1
ผมเป็นเพื่อนกับนักเขียนหญิงที่สุดแสนจะอื้อฉาวอย่าง คำ ผกา มาเป็นเวลายาวนาน
[อ่านประโยคนี้แล้วคุณอาจจะร้องยี้-ไปเป็นเพื่อนกับยายคนนี้ทำไมก็ไม่รู้ แล้วหลายคนก็อาจพานเลิกอ่านไปตั้งแต่บรรทัดนี้ หรือไม่ก็ลงไปคอมเมนต์ด่าในทันทีโดยไม่คิดจะอ่านต่อ]
แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยกับเธอในทุกเรื่องหรอกนะครับ
[ถ้าใครอ่านต่อมาจนถึงบรรทัดนี้ อาจบอกว่า-เออ ค่อยยังชั่ว ไม่ต้องไปเห็นด้วยกับเจ้าหล่อนนักหรอก!]
แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อเห็นว่าสถานีโทรทัศน์ที่เธอทำงานอยู่ถูกปิด โดยมีเธอเป็นส่วนหนึ่งของข้อกล่าวหา-ว่าอ่านข่าวประกอบความคิดเห็นอย่าง ‘ไม่เป็นกลาง’ คือ ‘เลือกข้าง’ อ่านเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่น่าจะมีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับเธอ ก็ทำให้ผมรู้สึกขำขันขึ้นมา
ไม่ได้ขำเธอ ไม่ได้ขำการปิด ไม่ได้ขำการใช้อำนาจ
แต่ขำ ‘ความเป็นกลาง’ นี่แหละ
2
คำว่า ‘ความเป็นกลางของสื่อ’ นั้น ที่จริงมีไม่ได้เป็นของใหม่อะไรนะครับ ฝรั่งเรียกมันว่า Journalistic Objectivity หรือภววิสัย (บางคนก็เรียกว่าวัตถุวิสัย) ของความเป็นสื่อ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ของสื่อ
ในยุคสมัยใหม่ (ที่จริงๆ ก็ไม่ได้ใหม่มากนัก เพราะเกิดขึ้นมาตั้งแต่กลางๆศตวรรษที่แล้ว) คนแรกๆ ที่เรียกร้องให้สื่อต้องมี Journalistic Objectivity ก็คือคุณวอลเตอร์ ลิปป์มานน์ (Walter Lippmann) ซึ่งเป็นนักเขียน ผู้สื่อข่าว และนักวิพากษ์สังคมชาวอเมริกัน (ซึ่งจริงๆเป็นคนคิดค้นสร้างสรรค์อะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง เช่น เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่องสงครามเย็นเป็นคนแรก หรือเป็นคนที่คิดศัพท์คำว่า Stereotype ในความหมายทางจิตวิทยาสมัยใหม่) และถือว่าเป็นเหมือนบิดาแห่งการหนังสือพิมพ์สมัยใหม่ (Father of Modern Journalism) ด้วย โดยเฉพาะคอลัมน์ชื่อ Toady and Tomorrow ของเขานั้น ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ถึงสองครั้งด้วยกัน
เป็นคุณวอลเตอร์ ลิปป์มานน์ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้นี้แหละครับ ที่เรียกร้องให้สื่อต้องมี Journalistic Objectivity หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องมี ‘ความเป็นกลาง’
แต่คุณสงสัยไหมครับว่าเพราะอะไรเขาถึงเรียกร้องเรื่องนี้
คำตอบอยู่ที่ ‘สื่อเหลือง’ ครับ!
สื่อเหลืองหรือ Yellow Journalism คือสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดหนึ่ง (ซึ่งเฟื่องฟูในยุคของคุณลิปป์มานน์) สื่อชนิดนี้จะนำเสนอเรื่องราวข่าวโคมลอย แทบไม่มีข้อเท็จจริง ไม่ได้ผ่านการค้นคว้าในเชิงข่าวมาอย่างถูกต้อง แต่ใช้วิธีพาดหัวข่าวให้หวือหวา และอาจมีการใส่สีตีไข่จนเกินจริง ที่เรียกว่า ‘สื่อเหลือง’ ก็เพราะในตอนนั้นมีการแข่งขันกันอย่างสูงระหว่างหนังสือพิมพ์ New York World กับ New York Journal (ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19) โดยทั้งสองเล่มมีการใช้หมึกสีเหลืองในการตีพิมพ์ และพาดหัวข่าวอย่างหวือหวาแต่ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระในข่าวมากสักเท่าไหร่ และมักใช้ ‘อัตวิสัย’ ในการรายงานข่าว ทำให้ข่าวไม่มีความเป็นกลาง และต่อมาก็ค่อยๆ เกิด ‘สื่อเหลือง’ แบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนได้รับแต่ข่าวที่เต็มไปด้วยความไม่กลาง มีแต่อคติและความคิดเห็น ก็เลยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าสื่อควรต้องนำเสนอข่าวโดยปลอดตัวตนและมีความเป็นกลาง
ในสังคมที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนักอย่างสังคมยุคต้นและกลางศตวรรษที่ 20 ความเป็นกลางแบบที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้าน ‘สื่อเหลือง’ นับว่าเป็นหลักการที่พอใช้ได้อยู่ เพราะมันคือการ ‘ให้พื้นที่’ กับ ‘ข้อเท็จจริง’ จากหลายๆ ฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน มีคนบอกว่า ความเป็นกลางแบบนี้ก็คือความศรัทธาในข้อเท็จจริง โดยลดทอนการให้คุณค่า (จากความคิดเห็น) ลงไป ข่าวจึงทำหน้าที่เพียง ‘เสนอ’ ข้อเท็จจริงต่างๆ เท่านั้น โดยนำข้อเท็จจริงทั้งหลายมา ‘วาง’ เอาไว้ให้คนเห็น แล้วก็ตัดสินกันไปเองโดยสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ชี้แนะโน้มน้าวใดๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นกลางแบบนี้ก็ถูกวิจารณ์ เพราะมันคือความเป็นกลางแบบที่ ‘ละเลย’ สิ่งที่เรียกว่า-อุดมการณ์ก่อนหน้า (Prevailing Ideology) ของทั้งการรวบรวมข้อมูลและการรายงานข่าว ซึ่งทำให้หลายคนเห็นพ้องต้องตรงกันว่า-ความเป็นกลางเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริง
ในยุคต่อมา หลายต่อหลายคน (เช่น นอม ชอมสกี้) ถึงขั้นบอกด้วยซ้ำว่า การใช้ ‘ความเป็นกลาง’ ในแบบนี้ เอาเข้าจริงเป็นแค่ฉากหน้า แต่เบื้องหลังลึกๆ แล้วคือการเดินตามรอย ‘โมเดลโฆษณาชวนเชื่อ’ (Propaganda Model) ที่แนบเนียนด้วยซ้ำ เพราะเป็นการอ้างความเป็นกลางและภววิสัยอยู่เบื้องหน้า แต่ทั้งหมดที่นำเสนอแบบเนียนๆ นั้น กลับเป็นไปเพื่อสร้างความนิยมชมชอบในด้านใดด้านหนึ่ง ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ในปลายศตวรรษที่ 19 มักจะนำเสนอข่าวคนผิวดำในด้านร้าย โดยไม่นำเสนอข่าวว่า ที่จริงแล้วฝูงชนผิวขาวก็เข้าไปรุมประชาทัณฑ์และสังหารคนผิวดำด้วยเหมือนกัน โดยเห็นว่านี่คือเรื่องที่เป็นภววิสัยแล้ว
นักหนังสือพิมพ์ยุคหลังบางคนก็วิพากษ์ ‘ความเป็นกลาง’ แบบนี้ว่าเป็นการทำรายงานข่าวที่ ‘ขี้เกียจ’ เพราะเหมือนแค่เอาไมค์ไปจ่อปากฝั่งโน้นฝั่งนี้ แล้วก็รายงานกันไปตามเรื่องตามราวก็เพียงพอแล้ว คือให้มี ‘สองฝั่ง’ ปรากฏอยู่ แต่ไม่ได้วิเคราะห์หรือชวนคนมองให้ทะลุเลยว่า ในเรื่องที่เกิดขึ้น มี ‘ความจริง’ (ที่ไม่ใช่แค่ข้อเท็จจริง) และความยุติธรรมซ่อนอยู่ตรงไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าชาวบ้านมีปัญหากับรัฐ การให้พื้นที่ที่เท่ากันระหว่างชาวบ้านกับรัฐอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะรัฐย่อมมีอำนาจ (ทั้งอำนาจอย่างเป็นทางการและอำนาจที่มองไม่เห็น) มากกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว
ข้อถกเถียงต่างๆเหล่านี้ทำให้ในปี 1996 สมาคมผู้สื่อข่าวอาชีพ (Society of Professional Journalists) ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนสื่อที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ตัดคำว่า Objectivity ออกไปจากจรรยาบรรณสื่อ
คำถามถัดจากนั้นก็คือ แล้วถ้าเราไม่เอา ‘ความเป็นกลาง’ ในแบบภววิสัย เราจะเอาอะไร
เราจะ ‘เลือกข้าง’ กันใช่ไหม?
3
ถ้าคุณย้อนกลับไปดู คำ ผกา ตอนทำรายการทีวียุคแรกๆในช่องที่เธอสังกัดอยู่ คุณจะพบว่าฉากด้านหลังของเธอเขียนไว้ว่า ‘ไม่เลือกข้าง คือเห็นแก่ตัว’
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าความเป็นกลางมีสองแบบ แบบหนึ่งคือความเป็นกลางแบบเก่า คือความเป็นกลางแบบที่สอนกันว่าต้องมี Journalistic Objectivity หรือความเป็นกลางแบบลุ่นๆ ที่พยายามให้ ‘พื้นที่’ กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับผม ความเป็นกลางแบบนี้เหมือนเล่นกระดานหกที่ต้องให้สองฝั่งมีน้ำหนักเท่ากัน แต่ปัญหาของความเป็นกลางนี้ที่สำคัญมากก็คือ ก็แล้วถ้ากระดานหกนั้นตั้งอยู่บนพื้นที่เอียงล่ะ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
ถ้าพื้นเอียง ยิ่งพยายามสร้างสมดุลด้วยการกระจายน้ำหนักบนกระดานหกสองข้างให้ ‘เท่ากัน’ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะยิ่ง ‘ไม่เท่ากัน’ เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้ว ความเป็นกลางแบบที่ ‘พยายามจะเป็นกลาง’ ให้มากที่สุดโดยไม่ดูว่าเราอยู่บนพื้นที่เอียงมากน้อยแค่นั้น จึงเป็นความเป็นกลางที่ไม่ถูกต้องนัก
แล้วถ้าไม่เป็นกลาง แปลว่าต้องเลือกข้างใช่ไหม?
คำตอบสำหรับผมก็คือใช่ แต่ไม่ใช่การเลือกข้างใดข้างหนึ่ง-มากเท่าการเลือกเข้าข้าง ‘ตัวเอง’
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะในเรื่องแต่ละเรื่อง ประเด็นแต่ละประเด็น ความขัดแย้งแต่ละความขัดแย้ง การมีสองฝั่งไม่ได้แปลว่าฝั่งหนึ่งถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกฝั่งผิดชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งสองฝั่งมีประเด็นที่ดีและแย่อยู่ทั้งคู่ สิ่งสำคัญกว่าก็คือการย้อนกลับมาดูว่า เราเห็นด้วยกับอะไรของฝั่งไหน เห็นแย้งกับอะไรของฝั่งไหน แล้วใช้ ‘ฐาน’ ที่เรามีเพื่อนำเสนอความเห็นและการวิเคราะห์ต่างๆ ออกมา
ที่สำคัญก็คือ ต้อง ‘มองให้เห็น’ ด้วยว่าพื้นที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อการแสดงกระดานหกนั้น มัน ‘เอียง’ อย่างไร
ที่จริงแล้ว พื้นจะ ‘เอียง’ แค่ไหนไม่ใช่ปัญหามากเท่ากับว่า คุณมีความสามารถที่จะ ‘เห็น’ ความเอียงที่ว่าหรือเปล่า เพราะเมื่อคุ้นเคยกับการยืนอยู่บนพื้นที่เอียงมาตลอดชีวิต ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเห็น ‘ความเอียง’ นั้น
แต่เมื่อเห็นความเอียงนั้นแล้ว ก็ไม่สำคัญนักหรอกว่าคุณต้องพยายามไปปรับระดับพื้นที่เอียงให้ตรง เพราะเอาเข้าจริง คุณอาจรู้สึกว่าการเอียงที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วก็ได้
เป็นไปได้อีกเช่นกัน ที่พื้นที่เอียงนี้ จะวางอยู่บนผืนโลกที่ก็ ‘เอียง’ อีกต่อหนึ่ง และถ้าคุณเชื่อมั่นในพื้นเอียงๆของคุณ ก็จงเชื่อต่อไป เพราะในโลกนี้ไม่มีพื้นผิวไหนที่ตรงเป๊ะที่สุดในโลกในแบบที่เป็นความจริงสากล (หรือภววิสัย) ได้หรอก มีก็แต่ ‘ความเอียง’ ที่ ‘ถูกทำให้ตรง’ และใช้ความเอียงนั้นเป็น ‘มาตรฐานความตรง’ ของพื้นผิวอื่นๆ
ไม้กระดกจึงเอียง พื้นจึงเอียง และโลกก็หมุนคว้างไปในอวกาศที่ไม่ได้รับรู้ความตรงหรือเอียงของสิ่งที่มนุษย์ ‘คิดไปเอง’ ทั้งปวง
คำ ผกา อาจบอกว่า-ไม่เลือกข้างคือเห็นแก่ตัว แต่กระนั้นในโลกนี้ก็มีคนบางคนที่ ‘เลือกอยู่ข้างความเป็นกลาง’ ในแบบภววิสัยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่ด้วย
แต่ปัญหาก็คือ เมื่อคิดจะเลือกข้าง โดยเฉพาะ ‘เลือกอยู่ข้างความเป็นกลาง’ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และเห็นว่า ‘ความเป็นกลาง’ นั้นคือศาสนา คือหลักชัย คือหลักศีลธรรมที่เป็นสากล เราเห็นหรือเปล่ามันเป็นหลักชัยที่ปักอยู่บนความเอียงแบบไหน
การมองให้เห็นถึงความเอียงทั้งปวงนั้น อาจเรียกว่าไม่เป็นกลางก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งจะเรียกว่าเป็น ‘ความเป็นกลางใหม่’ ที่ไม่เหมือนความเป็นกลางของคุณวอลเตอร์ ลิปป์มานน์ ก็ได้ เพราะมันเป็นความไม่เป็นกลางที่ตระหนักถึงความไม่เป็นกลางของสรรพสิ่งทั้งปวง และดังนั้นจึงพลอยรู้ไปด้วยว่าทุกข่าว ทุกข้อเสนอ ทุกประกาศอย่างเป็นทางการ ทุกตรรกะ ทุกความจริง หรือกรทั่งศีลทุกข้อ ก็เป็นเพียงการต่อสู้ต่อรองของ Arguments ต่างๆ ที่คัดง้างกันอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
การคัดง้างนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการทำลายเพียงอย่างเดียว แต่มันเมื่อไม้ง่ามสามอันวางพิงกันอยู่ มันทำทั้งขัดกัน ส่งแรงกระแทกใส่กัน และพยุงซึ่งกัน และทำให้เราเห็นว่ามันสามารถก่อร่างสร้างขึ้นเป็นอะไรบางอย่างได้ เช่นกระโจมหรือขาหยั่งสามขาที่ตั้งอยู่
ไม่มีไม้ง่ามอันไหนประกาศว่ามันคือ ‘ความเป็นกลาง’ หรือ ‘ภววิสัย’ ที่ถูกต้องเป็นจริงที่สุด เหมือนกันกับที่ตรีเอกานุภาพก็ไม่จำเป็นต้องประกาศความเป็นกลางระหว่างพระบิดา พระบุตร และพระจิต
ความเป็นกลางใหม่จึงเป็นสภาวะอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่ความพยายามจะสร้างความเป็นกลางเชิงกลไกที่หยาบกร้าน (ต่อให้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาหาหลักฐานก็ตามที) ทั้งยังไม่ได้ ‘เลือกข้าง’ ด้วยการกระโจนเข้าไปหา ‘ข้าง’ ที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องที่สุดโดยไม่ตรวจสอบเท่านั้น แต่เป็นความเป็นกลางที่พยุงและขัดซึ่งกันอยู่เสมอ ตั้งคำถามเสมอ ตรวจสอบเสมอ ทั้งกับข้างที่เลือก และกับคำว่า ‘ความถูกต้อง’ ในการดำรงอยู่ของความคิดตัวเองด้วย-ว่ามันคืออะไร วางอยู่บนฐานที่ ‘เอียง’ มากน้อยแค่ไหน
ความเป็นกลางใหม่ จึงเป็นความเป็นไปที่ไม่ต้อง ‘พยายาม’ จะเป็นกลาง และ/หรือ ‘พยายาม’ จะเลือกข้างใดข้างหนึ่งเสมอไป (ซึ่งหลายครั้งอาจก็ขัดความรู้สึกตัวเองด้วยซ้ำ) แต่สามารถกระโดดไปมาระหว่างฝั่งต่างๆ (ที่อาจมีมากกว่าสอง) ได้ตาม ‘ประเด็น’ ไม่ใช่ ‘ข้าง’
อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าผม ‘ขำ’ ความเป็นกลางนั้น ที่จริงอาจไม่ใช่,
เพราะผมอาจขำ ‘ความพยายาม’ ที่จะ ‘เลือก’ อยู่ข้างความเป็นกลางมากกว่าก็ได้!