สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับชาวไทยไม่น้อย เมื่อมีรายงานจากประเทศญี่ปุ่นว่า มีเด็กหนุ่มชาวไทยในญี่ปุ่น ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศไทย ประเทศของพ่อแม่เขา ที่เขามีเชื้อไทย 100% เพียงแต่เขาไม่เคยรู้สึกเลยว่าประเทศไทยคือประเทศของเขา เพราะเขาเกิดและโตมาในประเทศญี่ปุ่น คิดว่าตัวเองเป็นคนญี่ปุ่นมากกว่าคนไทยเสียด้วยซ้ำ
ตัวผมเองก็อ่านเรื่องนี้จากสื่อญี่ปุ่น ทั้งเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ก็ค่อยมารู้จากสื่อไทยทีหลังว่า น้องชื่อ ‘อ้วน อุทินันท์’ ซึ่งเรื่องของน้องเริ่มเป็นข่าวมาตอนที่ แม่ของน้องยอมถูกส่งตัวกลับไทย เพื่อที่จะให้ลูกชายได้อยู่ในญี่ปุ่นต่อ จะว่าเป็นการพรากลูกพรากแม่ก็ว่าได้ แต่ก็เป็นเส้นทางที่แม่ของน้องเลือก เพื่ออนาคตของตัวน้องเอง
แต่พอการตัดสินของศาลแขวงออกมาในวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าอ้วนต้อง ‘กลับ’ ประเทศไทย เพราะว่า อายุยังน้อย ยังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้ แม้จะยังอ่านเขียนไทยไม่ได้ (สื่อญี่ปุ่นบอกว่า อ้วนพอจะพูดไทยได้บ้าง) คำตัดสินที่ใช้เวลาแค่ 10 วินาทีนี้ ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนที่เข้าร่วมฟังคำตัดสินทุกคน ส่วนตัวอ้วนเองก็ได้แต่ก้มหน้า และพูดว่า เจ็บใจมาก…
เส้นทางชีวิตของอ้วน เริ่มต้นเมื่อแม่ของอ้วน คุณรนแสน พาภักดี ถูกนายหน้าหลอกให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยไม่รู้ว่าตัวเองเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย สุดท้ายก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และก็ได้คบกับชายไทยที่อยู่ที่ญี่ปุ่น จนอ้วนเกิดมา แต่แม่ของอ้วนก็ได้เลิกร้างกับพ่อของเขา และเลี้ยงอ้วนมาคนเดียว แน่นอนว่าด้วยสถานการณ์เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้คุณรนแสนไม่สามารถอยู่ที่ไหนที่หนึ่งได้นานนัก ได้แต่เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ ทำให้อ้วนไม่สามารถเข้าเรียนชั้นประถมได้เหมือนเด็กคนอื่น แต่ในปี 2011 เมื่ออ้วนอายุได้ 11 ปี ครอบครัวก็ได้ขอให้ Oasis กลุ่มช่วยเหลือชาวต่างชาติในจังหวัดยามานาชิช่วยเหลือ สอนภาษาญี่ปุ่นและความรู้พื้นฐานให้ จนในปี 2013 ก็ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
และเพื่ออนาคตของลูกชาย
ครอบครัวก็ตัดสินใจแสดงตนต่อทางการญี่ปุ่น
เพื่อให้ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในญี่ปุ่น
ซึ่งการพิจารณาอนุญาตดังกล่าว ก็มักจะดูจากเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ว่ามีอะไรเป็นบวกและเป็นลบบ้าง ซึ่งในกรณีของอ้วน เป็นการแสดงตัวของผู้อยู่แบบผิดกฎหมายเอง ออกมาแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าต้องการอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมาย และอีกหนึ่งคือ การที่ตัวผู้อยู่ในประเทศแบบผิดกฎหมาย อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลานานพอที่จะกลมกลืนกับสังคมญี่ปุ่นได้ ซึ่งในข้อหลัง ตัวอ้วนเองก็ใช้ชีวิตเหมือนเด็กญี่ปุ่น ที่ไปเรียนหนังสือ ทำกิจกรรมชมรมอย่างจริงจังขนาดที่ได้เป็นตัวแทนแสดงละครเวที ซึ่งทั้งสองข้อก็น่าจะเป็นบวกกับการพิจารณาการอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แถมศาลยังบอกว่าหากแม่ยอมกลับไทย ‘อาจจะ’ เป็นผลบวก ต่อการพิจารณาคดีของลูกได้
แต่สุดท้าย การตัดสินของศาลก็ออกมาอย่างค้านสายตาของหลายๆ คน ที่สำคัญคือ ศาลไม่ได้นำเอาการกลับไทยของแม่มาพิจารณาด้วยซ้ำ ใช้เวลาแค่ 10 วินาทีในการอ่านคำพิพากษา ทำให้ตอนนี้ อนาคตของอ้วนก็ตกอยู่ในความไม่แน่นอน ว่าจะยื่นศาลสูงสุดต่อหรือไม่ โดยระหว่างนั้นเขาก็ต้องอยู่กับผู้ดูแลชาวญี่ปุ่นไปก่อน และเจ้าตัวเองก็บอกว่า อยากจะอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อ
ในฐานะคนไทย เราอ่านข่าวนี้แล้วอาจจะเศร้าใจ
แต่จริงๆ นอกจากอ้วนแล้ว ยังมีเด็กเชื้อสายอื่นที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น
ด้วยสถานะการได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษอีกเป็น 100 คน
ซึ่งก็จัดว่าก้ำกึ่งอยู่ เพราะเป็นการอนุญาตให้ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่ในประเทศได้ โดยไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี และไม่สามารถทำงานได้ จะว่าไปก็เหมือนการยอมให้ ‘ตัว’ อยู่บนแผ่นดินญี่ปุ่นเท่านั้นครับ
ซึ่งไม่กี่วันก่อน Rocket News ก็ได้รายงานกรณีของ Gursewak Singh เด็กหนุ่มเชื้อสายอินเดีย อายุ 17 ปี ในจังหวัดจิบะ ที่ครอบครัวของเขาหนีมาจากอินเดียในช่วงที่เกิดการกดขี่ทางศาสนา ตั้งแต่ยุค 90 และเขาก็เกิดมาในประเทศญี่ปุ่น และใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมาตลอดด้วยสถานะอนุญาตเป็นกรณีพิเศษเช่นเดียวกัน และครอบครัวพวกเขาก็ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยไปด้วย แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับประเทศบ้านเกิดกันยกครอบครัว เขากลายเป็นคนผิดกฎหมายที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ต้องการ ทั้งๆ ที่เกิดและโตมาในประเทศนี้แท้ๆ ต่างกับหลายประเทศที่ไม่ว่าพ่อแม่จะเข้าเมืองมาในลักษณะไหน แต่เมื่อเด็กเกิดมาก็มีสิทธิ์ได้สัญชาติตามประเทศนั้นๆ
เอาจริงๆ แล้ว ในความเห็นผม มันก็เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งชวนปวดหัวเหมือนกัน เพราะประเทศญี่ปุ่น เป็นสังคมที่อัตราการเกิดของประชากรต่ำลงไปเรื่อยๆ แต่คนกลับอายุยืน ทำให้กลายเป็นสังคมคนชรา และจำนวนประชากรมีแต่จะลดลงไป ชนิดที่โรงเรียนประถมต้องปิดตัวลงเรื่อยๆ พอมองไปในอนาคตก็ได้เห็นแต่ความน่าหวาดหวั่นนั่นล่ะครับ ไม่รู้จะมีคนมาหมุนเวียนเศรษฐกิจแค่ไหน
แต่พอมามองนโยบายการรับคนต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่น ก็ชวนงงอีก เพราะดูเหมือนพวกเขาจะพยายามกีดกันคนนอกเสียเหลือเกิน ในประเทศญี่ปุ่นมีประชากรกลุ่มที่ไม่ได้เกิดในประเทศญี่ปุ่นอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 2% นะครับ และการได้สถานะอยู่อาศัยในญี่ปุ่นนี่ก็ช่างเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน ขนาดแต่งงานกับชาวญี่ปุ่นและอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 ปี ยังยื่นขอได้แต่วีซ่าพำนักถาวร เรื่องขอสัญชาตินี่อย่าหวังเลยครับ ส่วนการยื่นขอลี้ภัยในประเทศญี่ปุ่น แต่ละปีก็มีคนได้สถานะผู้ลี้ภัยเพียงนิดเดียว เช่นในปีก่อน มียื่นขอ 7,586 กรณี แต่ได้รับอนุญาตเพียงแค่ 27 กรณีเท่านั้นครับ และในช่วงที่ชาวซีเรียอพยพหนีสงครามกัน ประเทศญี่ปุ่นก็รับเข้ามาเพียงแค่ 6 คนเท่านั้น ส่วนเด็กต่างชาติลูกผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้จะเกิดในญี่ปุ่นก็ไม่ได้สัญชาติตามที่บอกไปแล้ว
พอไปถามชาวญี่ปุ่นเรื่องนโยบายการรับชาวต่างชาติเข้ามา แทนที่เขาจะมองว่าเป็นโอกาสเพิ่มแรงงานในระบบ เขากลับมองว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหาประชากรลดด้วยตัวชาวญี่ปุ่นเอง มากกว่าจะไปหวังพึ่งชาวต่างชาติ และชาวต่างชาติที่เข้ามาก็จะมาแย่งงานของชาวญี่ปุ่นซะมากกว่า
เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ครับ เพราะสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว คนนอกเกาะ ก็คือ ‘คนนอก’ สำหรับพวกเขาจริงๆ ด้วยความเป็นประเทศเกาะ ไม่ได้มีพรมแดนติดกับประเทศไหน ทำให้ไม่คุ้นกับชาวต่างชาติ ยิ่งพอเคยปิดประเทศ ไม่ติดต่อค้าขายกับชาติอื่นเป็นเวลาร้อยกว่าปี ทำให้ไม่คุ้นชินกับชาวต่างชาติ และยังติดอยู่กับการมองว่าเป็น ‘พวกเขา-พวกเรา’ อยู่เสมอ ซึ่งความคิดแบบนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติในสังคมของตนเองได้โดยอาจจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำครับ
ก็คงต้องรอดูว่า ซักวันหนึ่งเมื่อประชากรญี่ปุ่นลดลงอย่างฮวบฮาบจนแรงงานในระบบไม่เพียงพอ วันนั้น ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มคิดถึงเหล่าลูกของผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมาย ซึ่งเกิดและโตในประเทศญี่ปุ่นมาตลอด แต่กลับโดนไล่กลับไป ‘ประเทศแม่’ หรือไม่นะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.washingtonpost.com