สัปดาห์ที่ผ่านมา ในญี่ปุ่นแต่ละวันที่เปิดทีวี ก็มีแต่ข่าว COVID-19 เหมือนที่ไทยล่ะมั้งครับ เรียกเอาว่าเสพข่าวเรื่องพวกนี้จนเอียนเลย คนที่พยายามป้องกันตัว ระวังเป็นอย่างดี ก็มีเยอะครับ แต่ก็ยังมีหลายคนไม่สนอะไร คิดว่าตัวเองคงไม่ติด (เป็นความมั่นใจแปลกๆ) จนกระทั่งมีข่าวหนึ่งที่เล่นเอาช็อกเหมือนกันก็คือ หลังจากที่ ชิมุระ เคน (Ken Shimura) ดาวตลกชื่อดังของญี่ปุ่น มีข่าวว่าติดเชื้อ COVID-19 ได้ไม่นาน ก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาล กลายเป็นการเสียชีวิตของคนมีชื่อเสียงจาก COVID-19 เป็นครั้งแรก ซึ่งก็คงทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนได้รู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว
(บทความนี้ผมขอเรียงชื่อแบบญี่ปุ่นคือ นามสกุล ก่อน ชื่อตัว เพราะเป็นชื่อในวงการซึ่งถ้าเรียงแบบสากลแล้วจะฟังดูแปลก)
คนไทยรุ่นผม หรือรุ่นประมาณอายุ 30 ขึ้นก็น่าจะรู้จักชิมุระ เคน เป็นอย่างดี จากรายการตลกยอดฮิตสมัยก่อน นั่นคือ ‘คู่หูคู่ฮา’ ที่ตอนนั้นเรียกได้ว่าได้รับความนิยมเหลือเกิน จากมุกตลกโปกฮาไร้สาระ แขกรับเชิญสาวน่ารักเสมอ รวมไปถึงมุก ‘ไดโจบุดะ’ ที่ติดอยู่ในหัวจนถึงทุกวันนี้ ถ้ารุ่นหลังก็จะเป็นรายการ ขำกลิ้งลิงกับหมา ที่ฮิตระเบิดในบ้านเราขนาดที่มีดีวีดีเถื่อนขายตามแผงข้างถนนได้ คนไทยก็อาจจะติดภาพของชิมุระ เคน เป็นดาราตลกบ้าง เป็นพิธีกรสายฮาๆ บ้าง แต่จริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นในวงการบันเทิงของชิมุระ เคน จะบอกว่าคือ ‘อาชีพนักดนตรี’ ก็คงได้
ชิมุระ เคน หรือชื่อจริงคือ ชิมุระ ยาซุโนริ (Yasunori Shimura) ซึ่ง เคน ก็มาจากการอ่านเสียงจีนของคันจิตัว ยาซุ นั่นเอง เกิดในปี ค.ศ.1950 ที่เมืองฮิกาชิมุระยามะ ทางตะวันตกของโตเกียว ซึ่งเป็นลูกชายคนสุดท้องจากลูกชายสามคนของอาจารย์ชายที่เข้มงวด ซึ่ง พี่ชายของเขาก็ทำงานรับราชการตามประสาครอบครัวที่เข้มงวด แต่ตัวเขาเองเมื่อได้เห็นการแสดงตลกสดทางทีวี ในใจเขาก็อยากจะเดินทางสายตลกให้ได้
ซึ่งในยุคนั้น การจะเข้าวงการบันเทิงก็มักจะเริ่มจากการไปฝากตัวเป็นศิษย์ของใครสักคน ซึ่งคนที่ชิมุระ เคนไปฝากเนื้อฝากตัวด้วยก็คือ อิคาริยะ โจสุเกะ (Josuke Ikariya) สมาชิกวงดนตรีชื่อ The Drifters ซึ่ง The Drifters เองก็ไม่ใช่วงระดับไก่กา เพราะเป็นวงดนตรีที่เป็นที่รู้จักในวงการบันเทิง มีเพลงดังเช่น Ii Yu Dana (น้ำร้อนน่าแช่) ในปี ค.ศ.1966 และก่อนนั้นก็มีสมาชิกวงอย่าง ซากาโมโต้ คิว (Kyu sakamoto) เจ้าของเพลง Ue wo Muite Arukou หรือเพลง ‘Sukiyaki’ ที่ไปโด่งดังที่อเมริกา แต่ในวงก็มีการเปลี่ยนสมาชิกไปมาเรื่อยๆ
และในปีนั้นเอง พวกเขาก็ได้มีโอกาสรับงานใหญ่คือ เล่นเปิดให้กับ The Beatles ที่มาแสดงคอนเสิร์ตที่บุโดคัง ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จากกระแส Beatles Mania ที่แรงไปทั่วโลก แม้จะมีเวลาแสดงแค่ 1 นาที 15 วินาที แต่พวกเขาก็เล่นบนเวทีเดียวกับ The Beatles เลย ไม่ใช่เวทีแยก แต่ตามที่วงบอกมาคือ ไม่มีโอกาสได้พบกับ The Beatles เพราะว่าการ์ดดูแลดีมาก
และยังล้อกันเล่นว่าที่ได้ไปเล่นคงเป็นเพราะชื่อวงเหมือนกัน
แต่คนดูคงงงตอนเปิดตัวออกมาเหมือนกัน
ชิมุระ เคน ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ อิคาริยะ โจสุเกะ ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นหัวหน้าวง หน้าที่ของศิษย์คือ การทำหน้าที่ผู้ติดตาม คอยถือกระเป๋า แบกของ เตรียมนั่นนี่ให้เรียบร้อย คล้ายกับเลขาส่วนตัวผสมกับสารพัดเบ๊ และก็อาศัยครูพักลักจำบ้าง ว่างๆ อาจารย์ก็สอนนั่นนี่บ้าง ตามสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ
ส่วนวง The Drifters ก็เป็นวงดนตรีที่เล่นดนตรีกันจริงๆ จังๆ นี่ล่ะครับ แต่ว่าสไตล์ของวงคือ เล่นดนตรีไปด้วย เรียกเสียงฮาไปด้วย (จะว่าไปก็คงคล้ายวง สามโทน บ้านเรา) แต่ยิ่งเล่นไปเรื่อยๆ ยิ่งกลายเป็นว่า สัดส่วนของ ตลก ก็แซง ดนตรี ขึ้นมา และจากวงดนตรีที่เล่นตลกได้ ก็กลายเป็น ตลกที่เล่นดนตรีได้ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีประโยคประจำตัวพร้อมทั้งคาแรคเตอร์ที่ถูกเซ็ตไว้ และประโยคประจำตัวของอิคาริยะ ก็คือ ‘Zen-in Shuugou!’ หรือ ทุกคนมารวมตัวกัน! ซึ่งต่อมาก็กลายมาเป็นชื่อรายการ ‘8-ji Dayo! Zen-in Shuugou!’ หรือ สองทุ่มแล้ว ทุกคนมารวมตัวกัน! รายการตลกแสดงสดทางทีวีของวงที่เริ่มฉายในปี ค.ศ.1969 ฉายเวลาสองทุ่มตรงวันเสาร์ เวลาทองของวงการบันเทิง
8-ji Dayo! Zen-in Shuugou! กลายเป็นรายการตลกยอดฮิต สมาชิกในวงต่างมาเล่นมุกสารพัดสดๆ ในรายการ ทำให้วงกลายเป็นดาราตลกอย่างเต็มตัว ส่วนชิมุระ เคน ก็ได้รับบทบาทบ้าง ตามประสาลูกศิษย์ แต่ว่าในปี ค.ศ.1974 เมื่อหนึ่งในสมาชิกคือ อาราอิ (Arai) ถอนตัวจากวง ชิมุระ เคนก็ได้เข้ามาเป็นสมาชิกวงอย่างเต็มตัว และด้วยไหวพริบฉับไว จากที่ช่วงแรกๆ รับบทโดนแกล้งโดนแหย่ตามประสาน้องเล็กเด็กใหม่
แต่ความนิยมของชิมุระ เคน ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจับคู่กับ คาโต้ จะ (Katō Cha) มือกลองก็เลยกลายเป็นคู่หูแท็กทีมที่เล่นตลกกันได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนที่ผมเห็นได้บ่อยสุดคงเป็น ‘Hige Dance’ หรือ หนวดระบำ ที่ทั้งสองคนจะมีเพลงประจำ ใส่ชุดทักซิโด้พร้อมติดหนวด เต้นออกมาจากหลังเวที และเล่นนั่นนี่ไปด้วย โดยไม่พูดหรือร้องอะไรซักคำ และโชว์ทักษะ เช่น โยนผลไม้ให้อีกคนใช้ดาบเสียบให้ได้ หรือเล่นฮูล่าฮูป พร้อมหยอดมุกเรียกเสียงฮาไปด้วย
เป็นการใช้จังหวะผสมกับการเล่นตลก
ที่เรียกเสียงฮาได้ทุกยุคทุกสมัย
นอกจากรายการ 8-ji Dayo! Zen-in Shuugou! วงก็ยังรุ่งเรืองได้รายการ Dorifu Daibakushou หรือดริฟ ฮาระเบิด ในปี ค.ศ.1977 ที่ฉายตอนสองทุ่มวันอังคาร ก็เป็นรายการฮิตอีกรายการที่ฉายเป็นซีซั่น และซีซั่นสุดท้ายคือปี ค.ศ.2003 (เว้นไปหลายปี) ซึ่งก็เป็นรายการยอดฮิตอีกรายการ (ฉากเปิดของซีซั่นสองก็เป็นต้นแบบให้วง Skanaction เอาไปทำ MV เพลง Shin Takarajima ครับ) เรียกได้ว่าดังแบบฉุดไม่อยู่ ในตอนที่วงรุ่งเรืองนี่ชิมุระ เคน เพิ่งอายุช่วงยี่สิบปลาย อายุเกือบเป็นลูกอิคาริยะได้เลย แต่ก็ได้รับบทบาทสำคัญแล้ว
แน่นอนว่าพอดังก็มีคนอยากจะโค่น ซึ่งคู่แข่งของ The Drifters คือกลุ่มตลกเจนใหม่ ที่ตั้งใจจะมาชิงความนิยมของช่วงเวลาสองทุ่มวันเสาร์ด้วยรายการ Oretachi Hyoukinzoku หรือพวกข้าตระกูลน้ำเต้า ในปี ค.ศ.1981 ซึ่งหนึ่งในตลกที่ร่วมรายการก็กลายมาเป็นเสาหลักของวงการตลกในภายหลัง ทั้ง บีท ทาเคชิ หรือ คิตะโน ทาเคชิ (Takeshi Kitano), อาคาชิยะ ซัมมะ (Sanma Akashiya) และ ชิมาดะ ชินสุเกะ (Shinsuke Shimada) กลายเป็นสงครามแย่งเรตติ้งกัน
ซึ่งตลกหน้าใหม่ก็คว้าชัยไปเพราะความสดใหม่ รวมไปถึงสภาพร่างกายของสมาชิก The Drifters เองก็เริ่มแสดงสดๆ ไม่ไหวแล้ว รวมไปถึงมุกตลกหลายมุกก็ถูกวิจารณ์ว่าทะลึ่งเกินไป สุดท้ายรายการก็จบลงในปี ค.ศ.1985 แม้จะยังเหลือรายการ Dorifu Daibakushou แต่สมาชิกของวงต่างก็พยายามหาเส้นทางของตัวเอง อิคาริยะ ไปเป็นนักแสดง ทาคากิ บู (Bu Takaki) กลายเป็นนักดนตรีเพลงฮาวายเอี้ยน (ต่อมาได้ร่วมงานกับ Morning Musume ทำให้ผมได้รู้จักลุงก็ตอนนั้นล่ะครับ) นาคาโมโต้ (Nakamoto) กลายเป็นนักแสดงละครเวที ส่วน คาโต้ จะ ก็กลายเป็นดาราสายฮา
แต่ขึ้นชื่อว่ามีของ ใครจะปล่อยง่ายๆ
ช่อง TBS ที่ร่วมประสบความสำเร็จกันจากรายการก่อน ก็ชวนชิมุระ เคน กับ คาโต้ มาทำรายการมุกตลกของตัวเอง เป็นที่มาของรายการ Katochan Kenchan Gokigen Terebi หรือที่ชาวไทยรู้จักกันดีในชื่อรายการ ‘คู่หูคู่ฮา’ นั่นเอง ซึ่งรายการก็เริ่มฉายตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.1986 โดยเวลาฉายก็คือ สองทุ่มวันเสาร์ ด้วยความที่เป็นรายการละครตลกที่ทั้งสองคนปล่อยมุกใส่กันอย่างคล่องแคล่ว รวมถึงดาราสาวแขกรับเชิญชื่อดังทั้งหลาย ทำให้รายการ ‘คู่หูคู่ฮา’ กลายมาเป็นรายการยอดนิยม ชิงเรตติ้งกลับมาจาก Oretachi Hyoukinzoku ได้ จนรายการคู่แข่งต้องจบรายการในปี ค.ศ.1989 เรียกได้ว่าคืนฟอร์มอย่างงดงามจริงๆ ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะขนาดเอามาฉายในเมืองไทยยังได้รับความนิยม ขนาดที่เราไม่รู้แบ็คกราวด์หลายอย่าง สามารถเรียกเสียงฮาได้อย่างสากลจริงๆ
แม้รายการจะจบลงในปี ค.ศ.1992 แต่ชื่อเสียงของทั้งคู่ก็เรียกได้ว่าขึ้นหิ้งแล้ว คาโต้ ก็เดินสายดาราตลก แต่ชิมุระ เคน ก็ยังคงทำรายการตลกสายละครสั้นต่อไป เพราะนั่นคือสิ่งที่เขารัก และกลายมาเป็นคาแรคเตอร์ที่คนรู้จักอีกมากมายเช่น Baka Tonosama หรือ ท่านขุนบ๊อง ที่เป็นขุนนางทาหน้าขาว ทำอะไรเพี้ยนๆ หรือบางทีก็แต่งหน้าบ้าบอใส่เสื้ออยู่บ้านแบบลุงสีชมพู ไปคอยแกล้งปลุกดารา
แม้รายการประจำจะจบลง
แต่คาแรคเตอร์เหล่านี้ก็มักจะกลับมา
ให้เราได้เห็นอยู่เรื่อยๆ
เมื่อมีวาระพิเศษเช่น ปีใหม่ หรือช่วงเปลี่ยนฤดูที่มักจะมีรายการพิเศษ ส่วนรายการรุ่นหลังที่คนไทยคุ้นกันก็อย่างที่บอกคือ ขำกลิ้งลิงกับหมา จริงๆ แล้วก็คือส่วนหนึ่งของรายการ Tensai Shimura Doubutsuen หรือรายการสวนสัตว์อัจฉริยะชิมุระ ซึ่งก็เป็นรายการที่แขกรับเชิญหรือสมาชิกรายการก็จะมีกิจกรรมกับสัตว์น่ารักต่างๆ ฉายช่วงเย็นวันเสาร์อีกเช่นเคย
ตลอดเวลาที่อยู่ในวงการบันเทิง ชิมุระ เคน ทุ่มเทให้กับงานเสมอ เมื่อเสร็จงานเขาก็มักจะไปดื่มกับทีมงานต่อ ซึ่งนั่นก็เป็นการทำงานอีก เพราะเป็นการดื่มเพื่อคุยหาแนวทาง หรือมุกใหม่ๆ กับทีมงาน รวมถึงปรึกษาเรื่องมุมกล้องกับตากล้องด้วย แม้จะมีเสียงต่อต้านมุกตลกลามกหรือสกปรกบางมุขของเขา (ผมจำได้ดีตอนเขาเล่นเป็นท่านขุนบ๊อง แล้วเอากล้วยให้บ๊อบ แซปป์ นักชก K-1 ผิวสีชื่อดังในตอนนั้น ถ้าเป็นชาวตะวันตกคงโดนข้อหาเหยียดผิวเละไปแล้ว) แต่ก็ต้องยอมรับว่า
ด้วยทักษะและความทุ่มเทกับงานของเขา
ทำให้เขาเป็นเสาหลักวงการบันเทิง
ชนิดที่ไม่มีชาวญี่ปุ่นที่ไม่รู้จักเขา
แต่จู่ๆ พอมีข่าวว่าชิมุระ เคน เข้าโรงพยาบาลเพราะ COVID-19 ก็เล่นเอาชาวญี่ปุ่นช็อก เพราะเป็นคนมีชื่อเสียงระดับนี้ แม้จะมีกำลังใจจากหลายทิศ แต่สุดท้ายแล้ว ชิมุระ เคน ก็เสียชีวิตเพราะ COVID-19 ในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยอายุ 70 ปี กลายเป็นข่าวที่ช็อกวงการและชาวญี่ปุ่นไป พอข่าวออกมาก็มีคนมากมายไปวางดอกไม้ไว้ที่ ต้นไม้ของชิมุระเคน ต้นเคยาคิที่เขาปลูกไว้เป็นที่ระลึกที่หน้าสถานีฮิกาชิยามะมูระบ้านเกิดของเขา
ที่น่าเศร้ากว่าคือ พี่ชายของเขาก็เปิดเผยว่า ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งได้ทำศพ หรือดูหน้าน้องชายก่อนเสียชีวิต เพราะต้องทำการควบคุมเรื่องการติดเชื้อทั้งหมด ทำให้เมื่อได้พบกันอีกทีก็กลายมาเป็นอัฐิแล้ว และเท่าที่อ่านข่าว ก็ดูเหมือนว่าตัวชิมุระ เคนเองจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาติด COVID-19 แต่อาจจะเข้าใจว่าเป็นอาการโรคปอด เพราะตัวเขาเองก็เคยเป็นคนสูบบุหรี่หนักมาก แม้จะเลิกแล้วแต่สภาพปอดก็ไม่เหมือนเดิม และวันก่อนก็มีรายการทีวีรำลึกชิมุระ เคน ซึ่งคนที่กล่าวไว้อาลัยก็คือ คาโต้ จะ คู่หูนั่นเอง และหนึ่งในคำไว้อาลัยก็คือ โจซัง หรืออิคาริยะ โจสุเกะ หัวหน้าวงที่ล่วงลับไปก่อน ก็คงไม่คิดหรอกว่า คนที่มาหาตัวเองเป็นคนแรก จะเป็นน้องเล็กสุดในวงอย่างนาย (ชิมุระ) โจซังคงคิดว่า บู (ทาคากิ บู ที่อายุแปดสิบกว่าปีแถมยังอ้วนมาก) น่าจะไปหาก่อน ก็ไว้อาลัยผสมเสียงฮากันตามสไตล์
ผมเองก็ใจหายเหมือนกันเพราะเคยดูมาตั้งแต่เด็กและดูมาตลอดจนทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องปุบปับเกินคาดเหมือนกัน แต่อีกใจหนึ่งก็คือ อยากจะให้เหตุการณ์ในครั้งนี้ ช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจเสียทีว่า COVID-19 มันอันตรายแค่ไหน และความตายจากโรคนี้มันว้าเหว่สักเท่าไร
ขอขอบคุณสำหรับเสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่ผ่านมาโดยตลอด
อ้างอิงข้อมูลจาก