ตอนอยู่ออฟฟิศเป็นเพื่อนร่วมงาน พอเลิกงานเป็นเพื่อนในชีวิตจริง อาจเป็นบทบาทของใครหลายคนที่สนิทกับเพื่อนในออฟฟิศมากเสียจนสานสัมพันธ์ต่อเนื่องแม้จะล่วงเลยเวลางานมาแล้ว การมีเพื่อนในที่ทำงานถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าความสนิทสนมนั้นก้าวข้ามเส้นจนเกินไป อาจทำให้เกิดความอึดอัดได้เช่นกัน
แล้วเราจะกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานยังไง ไม่ให้ความสนิทสนมเลยเถิด จนเกิดสถานการณ์ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวกัน
ตั้งแต่หัวหน้าที่ชอบเล่าเรื่องส่วนตัวแบบไม่มีกั๊ก ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานช่างสงสัย ถามทุกซอกทุกมุมของชีวิต จนแทบจะเป็นกล้องวงจรปิดที่รู้เห็นทุกอย่างไปแล้ว อะไรเหล่านี้ ทำให้การพูดคุยเรื่องส่วนตัวกัน (โดยเฉพาะในเวลางาน) ที่กลายเป็นเรื่องเทาๆ ที่เหมือนจะทำได้ปกติ แต่ถ้าหากมากเกินไป จะไม่ส่งผลกับบรรยากาศในการทำงานจริงหรือ?
หากใครที่กำลังลำบากใจกับความสนิทสนมที่มากเกินไปในที่ทำงาน เราสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ด้วย ‘การกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์’ ไม่ได้แปลว่าเรากำลังมีกำแพงกั้นความสนิทสนม แต่การปล่อยให้เส้นแบ่งของเพื่อนร่วมงานและเพื่อนนอกเวลางานเป็นเส้นเบลออาจส่งผลเสียมากกว่า
มาดูกันว่า เราจะสานสัมพันธ์เพื่อนร่วมงานอย่างไร แบบที่สนิทสนมกันได้ แต่ไม่ให้ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวกันและกัน
สื่อสารความต้องการอย่างชัดเจน (แต่ไม่เล่นใหญ่เกินไป)
ก่อนอื่น ตัวเราเองต้องรู้ก่อนว่า เราต้องการอะไร อะไรที่เราทนได้และอะไรที่จะไม่ทน และสุดท้าย เราอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร เพื่อให้เกิดเส้นแบ่งคร่าวๆ ในใจของเราก่อน แล้วมาสื่อสารสิ่งนี้ออกไปอย่างชัดเจน เช่น ฉันโอเคที่จะคุยในเรื่องนี้นะ แต่กับอีกเรื่องรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่เลย หวังว่าจะเข้าใจกันนะ หรือ เรานั่งคุยกันนานแค่ไหนก็ได้นะ เป็นชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาพักผ่อน ฉันขอกลับไปใช้เวลาส่วนตัวที่ห้องนะ เป็นต้น
แต่อย่าลืมระมัดระวังในเรื่องของอารมณ์ที่ใส่ลงไปในประโยค ทั้งการเลือกใช้คำ และน้ำเสียง พยายามให้การสื่อสารเป็นรูปแบบของการบอกกล่าว ไม่ใช่ดราม่าเบอร์ใหญ่ใส่ไปเต็มข้อ ว่าเขากำลังทำให้เราอึดอัดแค่ไหน เรารู้สึกแย่แค่ไหน แบบนั้นอาจทำให้เรากลายเป็นคนที่รับมือยากในสายตาคนอื่นแทน
อย่าลืมให้เหตุผล
นอกจากบอกความต้องการของเราอย่างชัดเจนแล้ว การเสริมด้วยเหตุผลส่วนตัวของเรา อาจช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ว่าทำไมเราถึงต้องการแบบนี้นะ เช่น คุยเรื่องนี้ที่นี่ได้นะ แต่พอถึงที่พักแล้ว ฉันไม่สะดวกโทรคุยต่อนะ พอดีเหนื่อยกับโปรเจ็กต์ใหม่มาทั้งสัปดาห์เลย เป็นต้น
ส่วนหนึ่งเพราะคนเรามักจะปฏิบัติตามในสิ่งที่พวกเขารู้ถึงเหตุผลที่ต้องทำเท่านั้น หากพวกเขายังเกิดคำถามอยู่ว่า ทำไมถึงไม่ได้นะ ทำไมถึงไม่อยากคุยนะ เขาก็จะยังมีคำถามต่อไปไม่รู้จบ
ที่สำคัญ การให้เหตุผลอย่างชัดเจน ช่วยให้น้ำหนักว่าเรื่องนี้เราไม่ได้พูดปัดๆ ไปเพราะอารมณ์นะ ไม่ใช่ว่าเบื่อ เครียด เซ็ง จากเรื่องอื่นใดแล้วมาลงกับบทสนทนานี้ ยิ่งเราพูดอะไรตรงไปตรงมาและเข้าใจง่ายเท่าไร อีกฝ่ายจะอ้างความไม่ชัดเจนของเราได้ยากมากขึ้นเท่านั้น
ตอบสนองในทันที ไม่ต้องรอให้กลายเป็นระเบิดเวลา
เรามีสิทธิ์ที่จะขีดเส้นว่าใครควรยืนในระยะใด อย่าปล่อยให้ความเกรงใจกลายเป็นสิ่งที่ปิดปากเราไว้ จนต้องรอถึงวันที่ความอดทนของเราไม่ทำงานอีกต่อไปแล้ว หากเรารู้จักปฏิเสธหรือตอบโต้ได้ทันท่วงที อีกฝ่ายจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า สถานการณ์แบบไหนที่เราอึดอัด เมื่อมีสิ่งนี้เกิดขึ้นในอนาคต อีกฝ่ายจะจัดการมันได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน
การกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ ไม่ใช่การแยกตัวออกจากสังคม ว่าฉันไม่คุยกับใครหรอกนะ ฉันเอาใจยาก ฉันต้องการความเป็นส่วนตัว แต่เป็นการรู้ลิมิตในความสัมพันธ์ของตัวเองต่างหาก ถ้าเราไม่สื่อสารความต้องการออกไป ความเกรงใจที่กดทับเราอยู่ อาจพังครืนลงมาในสักวัน ในทางกลับกัน กลับเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแรง เข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้น มีเรื่องผิดใจกันน้อยลง
อ้างอิงจาก