางเลือก’ ที่ปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายเพราะสังคมมองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิด จนต้องไปทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัย
ในเวลาเดียวกัน คนที่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม แต่สามารถใช้ต้นทุนในชีวิตที่มี เพื่อเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ ให้เกิดความพร้อมขึ้นมาในชีวิตได้ และตัดสินใจเลือกไม่ทำแท้ง เลือกจะพาลูกในครรภ์ออกมาสู่โลก เลือกจะต่อสู้เลี้ยงดูให้ลูกได้เติบโตขึ้นมา ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีและงดงามที่สุดด้วยเช่นกัน
แต่กระนั้น เงื่อนไขในชีวิตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้บางคนอาจตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยรุ่น แต่หากพ่อแม่ของตัวเองยอมรับได้ สังคมแวดล้อมยอมรับได้ และตัวเองเข้มแข็งมากพอ ก็อาจพักการเรียน รอจนคลอดลูกออกมา แล้วค่อยกลับไปเรียนใหม่ได้ ค่อยๆ สร้างครอบครัวใหม่ขึ้นมาโดยมีครอบครัวของพ่อแม่ค่อยโอบอุ้มอยู่เบื้องหลังได้ แต่อีกในหลายกรณี ผู้หญิงบางคนไม่ได้มีพ่อแม่ที่เข้าใจและยอมรับลูกได้ขนาดนั้น บางคนเมื่อตั้งครรภ์ก็ถูกตัดขาดออกจากครอบครัว กระทั่งแฟนที่เป็นคนทำให้ท้องก็ทิ้งไป จึงต้องเผชิญโลกกว้างอยู่ตามลำพังคนเดียว ครั้นจะตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ สังคมก็กระหน่ำซ้ำเติมด้วยการพรากการทำแท้งที่ปลอดภัยไปจากเธออีก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตของเธอจะเหลืออะไรได้เล่า – นอกจากทางตัน
ซึ่งในหลายกรณีก็นำไปสู่ความตาย
ในไทย กฎหมายอาญาที่ว่าด้วยการทำแท้งมีอยู่ด้วยกัน 5 มาตรา คือ
มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 304 ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดตาม มาตรา 301 หรือ มาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 301 และ มาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือ มาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด
สรุปง่ายๆ ก็คือ ตามกฎหมายไทย การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องทำเพราะสุขภาพหรือถูกข่มขืนล่อลวงอนาจาร และแม้ใน พ.ศ.2548 แพทยสภาจะเคยออกข้อบังคับแก้ไขเพิ่มเติม โดยตีความคำว่า ‘สุขภาพ’ ในกฎหมาย ว่าหมายถึงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่นักกฎหมายก็ยังมองว่าข้อบังคับที่ว่านี้มีศักดิ์ทางกฎหมายที่ต่ำกว่ากฎหมายอาญา จึงไม่มีผลอะไรมากนัก
สุพีชา เบาทิพย์ แห่งกลุ่ม ‘ทำทาง’ ที่รณรงค์เรื่องการทำแท้งปลอดภัย เคยวิจารณ์ว่า กฎหมายมาตรา 301 นั้น เป็นกฎหมายที่แสดงถึง ‘อคติ’ ต่อเพศหญิงอย่างชัดเจน เพราะการตั้งครรภ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยตัวผู้หญิงคนเดียว แต่ต้องมีผู้ชายร่วมด้วย ทว่าเมื่อมีปัญหาจนต้องเลือกหาทางออกด้วยการทำแท้ง กฎหมายกลับเลือกลงโทษเฉพาะผู้หญิง ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามกับวิธีคิดของสังคมที่มีต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายกับหญิงอีกต่อหนึ่ง ว่ามีความไม่ยุติธรรมทางเพศแทรกซ่อนอยู่มากน้อยแค่ไหน
ที่จริงแล้ว ก็เป็น ‘อคติ’ ทำนองนี้นี่แหละครับ ที่ฝังลึกแนบแน่นอยู่กับทั้งศีลธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม จนทำให้เราไม่สามารถมองว่าการทำแท้งสามารถเป็น ‘ทางเลือก’ ที่แสนจะปกติธรรมดาทางเลือกหนึ่ง – ของผู้หญิงบางคนที่ชีวิตพาเธอเข้าสู่ตาจน
คำถามก็คือ – กับคนที่แทบจะไร้ทางเลือก เราควรช่วยให้พวกเขามีทางเลือกเพิ่มขึ้น หรือทำลายทางเลือกอื่นๆ เพื่อบีบให้ ‘ต้องเลือก’ ในแบบที่เราคิดว่าถูกต้องเท่านั้น