ทำไมเราต้องรู้สึกผิดเมื่อเราว่างหรือพักผ่อน
ผิดไหมที่รู้สึกไม่อยากใช้เวลาว่างทำอะไร (เพราะถ้าใช้ก็จะไม่ว่างไง) ?
แนวคิดแบบ ‘การฆ่าเวลาเป็นบาป’ สอดแทรกในคำคมเพื่อเปลี่ยนชีวิต ก้าวไปข้างหน้า ใส่ให้สุด ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า อยู่ในโฆษณาสินค้าและบริการที่นำเสนอชีวิตที่ดีกว่า ช่วยให้เราประหยัดเวลา หากไม่ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ไม่เกิดผลประกอบการทางเศรษฐกิจ ชีวิตก็ดูไร้ค่าเกิดมาทำไม ฮือ
เรื่องราวของคนบ้าพลังทำงานหนักไม่พักผ่อนแบบ อีลอน มัสก์ (ผู้ทำงานสัปดาห์ละ 80-100 ชั่วโมงและลาพักร้อนแค่ 2 ครั้งในการทำงาน 12 ปี) ทำให้เรารู้สึกผิดที่ชีวิตเรายังไม่เต็มที่ ในขณะเดียวกันข่าวคนที่ทำงานหนักจนตายก็ทำให้เราหวาดวิตก ไม่อยากตกเป็นทาสงาน
ความพอดีอยู่ที่ไหน ถ้าขี้เกียจจะผิดไหม?
ยิ่งไม่ว่างยิ่งดูดี : เสริมภาพลักษณ์คนสมัยใหม่ไม่มีเวลาว่าง
เดิมทีคนที่มีอันจะกินในสังคม มักถูกนำเสนอในภาพของ leisure class คือชนชั้นที่มีเวลาว่าง ทำงานอดิเรก สิ่งเหล่านี้อยู่ในนิตยสาร หนัง โฆษณา แต่งานวิจัยจาก Columbia University พบว่า ปัจจุบันในประเทศอเมริกา คนที่ดูไม่ว่าง คนที่ดูวุ่นยุ่งตลอดเวลา ถูกมองว่าดูสำคัญ มีสถานะสูงกว่า และประสบความสำเร็จมากกว่า
งานวิจัย Conspicuous Consumption of Time: When Busyness and Lack of Leisure Time Become a Status Symbol (เมื่อความยุ่งและการขาดแคลนเวลาว่างกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะ) พบว่า ในสังคมอเมริกันปัจจุบัน คนที่ดูยุ่งตลอดเวลามักถูกมองว่าเป็นที่ต้องการ สำคัญ พิเศษ และถูกอัพเกรดสถานะทางสังคมให้สูงกว่า
เช่น หากคุณทำธุรกิจ การบอกว่าว่างเสมอเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย แสดงว่าไม่เป็นที่ต้องการมากพอ หากมีคนถามเราว่า “ว่างไหมช่วงนี้” เราจะตอบว่า “ฉันว่างตลอดแหละ นัดมาเล้ยยยย” หรือ “ช่วงนี้ยุ่ง ฉันว่าตอนบ่ายโมง ในวันอังคาร อีก 2 สัปดาห์ถัดจากนี้” คนที่ตอบอย่างหลังจดูจะสำคัญมากกว่า
ในงานวิจัยบอกว่า บางครั้งความยุ่งอาจแสดงออกผ่าน application ที่ใช้ เช่น คนเลือกใช้ Peapod ในการจ่ายตลาด (application บริการส่งสินค้ามาบ้าน) จะดูดีเทียบเท่ากับไปเดิน Whole Foods ทั้งที่สินค้าก็ไม่ได้มีราคาแพงเท่า นอกจานี้ยังมีโฆษณาที่เฉลิมฉลองวิถีชีวิตแบบอดนอนว่าเป็นคนจริง (ภาพด้านล่าง)
กับดักของความไม่ว่าง : มาเติมเต็มชีวิตอันว่างเปล่าด้วยการไม่มีเวลา
Tim Kreider ผู้เขียนบทความ The Busy Trap ลง New York Times ในปี 2012 ได้นิยามคำว่า ‘busy trap’ คือห้วงกับดักแห่งความไม่ว่างที่เขาพบว่าคนรอบตัวเขาสลัดไม่หลุด เมื่อ ‘ความยุ่ง’ (busyness) ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการมีอยู่ของเรา เพื่อไม่ให้รู้สึกความว่างเปล่า หากคุณยุ่งและถูกจองตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นที่ต้องการในทุกชั่วโมงของชีวิต ชีวิตของคุณจะไม่สามารถทำอะไรโง่ๆ ไร้สาระ ไร้ความหมายได้เลย
“ทุกคนที่ผมรู้จักกำลังยุ่งมาก พวกเขากังวลและรู้สึกผิดในเวลาที่พวกเขาไม่ทำงาน หรือไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้งานของเขาก้าวหน้าตลอดเวลา … ”
Karōshi แปลว่า Overwork Death หรือ ‘ความตายจากการทำงานหนัก’ คำญี่ปุ่นคำนี้กลายเป็นคำที่รู้จักกันไปทั่วโลก หลังผู้หญิงในวงการโฆษณาคนหนึ่งตายจากการทำงาน 159 ชม. ต่อสัปดาห์ เราต่างได้ยินข่าวคนในวงการโฆษณาในเอเชียทำงานหนักจนตายหลายครั้งในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่จีน เกาหลี หรืออินโด ก็แข่งขันกันทำงานหนักจนตาย
จากการวิจัยตีพิมพ์ใน Journal of Occupational and Environmental Medicine พบว่าพนักงานที่ทำงานหนักเกินไป (ทำงานเกิน 60 ชม. ต่อวัน) มีโอกาสจะเกิดโรคซึมเศร้าสูงกว่า อีกงานวิจัยพบว่า การทำงานยาวนานทำให้เรามองไม่เห็นภาพรวมของปัญหาและจมอยู่ในงานนานเกินไป
ไม่มีวิถีชีวิตแบบใดที่เป็นสูตรตายตัวของความสำเร็จ
ในเมื่อชีวิตดูจะต้องมีความหมายในทุกชั่วโมง ทุกคนบอกให้เรารีบเพื่อความก้าวหน้า ผลิตผลงานได้มากๆ เพื่อรู้สึกมีคุณค่าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่วัดผลได้
แต่สิ่งที่ช่วยปลอบประโลมใจผู้เขียนคือ หนังสือ Daily Rituals และ Odd Type Writers ที่รวบรวมชีวิตประจำวันและการทำงานของนักเขียน นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาหลายๆ คน สิ่งที่พบก็คือทุกคนล้วนมีชีวิตประจำวันที่ต่างกัน
Haruki Murakami
ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนที่คนไทยหนุ่มสาวรู้จักเป็นอย่างดี หลายคนคงพอทราบว่า มูราคามิมีชีวิตที่เป็นระเบียบ มีวินัยมาก เริ่มจากเปิดบาร์แจ๊ส และพอเป็นนักเขียน เขาพบว่าตัวเองสุขภาพยํ่าแย่ นํ้าหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว และสูบบุหรี่หนักถึงวันละ 60 มวน เขาจึงตัดสินใจออกมาอาศัยนอกเมือง ลดการดื่ม เลิกบุหรี่ ทุกวันเขาจะตื่นมาตีสี่เพื่อเขียน 5-6 ชั่วโมง วิ่งหรือว่ายนํ้าสมํ่าเสมออย่างมีวินัย และนอน 3 ทุ่ม
Oliver Sacks
แพทย์ประสาทวิทยาและนักเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดนิยม ใช้เวลาจำนวนมากในชีวิตตื่นมาว่ายนํ้า เข้าออฟฟิศไปพบคนไข้ สเก็ตช์ความคิดลงในพิมพ์ดีด เขียนทดความคิดลงกระดาษ กินข้าว เล่นเปียโน บางครั้งก็หลับไปตอนบ่ายๆ กินข้าวเย็น เปิดเพลง เล่นเปียโน อ่านหนังสือก่อนนอน และเข้านอนไว นานๆ ที ถ้าอยู่ในช่วงฟุ้งความคิดสร้างสรรค์ไหลลื่นมากๆ ก็สามารถเขียนได้ต่อกัน 36 ชั่วโมงเลย
Maira Kalman
ไมรา คาลแมน นักวาดภาพประกอบและนักเขียน ตื่นเช้ามาเพื่อเดินตั้งแต่ 6 โมง จากนั้นเธอก็จะเก็บตัวอยู่ในสตูดิโอ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีคอม ไม่มีอาหาร เธอทำงานแค่ถึงหกโมงเย็นและจะไม่ทำงานในเวลากลางคืนเด็ดขาด
Immanuel Kant
คานท์ เกิดและอาศัยอยู่ในจังหวัดหนึ่งของดินแดนปรัสเซีย ตลอดชีวิตเขาไม่เคยออกไปท่องเที่ยวไหนไกลจากเมืองเกิด เขาตื่นเช้า ดื่มกาแฟ เขียน ไปสอน กิน และเดินไปรอบๆ เมือง พูดคุยกับเพื่อนจนคํ่า ทุกอย่างมีเวลาแม่นยำซํ้าๆ เข้านอนเวลาห้าทุ่ม หลายๆ คนมโนว่าชีวิตเราแห้งเหี่ยวไม่ออกไปผจญภัย ชีวิตของเขาไม่ได้ไร้สีสันอย่างที่หลายๆ คนจินตนาการ เขาชอบเข้าสังคมและเป็นนักสนทนาที่มีพรสวรรค์ และเป็นโฮสต์ที่ดี ที่เขาไม่ได้มีชีวิตโลดโผนเพราะเกิดมาไม่แข็งแรง
Ingmar Bergman
ผู้กำกับชาวสวีเดน เขาตื่น 8 โมง เขียนหนังสือตั้งแต่ 9 โมงยันเที่ยง กินข้าวเหมือนเดิมทุกวัน ทำงานอีกครั้งตอนบ่ายโมงถึงบ่ายสาม จากนั้นก็จะงีบหลับ และออกไปเดินเล่น หรือขึ้นเฟอรี่ไปยังเกาะน่าเบื่อๆ ใกล้บ้านตอนเย็นๆ เขาจะอ่านหนังสือ เจอเพื่อน ดูหนัง หรือดูทีวี ไม่ใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ อาจจะกินไวน์หนึ่งแก้วให้กึ่มๆ เขาชอบเปิดเพลงขณะทำงาน
Charles Darwin
ผู้เขียน Origin of Species และริเริ่มแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการ เขาหนีออกมาอยู่ในชนบทเพราะแนวคิดที่ว่า Man Descends of Beast ฉีกขนบค่านิยมสูงส่งแบบวิคตอเรียน เมื่อมองดูชีวิตของดาร์วินค่อนข้างชิล เขาทำงานไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน คงฟังดูขี้เกียจหากใช้มาตรฐานคนสมัยใหม่ เขาเดินทอดน่องมากถึงวันละ 3 รอบ และหมดเวลาจำนวนมากกับการอ่าน เขียนจดหมาย และนอนหลับระหว่างวัน
คนเหล่านี้ล้วนให้เวลากับการนอนหลับอย่างเพียงพอ การอ่านหนังสือ การเดิน และกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงาน หวังว่าจะช่วยปลอบประโลมและเตือนใจคนหนุ่มสาวผู้กระวนกระวายใจว่าตัวเองยังทำงานหนักไม่พอให้ไม่ต้องรีบร้อน สิ่งสำคัญคือการหาตารางชีวิตที่พอดีกับชีวิตของเรา อาจจะพูดง่ายแต่ทำยากมาก แต่เราคือเจ้าของเวลาของชีวิตเรา เราเลือกได้ และเลือกที่จะว่างได้โดยไม่ควรต้องรู้สึกผิด ค่านิยมนี้ไม่ควรเป็นสิ่งที่ดูเห็นแก่ตัว มองว่าคน Gen Y รักสบาย หลงตัวเอง
หากรู้สึกเครียดและกังวลว่าเราสบายเกินไปไหม ให้นึกภาพ Charles Darwin หรือ Ingmar Bergman เดินเล่นหรืองีบหลับยามบ่าย เราคงไม่สามารถใช้ชีวิตตามอย่างใครที่สำเร็จ แล้วหวังว่าผลลัพธ์จะได้เหมือนเขา แต่การอยู่เฉยๆ ไม่ควรเป็นพฤติกรรมที่ถูกตำหนิหรือเป็นบาป อย่ารู้สึกผิดที่อยากจะพัก
เพราะการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร คือ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ขณะที่คนในวงการครีเอทีฟในเอเชียตายจากการทำงานหนักเยอะมากในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา สมองและจิตใจที่โล่งว่างต่างหากที่ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ ในงานวิจัยปี 2012 พบว่าการปล่อยให้สมองคิดอะไรไปเรื่อยๆ สามารถนำพาไปสู่การคิดแก้ปัญหาที่ดีขึ้น เมื่อจิตใจกำลังฟุ้งซ่านหรือเพ้อฝัน เราจะเห็นภาพใหญ่ของปัญหาข้างหน้าได้ดีขึ้น ไม่จมอยู่ในปัญหาและความกังวล ไอเดียดีๆ มารูปแบบของ Aha Moment ปิ๊ง! เกิดจากการเดิน อึ หรืออาบนํ้า
เบนจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบและคิดค้นหลายสิ่ง ทุกๆ เช้า เขาจะตื่นขึ้นมานั่งเปลือย ครุ่นคิดอย่างเดียวเป็นเวลา ½ – 1 ชั่วโมงทุกวัน เขาเรียกกิจกรรมนี้ว่า อาบลม (air bath) อาจฟังดูขี้เกียจ เสียเวลาเมื่อเทียบกับมาตรฐานคนในยุคปัจจุบัน แต่ความคิดที่สดใหม่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิด อาจเกิดขึ้นในตอนนี้ ตอนที่เราไม่ได้คิดและไม่ได้ทำงาน นั่งเฉยๆ ปล่อยเวลาและอากาศให้ไหลผ่าน
‘การอยู่เฉยๆ’ ควรเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ต้องให้เวลา ไม่ใช่เพียงพักผ่อนนอนหลับหรือลาพักเพื่อหนีความจริง การทำงานที่ประกอบไปด้วยเวลาว่างให้เราได้ครุ่นคิดและเห็นชีวิตในภาพรวม เพื่อเกิดความคิดและไอเดียใหม่ๆ ไม่ต้องบรรจุกิจกรรมลงไปทุกชั่วโมงของชีวิตเพื่อ ‘ความคุ้มค่า’ ไม่ต้องสละเวลานอนแลกกับ productivity
มดงาน (worker ants) เป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งความขยันและความเป็นหนึ่งเดียว จากการศึกษา พบว่ามดงานส่วนใหญ่จำนวน 72 % ยัง active เพียงแค่ครึ่งหนึ่ง (หรือน้อยกว่านั้น) ของเวลาในชีวิตมันเท่านั้น มีเพียง 3% ของประชากรมดงานที่ทำงานตลอดเวลา และอีก 25% ที่ไม่ทำอะไรเลย
Alex Soojung-Kim Pang ผู้ก่อตั้ง Restful Company ได้กล่าวไว้ว่า “คนชอบเชื่อว่าความสามารถระดับ Word-Class เกิดจากการฝึกฝน 10,000 ชั่วโมง แต่นั่นผิดแล้วล่ะ! เพราะมันเกิดจากการฝึกฝน 10,000 ชั่วโมง, การพักผ่อน 12,500 ชั่วโมง และเวลานอน 30,000 ชั่วโมง ด้วยต่างหาก”
เหนื่อยวันนี้ สบายวันหน้าาาา (ถ้าไม่ตายเสียก่อน)
การทำงานยาวนานไม่หยุดพัก ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานดีกว่าเสมอไป เมื่อมองย้อนกลับไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราทำงานน้อยชั่วโมงลงเรื่อยๆ ในงานวิจัยของ Illinois Institute of Technology ตั้งแต่ยุค 1950s พบว่า นักวิจัยที่ทำงานเกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีผลิตผลน้อยที่สุด ในอีกงานวิจัยพบว่า นักวิจัยที่ทำงาน 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และ 25 ชัวโมงต่อสัปดาห์ได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน
Arthur C. Clarke นักเขียนนิยายไซไฟ (นอกจากเป็นนักเขียน เขายังเป็นนักดำนํ้าและนักเล่น pinball ตัวยง) กล่าวไว้ว่า “The goal of the future is full unemployment, so we can play. That’s why we have to destroy the present politico-economic system.”
(“เป้าหมายของอนาคตคือทุกคนว่างงาน เพื่อที่เราจะได้เล่นเพลิดเพลิน นั่นเป็นเหตุผลให้เราต้องทำลายระบบการเมืองและเศรษฐกิจปัจจุบัน”)
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง John Maynard Keynes ทำนายไว้ในปี 1930 ว่าผู้คนในอนาคตจะทำงานเพียงสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง แน่นอนว่าสิ่งที่เขามโน ยังมาไม่ถึงเร็วนี้ๆ พวกเรายังต้องทำงานกันต่อไปตราบที่ยังมีชีวิตและไม่เกษียณอายุ แต่ก่อนที่จะได้สัมผัสอนาคตอันสบาย อย่าเพิ่งตายไปเสียก่อน
เปรียบเทียบและคาดคะเนชั่วโมงการทำงานในปี 1880, 1995, และ 2040
คนที่ขยันและทำงานหนักอย่างยาวนาน ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปตัดสินอีลอน มัสก์ ว่าควรพักผ่อนและท่องเที่ยวบ้าง เขาไม่ควรต้องรู้สึกผิดที่ผลิตงานออกมากมา ความขยันทำงานหนัก (hardworking) และมุ่งมั่นมุมานะ (grit) มีทัศนคติที่เชื่อในการเติบโต (growth mindset) ทำให้มีโอกาสจะสำเร็จมากกว่าคนอื่น
แต่ไม่ควรมีใครรู้สึกหมดค่าไร้ความหมายเพียงเพราะเรามีเวลาว่างและต้องการพักผ่อนบ้าง (สบายในระดับที่ไม่กินแรงหรือทำร้ายให้เพื่อนร่วมงานเหนื่อยแทนนะ)
หากถามผู้เขียนว่ามีอะไรที่ทำในวันนี้แล้วจะไม่เสียใจในวันหน้า ก็อยากจะตอบว่า นอนหลับให้เพียงพอวันละ 7 ชม. และรักษาระดับความเครียดและความกังวลให้พอดี
อย่ารู้สึกผิดที่ตัวเองว่างและต้องการพักผ่อน เพราะชีวิต เวลา พลังงานของเราเอง เราควรจะเลือกได้ว่าจะใช้ทำอะไร ความขี้เกียจไม่ควรถูกมองว่าเป็นบาปกรรมที่ต้องชดใช้ หากไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Darwin Was a Slacker and You Should Be Too
nautil.us/issue/46/balance/darwin-was-a-slacker-and-you-should-be-too
- Inspired by Distraction: Mind Wandering Facilitates Creative Incubation
journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0956797612446024
- Japanese woman ‘dies from overwork’ after logging 159 hours of overtime in a month
www.theguardian.com/world/2017/oct/05/japanese-woman-dies-overwork-159-hours-overtime
- How much we work: The past, the present, and the future
voxeu.org/article/how-much-we-work-past-present-and-future
- Working hours decrease due to technological progress and increase due to urban agglomeration
voxeu.org/article/geographical-differences-working-hours
- Why idle moments are crucial for creativity.
www.bbc.com/capital/story/20170414-why-idle-moments-are-crucial-for-creativity
- Combination of long hours and overwork increases depression risk
www.sciencedaily.com/releases/2013/08/130802165603.htm
- Economy Celebrates Working Yourself to Death
www.newyorker.com/culture/jia-tolentino/the-gig-economy-celebrates-working-yourself-to-death
- The Relationship Between Hours Worked and Productivity
cs.stanford.edu/people/eroberts/cs181/projects/crunchmode/econ-hours-productivity.html
- The Research Is Clear: Long Hours Backfire for People and for Companies
hbr.org/2015/08/the-research-is-clear-long-hours-backfire-for-people-and-for-companies