อันเนื่องมาจากวาระดิถีวันที่ 16 สิงหาคมมาบรรจบอีกครั้ง อันเป็นวันเกิด ‘มาดอนน่า’ (‘Madonna’ หรือ Madonna Louise Ciccone) ผู้มีกรณียกิจมากมายมหาศาลเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ไม่ว่าจะทั้งสาธารณกุศลอย่างการอุปการะเด็กผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานทางดนตรีที่เธอใช้มันเป็นเครื่องมือสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์และความหลากหลายทางเพศให้เป็นที่ยอมรับผ่านศิลปาชีพของเธอ
และด้วย charisma และผลงาน ไม่เพียงจะทำให้เธอได้รับการสมัญญานามให้เป็นราชินีเพลงป๊อป แต่นางยังเป็น gay icon ขวัญใจชาวเกย์ชายจำนวนมากครึ่งค่อนโลก แฟนคลับชาวไทยเรียกเธอว่า ‘ตัวแม่’ ท่ามกลางวัฒนธรรมย่อยเกย์ที่เรียกศิลปินในดวงใจว่า “แม่ก็คือแม่” อันดาษดื่น
ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่น้อมรำลึกถึงผลงานและกรณียกิจของนาง
เหมือนกับที่วัฒนธรรม LGBTIQ สากล เกย์มักจะได้รับการพูดถึง มีตัวตนพื้นที่ชัดเจนมากกว่าเพศสภาพเพศวิถีอื่น วัฒนธรรมทางดนตรีของเธอก็ถูกพูดถึงในฐานะวัฒนธรรมเก้งกวางกะเทย drag queen มากกว่าเลสเบี้ยนและผู้หญิง ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงงานของเธอพูดถึงสถานภาพของผู้หญิงในโลกชายเป็นใหญ่ บทเพลงของเธอตั้งแต่แจ้งเกิดในวงการก็แสดงความคับข้องใจของหญิงสาวต่ออภิสิทธิ์ทั้งเรื่องเพศและความสำราญที่วัยรุ่นชายมี พอๆ กับพยายามนำเพศสภาพเพศวิถีของหญิงรักหญิง การแต่งชุดแบบผู้ชาย แต่งกายข้ามเพศของผู้หญิง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามิตรรักแฟนเพลงของนางคือเกย์กะเทยเสียส่วนใหญ่
มาดอนน่าเธอคลี่เพศสภาพเพศวิถีอันหลากหลายสไตล์ที่มักถูกรังเกียจ มองข้าม ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นเรื่องปรกติ ตั้งแต่การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองของผู้หญิงไปจนถึง Sadomasochism (การมีเพศสัมพันธ์พร้อมกับความรุนแรงอย่างสมัครใจ) แผ่หราบนผลงานและสร้างเป็นอัตลักษณ์ของเธอ บนพื้นที่สาธารณะระดับสากลเพื่อความเท่าเทียม เช่น เพลง ‘Hanky Panky’ (1990) ที่บอกเล่าเพศวิถีซาโดมาโซคิสม์ อย่างตรงไปตรงมา MV ‘Human Nature’ (1995) ยังนำเสนอวัฒนธรรมย่อยของหญิงรักหญิงที่นิยมซาโดมาโซคิสม์ คอนเสิร์ตของเธอทั้ง Blond Ambition World Tour (1990) และ The Girlie Show World Tour (1993) ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศของภาพโป๊ที่ไม่เพียงถูกมองว่าเป็นสื่อลามกอนาจารยังเป็นประเด็นถกเถียงของสตรีนิยมอเมริกันตลอดช่วง 1980’s และเพศวิถีซาโดมาโซคิสม์ ที่เป็นกระเด็นถกเถียงของสตรีนิยมอังกฤษ
ซ้ำหนังสือที่เธอเขียนเอง ‘SEX’ (1992) จึงเป็นการผสมผสานระหว่างตัวเธอเองกับความหฤหรรษ์ จินตนาการฝันเฟื่องและความเย้ายวนทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน (homoeroticism)
แน่นอนผู้ปกครองก็ไม่ชอบเธอด้วยความเป็นห่วงเยาวชน และผลงานของเธอมักถูกโจมตีรุนแรง MV ‘Justify My Love’ (1990) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและถูกแบนจากช่องสถานีโทรทัศน์และรายการต่างๆ รวมไปถึง MTV ทั้งๆ ที่เป็นการนำตัวตนและการแสดงออกของเกย์เลสเบี้ยนและผู้คนที่ถูกทำให้เป็นชนชายขอบของสังคมมาปรากฎบนสื่อสาธารณะ นักแสดงใน MV ต่างเป็นภาพตัวแทนของเพศที่กำกวม (androgyny) ไม่ว่าจะเพศสภาพเพศสรีระและเพศวิถีต่างๆ รวมไปถึงชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มากไปกว่านันยังมีดารารับเชิญคือ Tony Ward ดารานักแสดงหนังเกย์ [1]
นี่ยังไม่รวมไปถึงจริยาวัตรของเธอที่ชอบสร้างความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังระหว่างผู้ชมคอนเสิร์ต แขวะ กัด และหยาบคายพอเป็นกระสัย การปรากฏตัวของเธอกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างสตรีนิยมหลายสำนัก บ้างก็ว่านางทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ ผลิตซ้ำสังคมปิตาธิปไตย เป็นภาพตัวแทนผู้หญิงระดับล่าง คาแรคเตอร์ไม่ต่างไปจากโสเภณี โชว์ของนางเหมือนระบำเปลื้องผ้าให้ผู้ชายดูบำบัดความใคร่ และพยายามใช้ศิลปะปฏิพจน์ ที่นำเสนอความขัดแย้งแบบขั้วตรงข้ามมารวมกันเป็นจุดขาย มันจึงมีฉากเซ็กซ์ที่มีไม้กางเขนใน MV ความยั่วยวนทางเพศปะปนกับสัญลักษณ์ทางศาสนา เช่นเดียวกับภาพลักษณ์และชื่อของเธอ ‘Madonna’ ปม ‘Madonna–whore complex’
ถ้าจำกันได้ คอนเสิร์ตล่าสุดของเธอเมื่อ 2016 Rebel Heart Tour ระหว่าง 2015 – 2016 ไทยแลนด์ก็เป็นอีกประเทศนึงที่นางมาเยือนให้ชมบารมี แดนเซอร์เธอเต้นรูดเสาในชุดแม่ชีในเพลง Holy Water ที่มีความหมายโดยนัยถึงการดื่มน้ำมนต์จากจอกศักดิ์สิทธิ์และการซดอวัยวะเพศหญิงอันเฉาะแฉะ
แต่ในโลกปิตาธิปไตย การที่ผู้หญิงประกาศความต้องการทางเพศของเธอเอง สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ไปจนถึงพูดเรื่องถึงจุดสุดยอดและการหลั่งน้ำกาม มันคือการเมืองเรื่องเพศที่ผู้ชายมักจะมองข้ามและพยายามทำให้เชื่อว่ามันไม่มีอยู่จริง ใน Blond Ambition World Tour เธอแสดงออกว่าช่วยตัวเอง เกลือกกลิ้งตีลังกาสำเร็จความใคร่บนเวทีอย่างเมามัน ประกอบเพลง Like a virgin ซึ่งการแสดงความหรรษาทางเพศของหญิงสาวโดยไม่มีผู้ชายมายุ่มย่ามหรือกำกับก็สอดคล้องกับแนวคิดนักสตรีนิยมหลายสำนักและก็ถือว่าหัวก้าวหน้ามากในปี 1990
เช่นเดียวกับ ‘Justify My Love’ ของเธอ ที่ก็เป็นการเมืองเรื่องเควียร์ (queer) เพราะเพลงนี้ ทั้ง MV และเนื้อหาไม่เพียงสลายเส้นแบ่ง ‘ความเป็นเพศ’ ที่ต้องมีเพียง 2 ประเภทแบบคู่ตรงข้าม และการจำกัดนิยามความหมายเรื่องเพศใส่กล่องใดกล่องหนึ่ง แต่ยังจับเขย่ารวมกันแล้วเทกองตรงหน้า ประดิษฐานไว้บนสื่อมวลชนให้ได้ยลอย่างตรงไปตรงมา[2]
สตรีนิยม เกย์หญิง เลสเบี้ยน หญิงรักหญิงก็ล้วนถูกนำมาเสนอบนผลงานศิลปะและอาชีพของเธอทั้งนั้น
วาทกรรมเลสเบี้ยนและวาทกรรมสตรีนิยมสัมพันธ์กันบ้างบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ในช่วง 70’s ที่แทบจะแยกจากกันไม่ออก ภายใต้สังคมปิตาธิปไตย สตรีนิยมสายเลสเบี้ยน (lesbian feminism) ท้าทายโครงสร้างสังคมด้วยการนิยามว่า “การเป็นแม่และเมีย” คือชนวนที่ทำให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อการกดขี่ของผู้ชาย แม้พวกเธอจะมีการศึกษา มีหน้าที่การงานนอกบ้าน มีสิทธิพลเมืองเลือกตั้งได้ อันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมคลื่นลูกแรก แต่ผู้หญิงยังต้องพึ่งพาผู้ชายอยู่ดี เพราะพวกเธอต้องแต่งงานอันเป็นสถาบันรักต่างเพศนิยม ที่ยังต้องการให้ผู้หญิงรับผิดชอบแต่ในครัวเรือน การแต่งงานมีคู่ชีวิตคู่สมรสเป็นผู้ชายจึงนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน สร้างความเป็นภคินีภาค (sisterhood) ย่อมจะช่วยให้ผู้หญิงหลุดพ้นจากการถูกผู้ชายกดขี่ ขณะเดียวกันสตรีนิยมสายนี้ยังเชื่อว่า “ผู้หญิงสามารถเป็นเลสเบี้ยนได้”
ชีวิตรักและเพศของมาดอนน่า น่าสนใจพอๆ กับผลงานเพลงและการแสดง เธอมีคู่ชีวิต 1 คนจนมีลูกด้วยกัน มีคู่สมรส 2 คน มีลูกกับคู่สมรสคนที่ 2 แล้วหย่า เธอยังมีลูกบุญธรรมจากมาลาวีอีก 4 คน สิริรวม 6 คน แต่ระหว่างที่มาดอนน่าใช้ชีวิตโสด เธอเปลี่ยนแฟนหนุ่มบ่อยครั้ง และมีข่าวว่าเธอเฟลิร์ทและเดทกับหญิงสาวจำนวนหนึ่ง แหล่งข่าวจำนวนมากเมาท์มอยว่าเธอในช่วงต้น 90’s คบหาอย่างเปิดเผยกับ Sandra Bernhard นางแบบ นักแสดงตลก และนักร้องชื่อดัง มากไปกว่านั้นยังมีข่าวลือว่าเธอมีความสัมพันธ์ทางเพศกับ Jennifer Grey นักแสดงที่แจ้งเกิดและปังในยุค 80’s
ใช่!! เธอเคยมีเพื่อนหญิง แต่เธอก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน เธอให้สัมภาษณ์กับ “Rolling Stone” ถึงความสัมพันธ์ฉันท์ ‘เพื่อน’ ว่า “เอางี้นะคะ มันแน่นอนอยู่แล้วล่ะค่ะว่า ฉันเคยมีจินตนาการเพ้อฝันว่าได้อึ๊บกับผู้หญิงด้วยกัน แต่ฉันก็ไม่ได้เป็นเลสเบี้ยนย่ะ” อย่างไรก็ตามเธอก็บอกอีกว่า “แต่ฉันก็เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้นิ้วมือนะยะ”[3] ไม่ใช่ว่าเป็นเลสเบี้ยนแล้วมันไม่ดีจนต้องบอกปัดพัลวันว่าไม่ได้เป็น หากแต่เธอได้ก้าวข้ามความจำเป็นที่จะต้องมานั่งแจงสี่เบี้ย เที่ยวบอกชาวบ้านว่าเพศสภาพเพศวิถีเธอคืออะไร แม้แต่จะมาแถลงไขว่าเธอคือไบเซ็กชวลหรือไม่ เพราะการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักเพศเดียวกัน เหมือนกับที่มีเพศสัมพันธ์ต่างเพศก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักต่างเพศ มาดอนน่าแค่ร่วมเพศกับผู้หญิงด้วยกันเท่านั้น
นอกเหนือจากเรื่องส่วนตัว ผลงานสาธารณะของเธอก็แซมไปด้วยความหมายของหญิงรักหญิง
ใน Die Another Day (2002) ของภาพยนตร์ซีรีส์ James Bond เธอสวมบทบาทเป็นครูผู้สอนวิชาฟันดาบหญิง ผู้ซึ่งรสนิยมรักเพศเดียวกัน เธอเป็นคนสั่งให้บทตัวละครต้องเป็นเช่นนั้นเอง เพราะเธอไม่ต้องการจูบกับ Pierce Brosnan ผู้สวมบท James Bond เพื่อที่จะท้าทายความเป็นรักต่างเพศอย่างชัดเจนของหนัง James Bond[4]
พูดถึงเรื่องจูบๆ เธอจูบกับผู้หญิงบนเวทีคอนเสิร์ตพอๆ กับผู้ชาย ไม่ว่าจะศิลปินรับเชิญ แดนเซอร์ ไม่ใช่จูจุ๊บใสๆ แต่เป็น French kiss เช่นกับ Britney Spears และ Christina Aguilera ขณะแสดงสดบนเวทีในงานประกาศผลรางวัล MTV Video Music Award 2003 แม้จะถูกมองว่าเป็นการแสดงความ sexy จากสายตาผู้ชาย เหมือนหนังโป๊สำหรับผู้ชายที่ให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กันให้ผู้ชายชมเพื่อความหฤหรรษ์ทางเพศผู้ชาย มากกว่าแสดงออกถึงความใคร่ของหญิงรักหญิง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอจำลองตัวตนหญิงรักเพศเดียวกัน โดยใช้ร่างกายของเธอ
ในคอนเสิร์ต Drowned World Tour (2001) และ MV ของเธอ อย่าง American Life (2003) เวอร์ชั่นไม่เซนเซอร์ตัวเองที่มีสัญลักษณ์สื่อถึงการถึงจุดสุดยอดและหลั่งน้ำกามของผู้หญิง อันเป็นประเด็นใหญ่ของหญิงรักหญิงในช่วงต้น 90’s ที่ถกกันถึงความคล้ายคลึงกันและการไม่จำเป็นจะต้องมีลักษณะร่วมหรือความสัมพันธ์กัน ระหว่าง ‘ความเป็นชาย’ กับเลสเบี้ยน
ขณะเดียวกันเธอก็ยังเล่นกับ ‘ความเป็นชาย’ ของผู้หญิง ด้วยการปรากฏตัวในสูทผู้ชายลายทาง แว่นตาข้างเดียว ผมซอยสั้น อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชายผู้มีอำนาจเหนือผู้หญิงและผู้ชายชนชั้นกรรมาชีพ ในเพลง Express Yourself (1989) แม้ในการแสดงสดเพลงนี้ เธอก็เต้นท่าเบ่งกล้ามแบบแมนๆ แต่ก็ดูเป็นการแสดงและแฟชั่นมากกว่าอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะการที่ผู้หญิงจำลองและการแสดงออกเพศสภาพผู้ชายด้วยเสื้อผ้าหน้าผมผู้ชาย ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงรักหญิง และแน่นอนการแต่งแมนของ drag king ก็คนละสำนึกคิดกับการแต่งหญิงของ drag queen
การแต่งบอยๆ ยังเป็นที่นิยมกันของนักแสดงหญิงในวงการบันเทิงของอังกฤษและฮอลลีวูดช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เช่น Marlene Dietrich ดารานักแสดงหญิงชาวเยอรมันเพศวิถีไบเซ็กชวล ซึ่งเป็นบุคคลอ้างอิงในการแต่งกายของมาดอนน่า และวัฒนธรรมของเลสเบี้ยนในปารีส ช่วงทศวรรษ 1920’s ขณะเดียวกัน การแต่งตัวเป็นผู้ชายหรือเด็กผู้ชาย สวมชุดทักซิโด้ ตัดผมสั้น เอามือไว้ในกระเป๋ากางเกง ดูดไปป์ในอังกฤษกลับกลายเป็นแฟชั่นของผู้หญิงที่แสดงความเซ็กซี่เย้ายวนทางเพศ[5] เช่นเดียวกับวิดีโอ Music (2000) มาดอนน่าที่เล่นเป็นเจ้าของคลับระบำเปลื้องผ้า ลุคของเธอเป็นเสี่ยมาก แต่ยังคงโชว์เนินประทุมถัน หัวเราะและเฟลิร์ทกับพวกนักเต้นเปลือยหญิง ยัดเงินใส่เข้าไปในจีสตริงของนักเต้นสาวเพื่อให้พวกหล่อนเต้นยั่วยวนขึ้นอีก ซึ่งดูเป็นการแต่งกายเลียนแบบผู้ชายมากกว่าแสดงรสนิยมทางเพศ
อย่างไรก็ตาม มาดอนน่าถูกตั้งข้อสังเกตว่า ใช้ ‘ความเป็นเกย์’ หรือ ‘ความเป็นเลสเบี้ยน’ เป็นเครื่องมือในการสร้างชื่อเสียงของเธอให้มีมากขึ้นไปอีก และยังกล่าวด้วยว่านางไม่สามารถและคู่ไม่ควรที่จะเป็นเกย์ไอคอน เพราะภาพลักษณ์ที่เธอผลิตออกมา เช่นในวีดิโอ ‘Open Your Heart’ ก็แค่จัดวางตนเองเป็นศูนย์กลางความสนใจของเกย์และเลสเบี้ยนเท่านั้น ไม่ได้ยกระดับสถานภาพทางสังคมให้กับความหลากหลายทางเพศ เนื้อหาแบบเกย์ส่วนใหญ่ของคอนเสิร์ตก็ไม่ได้อยู่กลางเวที หากแต่เบลอๆ เป็นเพียงตัวประกอบให้กับตัวเธอเท่านั้น แม้แต่หนังสือ SEX ของเธอที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ แต่ก็อีแค่ความเพ้อฝัน ที่ฉากแบบนั้นจะไม่มีทางได้เกิดขึ้นจริง หล่อนก็แค่เพียงผู้หญิงที่ต้องการจะแสดงออกในความเพ้อฝันทางเพศของตัวเธอที่มีต่อเพศชาย [6]
ไม่ว่าจะอย่างไร ราชินีเพลงป๊อปก็ใจกว้างและเคารพในสิทธิเสรีภาพมากพอที่จะอ้าขารับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากผสกนิกร และเธอเองก็ยังคงปฏิเสธที่จะจำกัดการแสดงออกผลงานของเธอให้อยู่ในกรอบมาตรฐานของสังคม ปฏิเสธที่จะทำตัวตามกรอบเพศที่มีคนกำหนดไว้แล้ว ไม่แม้แต่จะอยู่ในกรอบไบเซ็กชวล และเมื่อเธอสร้างแรงระเบิดออกมาจากกรอบเรื่องเพศสภาพเพศวิถี ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้ชมได้ดูได้เห็นและเรียนรู้อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้จากเพลงป๊อบ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ผู้คนสนใจ เสพและพอใจที่จะจ่ายเงินเพื่อสิ่งนั้น และนั้นก็คือการประสบความสำเร็จในวงการ เธอจึงไม่ยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงในผลงาน แต่ผลักดันให้ LGBTQ มีตัวตน มีสิทธิ์มีเสียง ดึงออกจากที่ซ่อนมาปรากฏตัวบนสังคม และสร้างตัวเองเป็นศูนย์รวมจิตใจในวัฒนธรรม Queer ต่อไป
เหมือนกับที่ภาพถ่ายเธอเปลือยหันหลัง พร้อมกันคำว่า “All Access” (เข้ามา ได้หมด) เขียนอยู่บนผิวหนังของเธอ และบทสัมภาษณ์หนึ่งที่เธอเคยให้ไว้ว่า
“ฉันจะเป็นเกย์หรือไม่ มันไม่เกี่ยวกันเลยย่ะ ฉันออกจะพอใจด้วยซ้ำที่คนคิดว่าฉันได้กันกับ Bernhard แล้ว (แฟนสาวของเธอช่วงต้นทศวรรษ 90) ไม่สนเลยด้วยซ้ำ ถ้าการที่พวกเขาคิดว่าฉันนอนกับ Bernhard แล้วพวกเขาจะสบายใจก็แล้วแต่เลย เอาที่สบายใจ หรือว่าถ้าพวกเขาอยากคิดว่าฉันไม่ได้ได้กันกับ Bernhard แล้วดีต่อใจขึ้น ฉันก็โอเคเหมือนกันย่ะ” [7]
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Henderson, Lisa. “Justify Our Love: Madonna & the Politics of Queer Sex.” In The Madonna Connection: Representational Politics, Subcultural Identities, and Cultural Theory. Ed. Cathy Schwichtenberg. Boulder, Colo.: Westview Press, 1993.
[2] Andermahr, Sonya. “A Queer Love Affair? Madonna and Gay and Lesbian Culture.” In The Good, The Bad, and The Gorgeous: Popular Culture’s Romance with Lesbianism. Eds. Diane Hamer and Belinda Budge. London: HarperCollins, 1994, p. 32.
[3] Fouz-Hernandez, Santiago. and Jarman-Ivens, Freya. Madonna’s drowned worlds : new approaches to her cultural transformations, 1983-2003. Aldershot, England : Ashgate, c2004 , p. 74.
[4]Ibid, pp. 81-82.
[5] Ibid, pp. 78-79.
[6] Samantha C. Thrift. Appropriate the Stereotype: Cultural Appropriations and the Queer, Lesbian, and Gay Spectatorships of Madonna and Martha Stewart. Thirdspace, volume 2, issue 2 (March 2003).
[7] Samantha C. Thrift. Appropriate the Stereotype: Cultural Appropriations and the Queer, Lesbian, and Gay Spectatorships of Madonna and Martha Stewart. Thirdspace. volume 2 issue 2 (March 2003)