19 เมษายนนี้อาจจะเป็นอีกวันที่น่าระลึกถึงการจากไปของดารา พิธีกรอารมณ์ดี ตลกตึงตังที่อยู่คู่มากับประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย ‘เทิ่ง สติเฟื่อง’ ผู้ถือได้ว่าเป็นอีกสมาชิกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ LGBTQ ไทย ที่อยู่คู่วงการบันเทิงมาตั้งแต่ทีวีเริ่มแพร่ภาพในประเทศไทย
สำหรับหลายคนอาจจะไม่รู้จักหรือลืม ‘เทิ่ง สติเฟื่อง’ ไปนานแล้ว อันเป็นชื่อในวงการของ บรรยงค์ เสนาลักษณ์ เขาเกิดเมื่อ 18 มิถุนายน 2476 ที่เป่ผิว กรุงปักกิ่ง เนื่องจากพ่อของเขาไปเรียนที่ญี่ปุ่นแล้วได้พบรักแต่งงานกับสาวชาวญี่ปุ่น เมื่อได้ทุนจากญี่ปุ่นไปเรียนต่อที่จีน คุณพ่อจึงได้พาคุณแม่ไปอยู่จีนด้วย แล้วกลับมาอยู่บ้านแม่เมื่ออายุได้ 4 ขวบจึงได้สัญชาติญี่ปุ่น จากนั้นครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ไทยบ้านพ่อ ได้เรียนอนุบาลโรงเรียนสวนสุนันทาสมัยยังรับเด็กนักเรียนชาย
ครอบครัวอยู่ไทยได้เพียง 1 ปี แม่เทิ่งก็กลับไปเรียนที่ญี่ปุ่น ต่อมาพ่อเทิ่งเริ่มป่วยด้วยโรคปอด แม่เทิ่งจึงเดินทางกลับมาเยี่ยม ระหว่างนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือโดยสารทางเรือที่แม่เทิ่งเดินทางมาถูกโจมตีจนอัปปาง เธอต้องกลับไปรักษาตัวที่ญี่ปุ่นเมื่อหายดีจึงมาเยี่ยมสามีและลูกอีกครั้ง ครั้งนี้จะนำเทิ่งไปอยู่ด้วย แต่ปู่ย่าไม่ยอม ขณะเดียวกันก็ได้ทำเรื่องโอนสัญชาติมาเป็นไทยตามกฎหมาย เธอจึงต้องกลับญี่ปุ่นลำพัง ต่อมาพ่อเทิ่งสิ้นใจเมื่อเทิ่งอายุ 10 ขวบ และเมื่อญี่ปุ่นถูกโจมตีรุนแรงโดยสัมพันธมิตร เขาก็ขาดการติดต่อและไม่มีข่าวคราวใดๆ จากแม่อีกเลย
เทิ่งเรียนมัธยมที่วัดเบญจฯ ต่อ ม. 7-8 ที่สวนกุหลาบ ที่โรงเรียนเขากลายเป็นคนที่เพื่อนรักใคร่และรู้จักทั้งโรงเรียนเพราะชอบสร้างเสียงหัวเราะ วิ่งเข้าห้องนั้นออกห้องนี้ ร่วมกิจกรรมโรงเรียนตั้งแต่แต่งแฟนซียันร้องเพลง ใครให้ร้องให้ทำอะไรก็ทำหมด
เมื่อเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ด้วยลักษณะตัวผอมสูง เดินเร็วๆ หอบหนังสือไปมา ศีรษะขึ้นๆ ลงๆ เพื่อนจึงตั้งฉายาว่า ‘เทิ่ง’ เรียกแทนชื่อบรรยงค์
เพื่อนๆ นักศึกษาหลายคนรู้จักเทิ่งก็เพราะงานแสดงของเขาในมหา’ลัย ที่ได้สร้างความแปลกใหม่น่าจดจำ จากนั้นเขาก็เริ่มแสดงความปราดเปรื่องอารมณ์ขันในวงการบันเทิง ที่มีเพียงสิ่งเดียวในช่วงเวลานั้นคือวิทยุ อย่างวิทยุไทยโทรทัศน์ (ท.ท.ท.) สี่แยกคอกวัว ซึ่งเปิดสถานีวิทยุสำหรับฝึกหัดคนทำงานทีวี เพื่อเตรียมพร้อมกับการรับส่งสัญญาณ
เทิ่งตื่นเต้นสนใจการผลิตแพร่ภาพทีวีอย่างมากตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ ในรายการวิทยุตอบปัญหาของ ท.ท.ท.ที่จะให้ผู้ชมในห้องส่งเป็นผู้ตอบออกอากาศ เทิ่งเป็นหนึ่งในนั้น เขาตอบคำถามไปพร้อมกับปล่อยมุกตลกเรียกเสียงฮา จนกลายเป็นที่สนใจของผู้จัดผู้ผลิตไม่เพียงถูกเชิญขึ้นเวทีให้ผู้ชมได้เห็นตัว จากนั้นทุกๆ สัปดาห์เขาก็ได้เป็นผู้ช่วยพิธีกรในรายการ เขาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยที่ ท.ท.ท. ได้เป็นผู้จัดรายการวิทยุ ทายปัญหาเพลง ซึ่งส่วนมากก็เป็นเพลงสุนทราภรณ์
เมื่อทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เริ่มแพร่ภาพในปี 2498 เป็นช่องแรกของประเทศ เทิ่งทำหน้าที่ผู้กำกับเวที พิธีกร โฆษณาสินค้า หาสปอนเซอร์ ด้วยความเฉลียวฉลาดว่องไว จริตจะก้านที่มีชีวิตชีวา ยียวน และมุกตลกขบขัน เทิ่งกลายดาวเด่นในวงการจอแก้ว ปรากฏตัวในทุกจอทีวีที่บ้านของผู้รับชม เท่ากับว่าเมื่อแรกมีทีวีก็มีดาราชายออกสาวปรากฏเป็นตัวโดดเด่นแล้ว แล้วชายที่ออกสาวในทีวีนี้ก็มีบุคลิกตลก ชอบสร้างเสียงหัวเราะความบันเทิง
เนื่องจากเทิ่งมีผิวขาว หน้าแบน ทำให้แต่งหน้าเป็นตัวอะไรก็ง่าย แถมหุ่นเพรียวสูงโปร่งของเขาจึงแต่งตัวแปลกได้ง่าย เขาแต่งชุดประหลาดออกมาใบ้คำ ตั้งแต่แต่งเป็นเสี่ยวเอ้อ คุณแม่บ้าน ขุนนางจีน วีรสตรีนุ่งตะเบงมาน แอร์โฮสเตส นางพยาบาล ซามูไร สินสมุทร แม่เฒ่าทัสประสาท บางวันก็ติดหนวดจิ๋ม วันดีคืนดีก็ติดไฝเม็ดโต บางครั้งก็ทำท่ากระมิดกระเมี้ยนเลียนแบบรวงทอง ทองลั่นทมลอยหน้าลอยตา ทายว่าเพลงนี้เป็นเพลงของใคร
ทีวียุคบุกเบิกนั้น ไม่เพียงเป็นรายการสด ไม่ได้บันทึกเทป ซึ่งจะผิดคิวไม่ได้ แถมยังต้องผลิตกันเองเล่นกันเอง ขายโฆษณากันเอง เพราะยังไม่มีภาพยนตร์โฆษณา ระหว่างปี 2498-2504 รายการทีวีพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นเรื่อยๆ โปรดักชั่นใหญ่ขึ้น จากละครเล็กๆ มีผู้แสดงอยู่ 5-6 คนก็หันมาทำละครใหญ่เพื่อให้ได้มาตรฐาน มีนักแสดงมากขึ้นถึง 20 คน ค่าโฆษณาจึงแพงขึ้น ซึ่งผู้หาโฆษณาในขณะนั้นก็คือผู้แสดงเองและเป็นผู้โฆษณาสินค้าเองด้วย เทิ่งจึงต้องแสวงหาลูกเล่นในการโฆษณาสินค้า ซึ่ง อารีย์ นักดนตรี เพื่อนสนิทของเทิ่งที่ร่วมงานด้วยกันเล่าว่า
“เขาเหมาะที่จะโฆษณาตลกแหวกแนวด้วยอารมณ์ฝันเฟื่องตามแบบของเขา เพราะมีหัวคิดแปลกแหวกแนวในการโฆษณา เมื่อจะทำละครจี้เส้นแล้วก็ให้มันจี้เส้นทั้งโฆษณาด้วยจึงจะดี บางครั้งคุณอาจินต์ (อาจินต์ ปัญจพรรค์) ก็จะเขียนสคริปต์โฆษณาให้เทิ่งแต่งตัวอนาถา เสื้อขาดรุ่งริ่งกระเสือกกระสน หลงอยู่กลางทะเลทราย แล้วมีแขนคนยื่นเซเว่นอัพให้ดื่ม เป็นต้น”[1]
บางโฆษณาเทิ่งแหวกขนบด้วยการนุ่งขาสั้นโฆษณาสินค้าในรายการทีวีทั้งๆ ที่หัวหน้าไม่ชอบ และในการพูดโฆษณาเขาก็พยายามประดิษฐ์สำนวนคำแปลกๆ ชวนฟังและจดจำสินค้า จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้ชมจดจำเขา “เริ่ดสะแมนแตน” “เดดสะมอเร่” “โล่สะมันเตา” “แรดสะมูต้า” และ “ส.บ.ม.ย.ห.” กล่าวกันว่าก็มาจากความคิดสร้างสรรค์และความถนัดทางภาษาของเทิ่ง แม้ว่านักอนุรักษ์ภาษาไทยจะไม่พอใจกับสิ่งนี้ หาว่าทำภาษาวิบัติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำเหล่านี้เป็นมรดกที่เทิ่งมอบให้วงการบันเทิงและวงการภาษาไทย ที่ยังคงได้ยินคนใช้กันอยู่บ้างในปัจจุบัน
ด้วยความหัวไว ปากไว ปัญญาดี บุคลิกรื่นรมย์ สนุกสนานครึกครื้น มีอารมณ์ขันแหวกแนวอยู่เป็นนิตย์ มีคำพูดแปลกๆ มาจี้เส้นเรียกอารมณ์ขัน เทิ่งจึงได้ชื่อในวงการว่า ‘เทิ่ง กระหม่อมทอง’ ก่อนจะเป็นเทิ่ง สติเฟื่อง
“ทีแรกหัวหน้าตั้งให้ว่า ‘กระหม่อมทอง’ พอออกอากาศไปครั้งเดียวก็มีโทรศัพท์มาจาก ร.อ. ขุนแผน กระหม่อมทอง ท้วงว่าเป็นนามสกุลของเขา หัวหน้าจำนง (จำนง รังสิกุล) บอกให้คุณอาจินต์ (อาจินต์ ปัญจพรรค์) ตั้งให้ใหม่ คุณอาจินต์ก็ดูเอาจากสติปัญญา ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็คิดแต่เรื่องเฟื่องๆ ฟูๆ ผิดมนุษย์คนอื่น จะออกหัวคิดทำอะไรก็ถูกอกถูกใจคนดูไปหมด เลยตั้งนามสกุลให้ว่า ‘สติเฟื่อง’”[2]
เมื่อเริ่มมีทีวีช่องอื่นๆ เพิ่มขึ้น และความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารภายในช่อง 4 บางขุนพรหม ลูกจ้างอย่างเขาจึงพลอยต้องออกจากช่อง ตั้งแต่ 2511 มาตั้งคณะละคร ‘ศรีไทยการละคร’ เป็นคณะละครฟอร์มยักษ์ในขณะนั้น ป้อนให้ช่อง 4 ช่อง 5 ช่อง 7 เทิ่งเลือกบทประพันธ์นักเขียนชื่อดังในขณะนั้นเช่น ก. สุรางคนางค์ กฤษณา อโศกสิน สีฟ้ามาทำละคร เขาทุ่มทุนสร้าง ทั้งเขียนบทละครเอง แต่งเพลงประกอบเอง ฉากก็งดงามวิจิตรอลังการ ยืมเฟอร์นิเจอร์มากมายมาประกอบฉาก เทิ่งล้ำหน้ากว่าชาวบ้านเสมอ ละครเรื่องหนึ่งของเขา ‘รอยมลทิน’ เป็นละครที่หวือหวาเนื้อหาแรงมากในขณะนั้น เพราะเล่าเรื่องถึงชีวิตโสเภณีหญิง
และด้วยอยู่ในช่วงบุกเบิกของวงการทีวี ดาราก็ยังมีไม่มาก เขาจึงกลายเป็นนักปั้นดาราหน้าใหม่เข้าวงการบันเทิง เช่น ภิญโญ ทองเจือ (รู้จักมั้ยเธอ อังกอร์ ช่อง 7 ปี 2543 ก็เล่นนะ), นิรุตติ์ ศิริจรรยา (คนนี้ไม่ต้องอธิบายก็ได้ รู้จักกันดี), ดวงดาว จารุจินดา (ถ้าดู ‘ฟ้ามีตา’ กันก็ต้องรู้จักอยู่แล้ว)
เทิ่งเป็นคนหว่านล้อมเก่ง เขาจึงเป็นนักปั้นพระเอก เทิ่งสามารถชักนำ นิรุตติ์ ศิริจรรยาเข้าวงการบันเทิง ทั้งๆ ที่นิรุตติ์เองไม่เคยคิดจะเล่นละครมาก่อนเพราะทำงานเป็นเซลล์ให้สายการบิน นิรุตติ์กล่าวว่า “พี่เทิ่งตอนนั้น แกก็มาหาผมบ่อยจริงๆ แถมยังพูดด้วยอีกว่า อยากจะสร้างพระเอกใหม่ๆ จะได้หายเซ็ง เพราะพอสร้างมา คนนั้นก็ดึงคนนี้ก็ทึ้ง…”[3]
ชีวิตคนเราย่อมมีลองถูกลองพลาด มีขึ้นแล้วลง ลงแล้วก็ขึ้น เขาลองทำหนังภาพยนตร์ดูในปี 2516 แต่ด้วยหนังเรื่อง ‘ดาร์บี้’ ล้ำสมัยเกินไปจนคนไม่ดู ประกอบกับเหตุบ้านการณ์เมืองของตุลามหาวิปโยค หนังของเขาจึงไม่เป็นที่สนใจของประชาชน จนบางรอบต้องคืนเงินให้ผู้ชม งดฉายเพราะมีคนดูน้อยเกิน เทิ่งเป็นหนี้เป็นสินท่วมตัวและไม่กลับไปทำหนังอีกเลย เทิ่งเลียแผลใจตัวเองหันมาทำละครเล็กๆ ตลกๆ จบในตอนชื่อ ‘หัวร่อก่อนนอน’ แต่ก็ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จจึงเลิกไปแล้วหันมาทำรายการแม่บ้านแทนอย่าง ‘แม่บ้านวันนี้’ ‘ที่นี่มีทอง’ ‘แม่บ้านชิงทอง’ ทางช่อง 5 การที่เขาเป็นพิธีกร ‘แม่บ้านชิงทอง’ ทำให้เขายังคงปรากฏตัวบนหน้าจอทีวี และผู้คนยังคงจดจำความตลกความสนุกสนานของเขาได้ ท่ามกลางพัฒนาการของวงการทีวี
ชีวิตของเทิ่งบนจอแก้วยาวนานจาก ‘เทิ่ง’ เป็น ‘พี่เทิ่ง’ จากพี่เทิ่งมาสู่ ‘ป้าเทิ่ง’ และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความตลกขบขัน มักปรากฏตัวร่วมกับเพื่อนดาราตลกอย่างท้วม ทระนงและเพื่อนสนิทอีกคนคือ ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ดวดเหล้าด้วยกัน ถนัดศรีเล่าว่าเขากับเทิ่งใกล้ชิดกันเสมือนคู่แฝด จนถนัดศรีถูกล้อว่าเป็นตุ๊ด แต่นั่นถนัดศรีเองก็ไม่ยี่หระ เพราะมิตรภาพของทั้ง 2 มั่นคงสำคัญกว่า
ด้วยความความสามารถทางภาษา เทิ่งรับอาสาแต่งเพลงให้นิตยสารพลอยแกมเพชร โรงแรมโอเรียลเต็ล ดิเอมเมอรัลด์ โรงเรียนสวนกุหลาบ บริษัทโอลีน และร้านอาหารที่เขารู้จักมักคุ้น และในบั้นปลายเขาได้สร้างบ้านหลังที่ 2 เป็นบ้านในฝันหลังเล็กๆ เรียกว่า ‘กระท่อมสโนไวท์’ ท่ามกลางแมกไม้ทั้งผักสวนครัวรั้วกินได้ ไม้ดอกไม้ประดับส่งกลิ่นหอมไปทั่วบ้าน เพื่อนสนิทๆ ชอบหยอกว่ากระท่อมนี้ไม่ได้มีนางเอกชื่อสโนไวท์อาศัยอยู่หรอก มีแต่แม่มดชื่อเทิ่งอยู่ต่างหาก
เทิ่ง สติเฟื่องอยู่กับโรคตับอักเสบ ไวรัสบี เรื้อรังมานานนับ 10 ปี ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการตับวายเมื่ออายุ 69 ปี ในวันที่ 19 เมษายนปี 2545 ร่างกายของเขาอุทิศเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นักเรียนแพทย์ได้ศึกษาอย่างที่เขากำหนดไว้
ก่อนจะมีเบน ชลาทิศ ที่ชอบประดิดประดอยคำศัพท์คำสร้อยรุงรัง สร้างเสียงหัวเราะและอัตลักษณ์ทางเพศ ก่อนจะมีป๋อมแป๋มพิธีกรออกสาวที่สร้างความบันเทิงบนหน้าจอทีวี ก่อนจะมีผู้จัดละครนักปั้นดาราจำนวนมากที่อยู่ในชุมชน LGBTQ ก่อนที่รายการทีวีจะเอาเกย์กะเทยมาเป็นเพียงตัวตลกสร้างสีสัน และก่อนจะเกิดการแบนไม่ให้ LGBTQ โลดแล่นบนหน้าจอทีวี เทิ่ง สติเฟื่องนี่แหละคือผู้ที่มาก่อนกาล
และบางที การที่ทีวีมักเอากะเทยมาเป็นตัวตลก หรือเอาความออกสาวของผู้ชายมาทำหน้าที่สร้างเสียงหัวเราะ นอกจากจะเป็นเพราะ stereotype ของสังคมที่มีต่อเกย์กะเทย แต่อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่ทีวีเริ่มแรกแพร่ภาพ ผู้ที่ปรากฏตัวสร้างแล้วเสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน ทำให้ทีวีจอขาวดำมีสีสันขึ้นมาบังเอิญมีบุคลิกออกสาวเช่น ‘เทิ่ง สติเฟื่อง’
อ้างอิงข้อมูลจาก
ชีวิตที่รื่นรมย์ เทิ่ง สติเฟื่อง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.,2546.
อาจินต์ ปัญจพรรค์. ยักษ์ปากเหลี่ยม. กรุงเทพฯ : หมึกจีน, 2533.
อารีย์ นักดนตรี. เทิ่ง สติเฟื่อง…คู่หู-คู่ฮาของท้วม ทรนง. กุลสตรี 28,672 (ปักษ์แรก ม.ค. 2542), 164-167.
อารีย์ นักดนตรี. โลกมายาของอารีย์. กรุงเทพฯ : กายมารุต, 2546.
อารีย์ นักดนตรี. อารีย์และที.วี.ดารา. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2530.
[1] อารีย์ นักดนตรี. โลกมายาของอารีย์. กรุงเทพฯ : กายมารุต, 2546, น. 193-194.
[2] อารีย์ นักดนตรี. โลกมายาของอารีย์. กรุงเทพฯ : กายมารุต, 2546, น. 190-192.
[3] อารีย์ นักดนตรี. อารีย์และที.วี.ดารา. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2530, น. 27.