ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ในหมู่คนไทยสนใจญี่ปุ่นก็มีกรณีหนึ่งที่ชวนให้หงุดหงิด เมื่อรายการดังซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ที่ให้ อากิระ อิเคงามิ (Akira Ikegami) นักข่าวดังมาสรุปเรื่องราวข่าวสารในโลกให้คนญี่ปุ่นเข้าใจง่าย แต่ตอนทำตัวเลขสรุปอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19 ของไทย กลับหารตัวเลขออกมาผิดๆ จนกลายเป็นว่าไทยดูน่ากลัว คนไทยที่รู้เรื่องก็โวยกันใหญ่ มีเขียนไปแจ้งที่ช่อง TV Asahi จนรู้สึกว่าจะออกมาขอโทษตอนต้นรายการในเทปถัดไป (ถ้าจำไม่ผิด) แต่จริงๆ หลายครั้งที่ผมดูรายการแนวๆ นี่ ก็เจอข้อมูลผิด หรือเกินจริงอยู่บ่อยๆ จนขี้เกียจที่จะสนแล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ประเทศไทยห้ามใส่เสื้อผ้าลายพรางเพราะถือว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องแบบทหาร ซึ่งในกฎหมายก็อาจจะมีจริง แต่ใครมันจะไปจับคนใส่เสื้อลายพรางสายสตรีตเพราะถือว่าปลอมเป็นทหารกันล่ะครับ
แต่มันก็มี การนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด
จนกลายเป็นดราม่าระดับที่เล่นเอาสถานทูต
ต้องออกแอ็กชั่นกันเลยทีเดียวครับ
เรื่องของเรื่องมันเริ่มต้นจากการประท้อง Black Lives Matter ที่เริ่มต้นในอเมริกา แต่ส่งอิทธิพลออกไปอย่างเป็นวงกว้าง ขนาดที่มีการประท้วงในประเด็นเดียวในหลายประเทศ และแน่นอนว่าในญี่ปุ่นเองก็มีการการออกมาเดินขบวนอย่างสงบในโตเกียวตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะว่าในช่วงเวลาไม่ห่างจากที่ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) เสียชีวิต ก็มีชายชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ถูกตำรวจค้นรถโดยไม่มีหมาย พอขัดขืนก็ถูกตำรวจญี่ปุ่นจับกดในลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่ยังดีที่ไม่ถึงแก่อันตรายต่อร่างกาย แต่ทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องของ racial profiling ว่าตำรวจเลือกปฏิบัติกับคนต่างชาติรึเปล่า
ซึ่งก็แน่นอนว่า ในดินแดนที่มีประชากรเชื้อชาติญี่ปุ่นกว่า 99% อัพ ความขัดแย้งเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติในประเทศเดียวกันนี่ก็ดูเป็นเรื่องห่างตัวเหลือเกิน ไม่แปลกอะไรที่หลายคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีการประท้วงกันรุนแรงขนาดนั้น รวมไปถึงที่มาที่ไปจนกลายเป็นการประท้วงใหญ่ไปได้ ว่าประเด็นมันสะสมมานานหลายปี รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ทำให้ดูเป็นเรื่องไกลตัวชาวญี่ปุ่น
ซึ่งตรงนั้นเองก็เป็นจุดที่รายการเล่าข่าว หรือรายการวาไรตี้ข่าวญี่ปุ่นหลายรายการก็ได้พยายามอธิบายเรื่องนี้ในมุมมองต่างๆ แต่ที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาคือรายการ Korede Wakatta! Sekai no Ima หรือแปลได้ว่า อย่างนี้เอง! เรื่องราวในโลกตอนนี้ ซึ่งก็เหมือนการอธิบายข่าวสถานการณ์ปัจจุบันให้ผู้ชมดู และสำคัญคือ เป็นรายการของ NHK สถานีของรัฐที่บริหารงานโดนไม่มีโฆษณา แต่อาศัยเงินที่เก็บจากสมาชิกในการบริหารงาน (สมาชิก หมายถึง คนที่มีโทรทัศน์นั่นล่ะครับ เขาจะมีคนคอยแวะไปถามตามบ้านว่ามีโทรทัศน์รึเปล่า)
ซึ่งปัญหามันก็เกิดขึ้นเมื่อรายการได้พยายามอธิบายประเด็นดังกล่าว แต่มีช่วงหนึ่งในรายการได้อธิบายด้วยการทำคลิปอนิเมชั่นเล่าเรื่องผ่านตัวละครในการประท้วง ซึ่งคงกะว่าจะทำให้สั้นๆ เข้าใจง่าย แต่กลายเป็นว่า เละเทะ ครับ
คลิปดังกล่าว ให้ตัวละครชายผิวดำออกมาเล่าเรื่องราวว่าทำไมออกมาประท้วง แต่ปัญหาคือ ในคลิปสั้นๆ นั้น ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความตายของจอร์จ ฟลอยด์ หรือรวมไปถึงการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจที่ส่งผลให้ชาวอเมริกาผิวดำหลายรายเสียชีวิตเลยแม้แต่น้อย แต่กลับไปเน้นที่ประเด็นเงินรายได้ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความแตกต่างของจำนวนทรัพย์สินที่ครอบครอง และตบท้ายว่าการระบาดของไวรัส ส่งผลให้คนผิวสี (ไม่ใช่เฉพาะคนดำ) ที่อยู่ในพื้นที่แออัด และต้องทำงานที่ได้รับการเรียกว่าเป็น Essential Works หรืองานที่จำเป็น แต่พูดง่ายๆ ก็คือ งานแรงงานที่ทำให้ชีวิตคนทั่วไปเดินต่อไปได้ เช่น งานจราจร หรืองานบริการต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น จนกลายเป็นที่มาของการประท้วง
อ่านถึงตรงนี้อาจจะเลิกคิ้วทีนึงแล้ว แต่ปัญหาหนักกว่านั้นคือ การนำเสนอเป็นอนิเมชั่นนี่ล่ะครับ
ตัวละครชายผิวดำที่ออกมาเล่า คือเป็นตัวละครที่มีกล้ามโต ล่ำ เห็นลอนกล้ามเนื้อชัดยังกับหลุดออกมาจากบากิ ใส่เสื้อกล้ามสีขาว มีหนวดเครา ทำผมถักคอร์นโรว ท่าทางโกรธตลอด และวิธีการพูดก็เป็นไปตามนั้นพร้อมสำเนียงก็ราวกับหลุดมาจากหนังยากูซ่าเกรดบี นี่คือตัวละครหลักที่ออกมาพูด
เท่านั้นยังไม่พอ รอบๆ ตัวละครหลัก ก็มีคนผิวดำออกมาทำท่าโกรธกระฟัดกระเฟียด มีตัวละครดีดกีตาร์เพลงบลูส์อยู่ข้างๆ โดยใส่สูทพร้อมหมวก แต่ก็ยังล่ำมากเช่นกันจนแขนเสื้อฉีกขาด แล้วไม่ใส่รองเท้า (คือบากิจริงๆ แล้วล่ะ) และก็มีตัวละครที่แบกทีวีที่ไฟไหม้อยู่ ราวกับว่าเพิ่งปล้นมา และมีคนถือรูปห้างร้านที่ถูกปล้นจากความวุ่นวายครั้งนี้อีกด้วย
ดูเหมือนรายการจะภูมิใจกับคลิปอธิบายสถานการณ์ตัวนี้มาก ขนาดที่เอาเฉพาะคลิปนี้มาลงในทวิตของรายการด้วย เท่านั้นล่ะ ไม่เหลือครับ
ซึ่งตัวคลิปที่ว่า นอกจากตัดประเด็นสำคัญไปแล้ว
ยังกลายเป็นนำเสนอว่าที่คนออกมาประท้วงกัน
เพราะเรื่องของปากท้อง
และความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นหลัก
แต่ที่แย่กว่าคือ การนำเสนอภาพของการประท้วงนั่นล่ะ ไอ้การปล้นอะไรนี่มีจริงมั้ย ก็มี แต่กลายเป็นว่าเอามาเป็นตัวประกอบหลักของเรื่องก็ว่าแย่แล้ว ตัวละครที่ถูกใช้ก็คือการ stereotype ภาพของคนผิวดำออกมาในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นอันธพาล หรือ Thugs แบบที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ใช้เรียกตัวผู้ประท้วง เหมือนกับว่าไปหาตัวอย่างคนผิวดำน่ากลัวมาคนนึง แล้วเอามาปรับแต่งค่าความน่ากลัวต่างๆ ให้เต็ม 99 ทั้งๆ ที่ช่วงที่รายการออกอากาศ การประท้วงก็เป็นในทางที่สงบขึ้น และมีคนผิวสีอื่นๆ ออกมาร่วมประท้วงด้วยแล้ว แต่ภาพที่รายการฉายออกมาคือ กลุ่มคนผิวดำที่โกรธเกรี้ยวเพราะเรื่องเงิน โวยวาย และปล้นจี้อย่างเดียว
จริงอยู่ว่าไอ้การทำคลิปอธิบายแบบนี้มันช่วยให้เข้าใจประเด็นได้ง่ายขึ้น แต่ก็มักจะมีความเสี่ยงเรื่องของความมักง่ายและติดนิสัย stereotype จนกลายเป็นความเสี่ยงที่จะเหยียดคนชาติอื่นไปได้ง่ายๆ ลองตั้งคำถามกลับกันว่าถ้ารายการของอเมริกาพูดประเด็นคนญี่ปุ่นแล้วทำคลิปคล้ายกันโดยให้ตัวละครคนญี่ปุ่นใส่ชุดคาราเต้ หรือชุดนินจา สีตัวเหลืองจัดและตาชั้นเดียวพร้อมฟันเหยิน (แบบโปสเตอร์ propaganda ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง) คนญี่ปุ่นเองก็คงไม่แฮปปี้เหมือนกัน และนอกจากจะเป็นการ stereotype แล้ว ประเด็นสำคัญของเรื่องดันหายไปอีก เรียกได้ว่าซ้ำสองดอกจริงๆ
แถมที่เป็นปัญหาอีกเรื่องก็คือ เป็นรายการของทาง NHK นี่ล่ะครับ ถ้าเป็นรายการของสถานีเอกชน ก็ยังพอถูไถไปได้ อาจมีเสียงด่าบ้าง (เหมือนกรณีในย่อหน้าแรก) แต่พอเป็นช่องของรัฐ แต่กลับทำรายการแบบนี้ ก็ไม่เหลือครับ คนพร้อมด่าได้เต็มที่ เพราะจ่ายเงินบำรุงช่องไป ไม่ใช่ว่าทำเงินจากสปอนเซอร์ซะหน่อย
ผลก็คือ มีนักวิชาการทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกาออกมาเรียกร้องให้ทางสถานีชี้แจงเรื่องคลิปดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นก็กลายเป็นข่าวในญี่ปุ่นผ่านช่องทางต่างๆ อีกด้วย รวมไปถึงทางสถานทูตสหรัฐก็ทวีตออกมาว่า “เข้าใจว่า NHK พยายามที่จะอธิบายปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนในอเมริกา แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้คิดและระวังให้รอบคอบในการผลิต ภาพย่อที่ใช้นั้นดูรุนแรงและขาดการชั่งคิด” เรียกได้ว่าสถานทูตออกมาพูดแบบนี้ก็คงหน้าชาไม่น้อย สุดท้ายทางรายการก็ออกมาขอโทษและลบคลิปดังกล่าวออกจากทวิตเตอร์ไป
บางทีก็เข้าใจความพยายามจะนำเสนอประเด็นที่อาจยากสำหรับชาวญี่ปุ่นด้วยการทำคลิป หรือกราฟิกนำเสนอนะครับ แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ตัวคนทำคลิปเองก็เข้าใจประเด็นดีแค่ไหน ไม่อย่างนั้นก็เกิดปัญหาอย่างนี้ได้ง่ายๆ ซึ่งรวมไปถึงความมักง่ายในการเลือกคนสัมภาษณ์ หรือคนมาแสดงความเห็น เพราะในวงการบันเทิงญี่ปุ่น เวลาต้องการความเห็นชาวต่างชาติ ก็มักจะมีดาราต่างชาติที่พูดญี่ปุ่นคล่องอยู่ไม่กี่คน กลายเป็นว่าก็ซ้ำแต่คนเดิมๆ
และอย่างเรื่อง BLM ครั้งนี้ ผมดูรายการเล่าข่าวรอบบ่ายรายการหนึ่งก็รู้สึกแปลกใจกึ่งตลก ที่ชาวต่างชาติที่รายการเลือกมาร่วมรายการ ก็คือชาวอเมริกันผิวขวาหน้าเดิม จนงงว่าเขาไม่คิดจะหาคนอเมริกันผิวดำมาเล่าประสบการณ์จากมุมมองตัวเองบ้างหรือ ทั้งๆ ที่ในญี่ปุ่นก็มีทั้งดาราตลกอเมริกันที่เป็นคนผิวดำอยู่ รวมไปถึงมีกระทั่งนักเขียนอเมริกันผิวดำที่อยู่ในญี่ปุ่นมานานและเขียนบทความอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ กลับเลือกเอาคนหน้าเดิมๆ ที่มีชื่อเสียงพออยู่แล้วมาเล่าประเด็นเหล่านี้ เลยกลายเป็นว่ารู้สึกว่าต้องการแค่ความเห็นของ ‘ชาวต่างชาติ’ เพียงเท่านั้น เพื่อให้รายการดูมีความสากลดี
เรื่องแบบนี้ ถ้าเป็นในอดีตก็คงจะไม่มีการถือสาหาความอะไรกันมาก แต่โลกก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว และโลกก็เชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิม การพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นนอกประเทศตัวเอง บางทีถ้าทำแบบมักง่ายเกินไป ก็กลายเป็นปัญหาแบบนี้ได้ ของแบบนี้กับประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์น้อยมาก ก็อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้เหมือนกันครับ และที่สำคัญก็อย่าลืมว่า ของแบบนี้ไม่ได้ผ่านสายตาแค่คนในประเทศเท่านั้น แต่มันพร้อมที่จะไปสู่สายตาชาวโลกได้อย่างรวดเร็ว การจะทำรายการโดยชาวญี่ปุ่นเพื่อชาวญี่ปุ่น บางทีอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก