เมื่อมีใครสักคนเหยียดคนอีสาน เหยียดวัฒนธรรมอีสาน หรือเมื่อวัฒนธรรมและชาวอีสานถูกเหยียด พึงระลึกว่า นั่นคือผลลัพธ์ของโครงสร้างรัฐที่ผูกขาดทรัพยากรอำนาจไว้ที่กรุงเทพ ไม่ยอมกระจายสักที
เมื่อไทยทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น ฉบับที่ 1 (2504-2509) อันเนื่องมาจากความช่วยเหลือทางการเงินของอเมริกาเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่าง ถนน ไฟฟ้า ประปา ให้ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” โดยเฉพาะภาคอีสานที่รัฐเร่ง ‘พัฒนา’ ภูมิภาคด้วยเชื่อว่า หากประชาชนมีงานทำมีคุณภาพชีวิตดีก็จะไม่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตชาวนาคนยากคนจนผู้ถูกกดขี่ เมื่อระบบคมนาคมขนส่งเคลื่อนย้ายเดินทางสะดวกขึ้น ชาวบ้านในภาคอีสานที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจึงออกจากบ้านเกิด ย้านถิ่นมาทำงานในเมืองในโรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มขยายตัวขึ้น ขณะเดียวกันราวปี พ.ศ.2510-2520 ก็เกิดวิกฤตชนบท เพราะรัฐเร่งขยายตัวเกษตรกรรมเพื่อพาณิชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 แต่น้ำดินยังไม่อำนวย ทำให้รายได้ในภาคเกษตรลดลง[1]
ด้วยความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ระหว่างประชาชนในเมืองกับในชนบท ไม่เพียงจะเริ่มทำให้เกิด ‘สาวโรงงาน’[2] ยังนำไปสู่ ‘สาวใช้’ ที่หญิงชาวอีสานหลายคนออกไปรับจ้างทำงานในบ้านผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีในเมืองและกรุงเทพ ที่ใช้ชีวิตกระฎุมพี เป็นนายจ้าง อยู่ในครอบครัวเดี่ยว หญิงชายออกไปทำงานนอกบ้านที่สร้างรายได้ดี จึงต้องการจ้างคนมาทำความสะอาดบ้าน ทำครัว ทำสวน ขับรถ อำนวยความสะดวกสบาย
ความเหลื่อมล้ำทางฐานะทางสังคมจึงชัดเจนในชีวิตประจำวัน ในบ้านของใครหลายคน อันเป็นผลของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และนั่นก็ถูกทำให้เห็นบ่อยๆ จนคุ้นชิน สร้างเป็นวัฒนธรรมขึ้นมาผ่านวงการบันเทิงหนังละคร
เช่น ‘ซิตคอม’ (sitcom) ที่ย่อมาจาก situation comedy เป็นละครตลกขบขันที่ต้องใช้มุกซ้ำๆ ย้ำคาแรคเตอร์และสถานการณ์จำลอง เพื่อที่จะรักษาสถานการณ์โครงเรื่องให้คงที่ ผู้ชมจะได้สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ภายในตอนเดียวในระยะเวลาสั้น ๆ ได้ มันจึงต้องผลิตซ้ำคาแร็กเตอร์ตัวละครซ้ำไปมาอย่างเข้มข้นเพื่อให้คนเข้าใจและจดจำได้มากกว่าละครรูปแบบอื่น และด้วยซิตคอมที่มีหลายตอน มันก็ยิ่งผลิตซ้ำภาพจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
เมื่อแรกซิตคอมถือกำเนิดขึ้นในไทยเมื่อปี พ.ศ.2519 โดย ภัทราวดี มีชูธน เมื่อเธอเป็นผู้จัดละครโทรทัศน์ให้กับสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยเรื่อง ‘ตุ๊กตาเสียกบาล’ (2519) ซิตคอมเรื่องที่ 2 ที่เกิดในประเทศก็คือ ‘ขบวนการคนใช้’ (2520) ซึ่งเป็นการตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ วิกฤตชนบท และการย้านถิ่นฐานของคน ‘ต่างจังหวัด’ (อันที่จริงทุกจังหวัดก็สามารถเป็นต่างจังหวัดของกันและกันได้ กรุงเทพเองก็เป็นต่างจังหวัดของจังหวัดอื่นๆ หากแต่ ‘ต่างจังหวัด’ มักใช้ในความหมายของจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพ) มาทำงานในกรุงเทพเป็นคนทำความสะอาดบ้าน
‘ขบวนการคนใช้’ มีทั้งหมด 60 ตอน ที่ผู้สร้าง เขียนบทและกำกับ ต้องการนำนักแสดงหน้าใหม่ที่มีความสามารถ หน้าตาแปลก หน้าตาไม่ดีให้ได้เป็นตัวเอก นำไปสู่การให้ ‘คนใช้’ เป็นตัวละครหลักและมีบุคลิกแปลกๆ เพื่อสร้างความขบขัน ต่อมามีการนำไปสร้างเป็นหนัง ‘ขบวนการคนใช้’ (2529) ที่ยังคงเล่าเรื่องคนใช้ในบ้านของชนชั้นกลางฐานะดีในกรุงเทพที่ตัวละคร ‘คนใช้’ ยังคงมีลักษณะแปลก ๆ ขาดๆเกินๆ ซื่อเซ่อ เปิ่น ไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน ไร้มารยาท นุ่งผ้าถุง ไม่มี ‘สมบัติผู้ดี’ ไร้การศึกษาการขัดเกลาแม้แต่เรื่องศีลธรรม หื่นมักมากในกาม ไร้ศีลธรรมทางเพศ ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนอำมหิต ชอบเป็นเมียน้อยบำเรอกาม เพื่อสร้างเสียงหัวเราะ ซึ่งก็ได้นำนักแสดงเดิมมาเล่นเป็นตัวละครเดิมคือ ‘อีเอี้ยง’ (ชื่อเอี้ยงนี่ทำให้ผู้ชมนึกถึง “นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า”) รับบทโดย อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ รับบทสาวใช้ต่างจังหวัดที่โง่ๆ ซื่อๆ ไม่ทันคน จนโดนข่มขืนรุมโทรม แต่ในเรื่องทำให้กลายเป็นเรื่องตลกไป
ในหนังทั้ง ตัวละครต่างๆ ที่ประกอบอาชีพคนทำความสะอาดบ้าน
คนสวน คนขับรถ พี่เลี้ยงเด็ก แม่ครัวเป็นการรวบรวมกลุ่มที่เปราะบาง
ต่อการถูกเหยียด ถูกรังเกียจ กดทับเข้ามาเป็นแรงงานทั้งหมดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งผู้สูงอายุแก่ทึนทึก ทอม คนผิวดำ เลสเบี้ยน กะเทย ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘โรควิปริต’ ‘โรควิตถาร ผิดธรรมชาติ’ คนอีสาน คนยากคนจน คนต่างจังหวัดสำเนียงเหน่อ
หนังไม่ได้วิพากษ์ถึงเรื่องชนชั้น การกดขี่ขูดรีดแรงงาน ถูกนายจ้างโขกสับ การที่พวกเขาและเธอได้ค่าจ้าง 1,000 บาท ต่อเดือน ตัวละครหนึ่งบทเจ้านายกล่าวว่า เป็นค่าจ้างที่แพงมากจนเกินไปและการให้ค้าจ้าง 450 บาทเป็นราคาที่อดทนได้ แต่มุ่งเล่าพฤติกรรมต่างๆ ของบรรดา ‘คนใช้’ ที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญและลำบากใจให้ ‘เจ้านาย’ ของพวกเธอเท่านั้นที่
ในเรื่อง สำหรับนายจ้างแล้ว คนใช้ นั้น คือคนใต้การปกครอง การลากลับบ้าน สงกรานต์ ทำนา ปีใหม่เป็นเรื่องน่ารำคาญใจอย่างมาก และเชื่อว่าเป็นเพราะไม่มีโรงเรียนฝึกสอนวิชาชีพคนรับใช้ ทั้งมารยาท ความรู้ การงาน การปฏิบัติตนกับเจ้านาย ทำให้มักได้คนใช้ “คนบ้าๆ บอๆ”
เช่นเดียวกับ หนังแนวตลกขบขันอีกเรื่องอย่าง ‘แจ๋ว’ หรือ Mission Almost Impossible Done (M.A.I.D) ปี พ.ศ.2547 คำว่า ‘แจ๋ว’ แม้ในเรื่องจะไม่มีตัวละครใช้ชื่อนี้ หากแต่เป็นสิ่งตอกย้ำถึงคำแสลงว่า แจ๋ว ที่หมายถึง หญิงที่เป็นคนรับใช้ ละครทั่วไปจึงมักให้ตัวละครสาวรับใช้ชื่อแจ๋ว
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของบรรดาสาวใช้บ้านนอกคอกนาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ ร่วมทั้งสาวใช้ชาว ‘กะเหรี่ยง’ หรือชาวพม่า ‘สาวใช้’ กลายเป็นอาชีพลูกจ้างที่ต่ำศักดิ์กว่านายจ้าง ต้องนั่งกับพื้นไม่สามารถนั่งเสมอกับนายจ้างได้ และถูกจับไม่ต่างจากหมาจรจัด ฉากหนึ่งของการกำจัดสาวรับใช้ มีการให้เจ้าหน้าที่หน่วยจับสุนัขจรจัด เอากระสอบมาคลุมหัวแล้วขนขึ้นรถกระบะไป ขณะเดียวกันก็มีการจัดระดับช่วงชั้นของคนใช้ด้วยกัน คนใช้ที่พูดภาษาอังกฤษได้ พูดภาษากรุงเทพภาคกลางได้ สำเนียงไม่เหน่อมีสถานะสูงกว่าคนใช้ต่างด้าวกับคนใช้ต่างจังหวัดสำเนียงเหน่อ และโดยเฉพาะคนใช้กะเหรี่ยง ที่ในบทละครถูกกำหนดให้เป็นส่วนเกินที่ต้องถูกถีบออกก่อนเสมอ ซึ่งปรากฏในฉากขึ้นลงลิฟต์
กลับมายังซิตคอมต่อดีกว่า นอกจาก ‘ขบวนการคนใช้’ แล้ว ยังมี ‘เฮง เฮง เฮง’ (2545-2558) ที่เล่าถึงครอบครัวบ้านเฮง ชนชั้นกลางเชื้อสายจีนที่เปิดร้านชำ ซึ่งในบ้านมีสาวใช้ลูกจ้างขายของและทำความสะอาดบ้านชาวอีสานชื่อ ‘ลำไย’ แสดงโดย จอย ชวนชื่น (ชื่อตัวละครน่าจะมาเพลงคุณลำไย ปี พ.ศ.2542 ร้องโดย ลูกนก สุภาพร ที่บอกเล่าถึงผู้หญิงไม่สวย และจอย ชวนชื่นก็รับบทใน MV เพลง) ซึ่งละครให้บุคลิก ‘ลำไย’ เป็น ‘สาวใช้อีสาน’ ที่มักชอบหาเศษกับการขโมยเงินอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเวลาขายของชำ ขี้เกียจ เจ้าเล่ห์ ชอบเล่นหวย และยังเป็นตัวอัปมงคลสร้างปัญหาให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ลำไยมีญาติชื่อ ‘ดอกหญ้า’ รับบทโดย ต่าย อรทัย สาวอีสานบ้านนาเช่นกัน ที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพเพื่อนำเงินไปไถ่ที่นาให้กับแม่ที่บ้านนอก เป็นคนซื่อๆ ตรงๆ ไม่ทันคน และมีเรื่องที่ต้องทำให้วุ่นวายจากนิสัยที่ไม่ค่อยทันคนอยู่เป็นประจำเช่นกัน
และซิตคอม ‘บางรักซอย 9’ (2546 – 2555) และ ‘บางรักซอย 9/1’ (2559) ที่เล่าถึงครอบครัวและชีวิตชนชั้นกลาง ซึ่งในบ้านตัวละครหลักนั้น มีสาวใช้ชาวอีสานชื่อ ‘ลำดวน หอมหวน’ รับบทโดย อุ่นเรือน ราโชติ ที่มักจะถูกด่าล้อเลียนในบทละครว่าหน้าคล้ายปลาร้า ในบทละครได้เป็นคนรักกับชาวอีสานด้วยกันคือ ‘มารวย มีทรัพย์’ ที่มักถูกล้อเลียนว่า หน้าโหนก ขี้เกียจและปรารถนาจะรวยทางลัดอยู่ตลอดเวลา
ในละครต่างๆ บท ‘คนใช้’ กลายเป็นตัวละครที่มีพื้นเพจากต่างจังหวัดและชนชั้นล่าง ผิวดำ ไม่สวย หน้าตาตลก ขี้ริ้วขี้เหร่ ต้องนั่งกับพื้นเกาะข้างเสาบ้าน นุ่งผ้าถุง ผมม้าเต่อแบบ จินตหรา พูนลาภ (นักร้องชาวร้อยเอ็ดที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงลูกทุ่งหมอลำ ประจำปี พ.ศ.2562) หรือสำเนียงอื่นที่ไม่ใช่สำเนียงกรุงเทพ เพื่อแสดงความเหนือกว่าของคนกรุงเทพชนชั้นกลาง มากกว่าจะยอมรับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งและแรงงานเช่นเดียวกับชนชั้นกลางที่ต้องไปไปทำงานนอกบ้าน
ขณะเดียวกันก็มักเป็นบทตลกสร้างเสียงขบขัน ให้คนอื่นหัวเราะ ล้อเลียน ถากถางโดยเฉพาะหญิงชาวอีสานมักจะถูกสร้างภาพจำให้เป็นคนรับใช้คอยรองมือรองตีนคนกรุงในเมืองหลวง มากกว่าภูมิภาคอื่น
ทั้งหนังละครคอยตอกย้ำฝังหัวว่าชาวอีสาน
เกิดมาเพื่อเป็นเบี้ยล่างรับใช้ผู้อื่น[3]
มายาคติและภาพจำเหล่านี้ ไม่เพียงเกิดจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของคนอีสานและกรุงเทพ แต่ยังเป็นเรื่องของสถานะทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการผูกขาดอำนาจทรัพยากร ที่นำไปสู่การจัดวางสถานะที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างชั้นล่างที่เป็นลูกจ้างกับชนชั้นกลางที่เป็นนายจ้าง ทำกันเรื่อยมาราวกับเป็นขบวนการ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ภาครัฐเองก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดียวกัน
ในสายตาสำนึกกรุงเทพเป็นศูนย์กลางและรัฐราชการที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัดโดยเฉพาะคนในภาคอีสาน ยังคงตกเป็นกลุ่มที่โง่ เปราะบางต่อการถูกหลอกลวงเห็นได้จากเห็นได้จาก บทเพลง ‘7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง’ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในปี พ.ศ.2559 ในลักษณะสั่งสอนประชาชนภูมิภาคต่างๆ ที่จะออกไปลงประชามติยอมรับรัฐธรรมนูญที่เป็นผลผลิตของรัฐบบาลเผด็จการที่มาจากการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเนื้อเพลงที่มีบางท่อนดังนี้
“พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา ใช้สติพิจารณา เนื้อหาถ้อยความหลักการสำคัญ ออกไปใช้เสียงใช้สิทธิ์ ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองนำกัน ให้ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทัน เฮาคนอีสานอย่าให้ไผมาตั๊วได้”
“ปักษ์ใต้คนใต้แหลงใต้ รักประชาธิปไตยรักความเสรี ไปลงประชามติ เป็นพลเมืองดีหน้าที่ของชาวไทย ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ช่วยนำพาชาติให้เจริญก้าวไกล ดอกไม้ประชาธิปไตย หกสิบห้าล้านใจคนไทยบานสะพรั่ง”
“ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮา อย่าหื้อใครเขาชักจูงจี้นำ ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตาม ศึกษาเนื้อความฮื้อมันกระจ่าง บ้านเมืองจะค้ำจะจุน รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง หนึ่งเสียงหนึ่งใจหนึ่งพลัง ฮ่วมกันสรรค์สร้างบ้านเฮาเมืองเฮา”
เพลงดังกล่าว เรียบเรียงดนตรีโดย ประยงค์ ชื่นเย็น (ศิลปินแห่งชาติ) และสวัสดิ์ สารคาม, คำร้องและทำนองโดย สัญลักษณ์ ดอนศรี, ควบคุมการร้องโดย สวัสดิ์ สารคาม และ แดน บุรีรัมย์ โดยเป็นการประสานเนื้อร้องสไตล์ลูกทุ่ง 4 ภาค ประกอบด้วย เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ เพื่อสื่อสารกับประชาชนทุกกลุ่ม มีเนื้อหาเหยียดคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่าโง่ เชื่อง ไม่รู้เท่าทัน หลอกง่าย คิดเองไม่ได้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการที่เป็นพื้นที่คะแนนเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ขณะที่ภาคใต้นั้นรักประชาธิปไตย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้กับการที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วงของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้งและเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร นำไปสู่การรัฐประหาร พ.ศ.2557
เนื้อเพลงนี้สะท้อนความคิดเชิงชั้นปกครอง
มีอำนาจก่อนช่วงรัฐประหารที่ต้องการสั่งสอนชี้นำประชาชน
ขณะเดียวกันก็ยังคงมีสำนึกถึงการเหยียดคนภาคเหนือและอีสานที่หลอกง่ายตามมายาคติและอคติดั้งเดิมที่มีของการที่ยึดกรุงเทพเป็นศูนย์กลาง
เช่นเดียวกับหนังสือราชการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมภารกิจทางภาครัฐ โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ออกหนังสือ เลขที่ ขก.0023.1/7063 เรื่อง ขอเชิญประชุมเพื่อเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย สุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น (ตอนนี้เป็น ส.ว.ไปแล้วจ้า) ออกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2561 นั้น มีเนื้อหาในหนังสือระบุว่า
“ด้วยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการจะเดินทางการประชุมสัญจร และลงพื้นที่จัดหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ในการนี้ จังหวัดขอนแก่นได้รับมอบหมายภารกิจให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันดำเนินการในภารกิจ “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่”
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์ และได้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด จึงขอเชิญท่านร่วมประชุมในวันอังคารที่ 13 มี.ค. 2561 เวลา 10.00 น. ห้องประชุมศรีบริรักษ์ ชั้น 5 สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น”
ซึ่งหลังจากที่ตัวหนังสือฉบับนี้แผยแพร่และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการดูถูกดูแคลนประชาชน จึงได้มีหนังสืออีกฉบับหนึ่งเป็นหนังสือที่อ้างถึง หนังสือเลขที่ 0023.1/7063 ออกเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 เนื้อหาหนังสือฉบับนี้ระบุว่า
“ตามที่จังหวัดขอนแก่น ได้แจ้งเชิญประชุมเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มี.ค. 2561 ณ ห้องประชุมศรีบริรักษ์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินการในภาพกิจด้านการศึกษา นั้น
เนื่องจากหนังสือดังกล่าว มีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงขอเชิญท่าน หรือผู้ท่านร่วมประชุมเพื่อร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการในภารกิจ “ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ความเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง” ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวข้างต้น[4]
เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นทัศนคติของข้าราชการในหน่วยงาน
ที่ยังคงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพ ที่ยังคงมีทัศนคติต่อคน ‘ต่างจังหวัด’
ว่าโง่ ไม่รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นภาคอีสาน
และในช่วงที่ผลัดรัชกาล ในปี ค.ศ.2559 ที่สังคมและสื่อสารมวลชนสนใจกับประเด็นรัชกาลที่ 9 และสถาบันกษัตริย์ นำไปสู่การสร้างชื่อเสียงให้กับวิทยากรนักพูดเกี่ยวข้องรัชกาลที่ 9 อย่าง เบส – อรพิมพ์ รักษาผล ที่มีบทบาทในการบรรยายพิเศษเฉลิมพระเกียรติตามคติราชาชาตินิยม ตามที่ต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานราชการ และเมื่อกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม จัดโครงการสร้างการการรับรู้ในพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 9 และราชวงศ์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในวันที่ 6 มกราคม ปี พ.ศ.2559 จ.มหาสารคาม มีคนฟังรวมกว่า 3,000 คน ในบางช่วงบางตอนเธอก็ได้กล่าวว่า
“พี่จะไม่ถามว่ารักในหลวงไหม รู้อย่างเดียวว่าคนอีสาน ในหลวงเสด็จฯ บ่อยมาก และช่วยคุณเยอะมาก คนอีสานคะ โปรดฟัง ในหลวงรักพวกคุณ แปลกนะที่บางทีพวกคุณลืมในหลวงเนอะ แปลกอะ พี่ไม่ได้ว่านะ พี่เข้าใจ เพราะคุณมันเกิดช้าไง” และ “คนอีสานไม่มีอาชีพแห้งแล้ง ในหลวงทำให้ทั้งนั้น หาอาชีพให้ หาน้ำให้ หาปลาให้ เห้ย… ทุกอย่างเลย” [5]
ไม่เพียงเป็นการสร้างภาพเหมารวมต่อคนอีสานว่าอยู่ในสภาวะต้องพึ่งพาผู้อื่น ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าหากเชื่อในลัทธิราชาชาตินิยม เท่ากับว่าคนอีสานเป็นกลุ่มคนที่ไม่สำนึกในพระคุณ ไม่กตัญญู ไม่รักประเทศชาติด้วย จนสร้างความไม่พอใจและแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงว่าเป็นการดูถูกตีตราเหยียดหยามคนอีสาน รวมไปถึงการเปิดเผยข้อเท็จจริงสถิติตรายได้และจัดการกระจายงบประมาณและโครงสร้างของรัฐที่ไม่เท่าเทียม หากแต่คนอีสานกลับไม่ใช่ภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศ[6]
นี่เป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่คนอีสานยังคงถูกตีตรา ไม่ว่าจะจากช่องทางไหน สื่อรูปแบบใด หรือแม้แต่หน่วนงานของรัฐเอง ที่นอกจากไม่กระจายอำนาจทรัพยากรให้ทั่วถึง ทำลายศักยภาพของประชาชนไม่พอ ยังใช้ผลจากการบริหารของตนเองมาเป็นเครื่องมือลดทอนคุณค่าประชาชนซ้ำไปอีก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Keyes, C., “From Peasant to Cosmopolitan Villagers: Refiguring the ‘Rural’ in Northeastern Thailand,” Paper present in conference ‘Revisiting Agrarian Transformations in Southeast Asia’, Chiang Mai, Thailand, 2010 , p.12.
[2] Mills, M. B., Thai Women in the Global Labor Force: Consuming Desires, Contested Selves, Rutgers University Press, 1999, pp. 44-46.