ช่วงกลางเดือนที่่ผ่านมา มีงานนิทรรศการ ANICO ที่ทางกลุ่ม Read 2 Rights เป็นผู้จัดงานดังกล่าว ซึ่งในตัวงานมีทั้งการเสวนาของเหล่าสำนักพิมพ์การ์ตูนในประเทศไทยและโปรดิวเซอร์อนิเมชั่นจากญี่ปุ่น การแสดงจากน้องๆ วง BNK48 ฯลฯ
แต่ประเด็นหลักอย่างหนึ่งที่ตัวผู้เขียนรู้สึกเกินคาดเมื่อได้ไปนั่นก็คือ นิทรรศการขนาดย่อม TEZUKA OSAMU – MESSAGE TO THE FUTURE ที่รวบรวมเอาผลงานคลาสสิกที่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเทะสึกะ โอซามุ พร้อมรายละเอียดโดยคร่าวมาแสดงให้เห็นในรูปแบบภาษาไทย (และเป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังจะมีงานเหล่านี้มาขายกันด้วย)
ด้วยความที่ว่าการ์ตูนของอาจารย์เทะสึกะ ก็ถูกตีพิมพ์ในไทยอยู่หลายเรื่อง อย่าง แบล็คแจ็ค หมอปีศาจ, มิดไนท์ หน้ากากราตรี ฯลฯ รวมถึงอีกหลายเรื่องที่ยังไม่เคยเอามาพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทย ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากแนวเรื่องขายยาก หรือไม่ก็มีความสุ่มเสี่ยงถ้าจัดทำออกมาจริง
ด้วยเหตุข้างต้นนี้ทำให้เราคิดว่าอยากจะพูดถึง การ์ตูนเด่นของอาจารย์เทะสึกะอันเต็มไปด้วย ‘ความกล้า’ ที่ส่งผลให้คนรุ่นหลังไม่ว่าจะในฝั่งผู้สร้างหรือผู้เสพ ได้มีผลงานหลากสไตล์อย่างที่เห็นอยู่ในยุคปัจจุบันนี้
Shin Takarajima
ผลงานชิ้นที่สองของอาจารย์ เทะสึกะ โอซามุ แต่เป็นงานชิ้นแรกของอาจารย์ที่มีการรวมเล่ม (งานชิ้นแรกนั้นเป็นการ์ตูน 4 ช่องจบที่ถูกรวมเล่มในภายหลัง) ชื่อเรื่องแปลว่า ‘เกาะมหาสมบัติแห่งใหม่’ ที่นำเอาโครงเรื่องมาจากนิยาย ‘เกาะมหาสมบัติ’ ของ โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเฟนสัน ตัวงานนำเอาสไตล์การเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์มาใช้เป็นเรื่องแรกๆ ของวงการมังงะญี่ปุ่น ตัวงานสะท้อนความ ‘บ้างาน’ ของอาจารย์เทะสึกะ ตรงที่ต้นฉบับเดิมนั้นเป็นการ์ตูนจำนวน 250 หน้า ก่อนจะถูกทอนลงเหลือ 190 หน้า ด้วย
Metropolis
ก่อนจะสร้างผลงานไซไฟที่เข้าถึงง่ายอย่าง ‘เจ้าหนูปรมาณู’ เรื่องนี้ถือว่าเป็นการ์ตูนแนวไซไฟผสมการเมืองอย่างจริงจังเกี่ยวข้องกับโลกอนาคตที่มีนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างสิ่งมีชีวิตเทียมเพื่อจะครองโลกและทำให้ ‘เมืองหลวง’ ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยการเข้าใช้ชีวิตร่วมกับสังคมมนุษย์ แม้ว่าตัวเรื่องจะใช้ชื่อ Metrolpolis เหมือนภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 1972 แต่ความจริงแล้วนอกจากที่จะมีตัวละครหลักเป็น ‘หุ่นยนตร์เพศหญิง’ (ซึ่งจุดนี้อาจารย์เทะสึกะเคยให้สัมภาษณ์ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหนังข้างต้นจริง) ตัวการ์ตูนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหนังเรื่องดังกล่าวเลย และการออกตีพิมพ์ของการ์ตูนเรื่องนี้ก็ทำให้โลกได้รับทราบว่า มังงะ เองก็สามารถเป็นงานวรรณกรรมที่ซีเรียสและมีคุณค่าข้ามกาลเวลาได้
Kimba The White Lion
สิงสาราสัตว์พูดจาได้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการ์ตูนของ เทะสึกะ โอซามุ แต่เป็นการ์ตูนเรื่องนี้ที่ตัวละครส่วนมากเป็นสรรพสัตว์และให้ตัวเอกเป็นสิงโตเผือกที่จะต้องฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อกลายเป็นเจ้าป่า ตัวงานถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นหลายครั้ง รวมถึงประเด็นดังที่ว่าภาพยนตร์เรื่อง ไลอ้อนคิง (Lion King) ของทางดิสนีย์ ลอกเลียนแบบงานชิ้นนี้ จนถึงขั้นที่มอนิเมเตอร์ญี่ปุ่นหลายร้อยชีวิตส่งจดหมายแสดงความเห็นเรื่องนี้ แม้ว่าเรื่องการลอกงานนั้นจะจบลงแบบไม่ค่อยเคลียร์นัก แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ ตัวเทะสึกะ โอซามุ เองก็เป็นแฟนระดับ ‘ติ่ง’ ผลงานของ วอลต์ ดิสนีย์ อย่างหนักด้วยเช่นกันนะ
Astro Boy
เจ้าหนูปรมาณู ถือว่าเป็นผลงานที่เป็นที่ดังที่สุดของ เทะสึกะ โอซามุ ตัวเรื่องยังเป็นแนวไซไฟที่พูดถึงการอยู่ร่วมกันของ มนุษย์กับหุ่นยนตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็นำเสนอหัวข้อที่เข้าถึงง่ายมากขึ้นด้วยการยกให้ อะตอม เป็นตัวละครแนวซูเปอร์ฮีโร่ไปในตัว แต่ก็ยังเก็บความหม่นเทาของมนุษย์บางประการไว้ หลายท่านอาจจะคุ้นกับการ์ตูนเรื่องนี้ในฐานะอนิเมชั่นที่ถูกสร้างหลายครั้ง แต่ตัวการ์ตูนยังเคยถูกทำเป็นการ์ตูนความรู้ รวมถึงการตีความใหม่แบบจริงจังในเรื่อง Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ด้วย
Princess Knight
ฉายา ‘เทพเจ้าแห่งการ์ตูน’ ของ เทะสึกะ โอซามุ อาจจะมีที่มาจากเหตุผลหลายๆ ประการ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ฉายานี้ชัดเจนมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจารย์เทะสึกะวาดงานชิ้นนี้ให้อยู่ในฟากฝั่งของการ์ตูน Shojo หรือการ์ตูนตาหวาน ที่ตลาดในช่วงนั้นหดตัวลงอย่างมาก เรียกได้ว่าการมาถึงของการ์ตูนเรื่องนี้ช่วยทำให้ตลาดการ์ตูนสำหรับผู้หญิงบูมขึ้นมาอีกครั้ง
W3 (Wonder 3)
ว่ากันตามตรงแล้วการ์ตูนเรื่อง สามพลังอภินิหาร อาจจะไม่ได้มีเนื้อหาหรือความลึกที่มากมายเท่าใดนักหากเทียบกับผลงานเด่นเรื่องอื่น การที่เราหยิบการ์ตูนเรื่องนี้มาพูดถึงก็เพราะเป็นงานที่แสดงถึงความบ้าพลังของอาจารย์เทะสึกะ ที่ตอนนั้นมีความตั้งใจจะเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์พร้อมกับปล่อยอนิเมชั่นให้ฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน แถมเนื้อหายังไม่เหมือนกันเสียทีเดียวด้วย ซึ่งอาจารย์เทะสึกะรวมถึงทีมงานมุชิโปรดักชั่น ก็สามารถทำให้หนังสือการ์ตูนและอนิเมชั่นสามารถออกและจบในเวลาไล่เลี่ยกัน ถือได้ว่าเป็นการทำงานระดับเทพ แม้หลายคนในยุคหลังจะเชื่อว่าการทำงานชิ้นนี้จะทิ้งผลเสียต่อวงการไว้อยู่ไม่น้อยก็ตามที (ผลเสียที่ว่าคือชีวิตของอนิเมเตอร์ในญี่ปุ่นค่อนข้างจะได้ค่าแรงต่ำ เพราะสภาพการทำงานถูกสร้างมาแบบนั้น รวมถึงเรื่องที่ว่าการโหมงานนี้ส่งผลให้สุขภาพของอาจารย์เทะสึกะแย่ลงจนทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร)
Ayako
แม้อาจารย์เทะสึกะจะเล่าเรื่องราวเครียดๆ อยู่บ่อยครั้งแต่งานของอาจารย์ก็มักจะมอบความฝันหรือความหวังให้กับคนอ่านบ้าง แต่ไม่ใช่สำหรับผลงานการ์ตูนสามเล่มจบที่บอกเล่าเรื่องของ เทนเกะ อายาโกะ เด็กสาวที่ถูกกักขังไว้ในชั้นใต้ถุนบ้านเนื่องจากชาติกำเนิดของเธอที่เกิดจากความสัมพันธ์อันขัดศีลธรรม จนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอได้รับอิสรภาพ … และมันเป็นวันเริ่มต้นการล่มสลายของตระกูลเทนเกะ
งานชิ้นนี้เป็นการ์ตูนเชิงวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นของเทะสึกะ โอซามุ ผ่านตัวละครอายาโกะ ทั้งยังตัดความแฟนตาซีออกไปจนหมด หลงเหลือเพียงแค่ความดีกับความชั่วของมนุษย์ และถ้าเทียบกับหลายๆ เรื่อง การ์ตูนเรื่องนี้ก็นำเอาเรื่องแรงขับทางเพศที่ดู ‘ผู้ใหญ่’ มากกว่าเรื่องอื่นๆ
Buddha
ผลงานที่หลายคนเชื่อว่าไม่น่ามีวันได้ตีพิมพ์ในไทย ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของ พระโคตมพุทธเจ้า ตามวิสัยของเทะสึกะ โอซามุ ทำให้มีการใส่ความตลกขบขันและอารมณ์โอเวอร์แอคชั่นไปในตัวงานค่อนข้างมาก รวมถึงมีการใส่ตัวละครสมมติเพิ่มเข้าไปเพื่อสร้างอรรถรสในการเล่าเรื่อง แต่หากถามว่านี่เป็นงานเขียนที่ดูถูกศาสนาหรือไม่นั้นก็พอจะบอกได้ว่าไม่ใช่ แต่เป็นการตีความและนำเสนอให้กับคนที่ไม่คุ้นเคยกับตัว พระโคตมพุทธเจ้าได้เข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้น และด้วยความที่ตัวของอาจารย์เทะสึกะนั้นเชื่อในแนวคิด เวียนวายตายเกิด จึงเชื่อว่าการเขียน Buddha นี้ได้ช่วยกลั่นกรองให้อาจารย์สามารถเขียนเรื่อง วิหคเพลิง ที่ถือว่าเป็นผลงานชั่วชีวิตของอาจารย์ในภายหลังด้วย
ทั้งนี้ก็มีเรื่องนี้ปรากฎอยู่ในงานนิทรรศการ TEZUKA OSAMU – MESSAGE TO THE FUTURE ด้วย (ซึ่ง Ayako ไม่ได้ปรากฎในงานด้วยเช่นกัน) นั่นก็หมายความว่าเราอาจจะได้มีโอกาสอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ในฉบับภาษาไทยก็เป็นได้
Phoenix
งานแนวไฮคอนเซ็ปต์ งานที่ยังไม่เสร็จ และงานที่ถือว่าเป็น ‘ผลงานตลอดชั่วชีวิต’ ของเทพเจ้าแห่งการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่องนี้เกี่ยวกับ วิหคเพลิง ที่เป็นอมตะและมีความรู้ เดินทางผ่านหลายยุคหลายสมัย บางครั้งก็เป็นคนบอกเล่าเรื่อง บางครั้งก็มาแค่ปรากฎตัวแล้วจากไป แต่ทุกครั้งจะมีปรัชญาชีวิตบางอย่างแฝงอยู่เสมอ
สำหรับตัวผู้เขียนบทความ มีโอกาสได้อ่าน ฮิโนโทริ วิหคเพลิง ในช่วงหลายๆ วัยของชีวิต ในการอ่านทุกครั้งก็พบว่าตัวเองเข้าใจเรื่องราวนี้ได้แตกต่างจากเดิม เมื่อวัย 10 ขวบ นั้นอ่านแล้วก็รู้สึกกลัวในบางตอน สับสนในหลายตอน ในวัย 20 ที่เริ่มทำงานก็เริ่มเข้าใจภาพบางอย่างมากขึ้น พอถึงวัย 30 ก็พบว่าเราหายกลัวและรับได้ในบางเรื่อง (และตอนนี้ก็มีให้อ่านแบบ E-Book ด้วย) อาจจะเพราะการตีความถูกเปลี่ยนไปตามวัยเรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกว่า สุดท้ายแล้วการ์ตูนเรื่องนี้คุ้มเสมอสำหรับผู้อ่าน แม้ว่าตัวงานจะอ่านยากจนผู้อ่านหลายคนอาจจะไม่เข้าใจในครั้งแรกที่อ่านก็ตามที
ส่วนนี้ก็เป็นการ์ตูนแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะอาจารย์เทะสึกะได้มอบอะไรหลายอย่างให้กับวงการการ์ตูนไม่ว่าจะฝั่งมังงะหรือฝั่งอนิเมชั่นก็ตาม และอิทธิพลของท่านก็ยังคงอยู่ยาวมาจนถึงทุกวันนี้ จนนักอ่านทุกท่านควรจะหางานเหล่านี้อ่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต