ข่าวนายกชวนคณะรัฐมนตรี รวมถึงออเจ้าทั้งหลายอ่านและท่องจินดามณี ชวนให้ผมนึกย้อนไปเมื่อสามปีก่อนที่พวกฟะรังคีอังกฤษจัดกิจกรรมชวนเด็กๆ อ่านมหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 800 ปีของเอกสารดังกล่าว
แม้แมกนาคาร์ตาจะไม่ใช่ตำราเรียนเหมือนจินดามณี แต่เอกสารทั้งสองก็มีจุดร่วมกันตรงที่ต่างเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจของชาติผู้เป็นเจ้าของ ในขณะที่หนังสือจินดามณีเป็นหลักฐานด้านภูมิปัญญาการศึกษาและกวีนิพนธ์อันน่าภาคภูมิใจของเรา คนอังกฤษก็ถือกันว่าแมกนาคาร์ตานั้นเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การพัฒนาหลักคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ในประเทศของเขา
ช่วงนั้นผมมีโอกาสไปเดินดูนิทรรศการแมกนาคาร์ตาตามพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่ง ก็รู้สึกประทับใจอย่างยิ่งกับรูปแบบกิจกรรมชวนอ่านและตอบคำถามของเขา วิธีการก็คือเมื่อเด็กๆ เดินอ่านเนื้อหาและความเป็นมาของแมกนาคาร์ตาจบ จะมีเจ้าหน้าที่รัฐโผล่ออกมาชี้นิ้วถามว่า “ท่องได้หรือยังหละๆๆๆ“.. แซวเล่นครับ ใครจะไปทำอะไรอย่างนั้น (ปัดโธ่) ที่ถูกคือเขาชวนเด็กอนุบาลและประถมมาร่วมกันตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ควรเขียนแต่ยังไม่ได้เขียนไว้ในแมกนาคาร์ตา และเราต้องปรับปรุงแก้ไขกฎบัตรดังกล่าวอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่
ใช่แล้วครับ เขาจัดกิจกรรมการอนุรักษ์เอกสารเก่าด้วยการให้เด็กมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของเอกสารที่ว่า ซึ่งความเห็นใสซื่อของเด็กก็สะท้อนประเด็นร่วมสมัยออกมาได้น่ารักเหลือเกิน
เด็กบางคนบอกว่าแมกนาคาร์ตาไม่ได้เขียนสนับสนุนให้มีการศึกษาฟรี ทำให้พ่อแม่ต้องเครียดกับการหาเงินมาจ่ายค่าเทอมของเขา
บางคนบอกว่าแมกนาคาร์ตาไม่ได้เขียนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการแยกขยะ
บางคนก็อยากให้เน้นย้ำเพิ่มเรื่องความเท่าเทียมระหว่างศาสนา เพศ และสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
บางคนบอกว่าอยากเพิ่มกฎให้พ่อแม่สามารถมีรายได้เพียงพอโดยไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ จะได้มีเวลามาเล่นกับเขามากขึ้น
น่ารักมั้ยล่ะครับ และเนื่องจากทางนิทรรศการไม่ได้จำกัดว่าต้องเขียนคำตอบในรูปแบบไหน จึงมีทั้งเด็กประถมที่ส่งคำตอบเข้ามาในรูปเรียงความ กลอน ไปจนถึงเด็กอนุบาลที่ส่งคำตอบเข้ามาด้วยรูปสีเทียน เรื่องเก่าๆ ที่ควรจะน่าเบื่อจึงกลับมีสีสันขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
คนจัดเล่าว่าที่เขาให้กิจกรรมเป็นเช่นนี้ ก็เพราะเชื่อว่าหัวใจของการอนุรักษ์นั้นไม่ใช่การจำหรือคงสภาพของเก่า แต่คือการค้นหาแก่นสปิริตหรือคุณค่าของของเก่านั้น แล้วหาทางใช้แก่นดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดไปสู่อนาคต ซึ่งการต่อยอดขั้นสูงสุดก็คือการตระหนักในจุดแข็ง และจุดอ่อนของอดีต พร้อมทั้งหาทางปรับปรุงเพื่อ ‘ก้าวข้าม’ ไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม
ในขณะที่นักอนุรักษ์ฝรั่งคิดแบบนี้ ท่าทีของท่านนายกต่อจินดามณีกลับสะท้อนวิธีคิดอนุรักษ์อีกแบบ คือการสนับสนุนให้ใช้เวลาในปัจจุบันและอนาคตไปกับการท่องจำและคงรูปอดีตไว้ในหัว ท่านให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ในลักษณะนี้มาก จนถึงกับยอมสละเวลาการประชุมเพื่อเน้นย้ำให้คณะรัฐมนตรีอ่าน-ท่องหนังสือที่ว่า ทั้งที่ปกติเวลาประชุมดังกล่าวนั้นมีไว้เพื่อคิดและบริหารจัดการเรื่องสำคัญระดับชาติในยุคปัจจุบัน
ท่าทีที่แตกต่างกันนี้สะท้อนถึงแนวคิดการอนุรักษ์ที่แตกต่างกันสองแบบ แบบแรกเน้นการค้นหาคุณค่าและบทเรียนจากอดีตเพื่อเอาไปใช้สร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิม กับอีกแนวคิดที่เห็นว่าการอนุรักษ์คือการคงรูปอดีตเอาไว้ในปัจจุบัน นี่อาจเป็นเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เรียกว่า ‘อนุรักษ์นิยม’ กับ ‘ล้าหลัง’
บางคนอ่านถึงตรงนี้แล้วอาจเห็นแย้งว่าการอ่านแมกนาคาร์ตากับจินดามณีนั้นเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะเล่มแรกเป็นเอกสารเกี่ยวกับระบบการเมืองและกฎหมาย แต่เล่มหลังเป็นเรื่องเชิงกวีนิพนธ์หรือภาษาศาสตร์ จึงไม่สามารถอ่านแบบวิพากษ์เหมือนเล่มแรกได้ ซึ่งผมว่าข้อนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะถ้าเราไปดูเวลาฝรั่งชวนเด็กอ่าน Shakespeare ก็จะเห็นว่าเขาชวนเด็กอ่านเชิงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี เช่นถามว่าเนื้อหาของวรรณกรรมสะท้อนอะไรเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ จริงไม่จริงอย่างไร และเราสามารถเขียนงานที่ดีกว่า Shakespeare ทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบการประพันธ์ได้หรือไม่ ในทางกลับกัน เวลาท่านนายกพูดถึงเอกสารทางสังคมอย่างรัฐธรรมนูญหรือนโยบายรัฐบาล ท่านก็มักจะถามเชิงท่องจำอยู่ดี เช่นชอบถามนักข่าวว่า “แล้วอ่านหรือยัง” หรือ ‘เคยจำบ้างมั้ยว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง… ปัดโธ่’
ดังนั้นจะชวนให้อ่านเอกสารเก่าแบบไหน คงขึ้นอยู่กับวิธีคิดที่มีต่ออดีตในหัวของเรามากกว่า ซึ่งเอาเข้าจริง ปราชญ์โบราณของเราท่านก็ ‘อนุรักษ์’ จินดามณีด้วยท่าทีที่ต่างออกไปจากท่านนายก กล่าวคือท่านยึดแก่นที่ว่าด้วยการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา ตลอดประวัติศาสตร์จึงมีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาและเขียนจินดามณีเล่มใหม่ออกมาเรื่อยๆ
แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าการอ่านหรือท่องหนังสือเก่านั้นไร้ประโยชน์นะครับ อย่างที่ท่านนายกว่า การอ่านและจำฉันทลักษณ์กาพย์กลอนของจินดามณีนั้นอาจช่วยพัฒนาสมองเด็กๆ ได้ หรือก็จริงที่ว่าการจะวิเคราะห์วิจารณ์อะไรก็ตาม ต้องเริ่มจากการเคยอ่านเคยจำเนื้อหาตั้งต้นได้ก่อนไม่มากก็น้อย แต่ต่อให้เหล่านี้จริง มันก็มีความแตกต่างมหาศาลระหว่างการจำเพื่อจำ กับจำเพื่อใช้เป็นบทเรียน ซึ่งการจำแบบหลังนั้นไม่ต้องท่องเท่ากับแบบแรก และการจำแบบแรกก็ไม่ต้องคิดเหมือนแบบหลัง
ที่ผมสนับสนุนให้อนุรักษ์วัฒนธรรมภูมิปัญญาไทยด้วยการทำตามพวกฟะรังคีอาจฟังดูแปลกๆ (ทำตามฝรั่งแล้วจะเรียกว่าอนุรักษ์ได้ยังไง?) แต่ผมว่าจริงๆ แล้วมันไม่แปลกเท่าไหร่ เรื่องนี้ก็ได้ข้อคิดมาจากพิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษอีกนั่นแหละครับ คือตอนนั้นผมพบว่านอกจากพิพิธภัณฑ์จะเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ มาขีดเขียนแมกนาคาร์ตาใหม่ตามความฝันแล้ว ในห้องหนึ่ง เขายังเปิดให้คนต่างชาติร่วมกันแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อดีและข้อบกพร่องของแมกนาคาร์ตา ด้วยความเชื่อที่ว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมเป็นทางหนึ่งที่นำไปสู่การยกระดับภูมิปัญญาของชาติ
ถ้าเชื่อเช่นนี้ การอนุรักษ์ก็ไปด้วยกันได้กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ถ้าเราเริ่มหันมาอนุรักษ์ด้วยการจับแก่นคุณค่าของเก่าแล้วเอามาปรับปรุงให้เข้ากับสมัยใหม่ อนาคตเราอาจมีหนังสือจินดามณีหรือแบบเรียนที่ทันสมัยให้พวกฟะรังคีมาค้นคว้าหาความรู้บ้างก็เป็นได้