ในโลกศิลปะ มีศิลปินหลายคนเคย ‘คอลแล็บ’ หรือร่วมงานกับแบรนด์สินค้าชื่อดังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons), ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) หรือ ทาคาชิ มูราคามิ (Takashi Murakami) ที่ต่างก็เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton ผลิตผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ลิมิเต็ด อิดิชั่น ออกมาให้มิตรรักนักช้อปผู้หลงใหลศิลปะได้ซื้อหามาครอบครองกันถ้วนหน้า
หันมามองฝั่งศิลปินไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีศิลปินไทยได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอยู่ไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย ผู้มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสากล ล่าสุด เขาได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Swatch ผู้ผลิตนาฬิกาชื่อดังจากสวิตเซอร์แลนด์ โดยนาวินเป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ทาง Swatch คัดเลือกให้จัดแสดงผลงานใน Giardini della Biennale สวนสาธารณะเก่าแก่ในเมืองเวนิส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 59 ในปี 2022 นี้
เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของนาวิน คือการหยิบเอาสื่อในวัฒนธรรมป๊อปปูลาร์ของไทยอันหลากหลายที่เข้าถึงง่ายและไม่ไกลตัว อย่างป้ายคัตเอาต์โรงหนังสมัยเก่าที่วาดด้วยมือ, หนังสือ, นิตยสาร, ของเล่น, เกม, ของชำร่วย, หรือการ์ตูนเล่มละบาท (ตอนนี้คงแพงกว่าบาทนึงแล้ว), โปสเตอร์หนัง, โปสการ์ด, เสื้อผ้าอาภรณ์อย่าง ผ้าขาวม้า, ยวดยานพาหนะอย่าง แท็กซี่และสามล้อ สถานที่อย่างอาคาร ร้านค้า ตลาด ไปจนถึงผู้คน, ชาวบ้านชาวช่อง, คนเดินถนน หรือแม้แต่ผู้ชม มาเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะของเขา
นาวินมุ่งเน้นในการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้ชมกับศิลปิน ดังนั้น งานศิลปะของเขาจึงไม่ได้ถูกแสดงอยู่แค่ในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ หากแต่กลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน ผลงานล่าสุดของนาวินในครั้งนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาหยิบประวัติศาสตร์ของเมืองเวนิส ในฐานะบ้านเกิดเมืองนอนของ มาร์โค โปโล นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ ผสานกับเรื่องราวอันหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ที่ถือกำเนิด เติบโต หรือแม้แต่อพยพพลัดถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ได้อย่างสนุกสนานเปี่ยมสีสันเป็นอย่างยิ่ง
นาวินบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ให้เราฟังว่า
“ก่อนหน้านี้เราไม่รู้เกี่ยวกับโครงการศิลปะของ Swatch มาก่อน แต่ประมาณกลางปีที่แล้ว ทาง Swatch บังเอิญได้ไปเห็นนิทรรศการของเราที่จัดในพิพิธภัณฑ์ MAXXI National Museum of 21st Century Art ที่กรุงโรม ตั้งแต่ 2 ปีก่อน โควิด-19 ระบาด ตอนนั้น ภัณฑารักษ์ (curator) โฮ ฮานรู (Hou Hanru) ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เขาเชิญเราไปทำงานที่นั่น ตอนไปก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ลองไปดูว่าจะไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องอะไรดี เราก็สนใจทำคล้ายๆ งานที่เคยทำก่อนหน้า คือเรื่องคนอินเดียพลัดถิ่นในประเทศไทย พอดีเรามีเสื้อยืดที่มีลายภาษาอินเดียเขียนว่า Gujranwala (กุชรันวาลา) ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดแม่เราที่อินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) เสื้อยืดนี้ทำให้คนที่อ่านภาษาภาษาฮินดีออกเข้ามาทักทายเราหลายคน เริ่มจากตอนที่เราไปดูไบ แล้วมีคนเห็นเราใส่เสื้อยืดตัวนี้ เขาก็เดินมาทักเราว่า “เมืองนี้เป็นบ้านเกิดของฉัน”
เราก็เลยเอาเสื้อยืดตัวนี้เป็นเหมือนพรหมลิขิตของการเดินทาง พอไปที่กรุงโรม เราก็ใส่เสื้อยืดตัวนี้ไปด้วย ไปเจอคนปากีสถานที่นั่น เขาก็มาทักเรา เพราะเขามาจากเมืองกุชรันวาลาเหมือนกัน เราก็เลยเริ่มทำงานจากตรงนี้ โดยพัฒนาเป็นโครงการศิลปะชื่อ CIAO DA ROMA (สวัสดีจากกรุงโรม) ทำออกมาเป็นโปสการ์ด, ภาพยนตร์, และจดหมายเขียนเล่าเรื่องการเดินทางของเรา และเขียนถึง Migrant of the World (ผู้อพยพของโลก) พูดถึงการเดินทาง การพลัดถิ่น เล่าว่าเราได้มาที่กรุงโรม เจอกับอะไร และเจอใครบ้าง เป็นเหมือนบันทึกการเดินทาง มีเรื่องของศาสนา วัฒนธรรมอาหารการกิน แต่นิทรรศการนี้จัดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เดินทางไปด้วย เพราะอยู่ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 พอดี เราก็ส่งแต่ตัวงานไปแสดง แต่ทางพิพิธภัณฑ์เขาก็เอางานของเราไปต่อยอด โดยทำงานร่วมกับเด็กๆ ในชุมชนที่เป็นลูกหลานของคนพลัดถิ่น เป็นโครงการเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ เราก็ทำงานด้วยการคุยกับพิพิธภัณฑ์ทางไกลผ่านกล้องเว็บแคม และทำงานเป็นวิดีโอส่งไป”
การผสมผสานสิ่งเก่าและใหม่ สิ่งใกล้ตัวและไกลตัว ความแปลกใหม่กับความคุ้นเคย ความรักในการเดินทาง สำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ความหลงในการสร้างบทสนทนาและสื่อสารกับผู้คน และการกระตุ้นจินตนาการผู้คนด้วยเรื่องราวอันหลากหลายและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อันเป็นคุณสมบัติในผลงานศิลปะของนาวิน นั้นเป็นสิ่งที่บังเอิญต้องตรงกับ DNA ของ Swatch จึงไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิสแบรนด์นี้ถูกอกถูกใจนาวินจนต้องเชิญเขามาร่วมงานในทันทีทันใด
“พอทาง Swatch ได้ไปเห็นงานชุดนี้ที่โรมแล้วชอบมาก เขาก็โทรมาหาเราทันที ว่าเขาจะมีการจัดโครงการศิลปะใน เวนิส เบียนนาเล่ เพราะโดยปกติ Swatch เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของเวนิส เบียนนาเล่ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ทุกๆ 2 ปี เขาจะมีสิทธินำเสนอโครงการศิลปะของเขาเองในเวนิส เบียนนาเล่ เขาก็มาชวนให้เราทำโครงการนี้ แต่พอดีตอนนั้นเป็นช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน และงานจะจัดขึ้นในเดือนเมษายนปีถัดไป ถามว่าเราอยากทำไหม? เราก็มีความสนใจนะ แต่เราก็คิดว่าเราจะทำอะไรดี เพราะปกติ เวลาทำงาน เราต้องเดินทางไปพบปะชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ แต่พอดีเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางไม่ค่อยสะดวก ทาง Swatch เขาก็ให้เราคิดคอนเซ็ปต์งานส่งไป ตอนแรกเราก็จะทำเรื่องเกี่ยวกับการให้คนส่งเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของนาฬิกามาให้เรา (เหมือนงานชุด Please Donate Your Ideas For A Dispirited Artist (1993-94) ของเขา) และตั้งชื่อว่า OK Time แต่เราก็คิดว่ายังไม่เวิร์ค เพราะเนื้อหายังไม่มีความลุ่มลึกพอ”
“สุดท้ายเราไปบอกไดเรคเตอร์ของ Swatch ว่าเราอยากลองเดินทางไปเวนิสดู ตอนนั้นที่นั่นก็ยังอยู่ในช่วงกักตัว เว้นระยะห่างอยู่ เราก็ยอมกักตัว 10 วันที่โรงแรม ช่วง 10 วันแรก เราก็อ่านหนังสือ อ่านข้อมูลที่เตรียมไป พอดีหนังสือเล่มหนึ่งที่เตรียมไป คือหนังสือชื่อ The Travels of Marco Polo ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนที่ มาร์โค โปโล เดินทางมาเอเชีย และบันทึกการเดินทางไว้ด้วยตัวเอง ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 13 – 14 พอเราอ่านจบแล้ว ถามว่าเราได้แรงบันดาลใจไหม เราก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรามาก แต่หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราอยากเล่าเรื่องเมืองเวนิสในเขาฟัง”
“หลังจากกักตัวครบ 10 วัน เราก็ออกไปเจอผู้คนในเวนิส เริ่มจากคนที่เป็นผู้อพยพก่อน เพราะก่อนไปเราขอรายชื่อ และทำการค้นคว้าว่าเราอยากทำงานต่อเนื่องจากงานที่แสดงที่โรม ที่ทำเรื่องผู้อพยพพลัดถิ่น แต่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของแขกหรือคนอินเดียอย่างเดียวแล้ว แต่เราทำเรื่องคนผิวดำ คนจีน คนไทย รวมไปถึงคนเวนิสด้วย เพราะเดิมที เวนิสเป็นเมืองของผู้อพยพ ที่โยกย้ายถิ่นฐานมาสร้างเมืองของตัวเอง เพราะไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิโรมัน แล้วตอนที่เราไป เป็นช่วงครบรอบ 1,600 ปี ของเมืองเวนิสพอดี เราก็เลยทำงานควบคู่กันระหว่างเรื่องของผู้อพยพ กับเรื่องประวัติศาสตร์ของเมืองเวนิสเมื่อ 1,600 ปี ที่แล้ว ผ่านเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย คนพลัดถิ่น ชาวบ้านชาวช่อง”
“เราก็ไปเจอคนโน้นคนนี้ ทำความรู้จักกับเขา ให้เขาเล่าเรื่องราวชีวิตเขา เล่าเรื่องอาหารการกิน ให้เขาทำอาหารให้เรากิน เล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิต แล้วเราก็เขียนออกมาเป็นบันทึกของเราในรูปแบบของจดหมายที่เขียนถึง มาร์โค โปโล จินตนาการว่าเราเขียนจดหมายคุยกับเขา หลังจากไปเยี่ยมบ้านเกิดของเขา ในช่วงเวลาหลังจากยุคสมัยของเขา 700 ปี เราเล่าให้เขาฟังถึงชีวิตของผู้คนเวนิสในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 บ้านเมืองเงียบสงัด ร้านรวงต่างๆ ปิดหมด แล้วเราก็ให้คนแปลจดหมายนี้ออกมาเป็นภาษาต่างๆ 8 ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ อิตาเลี่ยน ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน ฮินดี และภาษาไทย ทำขึ้นออนไลน์ให้คนสแกนเข้าไปอ่านได้ (swatch) แล้วเราก็ทำงานเป็นภาพวาดของผู้คนต่างๆ ที่เราพบเจอพูดคุยในเวนิส และภาพจากหนังสือที่เป็นภาพของ มาร์โค โปโล แต่งกายในชุดมองโกลสมัยที่เขาเดินทางมาเอเชีย จัดแสดงตรงพื้นที่ของ Swatch Pavillion ที่เป็นที่จัดโครงการศิลปะของ Swatch ในเวนิส เบียนนาเล่ ทุกๆ 2 ปี เราก็ตีความพื้นที่ตรงนี้ว่าเป็นเหมือนเวทีโอเปร่า หรือไดโอรามา (Diorama – โรงมหรสพที่สร้างขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินทางสายตา)
งานชุดนี้เราตั้งชื่อว่า ‘Description of the World’ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือของมาร์โค โปโล ฉบับแรก ที่เขียนเป็นภาษา Franco-Venetian ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของเขาในสมัยนั้น ที่ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว เราให้วรเทพ อรรคบุตร ผู้ช่วยของเราแปลเป็นภาษาไทยว่า ‘โลกาพรรณนา’”
Description of the World : โลกาพรรณนา เป็นผลงานจิตรกรรมจัดวางสามมิติ ดูคล้ายกับป้ายคัตเอาต์โรงหนังขนาดใหญ่ ที่มีภาพวาดของมาร์โค โปโล กับผู้คนหลายชาติ หลากภาษา จากต่างชุมชนในเวนิส รวมถึงตัวศิลปินและผู้คนใกล้ชิดเขา บางส่วนของป้ายถูกฉลุเป็นรูปเป็นร่างคน วางเรียงรายทับซ้อนกันหลายชั้นละลานตา เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปใกล้ผลงาน จะมีเสียงอ่านจดหมายหลากภาษาดังขึ้นมาให้ฟังจากลำโพงที่ซ่อนเอาไว้ข้างหลังภาพ นับเป็นงานศิลปะเชิงโต้ตอบที่มอบทั้งความรู้แลความเพลิดเพลินให้คนทั้งทางตาและหูเลยก็ว่าได้
นอกจากผลงานศิลปะชิ้นนี้แล้ว นาวินยังร่วมกับ Swatch สร้างสรรค์นาฬิการุ่นพิเศษ ลิมิเต็ด อิดิชั่น ในชื่อ CIAO VENEZIA! ที่มีผลงานภาพวาด Description of the World ของนาวินที่แสดงในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ พิมพ์ลงบนหน้าปัดและสายนาฬิกาอย่างสวยงามอีกด้วย
“พอดีในปีหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่ Swatch ครบรอบ 40 ปี เขาก็เลยเอางานของเราไปทำเป็นนาฬิกา โดยเอาภาพวาดของเราไปย่อขนาดให้เล็กและพิมพ์ลงไปในตัวนาฬิกา Swatch ด้วยเทคนิคพิเศษ ซึ่งเขาบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เขาพิมพ์ออกมาได้ละเอียดขนาดนี้ นาฬิการุ่นนี้ทำออกมาในจำนวน 5,000 เรือน โดยแต่ละเรือนจะมีจดหมายที่เราเขียนในงาน และมีลายเซ็นของเรากำกับอยู่ทุกเรือน
ด้วยความที่คาแรคเตอร์ของ Swatch เขาพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความแตกต่างของผู้คนสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทำในงานของเราอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้กำหนดให้เราทำงานเกี่ยวกับ Swatch เลย แม้แต่โลโก้ของ Swatch เรายังไม่ต้องใส่ลงไปเลย เขาให้อิสระในการทำงานกับเรามาก เขาบอกว่า เราอยากทำอะไรก็ทำได้เลย ทำให้เราทำงานด้วยความสบายใจมาก เขาขอแค่เพียงว่า ทุกภาพที่นำเสนอในผลงานต้องมีที่มาและลิขสิทธิ์ถูกต้อง อย่างเวลาไปสัมภาษณ์ หรือถ่ายภาพใคร เราก็ขอให้เขาเซ็นยินยอม อนุญาตให้เราไปใช้ทำงาน เราก็บอกเขาชัดเจนว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้เราจะเอาไปใช้เพื่ออะไร สิ่งที่เราตอบแทนเขาได้ก็คือ เราก็ปริ๊นต์ภาพผลงานของเรา และเซ็นลายเซ็นเรามอบให้เขาเป็นที่ระลึก ซึ่งเราก็ทำแบบนี้มาโดยตลอด”