หลังจากที่เพิ่งอ่าน Sapiens หนังสือดังจบ ผมก็ตัดสินใจสั่งซื้อ 21 Lessons for 21st Century ของผู้เขียนท่านเดียวกันมาอ่านต่อทันที เพราะได้อ่านบทคัดย่อส่วนหนึ่งมาแล้วสนใจเอามากๆ ตัวนักเขียนยิงคำถามเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของโลกเราในปัจจุบันหลายเรื่อง และเรื่องที่คัดย่อมาให้อ่านคือเรื่องของผู้อพยพลี้ภัยข้ามชาติ—ประเด็นที่เราเห็นกันบ่อยมากในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพชาวซีเรียที่ลี้ภัยไปยุโรปแล้วกลายเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลหลายชาติต้องขบคิดหนัก ส่วนทางอเมริกาก็เพิ่งมีปัญหาศูนย์ควบคุมผู้อพยพที่ก็ยังคาราคาซังอยู่ แต่ในอีกฟากโลกที่ดูเหมือนจะเงียบๆ ไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาเรื่องศูนย์ควบคุมผู้อพยพอย่างในญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องที่ชวนถกเถียงกันไม่น้อย
ผมเปิดตัวเป็นนักเขียนใน The Matter กับเรื่องของน้องคนไทยที่เคยเป็นข่าวช่วงปลายปี 2016 ที่ต้องถูกส่งกลับไทยทั้งๆ ที่เกิดและโตมาในประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยสถานะการอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายของแม่ทำให้เขาไม่มีสิทธิ์ได้สัญชาติ แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาของการจัดการกับชาวต่างชาติในญี่ปุ่น เพราะปัญหาที่น่ากลัวกว่าคือ ศูนย์ควบคุม
ปัญหาความน่ากลัวของศูนย์ควบคุมของญี่ปุ่นก็คือ ผู้ที่ทำผิดกฎหมายอยู่ในประเทศเกินกำหนดต้องถูกควบคุมตัวไว้ในศูนย์ ไม่ได้ส่งไปคุก เพราะถือว่าอยู่ในขั้นตอนระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งหลักๆ แล้ว ตามระบบคือคุมตัวได้ไม่เกิน 60 วัน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ ระหว่างรอขั้นตอนการบังคับส่งกลับประเทศก็สามารถควบคุมตัวไว้ได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนด กลายเป็นว่าอยู่เกินครึ่งปีกันเป็นเรื่องปกติ
ความแตกต่างระหว่างคุกกับศูนย์ควบคุมคือ คุกที่มีการกำหนดชัดว่าจะต้องติดอยู่กี่ปีถึงจะได้ออกมา แต่ศูนย์ควบคุมไม่ได้มีกำหนดการชัด คนข้างในก็ใช้ชีวิตซ้ำเดิมไปมาในทุกๆ วัน ตื่นมา นับจำนวน ได้ออกกำลังกายหน่อย กินข้าวกล่อง และอยู่ไปเรื่อยๆ กลับเข้านอนในห้องนอน 6 คน ซึ่งก็ทำให้ยิ่งเกิดความเครียดเข้าไปใหญ่ ต่างคนต่างอยู่ไปวันๆ แบบไม่รู้อนาคตตัวเองว่าจะได้ไปไหนเมื่อไหร่
ซึ่งเรื่องระยะเวลาของการควบคุมตัวนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ในชาติที่พัฒนาแล้ว เพราะว่าส่วนใหญ่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาด้วยว่า หากไม่ถูกดำเนินคดีก็ควรได้รับโอกาสปล่อยตัวเมื่ออยู่ในการควบคุมเกินระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะประมาณ 60 วัน แต่กรณีของญี่ปุ่นกลับกลายเป็นว่าอยู่กันเกินปีครับ
ผู้โดนกักตัวไม่ได้มีแค่คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่หลายคนเป็นคนที่อยู่ประเทศญี่ปุ่นเกินกำหนด หรือที่เรียกว่า over stay นั่นเอง เนื่องจากความจุกจิกของระบบวีซ่าทำงานของญี่ปุ่นทำให้หลายคนเมื่อเปลี่ยนงานตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นไม่สามารถต่อวีซ่าได้ เลยเลือกที่จะอยู่เกินวีซ่าและเปลี่ยนที่ทำงานไปเรื่อยๆ หากไม่มีเรื่องราวหรือมีปัญหาก็ไม่มีใครรู้อะไร (เช่นกรณีแม่ของเด็กไทยคนดังกล่าว) แต่หลายคนเมื่ออยู่ในญี่ปุ่นก็อาจจะมีความรักกับชาวญี่ปุ่นและอยากแต่งงานกัน แต่พอต้องการจดทะเบียนกลับพบว่าอยู่เกิน ด้วยความไม่รู้กฎหมายเลยนึกว่ามอบตัวแล้วยื่นขอวีซ่าสมรสแทนจะเป็นการเคลียร์ปัญหาเก่าให้จบและอยู่ต่อได้อย่างถูกกฎหมาย แต่มันไม่ใช่แบบนั้นน่ะสิครับ เพราะเมื่อมอบตัวกับทางการแล้วก็กลายเป็นว่าโดนกักตัวเพื่อเตรียมส่งกลับประเทศ แม้เจ้าตัวจะแจ้งว่ามีคู่สมรสชาวญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะหนีไม่พ้นโดนตีตราว่าเป็นการแต่งงานหลอกเพื่อขอวีซ่าเสียมากกว่า ทางการก็อยากส่งตัวกลัวประเทศ แต่เจ้าตัวก็อยู่ญี่ปุ่นมานานจนกลายเป็นบ้านหลังใหม่ไปแล้ว การยื้อตรงนื้ทำให้ตัวผู้ถูกกักกันต้องใช้ชีวิตในศูนย์ควบคุมไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดหมาย ทำได้แค่พบตัวคนรักหรือทนายเดือนละครั้งเท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการจัดการคดีก็มิใช่น้อย
ส่วนผู้เข้ามาขอลี้ภัยในญี่ปุ่นหลายต่อหลายรายก็ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันคือ ให้เข้าไปรอในศูนย์ควบคุมโดยไม่รู้ว่าจะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยหรือไม่ เมื่อเทียบกับเยอรมันที่อนุญาตลี้ภัยที่ประมาณ 40% ของผู้ขอลี้ภัย ในปี 2017 ญี่ปุ่นมีผู้ขอลี้ภัยประมาณ 20,000 คน แต่ได้รับสิทธิ์ลี้ภัยและใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นเพียง 20 คนเท่านั้น ส่วนคนที่มาจ่อหน้าประเทศแล้วก็ต้องไปรอในศูนย์ควบคุมแบบนี้ล่ะครับ แถมบางกรณีกลับกลายเป็นว่าต้องไปอยู่ในห้องควบคุมเดี่ยวไม่ต่างกับติดคุกซะอีก ถ้าโชคดีหน่อยก็อาจจะได้รับโอกาสปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีการจำกัดเรื่องการเดินทาง
ปัญหาต่างๆ ที่ว่ามาก็ทำให้ความเครียดในศูนย์ควบคุมพุ่งสูงขึ้นเสมอ และหลายครั้งทำให้ผู้ถูกควบคุมตัดสินใจฆ่าตัวตายในศูนย์ควบคุม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เพิ่งมีชายชาวอินเดียฆ่าตัวตายไป ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวรวมกันประท้วงด้วยการอดอาหารจนกลายเป็นข่าวและเป็นที่สนใจของสื่ออีกครั้งเพื่อชี้ให้เห็นว่าศูนย์ควบคุมมีปัญหาร้ายแรงอย่างไร รวมถึงหญิงชาวจีนที่โดนคุมตัวเพราะอยู่เกินและถูกมองว่าแต่งงานหลอกก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายไปอีกคนหนึ่ง และยังมีผู้หญิงชาวไทยที่ถูกคุมตัวเช่นกัน แต่โชคดีที่ไปเจอก่อนเลยช่วยไว้ได้
ส่วนทางการก็ให้ความเห็นว่า ก็ไม่ได้อยากควบคุมตัวไว้เลย แต่เพราะเจ้าตัวไม่ไป เลยต้องรอให้ได้รับอนุมัติการส่งตัวกลับ ซึ่งก็ไม่รู้จะเมื่อไหร่ ทางการจึงต้องคุมตัวไว้ จริงๆ ถ้าอยากสบายก็กลับไปได้เลย ยินดีที่จะปล่อยตัวอยู่แล้ว
ด้วยกฎหมายที่ไม่ได้ระบุว่าควบคุมตัวได้นานแค่ไหน จะว่าไปก็คล้ายๆ กับการเล่นชักเย่อระหว่างทางการกับผู้ถูกควบคุมตัวว่าใครจะหมดแรงถอดใจก่อนนั่นล่ะครับ
เนื่องจากเป็นประเทศเกาะและไม่มีพรหมแดนติดกับประเทศไหน เราจึงมักจะไม่ค่อยได้เห็นข่าวเกี่ยวกับผู้ขอลี้ภัยหรือผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์ของญี่ปุ่นมากนัก แต่ปัญหาการควบคุมตัวแบบไม่มีกำหนดนี่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ญี่ปุ่นถูกโจมตีในเวทีสากลเสมอ ทั้งๆ ที่ผู้มาขอลี้ภัยหรือคนที่เคยอยู่ญี่ปุ่นและพร้อมจะอยู่ญี่ปุ่นเพื่อทำงานไป แต่ทางการกลับไม่ต้องการและอยากส่งตัวกลับ แน่นอนว่าการอยู่เกินก็เป็นการทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าลองคิดว่าคนพวกนี้ชินกับระบบสังคมญี่ปุ่นและพูดภาษาญี่ปุ่นได้ การให้อยู่ญี่ปุ่นต่อก็น่าจะดีต่อประเทศญี่ปุ่นที่ขาดแคลนแรงงานแท้ๆ (แน่นอนว่าก็ต้องมีการลงโทษในระดับหนึ่งด้วย) แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับคาดหวังแคแรงงานไร้ทักษะที่จะเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นเป็นเวลาเพียง 5 ปี ที่ห้ามพาครอบครัวมาด้วย
น่าคิดนะครับว่า นี่เป็นการต้องการแค่ ‘แรงงาน’ เข้ามาทำงาน โดยที่ไม่ต้องการ ‘คน’ เข้ามาอยู่ในสังคมญี่ปุ่นที่ชื่นชมความกลมกลืนเป็นอย่างมากหรือเปล่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.globaldetentionproject.org