สำหรับท่านผู้อ่านที่เรียนจบมัธยมแล้ว เวลามองย้อนกลับไปช่วงมัธยมของตัวเอง รู้สึกอย่างไรครับ หลายต่อหลายคนคงบอกว่าเต็มไปด้วยความทรงจำต่างๆ เพราะมันก็เป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ผมเองก็สนุกกับช่วงมัธยมเป็นอย่างมาก เพราะตอนนั้นถ้าไม่เล่นบาส เตะบอล ก็ส่องสาวครับ (แต่เด็กมัธยมตอนนี้หลายต่อหลายคนต้องออกมาสู้เพื่ออนาคต ทั้ง ๆที่ควรเป็นช่วงเวลาที่ได้สนุกแท้ๆ ก็ขอเอาใจช่วยครับ)
ช่วงชีวิตมัธยมนี่ไม่ว่าที่ไหนก็คงเหมือนกัน เพราะมันคือช่วงสุดท้ายของความไร้เดียงสา ก่อนที่จะต้องก้าวออกไปเจอโลกภายนอกที่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงมีสื่อบันเทิงเกี่ยวกับช่วงเวลานี้ให้เราได้เสพกันมากมาย คนเรียนจบมาแล้วก็ได้แต่มองย้อนกลับไปด้วยวความถวิลหา
เช่นเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นที่เราก็พบเรื่องราวของวัยรุ่นมัธยมได้เยอะมาก โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องราวของเด็กมัธยมที่ ตัวเอกต้องไปเข้าชมรมอะไรซักอย่างที่ตัวเองไม่คุ้นหรือไม่ชอบ ดูเห่ย แล้วก็กลายเป็นว่าเริ่มชอบมัน มีปัญหา ก้าวผ่านได้ สุดท้ายจบที่ก็สนุกไปกับกิจกรรมนั้นในงานเทศกาลของโรงเรียน (ตัวอย่างก็เช่น Water Boys, Swing Girls หรือเรื่องแนวๆ นี้ที่สร้างกันทุกสามปี)
ดูเหมือนว่าความ ‘เซชุน’ หรือวัยเยาว์ ของญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมมัธยม การแข่งกีฬา การไปทัศนศึกษา (ซึ่งถ้าเป็นมังงะก็มักจะตามมาด้วยฉากอาบน้ำร้อนออนเซ็นเป็นแพทเทิร์น) เทศกาลประจำโรงเรียน รวมไปถึงพิธีการจบการศึกษา ซึ่งสำหรับวัยรุ่นในช่วงอายุนั้นแล้วก็คงเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตพอๆ กับการไปงานพรอมของเด็กอเมริกา ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากพลาดไป
จนกระทั่งเกิด COVID-19 กับ New Normal นี่ล่ะครับ…
สำหรับเด็กทั้งหลายที่ตั้งหน้าตั้งตารอกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นในปีนี้ ก็จัดว่าโชคร้ายจริงๆ เพราะว่าไวรัส ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนที่ผ่านมา แค่ไปโรงเรียนนี่ก็จัดว่าเพิ่มความเสี่ยงแล้ว การที่จะเดินทางไปไหนมาไหน หรือจัดกิจกรรมที่มีคนมาร่วมมากมายก็ถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินกว่าที่โรงเรียนจะรับผิดชอบไหว ทำให้จัดกิจกรรมต่างๆ แบบที่ผ่านมาไม่ได้ กลายเป็นเรื่องเศร้าของวัยรุ่นไป
ที่สำคัญคือ ประมาณช่วงนี้นี่ล่ะครับที่เป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนต่างๆ จะจัดการทัศนศึกษา บางโรงเรียนก็ไปต่างจังหวัด โรงเรียนต่างจังหวัดก็มาโตเกียว โรงเรียนหรูก็อาจจะไปต่างประเทศ พอเกิด COVID-19 ระบาด ก็กลายเป็นว่า ยกเลิกกันเกือบหมด เป็นผม ผมก็คงเสียดายไม่น้อย กะได้เที่ยวเต็มที่ กลายเป็นว่าอดหมด แล้วจะบันทึกความทรงจำกับเพื่อนๆ กันอย่างไร
แต่ก็ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะยอมแพ้ไปหมดนะครับ เพราะว่า ถ้าการสร้างความทรงจำร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ รวมไปถึงการได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากการทัศนศึกษา บางทีก็ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางไปไหนก็ได้เหมือนกัน พอเห็นแววไวรัสระบาดแล้ว หลายโรงเรียนก็พยายามปรับตัวกันอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของการทัศนศึกษาเลยก็ว่าได้ครับ
เท่าที่ได้เห็นและไล่อ่านมา บางโรงเรียนก็เลือกที่จะทัศนศึกษาด้วย Zoom โดยให้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่อยากจะให้นักเรียนได้เรียนรู้ จัดการคอล Zoom มาหานักเรียนพร้อมๆ กัน พร้อมทั้งบรรยายเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือการพาเที่ยวด้วยการไลฟ์วิดีโอสด แต่สามารถสื่อสารกับนักเรียนไปด้วยพร้อมๆ กันได้ แม้จะไม่ได้ไปเอง แต่อย่างน้อยก็ได้เปิดโลกได้เหมือนกัน ตัวอย่างที่ผมเห็นก็ให้ชาวญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ที่โรงเรียนคนญี่ปุ่นในนิวยอร์ก พาชมเมืองนิวยอร์ก และอธิบายวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวอเมริกาให้นักเรียนในห้องได้ชมกัน
บางโรงเรียนก็ไปล้ำกว่านั้น แม้จะไม่ได้ใช้การไลฟ์เพื่อแสดงให้นักเรียนได้เห็น แต่เลือกแนวทางอื่นคือ ทัศนศึกษาด้วย Virtual Reality คือให้เด็กนักเรียนใส่หน้ากาก VR แล้วเดินชมสถานที่ท่องเที่ยวได้แบบเสมือนจริง เรียกได้ว่า พอมีปัญหา ก็ต้องเอาชนะด้วยไอเดียนั่นล่ะครับ
บางโรงเรียนก็เปลี่ยนแนวทางกิจกรรม ถ้าเดินทางไปไหนไม่ได้ ก็หาตัวเลือกอื่น บางโรงเรียนก็เลือกเหมาพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหลังจากปิดทำการแล้ว ให้นักเรียนได้เข้าชมเป็นกลุ่มในเวลากลางคือ ก็ได้บรรยากาศอีกแบบไป บางโรงเรียนก็ไปร่วมกับสวนสัตว์ในท้องที่ ให้นักเรียนได้สลับไปทดลองทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในนั้นแทน บางโรงเรียนก็เอางบตรงนั้น ไปเหมาจองโดมสนามเบสบอลของทีมดังประจำจังหวัด เพื่อจัดกิจกรรมในนั้นแทน เพราะว่ามันกว้างพอให้เด็กได้สนุกกันได้เต็มที่
หลายๆ ที่ท่องเที่ยวก็ได้รับการอุดหนุนจากโรงเรียนในจังหวัดแทน ตัวอย่างเช่น Upopoi ศูนย์เรียนรู้วัฒธรรมชาวไอนุในฮอกไกโด ก็มีโรงเรียนในจังหวัดมาเยี่ยมเยือนถึง 350 โรงเลยทีเดียว กลายเป็นโอกาสให้เด็กได้กลับมามองย้อนไปที่ของดีใกล้ตัวอีกครั้ง
ที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าน่ารักดีคือ มีโรงเรียนหนึ่งที่สมาคมครูและผู้ปกครอง ช่วยกันหาทางออก ด้วยการแปลงโรงเรียนให้กลายเป็นสวนสนุก ทำกันเองแบบ DIY ให้ผู้ปกครองมารับบทผีในบ้านผีสิงเป็นต้น เรียกได้ว่าร่วมกันสนุกอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการขึ้นไปที่ดาดฟ้าโรงเรียนแล้วชมพลุดอกไม้ไฟที่โรงเรียนจุดเอง โดยได้รับความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นให้จุดได้อย่างไม่ต้องกลัวว่าจะไปรบกวนใคร เพราะคนในท้องที่ก็บอกว่า “เสียงดังนิดหน่อยเพื่อให้เด็กๆ ได้มีความทรงจำที่ดีร่วมกัน ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย” ดูเป็นความร่วมมือกันที่ดีนะครับ
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีโรงเรียนที่เดินหน้าจัดการเดินทางทัศนศึกษาอยู่ แต่ก็ต้องถ่อมตัวกว่าปกติครับ จะให้เดินเฮฮาคงไม่ไหว บางโรงเรียนก็เลือกให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทแทนเครื่องแบบนักเรียนตามแบบที่ทำมาเสมอ เหตุผลก็คือ เพื่อที่จะได้ไม่เป็นจุดเด่น และถูกมองว่าเป็นกลุ่มนักเรียนจากโตเกียว ซึ่งอาจจะทำให้คนในท้องถิ่นไม่พอใจได้ รวมไปถึงเวลากินอาหารก็กินในห้องพักแทนที่จะเป็นห้องรวม ก็นี่ล่ะครับ New Normal จะให้ไปเฮฮาไม่สนอะไร ก็โดนเฉ่งกันพอดี
แต่ในทางกลับกัน พอเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมา ก็เป็นโอกาสที่ทำให้หลายๆ คนได้กลับมามองย้อนอีกครั้งว่า กิจกรรมเหล่านี้สำคัญแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องการทัศนศึกษานี่ล่ะครับ
ที่ผ่านมาคือกิจกรรมเหล่านี้ก็ทำต่อกันมาโดยไม่ได้มีการตั้งคำถามอะไร เขาทำมาก็ทำต่อไป แต่พอได้มองย้อนอีกครั้งก็เริ่มเห็นประเด็นชวนคิดหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การมองว่าเป็นการสร้างความทรงจำร่วมกัน แต่ถ้าคนที่ไม่สามารถร่วมกิจกรรมล่ะ ไม่มีความทรงจำกับคนอื่นเหรอ
โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้เพราะปัญหาการเงินของทางครอบครัว เพราะการไปทัศนศึกษาก็มีค่าใช้จ่ายต่างหาก ไม่แปลกที่จะมีครอบครัวที่จ่ายให้ลูกไม่ไหว เท่านั้นยังไม่พอ ต่อให้ส่วนที่ต้องจ่ายให้โรงเรียนไม่ได้แพงมาก แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาอีก พอเด็กไม่ได้ไป นอกจากจะกลายเป็นหลุดจากกลุ่มเพื่อนแล้ว ยังเป็นความทรงจำที่เศร้าไปแทนเสีย เด็กบางคนก็มองว่า แทนที่จะให้โรงเรียนเป็นคนจัดการเรื่องการสร้างความทรงจำ ให้เด็กเขาจัดการกันเองไม่ดีกว่าเหรอ
และอีกประเด็นที่สำคัญคือ การไปทัศนศึกษา ได้ประโยชน์กับการศึกษาแค่ไหน เพราะไปๆ มาๆ กลายเป็นเหมือนการร่วมงานของโรงเรียนกับบริษัททัวร์ จัดให้นักเรียนพาไปเที่ยวเอาสนุกเฉยๆ มากกว่า แน่นอนว่าก็มีการไปเรียนรู้บ้าง แต่หลังจากนั้นการจัดกลุ่มให้นักเรียนไปเที่ยวสวนสนุก ก็ชวนงงเหมือนกันว่าได้อะไร ทำให้มีเสียงเรียกร้องว่าให้พยายามทำให้การทัศนศึกษามีคุณค่าสมกับเป็นการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่ควรเป็นอีกครั้ง
ช่วงเวลาแบบนี้ก็เรียกได้ว่าเป็น New Normal จริงๆ ครับ และการปรับตัวและอยู่กับมันก็เป็นเรื่องสำคัญ ความยากลำบาก ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มนุษย์เราได้เรียนรู้เพื่อที่จะปรับตัวไปข้างหน้า เพราะการทำอะไรแบบเดิมๆ มันไม่ได้ผลและไม่ได้ทำให้เกิดอะไรใหม่ๆ มัวแต่จะอยู่กับอะไรแบบเดิมๆ ก็ไม่ไหวหรอกครับ สู้หาทาง ปรับตัว และก้าวไปข้างหน้าดีกว่า
อ้างอิงข้อมูล