อะไรเป็นสิ่งที่ฟังดูแล้วแย่และยากลำบากกว่ากัน ระหว่างการที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในบ้าน, การที่หญิงสาวอายุ 25 ต้องเลี้ยงลูกคนเดียวพร้อมๆ กับต้องทำงานค่าแรงต่ำไปด้วย, ปัญหาความยุ่งยากในระบบราชการ, การขาดต้นทุนชีวิตที่จะทำตามสิ่งที่ฝัน กับการที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนแต่ติดปัญหาที่พูดไปทั้งหมดก่อนหน้านี้?
ทั้งหมดที่พูดไปคือสิ่งที่ สเตฟานี่ แลนด์ (Stephanie Land) เผชิญในชีวิตจริงของเธอ ก่อนที่จะบอกเล่าเรื่องราวในหนังสือชีวประวัติตัวเองที่ชื่อ ‘Maid: Hard Work, Low Pay and a Mother’s Will to Survive (สาวใช้: งานหนัก ค่าแรงต่ำ และความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตของคนเป็นแม่)’ หนังสือติดอันดับขายดีที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่าง บารัค โอบามา (Barack Obama) แนะนำให้อ่าน ซึ่งต่อมา ถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ Netflix ความยาว 10 ตอน และเทพ ฮิเดโอะ โคจิม่า (Hideo Kojima) ผู้สร้างวิดีโอเกมชื่อดังแนะนำให้ดู
(เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูลสำคัญบางส่วนของซีรีส์เรื่อง Maid)
ซีรีส์ Maid สร้างโดย มอลลี สมิธ เมตซ์เลอร์ (Molly Smith Metzler) ผู้เขียนบทซีรีส์ Orange Is The New Black และ Shameless กับอำนวยการสร้างโดยนักแสดงชื่อดังอย่าง มาร์โก ร็อบบี (Margot Robbie) ถือเป็นซีรีส์ underrated ที่อาจไม่ฮิตในไทยเท่าไหร่นัก แต่ไม่อยากให้มองข้าม ด้วยคุณภาพที่จะพิสูจน์ด้วยตัวมันเอง กับการได้รับคำชมอย่างล้นหลามเกี่ยวกับการแสดง การทัชหัวใจ และการทำให้คนดูอินไปกับเรื่องราวได้ดี ซึ่งมีคะแนนบนเว็บไซต์ IMDB ที่ 8.6/10 กับคะแนนมะเขือสดบนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ที่ 97% ในขณะนี้
เรื่องราวจะเกี่ยวกับ อเล็กซ์ รับบทโดย มาร์กาเร็ต ควาลลีย์ (Margaret Qualley) หญิงสาวอายุ 25 ผู้มีลูกน้อยที่ต้องห้อยกระเตง กับความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหองระแหงกับสามี เป็นเหตุให้ในฉากแรกเธอต้องตื่นมายามค่ำคืนในรถบ้านข้างๆ ฌอน สามีที่กำลังหลับสนิท และหอบ แมดดี้ ลูกสาวของเธอขึ้นรถแล้วขับหนีไปทั้งที่ไม่อาจรู้ได้ว่าปลายทางคือที่ไหน ไม่เห็นทางว่าชีวิตของเธอกับลูกจะเป็นอย่างไรในภายภาคหน้า รู้แต่ว่าต้อง ‘หนี’ ไปจากที่นี่ ณ ตอนนี้ เพราะไม่ต้องการให้ลูกต้องมีชีวิตที่ขาดความรักความอบอุ่นแบบเธอ
ไม่ต้องการให้ลูก ต้องเติบโตมาในบ้านที่กำแพงเป็นรูเพราะหมัดพ่อตอนมึนเมา ไม่ต้องให้ลูกต้องมีเศษแก้วติดอยู่ในผมอันเกิดจากการที่พ่อบันดาลโทสะและปามันมากระทบกำแพงในระยะเฉียดฉิว กับไม่ต้องการให้ลูกต้องได้ยินคำหยาบคายรุนแรงที่พ่อด่าว่าแม่ให้เห็นเสมอ
“มันเป็นเรื่องหายากนะคะที่จะได้อ่านหนังสือชีวประวัติที่ทั้งให้อารมณ์ที่บีบคั้นพร้อมกับนำเสนอข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเทียบเท่ากัน ฉันไม่คิดว่าใครจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ นอกเสียจากว่าคุณเคยอยู่ในเหตุการณ์นั้นเอง นี่คือเรื่องราวที่พูดถึงว่าความน่าหงุดหงิดที่มีต่อระบบราชการ และการติดเทปแดงต่อระบบสวัสดิการรัฐสามารถเกิดขึ้นได้แค่ไหน ทั้งๆ ที่คนคนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและกำลังเดือดร้อนที่สุดอย่าง อเล็กซ์ กำลังมีปัญหาชีวิตรุมเร้าแบบมากมายก่ายกองอยู่แล้ว และพูดถึงว่า เธอผ่านอะไรพวกนั้นก่อนมาเป็นนักเขียนขายดีที่เต็มไปด้วยความหวังในชีวิตได้ยังไง” มาร์โก้ ร็อบบี้ กล่าว
หลังจากไประหกระเหเร่ร่อนและเงินติดตัวน้อยนิดแบบที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ สถานะของอเล็กซ์จึงกลายเป็น ‘คนไม่มีบ้านอยู่’ ไปโดยปริยาย และสิ่งที่เธอสามารถพึ่งพาได้คือหน่วยบริการของภาครัฐ/หน่วยงานราชการและสวัสดิการที่มีให้แก่ประชาชนผู้ไร้อาชีพและที่อยู่อาศัยในฐานะ ‘คนไร้บ้าน’
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ประเด็นนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้ชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่าประเทศนั้นๆ มีคุณภาพขนาดไหน?
คุณภาพของแต่ละประเทศวัดกันได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งค่า GDP ต่อหัว (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อ 1 บุคคล), ค่าแรงขั้นต่ำ, การศึกษาที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง, หนี้สาธารณะ, การบริหารงบ, สภาพตึกรามบ้านช่องกับย่านที่พักอาศัย, ถนนหนทางเสาไฟฟ้า, การจัดการกับจราจร, การระบายน้ำ, การรับมือกับปัญหาทั้งระหว่างประเทศกับในประเทศ เศรษฐกิจค้าขาย สังคม ภัยพิบัติ และโรคระบาด, ความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดที่น้อย หรือการเมืองกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของคนในชาติสามารถตรวจสอบได้ว่าสุจริตโปร่งใสมีที่มาที่ไป
โดยเฉพาะ ‘คุณภาพชีวิต’ ของประชากรแต่ละคน เพราะคุณภาพชีวิตประชากร (ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญและกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ) เท่ากับตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดของคุณภาพประเทศ
หากทุกอย่างที่ได้กล่าวไปรัฐสามารถทำได้แข็งแรงมากพอและยิ่งดีเท่าไหร่ ไม่เพียงแต่ประชากรที่มีรายได้ แต่การดูแลประชากรที่ขาดรายได้ ขาดอาชีพ และไร้ถิ่นที่อยู่อาศัย ก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่และได้รับการบริหารกับงบประมาณเพื่อมาดูแลตรงนี้ให้ดี/มากขึ้นเท่านั้น
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาเองในฐานะประเทศโลกที่ 1 ก็ดูจะยังมีปัญหาตรงนี้ ที่สะท้อนได้ดีว่าระบบราชการนั้นควรได้รับการดูแลปรับปรุงส่วนที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย มีข้อบกพร่อง หรือปรับแก้เงื่อนไขต่างๆ ที่ซับซ้อนและขัดแย้งกับการช่วยเหลือประชาชน ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถรับการดูแลตรงนั้นได้เลย
เช่นในฉากแรกๆ ของซีรีส์ที่อเล็กซ์ไปขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานบริการเพื่อคนไร้บ้านเพื่อขอเงินอุดหนุนค่าเช่าบ้าน เธอได้รับเงื่อนไขว่า
“ฉันต้องการสลิปเงินเดือน 2 ใบเพื่อยื่นของเงินอุดหนุนค่าเช่าบ้านให้”
“คุณพอจะช่วยอะไรฉันได้อีกมั้ย” อเล็กซ์ถาม
“ถ้าไม่มีงาน ฉันก็ช่วยอะไรเธอไม่ได้”
“ฉันไปทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีเงินอุดหนุนพี่เลี้ยงเด็ก”
“เรามีเงินค่าอุดหนุนพี่เลี้ยงนะ พอคุณมีงานทำ”
“ฉันต้องมีงานทำเพื่อพิสูจน์ว่า ฉันต้องฝากเลี้ยงลูกเพื่อไปหางานทำเนี่ยนะ นั่นมันระบบบ้าบออะไร?”
แต่อย่างที่เรารู้กันว่าจริงอยู่ ระบบราชการอาจมีความ ‘หน่าหนิ๊?’ และไม่ใช่น้อยครั้งที่เราเจอข้าราชการที่ปฏิบัติและพูดจาแย่ๆ ด้วยน้ำเสียงแข็งๆ ใส่ แต่นั่นเป็นการเลื่องลือที่เกิดขึ้นจริงจากคนส่วนนึงที่ทำให้ภาพลักษณ์ดูแย่ เพราะไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นแบบนั้น
โชคยังดีที่คนที่อเล็กซ์เจอเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจ (แม้จะทำอะไรกับตัวระบบไม่ได้ก็ตาม) เธอจึงแนะนำให้อเล็กซ์ลองติดต่อไปที่ แวลู เมดส์ ที่เป็นเหมือนเอเจนซี่หางานแม่บ้านให้ แลกมากับค่าแรงขั้นต่ำและตั๋วเรือข้ามฟากฟรี แต่เธอต้องออกค่าน้ำมันรถกับค่าอุปกรณ์ทำความสะอาด (ยกเว้นเครื่องดูดฝุ่น) เอง และแน่นอน แม้งานนี้จะมีแค่คนมาสมัครแล้วพากันลาออก อเล็กซ์ที่ไม่มีทางเลือกและกำลังต้องการสลิปเงินเดือนอย่างยิ่งต้องพึ่งพางานแม่บ้านนี้ เธอจึงนำแมดดี้ไปฝากแม่สายฮิปปี้ที่มีความหลุดโลกและอาศัยอยู่กับชายคนรักที่เธอไม่ชอบเท่าไหร่นัก
แต่งานของอเล็กซ์นั้นหนักหน่วงไม่พอ ยังต้องพะว้าพะวงกับลูก และสุดท้ายทำให้ทุกอย่างไปไม่สุด ด้วยความที่เป็นงานแรกเธอทำงานได้ไม่ดีพอจึงไม่ได้ค่าจ้าง ส่วนแม่ก็ส่งลูกไปหาฌอนเพราะขี้เกียจดูแล เธอจึงพึ่งใครในการเลี้ยงดูลูกไม่ได้นอกจากตัวเอง และนั่นทำให้เรื่องแย่ไปอีกเมื่อเธอปล่อยให้ลูกอยู่บนรถคนเดียวเพื่อลงไปหาตุ๊กตาให้ แล้วมีรถพุ่งมาชน จนรถที่เปรียบเสมือนบ้านหลังเดียวบู้บี้ชนิดที่นอนไม่ได้อีกต่อไป และเธอต้องหลับบนเรือข้ามฟากกับลูกน้อยและเครื่องดูดฝุ่น
เหตุการณ์นี้นำไปสู่อีกประเด็นที่ควรหยิบมาพูดถึงและเป็นแกนหลักของปัญหาที่ทำให้อเล็กซ์ตัดสินใจหนีออกมา นั่นก็คือ ‘ความรุนแรงในบ้าน’
ข้าราชการคนเดิมเป็นคนแนะนำ ‘ศูนย์พักพิงสำหรับเหยื่อความรุนแรงในบ้าน’ ที่ถ้าเทียบกับบ้านเราจะประมาณ มูลนิธิปวีณาและมูลนิธิพิทักษ์สตรี) ให้กับอเล็กซ์ ที่นั่นเธอได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ห้องน่าอยู่ มีการเทรนให้ผู้หญิงมีความรู้เฉพาะด้านสำหรับตอบคำถามและสู้คดีได้ มีทั้งเสื้อผ้า อาหาร และของเล่นสำหรับเด็ก แต่ก่อนที่เธอจะได้รู้จักกับที่นั่น มีบทสนทนานึงที่น่าสนใจไม่น้อยระหว่างเธอกับข้าราชการคนนั้น
“ศูนย์พักพิงสำหรับเหยื่อความรุนแรงในบ้าน แต่คุณบอกว่าไม่ใช่เหยื่อความรุนแรงในบ้าน”
“ค่ะ ฉันไม่อยากแย่งเตียงไปจากคนที่ถูกทำร้ายจริงๆ”
“ที่ถูกทำร้ายจริงๆ หมายถึงยังไง?”
“ที่ถูกซ้อมจนน่วม เจ็บตัว”
“แล้วถูกทำร้ายปลอมๆ คือยังไง ถูกข่มเหง ข่มขู่ บงการงั้นหรอ?”
เป็นคำถามที่เจาะจงไปถึง อะไรคือความรุนแรงในรั้วบ้าน (domestic violence) กันแน่? และมันเกิดขึ้นบ่อยและมากแค่ไหน?
สถิติจากเว็บไซต์ NCADV (National Coalition Against Domestic Violence) เผยว่า เฉลี่ยแล้วมีคนราวๆ 20 คนต่อ 1 นาทีถูกทำร้ายร่างกายจากคู่ของตัวเอง และมียอดรวมสูงถึง 10 ล้านคนเลยทีเดียว นอกจากนี้ 1 ใน 4 ของผู้หญิงและ 1 ใน 9 ของผู้ชาย ยังถูกสร้างความกลัวด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจและเครียดจากความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน โดยเฉพาะในเพศหญิงที่มีอายุ 18-24 ปี โดยวันวันหนึ่ง มียอดโทรเพื่อแจ้งเหตุทำร้ายโดยคู่รักตัวเองถึง 20,000 สายทั่วโลก
ความรุนแรงในรั้วบ้านเป็นสิ่งที่มาควบคู่กันกับความสัมพันธ์อันเป็นพิษ (toxic relationship) และความสัมพันธ์ประเภทกดขี่ข่มเหง (abusive relationship) ซึ่งครอบคลุมทั้งการกดขี่ข่มเหงในเชิงกายภาพ (physical abuse) เช่น การซ้อม/ทำร้ายร่างกายหรือทำลายข้าวของ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ประเภทนี้ และอีกประเภทที่ไม่ได้แย่น้อยไปกว่ากันคือด้านจิตใจ (mental/emotional abuse) ไม่ว่าจะเป็น การควบคุม, การปั่นหัว, การตำหนิติเตียนดูถูก, คำหยาบคายรุนแรง, การขู่ และการตะโกนด่า
การที่คนสองคนจะเป็นคู่รักกัน ความต้องการให้คู่รักของตัวเองมีมีมีสิ่งเหล่านี้หรืออุปนิสัยเหล่านี้ไม่ใช่สเป็คอันพึงประสงค์ที่จำเป็นต้องมีด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะแบบไหน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งอย่างก็ไม่ควรมีอยู่ในความสัมพันธ์ไหนทั้งสิ้น
ฉะนั้นกล่าวได้ว่า อเล็กซ์เองก็เป็นเหยื่อความรุนแรงในบ้านไม่ต่างจากคนอื่นๆ เธอต้องใช้ชีวิตที่หวาดระแวง ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งเหล่านี้ที่แย่อยู่แล้ว พัฒนาไปสู่สิ่งที่แย่กว่าเดิมโดยผนวกไปกับการใช้ความรุนแรงกับร่างกายเธอและลูก จะเกิดอะไรขึ้นหากวันที่ฌอนปาแก้วใส่เธอ แก้วนั้นเคลื่อนที่ไปอีกไม่กี่เซนติเมตรไปยังตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนร่างกายของเธอและลูก และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหมัดไม่ได้ถูกชกไปที่กำแพง แต่เป็นบนร่างกายของเธอและลูกแทน
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์นี้ยังทำให้เธอเป็น PTSD (post-traumatic stress disorder) หรือมีอาการเครียดหลังจากผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมา โดยมักจะเห็นภาพสิ่งที่ฌอมทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ในช่วงที่ต้องกลับไประลึกถึงหรือพูดถึง หรือแม้แต่จะพยายามไม่คิดถึงก็ตาม
อีกหนึ่งตัวละครที่ถ่ายทอดประเด็นความรุนแรงในบ้านและความสัมพันธ์ได้ดีคือตัวละคร แดเนียล ที่อเล็กซ์พบที่ศูนย์พักพิง
“เธอเห็นนี่มั้ย ไอเวรนี่มันรัดคอฉัน” แดเนียลเปิดคอให้อเล็กซ์ดูพร้อมกับพูดด้วยน้ำเสียงที่ปกติราวกับว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป พร้อมกันนั้น เผยให้เห็นรอยสีแดงแนวยาวบริเวณรอบคอ “เธอว่ามันเริ่มจากรัดคอเลยหรอ? เธอว่าตอนไปเดตครั้งแรก เขาบอกว่าส่งเกลือมาหน่อย ซักวันฉันจะบีบคอเธองั้นหรอ? ไม่ใช่ มันลุกลาม เหมือนเชื้อรา”
เดเนียลพูดเรื่องของตัวเองเตือนสติให้อเล็กซ์ตระหนักว่าเธอต้องสู้เพื่อลูก และเธอจะยอมทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ได้ เพราะมันสามารถพัฒนาไปสู่อะไรที่แย่กว่านั้นหรือแย่กว่าจนคาดไม่ถึง
เรื่องที่หักมุมกว่าคือมีจุดนึงในซีรีส์ที่อเล็กซ์พบว่าแดเนียลหายตัวไป เธอเป็นห่วงแดเนียลอย่างมากจึงไปถามหากับ เดนีส คนดูแลที่นี่ และเดนีสก็ได้บอกเธอว่า
“แดเนียลเลือกที่จะกลับไปเอง”
“แต่เขารัดคอเธอนะ?” อเล็กซ์ถามกลัยด้วยความมึนงงว่านั่นเป็นไปได้ยังไง
“มันเกิดขึ้นได้ พวกเขามักเปลี่ยนใจกลับไปเสมอ ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องพยายามถึง 7 หนกว่าจะออกมาได้จริงๆ แดเนียลมาที่นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ส่วนฉันพยายามถึง 5 ครั้ง”
อเล็กซ์ถึงกับพูดไม่ออก
ต่อมาเธอถึงได้เข้าใจสิ่งที่แดเนียลทำ เพราะอเล็กซ์เองก็กลับไปหาฌอนเช่นกัน เธอเข้าใจว่าความผูกพันทั้งในด้านของจิตใจและทรัพย์สินร่วมนำไปสู่การหวนคืนไม่ว่าความสัมพันธ์จะเป็นพิษแค่ไหนก็ตาม มันเป็นความต้องการและความพยายามอยากให้โอกาสในขณะที่อีกคนขอโอกาส รวมไปถึงการที่ผู้เป็นเหยื่อขาดที่พึ่ง รายได้ ไร้ซึ่งหนทางไป และไม่ต้องพูดถึงการที่อีกฝ่ายเป็นแม่หรือพ่อของลูก โอกาสในการตัดสินใจที่จะกลับไปอยู่ในวังวนซ้ำๆ นั้นมีอัตราที่สูงมาก ซึ่งผลลัพธ์คือดีขึ้นบ้างไม่ดีขึ้นบ้าง
เรื่องราวนี้โชว์ให้เราเห็นถึงปัญหาในครอบครัวอย่างลงลึกยิ่งขึ้นด้วยการเผยว่านอกจากของรุ่นอเล็กซ์เอง (อเล็กซ์-ฌอน-แมดดี้) รุ่นของแม่เธอกับพ่อเองก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน
จากการสังเกตในสตอรี่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตจริง หนัง ซีรีส์ เรื่องเล่า สิ่งหนึ่งที่พบเกี่ยวกับตัวละครในเรื่องเหล่านั้นคือ “คนเรามักมีมากกว่า 1 บทบาทใน1 เรื่องราว หรือหลายบทบาทในเรื่องราวที่ต่างกันเสมอ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน” เมื่อมองแบบนี้ อเล็กซ์จึงไม่เพียงแต่เป็นแม่ของลูกและภรรยาของสามี แต่ยังเป็นลูกของ พอลล่า (รับบทโดย แอนดี้ แม็คโดเวล (Andie MacDowell) แม่แท้ๆ ของเธอ) แม่ที่เคยอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิง abusive อีกด้วย
แล้วมันจะจบที่ตรงไหน? หากอเล็กซ์ เสี่ยง ทน แล้วกลับไปวนลูบเดิม ก็จะส่งผลให้เกิดโครงสร้างเรื่องราวซ้ำๆ วันหนึ่งแม่ของเธอจากยายจะกลายเป็นทวด เธอจะกลายเป็นยาย แมดดี้จะกลายเป็นแม่คน และเมื่อแมดดี้ต้องโตมาในบ้านที่ความสัมพันธ์แบบนี้ แมดดี้จะโตมาอย่างไรและลูกของเธอจะต้องโตมาในชีวิตแบบไหนถ้าหากเธอเห็นแม่ตัวเองจำยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้
ท้ายที่สุดแล้วชีวิตอเล็กซ์จากสวมถุงมือทำงานแม่บ้านอย่างเหนื่อยลำเค็ญพร้อมกับเลี้ยงลูกไปด้วย กลายมาเป็นนักเขียน best-seller ได้อย่างไร? เธอต้องเผชิญกับอะไรบ้าง? เธอจัดการยังไงกับชีวิต ลูก และความสัมพันธ์นี้? เธอได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตของตัวเองและผู้คน/เจ้าของบ้านที่พบเจอระหว่างการทำงานแม่บ้านบ้าง? และเรื่องราวทั้งหมดจะลงเอยอย่างไร? หาคำตอบเองได้ในซีรีส์ Maid ทาง Netflix
แม้จะยังไม่เคยอ่านหนังสือต้นฉบับ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นและได้ยินมาคือซีรีส์ค่อนข้างมีความแม่นยำ (accurate) และเที่ยงตรง (faithful) ต่อเวอร์ชั่นหนังสือมาก (ได้ข่าวมามีการดัดแปลงให้สนุกขึ้นเล็กน้อยเพราะหนังสือไม่มีอะไรให้ขำหรือรู้สึกสนุกด้วยได้เลย) ทั้งยังถ่ายทอดมันได้ดีในหลายๆ องค์ประกอบ ในขณะเดียวกันนั้นก็ต้องชื่นชมว่า ผู้เขียนหนังสือตัวเองอย่าง สเตฟานี่ แลนด์ เอง ก็เลือกเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา เพราะมันคือเรื่องจริง แม้ว่าจะมีที่คนดูอาจไม่เห็นด้วยกับตัวละครอเล็กซ์หรือตั้งคำถามว่าสิ่งที่อเล็กซ์ทำหรือตัดสินใจนั้นถูกหรือไม่ และตรรกะรึเปล่าก็ตาม
เรื่องราวของอเล็กซ์ในซีรีส์เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องราวของคนที่สร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้าง อาจไม่ใช่คนที่จะเป็นนางเอกประเภทผู้ถูกเลือกในระดับตัวละครเอกของหนังซีรีส์ที่เราเคยดูกันมา แต่ทุกคนเป็นตัวละครเอกในชีวิตตัวเอง และในซีรีส์ Maid เป็นเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากผู้หญิงธรรมดาๆ ตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตัวเองและลูกน้อยจาก 0 โดยไม่มีทั้งโอกาส ต้นทุน ที่พัก และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเมื่อขับรถออกไปจากเซฟโซนที่ไม่เซฟนั้น ถนนหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป