1.
“ผมเชื่อว่าเธอถูกฆาตกรรมแน่ แต่ใครกันล่ะ ที่ฆ่าเธอ”
พยานซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรมพลาซ่า ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ให้การกับนักสืบว่า ในวันที่ 3 มิถุนายน ปี 1995 เขาได้รับคำสั่งจากหัวหน้า ให้ไปที่ชั้น 28 เคาะห้อง 2805 เพื่อแจ้งให้แขกจ่ายค่าโรงแรม หลังมาอยู่ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม แต่ยังไม่ได้ชำระเงินที่พัก
เมื่อเคาะประตูไป พยานเผยว่า ได้ยินเสียงเหมือนคนทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงในนั้น ก่อนจะมีเสียงดังคล้ายอาวุธปืนขึ้น พนักงานโรงแรมจึงตัดสินใจครั้งสำคัญ
แทนที่จะหยิบวิทยุสื่อสารแจ้งรปภ. เขารีบผละออกจากห้อง แล้ววิ่งไปตามด้วยตัวเองดีกว่า
กินเวลา 15 นาที พยานกับหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของโรงแรมก็มาถึงหน้าห้อง 2805 เสียงทะเลาะเงียบหายไปแล้ว มันเงียบจนดูเหมือนไม่เคยมีใครอยู่ในนั้น
พวกเขาตัดสินใจเปิดห้องพัก ก่อนจะพบว่ามีการล็อกประตู 2 ชั้นด้วยกัน นั่นหมายความไม่มีใครออกจากห้องนี้แน่ หลังจากใช้ความพยายามสักพัก จึงเข้าไปดูห้อง 2805 ได้
และที่นั่นเอง หัวหน้ารปภ.ก็พบร่างไร้ลมหายใจของหญิงสาวบนเตียงนอน เขารีบแจ้งตำรวจ ปิดล้อมสถานที่เกิดเหตุทันที เมื่อดูสภาพของห้องที่ไม่ได้มีร่องรอยรื้อค้น ทางนักสืบสันนิษฐานเบื้องต้น โดยคำนึงถึงกลอนประตูที่ล็อก 2 ชั้นด้วยกัน
“เราฟันธงได้ 99.99% เลยว่าเธอฆ่าตัวตาย”
แต่เมื่อสำรวจทุกอย่างแบบละเอียด คดีนี้กลับกลายเป็นปริศนาห้องปิดตายแห่งนอร์เวย์ ที่ยังได้รับการเล่าขานถึงปัจจุบัน มีทฤษฎีสมคบคิดมากมาย ยิ่งเจ้าหน้าที่สืบคดีลึกไปเรื่อยๆ พวกเขาก็พบบางอย่างที่น่าสงสัย
จนไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นการปลิดชีพตัวเอง
2.
แม้นักสืบจะเชื่อว่าหญิงสาวฆ่าตัวตาย เพราะห้อง 2805 ไม่มีใครเข้าออกได้ เนื่องจากล็อกประตู 2 ชั้น หน้าต่างก็ไม่มีร่องรอยการเปิด ไม่มีใครปีนเข้ามาได้ สรุปง่ายๆ ว่า ผู้เสียชีวิตอยู่กับปืนของเธอในห้องนี้เพียงลำพัง การลั่นไกสังหารตัวเอง จึงเป็นทฤษฎีที่เข้าเค้าที่สุด
อย่างไรก็ดีเมื่อพวกเขาตรวจสอบชื่อผู้เข้าพัก พบว่าหญิงสาวมีชื่อว่า เจนนิเฟอร์ แฟร์เกต (Jennifer Fairgate) แต่ในแบบฟอร์มเข้าพัก เธอกลับเขียนนามสกุลตัวเองผิดถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือจากที่ต้องเขียนว่า แฟร์เกต (Fairgate) ดันไปเขียนว่า เฟอร์เกต (Fergate)
ราวกับว่ามันไม่ใช่ชื่อที่เธอใช้อย่างคุ้นชิน
ที่สำคัญในแบบฟอร์มเข้าพัก มีชื่อ โลอิส แฟร์เกต (Lois Fairgate) เป็นผู้เข้าพักพร้อมผู้เสียชีวิตด้วย ที่สำคัญมีพยานในโรงแรม เห็นหญิงสาวกับชายปริศนานี้อยู่ด้วยกัน แต่วงจรปิดไม่ชัด แถมคนที่พบทั้งสอง ก็ไม่สามารถให้รายละเอียดแบบจะแจ้งได้ว่า โลอิสหน้าตาเป็นอย่างไร
นี่คือปริศนาแรกแห่งความสงสัย ผู้ชายคนนี้เป็นใคร และเขาอยู่ไหนขณะเกิดเหตุ
เมื่อสำรวจข้าวของในห้องโดยละเอียด เจ้าหน้าที่พบว่าเจนนิเฟอร์ ไม่พกเอกสารประจำตัว ไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีเงินสด แถมเธอดันให้ที่อยู่ปลอมๆ ของเบลเยี่ยมไว้ เมื่อเช็กไปก็พบว่าไม่มีสถานที่นั้นอยู่จริง
พอดูเสื้อผ้าของผู้ตาย พวกเขาก็พบบางอย่างที่ชวนฉงน เพราะมีการฉีกตัดยี่ห้อออกไป เหมือนไม่ต้องการให้รู้ว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่ซื้อมาจากไหน
ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ลั่นไก ตำรวจคาดว่าเป็นปืน ขนาด 9 มม. ยี่ห้อบราวนิ่ง ในกระเป๋าเดินทางของหญิงสาว มีกระสุน 25 นัดติดมาด้วย
กระนั้นนักสืบไม่พบรอยนิ้วมือผู้ตายที่อาวุธสังหาร เจ้าหน้าที่คาดว่า เธอใช้ข้อนิ้วโป้งในการยิงตัวตายเข้าที่หัว แถมตรงกระบอกปืน มีการใช้น้ำกรดรดใส่ เพื่อทำลายเลขทะเบียนอาวุธสังหาร ซึ่งการใช้น้ำกรดนี้ ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า ทำด้วยความชำนาญอย่างมาก เพราะเป็นการหยดอย่างละเมียด และทำลายเลขได้ทั้งหมด จนไม่อาจสืบสาวย้อนหลังได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของ
ข้อสงสัยที่มากมายขนาดนี้ ไม่ทำให้ตำรวจนอร์เวย์หวั่นไหว พวกเขาฟันธงอย่างรวดเร็ว และใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ปิดคดี โดยยืนยันว่าหญิงสาวฆ่าตัวตาย แต่นั่นไม่อาจตอบคำถามใดๆ ถึงปริศนามากมายได้ และในที่สุดมันก็ปลุกระดมเหล่านักสืบสมัครเล่น รวมถึงนักข่าวให้ลงพื้นที่สำรวจดูความเป็นไปได้ทุกอย่างในคดีนี้
แล้วพวกเขาก็พบอะไรบางอย่าง
3.
ในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน ปี 1970 ณ หุบเขาแห่งหนึ่ง ของนอร์เวย์ มีคนพบศพหญิงสาวถูกเผาอย่างเหี้ยมโหด ผู้ตายไม่มีเอกสารประจำตัว แต่เมื่อตำรวจตรวจสอบอย่างละเอียด พวกเขาพบที่พักโรงแรม เธอใช้ชื่อปลอมและให้ที่อยู่ปลอมในเบลเยี่ยม เหมือนกับเจนนิเฟอร์เลย
ไม่เพียงเท่านั้น พยานยังเห็นว่าหญิงที่ถูกเผา อยู่กับผู้ชายปริศนาคนหนึ่ง และได้เดินทางไปทั่วนอร์เวย์ มีหนังสือเดินทางหลายเล่ม เงินหลายสกุล และก่อนตาย เธอกินยานอนหลับมากมาย แต่กลับมาถูกเผาในหุบเขาแห่งนี้ ยิ่งค้นอย่างละเอียด ก็เชื่อว่าเธออาจจะเป็นสายลับ และโดนฆ่าปิดปาก
แม้จะไม่เหมือนกับคดีเจนนิเฟอร์เสียเลย แต่เพราะการเป็นหญิงนิรนามเหมือนกัน แถมยังใช้ชื่อปลอม ทำให้สังคมนอร์เวย์เชื่อมโยงคดีเผากับคดีที่โรงแรมว่ามีอะไรดูคล้ายๆ กันอยู่บ้าง
ระหว่างนั้นทางผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน ได้แจ้งกับตำรวจนอร์เวย์ว่า อาวุธที่เจนนิเฟอร์ใช้ยิงตัวเองนั้น เมื่อดูอย่างละเอียดพบว่ามันเป็นของปลอมทำเหมือนยี่ห้อบราวนิ่ง แต่แท้จริงแล้วเป็นปืนที่ทำจากฮังการี และถูกใช้ในช่วงปี 1960-1970 โดยสายลับฮังการีด้วย
นี่เองทำให้ประเด็นสายลับถูกชูขึ้น และโยงไปถึงคดีที่หุบเขา ซึ่งยังปิดไม่ลงจนถึงปัจจุบัน เมื่อนักข่าวลงพื้นที่ขุดคุ้ยคดีของเจนนิเฟอร์ พวกเขาพบว่าเพราะตำรวจตั้งธงว่าเป็นคดีฆ่าตัวตาย จึงไม่ได้สอบพยานห้องข้างๆ ว่ารู้เห็นอะไรบ้าง
เมื่อพบว่าห้องเกิดเหตุล็อกประตู 2 ชั้น จึงเป็นการปิดตายไม่ให้ใครเข้าออก แถมการที่ห้องอยู่สูงมาก จึงไม่น่ามีใครปีนมาฆ่าหญิงสาวได้แน่นอน เจ้าหน้าที่จึงมั่นใจว่าคือการฆ่าตัวตายแน่นอน
แต่มันมีข้อมูลบางอย่างที่พิลึกและตำรวจตอบไม่ได้ เช่น มีนักข่าวพบว่า ในห้องพักเกิดเหตุนั้น มีหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นของห้อง 2816 ถูกทิ้งเอาไว้ในห้องของเจนนิเฟอร์
นี่นำไปสู่ข้อสงสัยว่า ทำไมหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นของห้องอื่น ไปอยู่ในที่เกิดเหตุฆาตกรรม หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่า คนในห้อง 2806 ได้เข้าไปพบหญิงสาวที่เสียชีวิตก่อนเกิดเหตุหรือไม่ และเขารู้เห็นอะไรกับคดีนี้บ้างไหม
ความฉงนตรงนี้ ไม่อาจนำไปสู่คำตอบใดได้ เพราะทางโรงแรมไม่ได้เก็บรายชื่อผู้เข้าพักในช่วงเกิดเหตุอีกแล้ว เราเลยไม่อาจรู้ว่ามีคนที่พักในห้อง 2806 คือใคร
เบาะแสอีกชิ้น ก็คือ ผู้พักในห้อง 2818 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับห้องเจนนิเฟอร์ มีการโทร.แจ้งตำรวจถึงข้อมูลการเสียชีวิตของหญิงสาว 6 วันหลังพบศพ โดยบอกว่าพอเห็นข่าว ก็นึกขึ้นได้ว่าสงสัยคู่สามีภรรยาในชั้นดังกล่าว ซึ่งทำตัวมีพิรุธอย่างยิ่ง
ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าทั้งคู่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้หรือไม่ แต่พยานในห้อง 2818 ไม่อาจบอกได้ว่าคู่รักต้องสงสัยนี้ พักอยู่ที่ใด หรือมีหลักฐานอะไร จึงไม่ทำให้ตำรวจไปสืบสวนประเด็นนี้
โดยพยานรายนี้ มาเที่ยวนอร์เวย์ มีภูมิลำเนาอยู่เบลเยี่ยม ซึ่งนักข่าวได้ไปสัมภาษณ์ เขาแจ้งว่าได้ออกจากโรงแรมตั้งแต่เช้าวันที่ 3 มิถุนายนแล้ว
นี่กลายเป็นข้อมูลสำคัญ เพราะว่าตอนพยานคนนี้ออกจากห้อง ยังไม่มีการรับแจ้งเหตุฆาตกรรมเจนนิเฟอร์ กว่าเจ้าหน้าที่โรงแรมไปเคาะห้อง ก็เป็นช่วงค่ำแล้ว การที่เขาสงสัยคู่สามีภรรยานี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเจนนิเฟอร์อาจถูกฆ่าตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน หลังจากเจ้าหน้าที่นำอาหารไปให้ที่ห้อง
แล้วเสียงปืนที่พยานในโรงแรมได้ยินจนต้องไปตามหัวหน้ารปภ.นั้น มันดังเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้น
ทั้งหมดนี้ คล้ายจะนำมาซึ่งความกระจ่าง แต่กลับไม่ชัดเจน ยิ่งทำให้คดีมืดมนมากกว่าเดิม แต่ก็เพียงพอจะทำให้คนทั้งนอร์เวย์ไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่าเป็นการยิงตัวตาย
เมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้เสียชีวิต ก็พบว่าเธอแทบจะอยู่ในห้องตลอดเวลา และออกจากห้องเพียงครั้งเดียว คือในวันที่ 1 มิถุนายน ก่อนจะกลับมาอีกครั้งใน 20 ชั่วโมงให้หลัง หรือวันที่ 2 มิถุนายน
ช่วงระหว่างนั้น มีแม่บ้านที่เข้าไปทำความสะอาด และได้ตั้งข้อสังเกตต่อตำรวจว่าห้องว่างเปล่า เหมือนหญิงสาวจะเช็กเอาต์ออกไป และไม่คิดจะกลับมาอีก นั่นนำไปสู่คำถามว่าเธอไปไหนกันแน่ แล้วทำไมถึงกลับมาอีกครั้ง จนนำไปสู่การเสียชีวิต
และหลักฐานสำคัญที่แม่บ้านพบคือ ในห้อง 2805 มีหมอนเพียงแค่ใบเดียว ทั้งที่ตอนเข้าพักระบุว่ามากัน 2 คน
ต่อมามีอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองนอร์เวย์ เผยว่าการตัดยี่ห้อเสื้อออกนั้น พวกสายลับมือสังหารชอบทำกันมาก หลังจากฆ่าเสร็จ ก็จะเอาข้าวของส่วนตัวไปทิ้ง ให้กลายเป็นศพนิรนาม แต่เสื้อผ้าเหยื่อนั้น มันยากจะขน เลยตัดยี่ห้อออกแทน เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าข้าวของนี้มาจากไหน จนอาจนำไปสู่การรู้ตัวคนตายได้
ที่สำคัญ การตัดยี่ห้อเสื้อผ้าคนตายออก และไม่มีบัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางนั้น ทางตำรวจนอร์เวย์พบว่ามีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศถึง 3 ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกเป็นคดีหญิงสาวโดนเผาที่หุบเขา คดีต่อมาในปี 1987 มีผู้ชายถูกฆาตกรรมปริศนาที่ทะเลสาบแห่งหนึ่ง และคดีของเจนนิเฟอร์ 2 คดีแรกมีคนคาดว่า ผู้เสียชีวิตเป็นสายลับและถูกฆ่าปิดปาก
หรือเจนนิเฟอร์จะเป็นสายลับและถูกก่อเหตุแบบเดียวกับ 2 ศพแรกหรือไม่
นักข่าวต่างเน้นย้ำว่า เรื่องราวของหญิงสาว ทำให้คดีมีข้อสงสัยอยู่ 2 ส่วน อันแรกคือ เธอเป็นใครกันแน่ และคำถามต่อมาคือ
“ใครกันที่ฆ่าเธอ”
4.
คำถามว่าเธอเป็นใครนั้น จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าชื่อจริงนามสกุลจริงของผู้ตายคืออะไร แต่ในปี 2016 มีการตรวจดีเอ็นเอแบบละเอียด ทางการเชื่อว่าเจนนิเฟอร์ อายุ 24 ปีในช่วงที่ตาย เป็นคนยุโรป
พยานในโรงแรมได้ยินสำเนียงการพูดของหญิงสาวที่พูดอังกฤษกับเยอรมัน คาดว่าน่าจะเคยอยู่ในอดีตประเทศเยอรมนีตะวันออก ซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ก่อนจะรวมชาติกับเยอรมนีตะวันตก
เมื่อดูประวัติการทำฟัน มีการใส่ฟันทอง โดยทันตแพทย์ที่ทำให้ น่าจะอยู่ในอเมริกาหรือในยุโรปตะวันตก เช่น ในเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี
เดิมนั้นเจ้าหน้าที่โรงแรมคาดว่า หญิงสาวอาจจะเป็นแอร์โฮสเตส เพราะมีสัมภาระไม่มาก แถมยังใช้กระเป๋าเดินทางแบบล้อลาก แต่ผู้ตายจะเป็นคนทำอาชีพนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีหนังสือเดินทางติดตัว
นี่คือคำตอบสุดคลุมเครือว่าเธอเป็นใคร และในคำถามที่ 2 มันยิ่งฉงนมากกว่าว่า ใครล่ะที่ฆ่าเธอ
การสันนิษฐานของสื่อเชื่อว่า มีคนอยู่ในห้องกับเธอ และเป็นฆาตกร อาจเป็นชายปริศนาที่ชื่อว่าโลอิสหรือไม่ ส่วนกรณีห้องปิดตาย แล้วจะสังหารได้อย่างไรนั้น ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การยิงเจนนิเฟอร์ให้ตาย แล้วออกจากห้อง ทำทีเหมือนล็อกกลอน 2 ชั้นนั้น มันสามารถทำได้ ถ้าฝึกฝนมากพอ
ที่สำคัญการที่เอกสารประจำตัวหายหมด รวมถึงเงินสดนั้น ฆาตกรอาจหยิบไป เพื่อไม่ให้รู้ตัวตนเธอได้ โดย 1 วันก่อนพบศพ เจนนิเฟอร์เคยให้ทิปพนักงานโรงแรมด้วย แสดงว่าเจ้าตัวไม่ได้ไร้ทรัพย์สินเหมือนตอนตายไปแล้ว
นอกจากนี้กระสุนที่ลั่นเข้าหัว ทำให้เลือดนองเต็มเตียง แต่กลับไม่แม้แต่จะเปื้อนมือหญิงสาวเพียงหยดเดียวก็หาไม่พบด้วย
นั่นจึงนำไปสู่ข้อสงสัยว่าคนที่ฆ่าเธอ เป็นมือสังหารระดับอาชีพ นั่นหมายความว่าเจนนิเฟอร์อาจจะเป็นสายลับ รู้เห็นอะไรบางอย่าง หรือทำงานพลาด จนถูกเก็บ
อย่างไรก็ดีแม้ข้อมูลจะมากมายแค่ไหน ทางตำรวจก็ยังยืนยันจะไม่รื้อฟื้นคดีนี้กลับมาสอบสวน โดยย้ำว่าผู้เสียชีวิตฆ่าตัวตาย และบอกว่า ในห้องดังกล่าวไม่พบร่องรอยคนอื่น ไม่มีลายนิ้วมือใครเลย นอกจากเจนนิเฟอร์
ส่วนคำถามว่าทำไมเธอถึงใช้ชื่อปลอม ทำไมถึงไม่มีหนังสือเดินทาง ทำไมถึงไร้ซึ่งเงินสด แล้วทำไมต้องตัดยี่ห้อเสื้อผ้าทิ้งนั้น
ไม่มีคำอธิบายใดๆ จากตำรวจนอร์เวย์
5.
ปัจจุบัน สื่อและประชาชนของนอร์เวย์ต่างพยายามค้นหาความจริงในเรื่องนี้ คดีเจนนิเฟอร์ แฟร์เกตจึงเป็นคดีที่ผู้สนใจคดีฆาตกรรมหมกมุ่น สนใจจนไปสู่การขุดคุ้ยเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา มีการทำซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) มีคนเขียนหนังสือ เขียนข่าว
แต่กลับไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย
ความมืดมนแห่งข้อมูล ความสงสัยไร้ที่สิ้นสุด และคำตอบที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ตอนนี้ทุกฝ่ายในสังคมได้แต่หวัง และรอคอยว่าวันหนึ่งจะมีหลักฐานใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือมีคนรู้จักผู้เสียชีวิต เดินทางมาพบตำรวจ แล้วบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในห้อง 2805 เสียที
อันจะทำให้คำถามว่าเธอคือใครสิ้นสุดลงด้วย
และหากบทสรุปของเรื่องนี้ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่เป็นเหตุฆาตกรรม ตำรวจก็จะต้องรื้อฟื้นคดี แล้วมาไล่ล่าคนร้ายตัวจริง ที่อาจจะยังลอยนวลอยู่ข้างนอกมารับโทษตามกฎหมายต่อไป
แน่นอนว่าทุกฝ่ายได้แต่คิดและอยากให้ถึงวันนั้นเสียที เพราะความหมกมุ่น ความว้าวุ่น ที่แม้ผู้ตายจะไม่มีญาติหรือคนในนอร์เวย์รู้จัก แต่มันก็เป็นปริศนาที่ยังเกาะกินใจคนในประเทศนี้อยู่ทุกวัน ดังที่ผู้ทำซีรีส์ชิ้นนี้ในเน็ตฟลิกซ์บอกกับนักข่าวไว้ว่า
“หลังจากหลายปีที่เกิดเหตุ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สักวันหนึ่ง คดีนี้จะได้รับการไขปริศนา เป็นอันสิ้นสุดการรอคอยเสียที”
อ้างอิงจาก