แม้ไม่มีการวัดดัชนีความสุขในสังคมไทยช่วงนี้ออกมาให้เห็น แต่ใครๆ ก็คงเดาได้ไม่ยาก ว่าความสุขในสังคมน่าจะตกต่ำอย่างถึงที่สุด เพราะความเครียดในมิติต่างๆ รุมกันบีบคั้นผู้คนได้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ใช่แค่เรื่องของโรคระบาด แต่รวมไปถึงการ ‘ตระหนักรู้’ อย่างถึงรากถึงโคนด้วยว่า – ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยนั้น เรามี ‘ทางเลือก’ น้อยเพียงใด
การระบาดของ COVID -19 ทำให้เห็นว่า ชะตาชีวิตของคนไทยขึ้นอยู่กับกระบวนการ Centralization หรือการ ‘รวมศูนย์’ ทางอำนาจมากแค่ไหน เพราะคนที่ตัดสินใจเรื่องใหญ่ในระดับชาติ (และที่จริงก็คือเรื่องใหญ่ระดับโลก) ในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับโรคระบาด โดยเฉพาะเรื่องการเลือกวัคซีนนั้น ตกอยู่ในมือของคนที่มีอำนาจเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
ในสภาวะปกติ การมอบอำนาจในการตัดสินใจผ่าน ‘ตัวแทน’ แบบประชาธิปไตยตัวแทน ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป เพราะผู้ที่เป็นตัวแทนเหล่านั้นจะต้องไปใช้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่แทนคนทั่วไป นั่นเพราะคนทั่วไปจะมีพื้นที่ความรู้ของตัวเองที่จำกัด ไม่มีใครรู้และตัดสินใจได้หมดทุกเรื่อง
แน่นอน กลไกประชาธิปไตยแบบตัวแทนเพียวๆ นั้นมีปัญหาของมันอยู่ เพราะถ้าอำนาจถูกมอบไปทั้งหมด 100% ให้ตัวแทนเป็นคนตัดสินใจ บางครั้งก็อาจเข้าใจปัญหาในบางมิติได้ไม่ถ่องแท้ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนจึงผสมรวมเอาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาด้วย เพื่อให้คนบางกลุ่มสามารถเข้าไป ‘ส่งเสียง’ ในประเด็นที่ตัวเอง engage อยู่ได้บ้าง เช่น เกษตรกรอาจส่งเสียงร้องบอกรัฐบาลว่ากำลังมีปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ รัฐบาลควรเข้ามาดูแลจัดการ กลุ่มเฟมินิสต์อาจเรียกร้องสิทธิหรือพื้นที่สำหรับผู้หญิง กลุ่มศิลปินอาจส่งเสียงบอกให้รัฐสนับสนุนงานศิลปะสาขานั้นโน้นนี้มากขึ้น ฯลฯ นั่นทำให้กลไกประชาธิปไตยแบบตัวแทนทำงานผสมผสานกันไปกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม – ซึ่งนั่นควรจะเป็น ‘ขั้นต่ำ’ ของวัตรปฏิบัติในประเทศที่ประกาศว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย
โรคระบาดได้เผยให้เราเห็นว่า ประชาธิปไตยทั้งแบบตัวแทนและแบบมีส่วนร่วม ไม่ได้กำลัง ‘ทำงาน’ สักเท่าไหร่ นี่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการบริหารจัดการนะครับ เอาแค่เรื่องที่เป็นเปลือกผิวใหญ่ห่อหุ้มระบบทั้งหมดอยู่เท่านั้น คือความเป็นประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนได้ส่งเสียงร้องบอกความทุกข์ยากของตัวเอง แล้วรัฐนำเอาไปผนวกเข้าเป็นนโยบายเพื่อตอบสนองคนที่เลือกตัวเองมา
แต่เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า เมื่อเกิดโรคระบาด เมื่อเกิดกระบวนการจัดหาวัคซีน ผู้คนแทบไม่รู้สึกถึง ‘อำนาจ’ ของตัวเองเลยว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะทุกการตัดสินใจเกิดจากคน ‘วงใน’ กลุ่มเล็กๆ ที่ดูเหมือนยิ่งวิกฤตก็ยิ่งอยากกระชับ Centralization แห่งอำนาจนั้นมากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Single Command คือการบัญชาการจากคนคนเดียว
Centralization ทำนองนี้นี่เอง –
ที่ทำให้คนรู้สึกหมดหวังในอำนาจของตัวเอง
แต่ไม่ใช่เรื่องนี้แค่เรื่องเดียว
แทบทุกวัน เราจะได้ยินคำพูดที่ว่า – ให้ฟังประกาศของทางการเท่านั้น อย่าไปฟังข่าวต่างๆ เพราะข่าวเหล่านั้นอาจเป็นเฟกนิวส์ (fake news) แต่ในเวลาเดียวกัน การประกาศว่าให้ฟังแต่ประกาศของทางการนี่แหละ ที่คือเชื้อไฟชั้นดีทำให้คนไม่อยากฟังประกาศของทางการ อย่างหนึ่งเพราะไม่รู้เลยว่าทางการได้ให้ข้อมูลที่โปร่งใสครบถ้วนหรือเปล่า ที่สำคัญและเห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทางการช่างมีหลายช่องทางในการแจ้งข่าวเหลือเกิน ผู้มีอำนาจคนนี้ให้ข่าวอย่างนี้ ผู้มีอำนาจอีกคนให้ข่าวอีกอย่าง เรื่องที่ชวนสับสนที่สุดก็คือ บางคร้ัง Centralization แห่งอำนาจก็กลับโยนอำนาจในการตัดสินใจ (ซึ่งหมายรวมถึงความรับผิดรับชอบด้วย) ไปให้จังหวัดหรือหน่วยงานอื่นๆ ต่างๆ เป็นคนตัดสินใจ ซึ่งแต่ละที่ก็ตัดสินใจไม่เหมือนกันอีก กว่าผู้คนทั่วจะตามข่าวสารต่างๆ ได้พอจะครบถ้วนต่อการใช้ชีวิตของแต่ละคน ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อย เคอร์ฟิวแบบไม่เคอร์ฟิว ชดเชยแบบไม่ชดเชย และแถลงแบบไม่รู้ว่าแถลงอะไร – คือสิ่งที่พบเห็นได้ซ้ำๆ
นั่นทำให้ Centralization แห่งอำนาจที่เป็นเรื่องอปกติในยามปกติ และควรจะเป็นเรื่องที่มั่นคงเด็ดขาดในยามวิกฤต กลายเป็น Centralization ที่อ่อนแอไม่มีประสิทธิภาพ
เรื่องของวัคซีนทำให้เราเห็นสภาพการณ์นี้ชัดมาก ตั้งแต่การตัดสินใจเลือกวัคซีน การตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับ Covax ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นโดยคนทั่วไปไม่ได้รับรู้ (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผลลัพธ์ดีหรือไม่ดีนะครับ แต่กระบวนการตัดสินใจเกิดขึ้นกับ ‘วงใน’ เท่านั้น ข่าวสารไม่ได้กระจายออกมาหาคนอื่นๆ ในสังคมเท่าที่ควร ซึ่งแสดงให้เห็น Centralization แห่งอำนาจชัดมาก) ไล่มาจนถึงเรื่อง ‘ความสามารถในการเลือก’ ว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้อไหน จะจ่ายเงินเองได้ไหม ทำไมต้องทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายถูกบังคับเลือกด้วย แน่นอนว่าการไหลบ่าของข่าวสารทำให้เกิดสภาพการณ์เหมือนการเตะต้นกล้วยไปมาไม่ให้ล้ม ต้นกล้วยย่อมบอบช้ำไปกับข่าวที่ซัดมาทางขวาทีซ้ายที บางครั้งก็เป็นข่าวจริง บางครั้งก็เป็นข่าวปลอม แต่ในเมื่อ Centralization ทางอำนาจไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงมากพอ คนทั่วไปจึงไม่รู้เลยว่าจะต้องทำอย่างไร นอกจากยิ่งตระหนักเข้าไปอีกชั้นหนึ่งว่า – ฉันไม่มีทางเลือกขนาดนั้นเลยจริงๆ หรือ
การตระหนักว่าตัวเองไม่มีทางเลือกนั้นมีอันตรายหลายเรื่อง เรื่องแรกคือมันบ่อนเซาะความไว้วางใจต่อช่วงชั้นทางอำนาจที่เป็นผู้ตัดสินใจแทนตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งคือ มันก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองสิ้นไร้อำนาจ และ ‘ตกเป็นเหยื่อ’ (Victimized) ของสิ่งที่ประชาชนเป็นผู้เลือกให้เป็นตัวแทนในการใช้อำนาจ และเป็นระบบที่ตั้งอยู่ได้ก็ด้วยภาษีของประชาชนแท้ๆ – ขึ้นมา
Victimization นั้น เป็นศัพท์ที่มักใช้กับเหยื่อที่ถูกกระทำโดยความรุนแรงในบ้าน (Domestic Violence) หรือการรังแก (Bully) ในพื้นที่เล็กๆ และเป็นเรื่องเชิงปัจเจก เช่นในแวดวงสังคมเพื่อนฝูง โรงเรียน ที่ทำงาน ฯลฯ ซึ่งมักเกิดอย่างไม่เป็นทางการ ไม่เป็นระบบ และมักเกิดแบบสุ่ม แต่ถ้าสังคมหนึ่งๆ มีความบิดผันในทางโครงสร้างอย่างรุนแรง เรื้อรัง และยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจเกิดกระบวนการ Victimization ที่เป็นระบบและแพร่หลายได้เหมือนกัน เช่นในสังคมชายเป็นใหญ่มากๆ จะเกิดการทำให้ผู้หญิง (และผู้ชายที่ไม่อยู่ในแบบและเบ้าของความเป็นชายตามนิยามของสังคมนั้นๆ) กลายเป็นเหยื่อขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เช่น มีกฎหมาย ระเบียบทางสังคม ฯลฯ เพื่อลงโทษคนที่อยู่ได้อยู่ในกรอบนั้นๆ
กรณีของโรคระบาดและความเครียดขนานใหญ่ที่สุมรุมเราอยู่นี้
การทำให้คนรู้สึกว่าตัวเอง ‘ไม่มีทางเลือก’ อย่างเป็นระบบ
ก็คือกระบวนการ Victimization หรือทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของอะไรบางอย่าง – อย่างเป็นระบบ, นั่นเอง และเมื่อคนรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ ถูกกระทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็อาจนำสังคมนั้นๆ ไปสู่ความขัดแย้งและล่มสลายใหญ่ได้ โดยเฉพาะหากสังคมนั้นๆ เปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสมี ‘ทางเลือก’ น้อยยิ่งกว่าน้อย แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจหรือมี ‘โอกาส’ ล้นเหลือเฟือฟายอยู่แล้ว กลับได้รับการนำเสนอทางเลือกต่างๆ มากกว่าอยู่เสมอ
การที่ซีรีส์อย่าง ‘เด็กใหม่’ ที่มีตัวละครอย่าง ‘แนนโน๊ะ’ ผู้เห็นว่าตัวเองตกเป็นเหยื่ออย่างเป็นระบบ และจำเป็นต้องลุกขึ้นมาแก้ไขสังคมที่บิดเพี้ยนบกพร่องด้วยวิธีการที่ไม่ได้ดีไปกว่าผู้กระทำเดิมสักเท่าไหร่ – กลายเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมและถูกพูดถึงในวงกว้าง, น่าจะบอกอะไรเราได้เลาๆ ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมที่กำลังคุกรุ่นอยู่กับการถูกสั่งให้ต้องบังคับเลือก
มองไปในอนาคต นี่อาจเป็นฉากทัศน์ที่น่าพรั่นพรึงและอันตรายอย่างยิ่ง
แต่ดูเหมือน Centralization จะวุ่นมากเกินกว่าจะรับรู้