ผมอ่านนวนิยายของ Stephen King ครั้งแรกตอนอยู่ม. 4 เพราะตอนนั้นเกิดอยากอ่านเรื่องผี เลยลองไปคุ้ยๆ ในห้องสมุดโรงเรียนดู จำได้ว่าเล่มแรกที่อ่านคือ Pet Sematary หรือ ‘กลับมาจากป่าช้า’ และก็เป็นหนังสือเล่มนี้แหละครับที่เล่นงานผมอย่างจัง ถึงขนาดเก็บเรื่องราวของมันไปฝัน เล่นเอาผมหลอนไปหลายคืน
ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ของ King อีกหลังจาก Pet Semetary จะมีก็แค่ดูหนังที่สร้างจากนวนิยายของเขาบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเรียกได้ว่าตามติดเป็นแฟนพันธุ์แท้ กระทั่งได้มาดูหนังเรื่อง It ฉบับปี 2017 นี่แหละครับที่ผมหลงรักหนังอย่างหัวปักหัวปำ จนตัดสินใจไปหาหนังสือมาอ่าน
หลายคนที่อาจได้ดูหนังไปแล้ว คงจะทราบครับว่า It แบ่งเรื่องราวของมันออกเป็นสองช่วงเวลาด้วยกัน ระหว่าง ‘วัยเด็ก’ และ ‘วัยผู้ใหญ่’ ครับ ว่ากันอย่างสั้นๆ นวนิยายหนาเตอะเล่มนี้เล่าเรื่องของเด็กๆ กลุ่มหนึ่งในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ Derry ในรัฐ Maine ครับ โดยเด็กๆ กลุ่มนี้ได้เผชิญหน้ากับปิศาจร้ายที่สิงสู่อยู่ในเมืองๆ นี้ ความน่าสนใจของนวนิยายไม่เพียงอยู่ที่ความเก่งกาจในการผูกโยงเรื่องราวอันซับซ้อนของ King เท่านั้น แต่คือการที่เขาเลือกจะแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองช่วงเวลา เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครที่เปลี่ยนไปตามวัย ทั้งยังตอกย้ำให้เห็นความร้ายกาจของภัยร้ายที่ไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างง่ายๆ หรือคุกคามอยู่แค่ชั่วคราว หากกลับยืดขยายยาวนานตลอดช่วงอายุ
It สร้างบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจตั้งแต่ช่วงต้นของนิยาย เมื่อเด็กน้อย Gerogie ล่องเรือกระดาษไปตามกระแสน้ำในวันที่ฝนตกหนัก แต่แล้วจู่ๆ เรือลำน้อยก็ถูกดูดเข้าไปในคูน้ำเสียได้ Gerogie คิดว่าคงจะสูญเสียเรือไปแล้ว แต่พอลองมุดหัวลงมอง เขาก็ได้พบกับตัวตลก ‘Pennywise’ ที่จ้องมองมายังเขา หลอกล่อให้ Georgie ยื่นมือเข้าไปในคูน้ำเพื่อควานเอาเรือน้อยที่สูญหาย แต่แล้ว Pennywise กลับแยกเขี้ยวและขย้ำเด็กน้อยจนแขนขาด ปล่อยให้เด็กน้อยเสียเลือดตายอย่างเลือดเย็น
แม้เรื่องเพิ่งจะเริ่มได้เพียงไม่นาน แต่ King ก็ประสบความสำเร็จในการวางระบบแห่งความหวาดระแวงให้กับผู้อ่านอย่างอยู่หมัด สร้างหมอกควันแห่งความสยองขวัญให้ปกคลุมทุกหน้ากระดาษนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ว่ากันที่ตัว Pennywise หรือตัวตลกผีที่เป็นภาพจำของเรื่องกันบ้าง แม้ว่ามันมักจะปรากฏในรูปลักษณ์ของตัวตลก แต่จริงๆ แล้วเจ้า Pennywise นี้ คือ polymorphic supernatural หรือสิ่งเหนือธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้นั่นเองครับ กล่าวคือ ตัวตลกไม่ใช่รูปร่างที่แท้จริงของมัน ว่าแต่ทำไม King ถึงเลือกใช้รูปลักษณ์ของตัวตลกกับปิศาจร้ายตนนี้กันล่ะ
Carnivalization คือศัพท์ที่ Mikhail Bakhtin นักปรัชญาชาวรัสเซียใช้เพื่อบรรยายถึงสภาวะหนึ่งในงานวรรณกรรมครับ โดยต้นกำเนิดของมันมาจาก carnival การเฉลิมฉลองรูปแบบหนึ่งที่มีต้นกำเนิดและเป็นที่นิยมกันมากในยุคกลาง จุดเด่นคือทุกอย่างจะกลับตาลปัตรกันไปหมดเทียบกับการเฉลิมฉลองอย่างเคร่งครัดรูปแบบอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น carnival คือการพลิกกลับของบรรทัดฐานทางสังคมและชนชั้น ในงาน carnival ผู้คนต่างก็มึนเมา ต่างหัวเราะ และต่างก็บ้าคลั่ง พวกเขาจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเพื่อที่จะได้เป็น ‘คนอื่น’ และหลุดพ้นจากสถานะใดๆ ที่สังคมตีตราไว้ พูดอีกอย่างคือ carnival คือการหลบหนีความเป็นปัจเจกนั่นเอง แล้วมันเกี่ยวกับตัวตลก Pennywise ยังไงล่ะ
ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง carnival จึงเท่ากับการที่ตัวตนของใครใดๆ วิ่งสวนทางกับสำนึกสาธารณะ ผ่านอัตลักษณ์และภาพจำที่ถูกท้าทายจากเทศกาลนี้ ความหมายของ Carnivalization หรือการทำให้เป็น carnival ในทางวรรณกรรมจึงหมายถึงการล้มล้างและปลดปล่อยฐานคติสาธารณะด้วยเสียงหัวเราะและความโกลาหล และเมื่อเทียบกันกับนิยายเรื่องนี้ รูปลักษณ์ของ Pennywise จึงสอดคล้องกับ Carnivalaziation ในแง่ที่มันได้ทลายภาพจำของตัวตลกทั่วๆ ไปซึ่งสะท้อนความสุขและเสียงหัวเราะ ด้วยความบ้าคลั่งและความกลัวแทน
อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจต่อตัว Pennywise คือ ทำไมมันถึงต้องสิงอยู่ในท่อระบายน้ำ? นั่นเพราะภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัยของบ้าน ที่แม้อาจมีกำแพง อาจมีรั้วรอบขอบชิด หรือกระทั่งอาจมีความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเพื่อนบ้าน และแม้จะล็อกประตู ปิดหน้าต่างก็แล้ว ทว่าจุดที่บ้านทุกหลังต่างเปิดช่องว่างให้ภัยร้ายจากภายนอกเร้นรอดเข้ามาสู่ภายในได้ คือ ผ่านทางท่อระบายน้ำนั่นเองครับ
ท่อระบายน้ำเชื่อมโยงเข้าหากันผ่านระบบท่อกลาง มันจึงเท่ากับเป็นการอำนวยความสะดวกต่อภัยร้ายใดๆ ให้เดินทางเข้าบ้านหลังต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ การที่ Pennywise อาศัยท่อระบายน้ำในการคุกคามจึงเท่ากับการตอกย้ำว่า แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งน่าจะปลอดภัยที่สุดอย่างบ้านกลับไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิดไว้ เพราะโดยไม่รู้ตัว เราได้อนุญาตให้ภัยร้ายจากภายนอกบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่ทันได้ระแวดระวังแม้แต่น้อย กล่าวได้ว่าเมือง Derry จึงเป็นเมืองที่ล้มเหลวในการสร้างความปลอดภัยใดๆ ให้กับประชาชน ด้วยเพราะภัยคุกคามจริงๆ ของเมืองไม่ได้เกิดขึ้นบนท้องถนนที่สามารถวางระบบความปลอดภัยได้อย่างเคร่งครัด แต่กลับเป็นในท่อระบายน้ำซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ที่ทุกคนต่างมองข้ามไป
It ยังเป็นนวนิยายที่เสนอภาพความหวาดกลัวของชาวอเมริกันได้อย่างน่าสนใจทีเดียว King เลือกเสนอมันผ่านตัวละครในเรื่องซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ต่างก็เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามลักษณะของครอบครัวและพื้นเพชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการต้องรับมือกับความตายของน้องชายในวัยเยาว์ การต้องรับมือความหวาดกลัวต่ออำนาจทางเพศ รวมถึงการถูกเหยียดหยาม กีดกัน จนชีวิตแต่ละวันดำเนินไปราวกับเป็นคนนอกของสังคม
แต่ในทางกลับกัน เราก็ไม่อาจกล่าวโทษตัว Pennywise และเมือง Derry ได้เต็มปากว่าเป็นต้นตอที่คอยหล่อเลี้ยงความรุนแรง นั่นเพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวล้วนแต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ สภาพสังคมของอเมริกา จนอาจพูดได้ว่า ต้นตอทั้งหมดของความวิปลาสสยองขวัญของนวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดจากตัว Pennywise ที่เลือกจะสถิตในเมือง Derry เสียทีเดียว แต่เป็นเงื่อนไขที่ตัวเมือง Derry เองได้สร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ให้กับปิศาจตนนี้
Pennywise รู้ดีว่าต่อให้มันจำศีลเป็นเวลาสิบๆ ปี มันก็จะตื่นมาในเมืองที่บรรยากาศของมันจะยังเอื้อต่อการสร้างความหวาดกลัว มันจะยังตื่นมาพบกับงาน carnival ที่ตัวตลกจะได้กระโดดออกมาสร้างความบ้าคลั่งและเสียงกรีดร้อง เพื่อหล่อเลี้ยงความกลัวให้ยังคงดำรงอยู่เรื่อยไปไม่รู้จบ ภายในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้