พอเข้าช่วงเดือนธันวาคมเมื่อไหร่ ในเฟซบุ๊คของผมก็จะเต็มไปด้วยมิตรสหายหลายต่อหลายราย ที่ขยันเขียนไล่เรียงว่า ปีที่กำลังจะหมดลงเป็นอย่างไรบ้าง พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร มีอะไรดีๆ อะไรร้ายๆ และมักจะลงท้ายอย่างเปี่ยมด้วยความหวังว่า อยากจะให้ปีหน้าเป็นเช่นไร
ซึ่งนั่นก็เป็นการมองย้อนในระดับส่วนบุคคลนั่นล่ะครับ แต่ถ้าเราจะมองย้อนปีที่กำลังจะหมดลงในสเกลระดับชาติล่ะ ควรจะทำอย่างไร บ้านเรามักจะมีสรุปข่าวใหญ่ประจำปี ซึ่งก็แน่นอนว่า มักจะเป็นเรื่องที่สื่อ ได้เลือกมาเองแล้ว และก็หยอดความเห็นลงไปตามที่ธงของแต่ละสื่อตั้งไว้ ดังนั้น เรื่องสำคัญของแต่ละสื่อก็อาจจะไม่เหมือนกัน จะบอกว่าเป็นฉันทามติที่สะท้อนความรู้สึกของคนทั้งชาติ ก็คงพูดได้ยาก
แต่สำหรับชาติที่หมกหมุ่นกับการเก็บข้อมูลอย่างประเทศญี่ปุ่นแล้ว ช่วงปลายปีต่อยอดช่วงปีใหม่นี่เป็นช่วงที่วุ่นกับการประกาศสารพัดเรื่องราวแห่งปี ยิ่งประเทศญี่ปุ่นมีสื่อเยอะกว่าเรามาก ทำให้มีการประกาศรางวัลช่วงนี้เยอะไปหมด ทั้งรางวัลคำยอดนิยมแห่งปี คำศัพท์ใหม่แห่งปี กลอนซาลารี่มังแห่งปี สารพัดสารพัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของแต่ละปี และสะท้อนภาพรวมของสังคมญี่ปุ่นได้อย่างดีมากๆ อย่างหนึ่งคือ การประกาศคันจิแห่งปี นั่นเอง
คันจิ หรือ อักษรจีน คือหนึ่งในชุดตัวอักษรของญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นเป็นพันกว่าปีแล้ว และทุกวันนี้ก็ใช้กันเป็นล่ำเป็นสัน (และสร้างความปวดกบาลให้กับคนเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างสม่ำเสมอ) ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญในภาษาญี่ปุ่นเอามากๆ เพราะถ้าขาดคันจิไป เราคงแยกความแตกต่างของคำพ้องเสียงไม่ออกว่าตกลงจะหมายถึงอะไรกันแน่
และเมื่อคันจิมีความสำคัญขนาดนั้น มีเหรอครับที่เขาจะพลาดในการเอามาสร้างให้เป็นประเด็นทางสังคม ซึ่งผู้ที่ออกไอเดียเรื่องของ คันจิแห่งปี ก็คือ สมาคมทดสอบทักษะคันจิญี่ปุ่น นั่นเองครับ ซึ่งเป็นสมาคมที่จัดสอบวัดระดับทักษะคันจิ ไหนๆ จะหากินกับคันจิแล้ว ก็ต้องไปให้สุดครับ
ไอเดียนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1995 เมื่อสมาคมต้องการเผยแพร่ความสำคัญของคันจิให้สาธารณชนได้รับรู้ จึงเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่เพียงคันจิแห่งปีเท่านั้นนะครับ แต่ยังเป็นปีเดียวกันกับที่มีการตั้ง ‘วันคันจิ’ ขึ้นมา ซึ่งพวกเขาก็เลือกวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคันจิ ซึ่งเหตุผลคือ การเล่นคำกับเสียงอ่านครับ เพราะ 12 ธันวาคม คือ 12/12 ซึ่ง 1 อ่านว่า อิจิ (Ichi) เขาก็เอาแค่ อิ I มา ส่วน 2 แม้จะอ่านว่า นิ (Ni) แต่เมื่อเอาไปผสมกับคำอื่น ก็ออกเสียงว่า จิ (Ji) ได้เช่นกัน พอ 1212 เขาก็บิดซะเป็นคำว่า II Ji Ichi Ji (いい字一字) ที่แปลว่า อักษรที่ดีหนึ่งตัว (บิดซะไกลเลย I ตัวเดียวก็เพิ่มเป็น II ซะงั้น)
ถึงจะออกแถๆ ไปหน่อย แต่สุดท้าย วันที่ 12 ธันวาคม
ก็กลายมาเป็น วันคันจิ ไปจนได้
ซึ่งเขาก็ตั้งเป้าหมายว่า จะประกาศคันจิแห่งปีในวันคันจิให้ได้ทุกปีนี่ล่ะครับ แต่บางปีก็ไม่ได้ประกาศตรงวันนัก คงเพราะอาจจะไม่สะดวกในการโปรโมต ซึ่งในวันประกาศของทุกปี ก็จะมีพิธีการแสดงคันจิประจำปี ที่วันคิโยะมิซุ เกียวโต (วัดน้ำใสของที่ชาวไทยชอบไปกันนั่นล่ะครับ) ซึ่งก็จะประกาศด้วยการให้ท่าน โมริเซฮัน (อันนี้ผมไม่แน่ใจว่า ชื่อท่านจริงๆ คือแค่ โมริ เซ รึเปล่า เพราะเขาเล่นเขียนติดกัน แถม ฮัน ก็มักจะใช้ห้อยท้ายชื่ออาจารย์ทั้งหลาย) เจ้าอาวาสวัดคิโยะมิซุ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการของสมาคม เขียนคันจิประจำปีด้วยพู่กันยักษ์ ลงบนกระดาษญี่ปุ่น สูง 150 เซนติเมตร กว้าง 130 เซนติเมตร เพื่อความโดดเด่นเป็นสง่า สมกับเป็น คันจิแห่งปี จริงๆ และแน่นอนว่า ก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากเตรียมทำข่าวรออยู่แล้ว
ว่าแต่ เขาตัดสิน คันจิแห่งปี กันอย่างไรน่ะเหรอครับ ก็ใช้วิธีที่จัดว่าแฟร์สุด คือให้ทางบ้านโหวตส่งไป ซึ่งก็มักจะเลือกคันจิที่เป็นคำที่เหมาะที่สุดในใจ พร้อมเหตุผลไปด้วย ทำให้เราได้คันจิที่สะท้อนความรู้สึกของมหาชนชาวญี่ปุ่นได้ตรงที่สุดก็ว่าได้ ยิ่งการประกาศคันจิแห่งปีดังมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็ยิ่งส่งมากขึ้นและสะท้อนมุมมองในสังคมได้ตรงขึ้นเรื่อยๆ ครับ แถมไม่ต้องซื้อซีดีเอาบัตรเพื่อไปโหวตแบบไอดอลอีกด้วย (เดี๋ยวๆ จะไปแซะเขาทำไม)
ซึ่งเมื่อดูคันจิแห่งปีของแต่ละปีที่ผ่านมา เราก็จะได้เห็นภาพรวมความรู้สึกของชาวญี่ปุ่นในปีนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ว่าพวกเขารู้สึกกันอย่างไร
ปีไหนมีเรื่องดีๆ ปีไหนมีเรื่องเศร้า
ปีไหนชวนปวดหัว ก็ชัดด้วยคำเดียวนี่ล่ะครับ
มาดูตัวอย่างของปีที่ดีๆ ก่อนดีกว่าครับ ที่ดูแล้วรู้สึกดีจริงๆ ก็คงต้องยกให้ปี 2004 ที่คันจิของปีก็คือ 愛 Ai ไอ ที่แปลว่า ความรัก นั่นเอง ซึ่งปีนั้นก็มีแต่เรื่องที่เปี่ยมไปด้วยคันจิตัวนี้ ทั้งการสมรสของอดีตเจ้าหญิงโนริโนะมิยะ การจัดงานเอ็กซ์โปที่จังหวัดไอจิ (愛知) ซึ่งธีมหลักคือ Ai Chi Kyuu 愛・地・球 หรือ รักษ์โลก นั่นเอง รวมไปถึง นักกีฬาหญิงที่ชื่อ ไอ ซึ่งเขียนด้วยคันจิตัวนี้ หรือตัวอื่นที่ออกเสียง ไอ เช่นกัน ต่างแสดงผลงานที่โดดเด่นในปีนี้ ทั้ง Sugihara Ai นักปิงปอง Miyasato Ai นักกอล์ฟ และ Otomo Ai นักวอลเลย์บอล และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ เจ้าหญิงไอโกะ นั่นเอง ดูแล้วก็ชื่นมื่นดีนะครับ
บางปีก็แปลกหน่อยเช่นปี 2003 ที่คันจิแห่งปีคือ 虎 Tora โทระ หรือ เสือ นั่นเอง ก็อาจจะงงว่ามายังไง ญี่ปุ่นมีเสือดังด้วยเหรอ แต่จริงๆ แล้ว ที่มาคือการคว้าแชมป์ลีกเบสบอลของทีม Hashin Tigers ทีมเบสบอลดังแห่งโซนคันไซ ขวัญใจชาวโอซาก้าและโกเบ ที่แม้จะเป็นทีมดัง แต่ก็แล้งแชมป์มาหลายต่อหลายปี จนได้ผู้จัดการโฮชิโนะนำทีมคว้าแชมป์เสียที เล่นเอาแฟนของทีมดีใจกันแทบปิดเมืองฉลอง และเป็นข่าวใหญ่ชนิดที่ได้มาเป็นคันจิแห่งปีนี่ล่ะครับ
แต่ถ้ามองหาคันจิที่แย่ๆ ดูเหมือนจะหาง่ายกว่านะครับ ที่ดูแล้วแย่อย่างเดียวไม่มีการบิดไปในทางดีได้เลย เช่นปี 1998 毒 Doku โดะคุ แปลว่า พิษ เพราะเกิดคดีมีสารพิษปะปนในแกงกะหรี่ที่จังหวัดวาคายามะ หรือปี 1997 ที่เป็นคันจิ 倒 Tou/Taoreru โท หรือ ทะโอะเระรุ ที่แปลว่า ล้ม ที่มีบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทล้มละลายในปีนั้น (แต่ก็มีการแปลว่า โค่น ที่หมายถึง คู่แข่งที่ทีมชาติฟุตบอลญี่ปุ่นโค่นเอาชนะได้จนได้ไปบอลโลกปี 1998) ปี 1995 震 Shin/Furueru ชินหรือ ฟุรุเอะรุ ที่หมายถึง สั่นไหว ก็หมายถึงแผ่นดินไหวฮันชินในปีนั้น และรวมไปถึงการล่มสลายของสถาบันการเงินหลายเจ้า และคดีของโอมชินริเคียว ที่ทำให้คนสั่นไหวกันไปหมด (ปีแรกก็ของแรงเลยครับ) ดูเหมือนจะเข้ากับการมองโลกแบบแง่ลบของชาวญี่ปุ่นจริงๆ
แต่บางปี แม้จะมีเรื่องร้ายๆ แต่พวกเขาก็เลือกใช้คันจิที่ดี เพื่อให้มีความหวังขึ้นมา ตัวอย่างที่ชัดก็คือปี 2011 ที่ทุกคนคงจำเหตุแผ่นดินไหวที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดี เป็นเหตุร้ายครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในรอบหลายปี ซึ่งปีนั้น เขาไม่ได้ใช้ 震 เหมือนปี 1995 แต่พวกเขาเลือกใช้ 絆 Kizuna คิซุนะ เพราะมันหมายถึง สายสัมพันธ์ ของผู้คนที่คอยช่วยเหลือกัน เพราะไม่ได้มีแค่ญี่ปุ่นที่ลำบาก แต่ก่อนนั้นก็มีแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ รวมไปถึงเหตุน้ำท่วมที่ไทยด้วย ฟังดูแล้วก็รู้สึกอบอุ่นในใจขึ้นมานะครับ
เขียนมาซะยาว จนเกือบลืมว่า แล้วคันจิของปีนี้ล่ะ คือตัวไหนกัน คันจิของปีนี้คือตัวอักษรที่คว้าแชมป์คันจิแห่งปีมาแล้วถึงสองครั้ง รวมครั้งนี้ก็กลับมาทวงบัลลังก์เป็นครั้งที่ 3 อย่างงดงาม
คันจิตัวที่ว่าคือ 金 Kin/Kane
คินหรือ คานะ ที่แปลว่า ทอง หรือ เงินตรา ก็ได้ครับ
ซึ่งเหตุผลที่คนโหวตให้คันจิตัวนี้เป็นคันจิแห่งปี ก็มีตั้งแต่จำนวนเหรียญทองที่ทีมชาติญี่ปุ่นคว้ามาได้ 12 เหรียญจากโอลิมปิกปีนี้ เรื่องเงินๆ ทองๆ ของนักการเมืองทั้งหลาย (เช่นกรณีของอดีตผู้ว่ากรุงเทพ เอ๊ย โตเกียว) เรื่องของการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร และกระทั่งผมสีทองของโดนัลด์ทรัมป์ และชุดของอีตา Piko Tarou ที่สีทองอร่ามเลยทีเดียว ซึ่งปี 2000 และปี 2012 ที่คันจิตัวเดียวกันนี้คว้าแชมป์ไป ก็เป็นปีที่มีการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเช่นกันครับ สาเหตุคงไม่ต่างกันมากนัก
ฟังดูก็น่าสนใจดีนะครับ ที่แต่ละปี มีการมองย้อนกลับไปในปีนั้นๆ ด้วยตัวหนังสือตัวเดียว เป็นเหมือนการสรุปรายปีที่เรียบง่ายดี และที่ผมชอบที่สุด ก็คงเพราะว่าตัวแทนคันจิของแต่ละปีถูกกำหนดด้วยเสียงของมหาชนคนหมู่มาก ไม่ได้มาจากกลุ่มคนที่ยึดถือวิสาสะประกาศเอาเอง เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็คงไม่ได้รับความนิยมเช่นนี้ อีกทั้งวิธีนี้ยังทำให้คันจิสะท้อนความรู้สึกของคนได้ดีกว่า กระทั่งคันจิที่มีความหมายแย่ๆ ก็ยังเป็นคันจิแห่งปีได้ เพราะคนเขารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ