หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เราทุกคนต้องเผชิญกับสภาวะที่เรียกว่า Work From Home อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และนั่นเองก็ทำให้เราเข้าใจว่าการทำงานจากที่บ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เราเคยคิดกันไว้ เพราะการจะนั่งทำงานจากที่บ้านให้ได้เหมือนที่ทำงานนั้นต้องมีเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการนั่งทำงานนานๆ ทั้งวันจริงๆ
เพราะเดิมทีแต่ไหนแต่เรามาเราอาจจะนั่งทำงานอยู่บ้านแต่วันละไม่กี่ชั่วโมงสั้นๆ แต่พอต้องนั่งทำงานอยู่บ้านทั้งวันนั้นก็ทำให้เราได้พบความจริงที่บอกให้รู้ว่าบ้านเรานั้นไม่เอื้อต่อการทำงานเสียเลย ตั้งแต่เก้าอี้ที่มีไม่ได้เหมาะกับการนั่งทำงาน หรือโต๊ะที่เคยใช้นั่งทำงานบ้างในบางครั้งพอถึงเวลาเอามาใช้เป็นโต๊ะทำงานจริงๆ นั้นก็ไม่เหมาะ ยังไม่นับถึงเรื่องของอินเทอร์เน็ตที่อาจจะไม่ได้เร็วทันใจเหมือนที่ทำงาน แล้วไหนจะมุมเงียบๆ สงบๆ ในบ้านที่ช่างหาได้ยากเย็นเหลือเกิน และที่ดูจะเป็นอุปสรรคที่สุดกับคนทำงาน Gen X หรือ Gen Y หลายคนคือพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่บ้านไม่เข้าใจว่าได้อยู่บ้านด้วยกันทั้งทีแต่ทำไมกลับไม่มีเวลาให้พวกเขาเลย ทำไมถึงเอาแต่นั่งอยู่หน้าคอมทั้งวัน ทำไมถึงไม่ใช้เวลาร่วมกันเหมือนวันหยุดก่อนหน้าที่พออยู่บ้านก็ทำกิจกรรมร่วมกัน
และก็นั่นแหละครับ ทั้งหมดนี้ทำให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าหลายคนเรียกร้องจะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิมไม่น้อย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับบ้านให้กลายเป็นที่ทำงานได้ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในยุค COVID-19 ที่ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะในวันนี้เราไม่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เหมือนช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายนอีกต่อไปแล้ว แต่นั่นก็มาพร้อมกับโจทย์ใหม่ของสังคมว่าเราจะเดินหน้าออกไปทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจไม่หยุดชะงักได้อย่างไรโดยไม่ทำให้ COVID-19 กลับมาอีกครั้ง
และโจทย์นี้เองก็มาพร้อมกับศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า new normal หรือชีวิตวิถีใหม่ที่เราทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำตามถ้าไม่อยากจะต้องกลับไปล็อกดาวน์ตัวเองอยู่บ้านเหมือนเดิมอีกต่อไป และหนึ่งในนโยบายสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ที่หลายประเทศออกมารณรงค์กันอย่างมากว่าพวกเราออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันได้นะ แต่ต้องรู้จักเว้นระยะห่างกันไว้หน่อย แล้วไอ้ระยะห่างที่ว่าหน่อยแท้จริงแล้วก็ไม่ได้หน่อยจริงอย่างที่คำพูดว่า เพราะในทางปฏิบัติแล้วเราควรต้องห่างจากคนข้างหน้าและคนรอบข้างอย่างน้อยถึง 2 เมตร และนั่นก็ทำให้ภาคธุรกิจทั้งหลายเกิดโจทย์ใหม่ทางการตลาดว่าเราจะทำให้ลูกค้าเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยได้อย่างไรโดยที่ธุรกิจยังคงทำรายได้ กำไร หรือยอดขายไม่น้อยกว่าเดิ
ตัวอย่างในบ้านเราที่เห็นมีการปรับตัวเป็นรายแรกคงหนีไม่พ้นร้านชาบูที่ดังเป็นพลุแตกในช่วง COVID-19 ที่ชื่อว่า เพนกวินอีทชาบู ร้านนี้มีการปรับตัวด้วยการเอาฉากกันมาทำให้หนึ่งโต๊ะสามารถนั่งด้วยกันได้เหมือนเดิม และนั่นก็เป็นการทำให้พื้นที่ต้องถูกนำไปเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นลดลงไปมาก และนั่นก็หมายความว่าทางร้านสามารถใช้พื้นที่ต่อตารางเมตรสร้างยอดขายได้ดีกว่าร้านทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ฉากกั้นแบบฉลาดนี้แน่นอน
หรือข้ามไปดูที่ประเทศลิทัวเนียที่เมือง Vilnius ก็มีการปรับพื้นที่สาธารณะเดิมที่เป็นของทางการให้กลายเป็นพื้นที่ที่ภาคธุรกิจร้านค้าเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ ถ้าให้คิดถึงภาพง่ายๆ ก็คือเอาพื้นที่ของเมืองมาเปลี่ยนให้กลายเป็นตลาดนัดที่ตั้งโต๊ะกินข้าวแบบส่วนร่วมของร้านรวงต่างๆ นี่แหละครับ
ทางเทศบาลของเมืองนี้เขาพบว่าการจะให้ร้านค้าปรับร้านตัวเองให้เหมาะกับการเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะเป็นร้านแบบพื้นที่ปิดแล้ว จากเดิมที่เคยตั้งได้สิบโต๊ะอาจจะเหลือแค่ 2-3 โต๊ะด้วยซ้ำ แล้วทีนี้พอตั้งได้แค่ไม่กี่โต๊ะนั่นก็หมายความว่ากระทบกับค่าใช้จ่ายเดิมแน่ ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ ค่าพนักงาน ยังไม่รวมถึงค่าตัวเจ้าของร้านที่ต้องกินต้องใช้ทุกวันเหมือนกันครับ
ทางการของเมือง Vilnius เลยได้ปรับลานกลางเมืองที่เป็นพื้นที่เดินพักผ่อนหย่อนใจเดิมให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับตั้งโต๊ะของร้านต่างๆ ที่สามารถตั้งโต๊ะให้ห่างกันในระยะ social distancing ได้สบายๆ และก็ยังเป็นพื้นที่เปิดโล่งลดการเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปพร้อมกัน ทำให้ลูกค้าก็สบายใจที่จะเข้ามาใช้บริการ ทำให้ตัวพนักงานเองก็สบายใจว่าตัวเองมาทำงานโดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากพื้นที่ปิดอีกต่อไป
หรืออีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือการเปลี่ยนตลาดนัด ตลาดสด ให้ลดการแออัดกระจายตัวออกไปทั่วๆ เมือง คุณลองนึกถึงภาพตลาดสดเดิมดูซิครับว่ามันคือพื้นที่ปิดหรืออาจจะเป็นพื้นที่เปิดขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขายมากมายเป็นร้อยๆ ร้านค้า และนั่นก็หมายความว่าตลาดจะเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย เพราะมันคือจุดรวมที่ผู้ซื้อเองก็ต้องเข้ามาหาซื้อของกิน ของใช้ วัตถุดิบที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเหมือนกัน
บริษัทออกแบบแห่งหนึ่งก็เลยคิดใหม่ทำใหม่ว่าทำไมตลาดต้องเป็นที่กระจุกตัวของร้านค้าต่างๆ มากมายล่ะ ทำไมเราไม่ทำให้ตลาดกลายเป็นการกระจายตัวออกไปให้ทั่วเมือง จากเดิมหนึ่งเมืองอาจมีตลาดอยู่แค่ 3-4 จุดใหญ่ๆ แต่พอเราต้อง social distancing หรือเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกันตัวตลาดเองก็ควรจะต้องปรับตัวเหมือนกัน บริษัทแห่งนี้เลยเสนอว่าเราควรทำตลาดให้มีพื้นที่แค่ 3 ด้านแบบง่ายๆ มีทางเข้าทางเดียว ทางออกทางเดียว แล้วก็กระจายความหนาแน่นของตลาดออกไปให้ทั่วเมือง จาก 3-4 จุดที่แอดอัดกันอยู่ในเมืองเดียว กลายเป็นกระจายตัวตลาดออกไปเป็นสิบเป็นร้อยจุดทั่วเมืองนั่นเองครับ
นั่นหมายความว่าการกระจายตัวของตลาดแบบใหม่
จะส่งผลให้เกิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจของเมืองเพิ่มขึ้น
แน่นอนว่าอาจจะไม่สะดวกนักถ้าเราต้องการของที่แตกต่างกันหลายชิ้น แต่มันจะสะดวกกับคนอีกมากที่สามารถหาซื้อของกินของใช้ที่จำเป็นได้ง่ายขึ้นเพราะตลาดกระจายตัวจนมาอยู่ใกล้บ้าน และในขณะเดียวกันก็ลดการแออัดของผู้คนออกไปทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจที่จะออกไปเดินตลาดกันมากขึ้นครั
แน่นอนว่าโจทย์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับภาคธุรกิจ แต่ยังเกิดขึ้นกับภาคการให้บริการสาธารณะอย่างหลายๆ เมืองสำคัญในโลก ไม่ว่าจะปารีส ลอนดอน มิลาน หรือเมืองอื่นๆ ก็ตาม ที่มีการผลักดันให้เปลี่ยนจากการใช้บริการสาธารณะที่ต้องแออัดยัดเยียดกันให้หันมาใช้ยานพาหนะส่วนตัวกันมากขึ้น
ตั้งแต่เปิดเมืองมาเราคงรู้สึกไม่น้อยว่าทำไมรถบนถนนกรุงเทพมันถึงติดมากกว่าก่อนหน้านะ นั่นก็เพราะหลายคนเลือกที่จะเอารถส่วนตัวมาใช้เพราะไม่อยากเข้าไปแออัดในรถไฟฟ้ารถไฟใต้ดินนั่นเอง แต่ในเมืองดังๆ ของโลกที่กล่าวมาก่อนหน้าพวกเขามาวิธีการคิดและวิธีการทำที่ต่างออกไป ที่ผมบอกว่าพวกเขาผลักดันให้คนเอายานพาหนะส่วนตัวมาใช้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอยากให้คนเอารถยนต์ส่วนตัวมาใช้นะครับ แต่พวกเขาผลักดันให้คนเอา ‘รถจักรยานส่วนตัว’ มาใช้ต่างหาก
นั่นก็เพราะระยะห่างของจักรยานสองคันอยู่ที่ประมาณ 2 เมตรพอดิบพอดี แถมที่สำคัญจักรยานไม่ได้ทำให้รถติดเพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้มลพิษในเมืองเพิ่มสูงขึ้น และทุกคนยังคงสะดวกสบายจากการไปไหนมาไหนได้เหมือนเดิม ด้วยการปั่นจักรยานไปทำงานในระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตรได้สบายๆ (แต่ก่อนผมปั่นจักรยานจากบ้านไปทำงานทุกวันด้วยระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร เชื่อมั้ยครับว่าใช้เวลาแค่ 20-30 นาทีเท่านั้นเอง สะดวกกว่านั่งวินมอเตอร์ไซค์ออกไปรถไฟใต้ดิน แล้วเดินจากรถไฟใต้ดินไปตึกที่ทำงานอีกด้วยครับ)
และเมื่อโจทย์คือต้องการให้คนใช้จักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทางเพิ่มขึ้น สิ่งที่ทางการของเมืองต่างๆ ทำในทันทีคือการเพิ่มเส้นทางจักรยานให้ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเมืองหลายสิบจนไปถึงร้อยกิโลเมตร แต่ข้อนี้แม้ว่าการเดินทางในบ้านเราอาจไม่สะดวกที่จะใช้จักรยาน แต่เราสามารถใช้พวก Scooter ไฟฟ้าที่ชาร์จไฟในราคาหมื่นต้นๆ ถึงสองหมื่นแล้ววิ่งฉิวสบายๆ ในระยะทาง 20-40 กิโลเมตรตามความจุแบตเตอรี่ได้สบายๆ ครับ
ดังนั้นทั้งหมดนี้คือการฉายให้เห็นภาพรวมของชีวิตที่ยังคงต้องเดินทางต่อไปท่ามกลางความต้องการที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แม้ว่าเราจะยังต้อง social distancing เว้นระยะห่างระหว่างกันแต่ปากท้องเรานั้นไม่สามารถเว้นระยะจากการกินการใช้ได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักการตลาด ว่าเราจะต้องหาโซลูชั่นใหม่ๆ อย่างไรที่จะทำให้คนสบายใจที่จะใช้บริการและทำให้เราได้เงินกลับเข้ามาในวันที่ใครๆ ก็ยอมรับแล้วว่า cash is king ครับ