เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เรามักพบว่าแทบไม่เจอสุนัขจรจัดเลย แต่ละประเทศมีมาตรการต่างกันไป ฝั่งยุโรปมีกฎหมายเคร่งครัดต้องนำสุนัขไปขึ้นทะเบียนหรือถ้าปล่อยปะละเลยจะถูกปรับ ส่วนญี่ปุ่นถ้ามีเจ้าตูบมาเดินอยู่กลางถนน สักพักจะมีหน่วยงานมาจับไปทันที แต่สงสัยไหมว่าปลายทางของการจับตัวไปนั้นอยู่ที่ไหน
เมื่อเดือนพฤษภาคมมีข่าวน่าสะเทือนใจเมื่อผู้อำนวยการศูนย์พักพิงสัตว์ในไต้หวันตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลังจากทนไม่ไหวที่ต้องลงมือฉีดยาฆ่าสุนัขให้ตายไปหลายร้อยตัว เนื่องจากพวกมันมีปริมาณมากเกินกว่าศูนย์จะรับไหว พอข่าวนี้ออกมาปุ๊บบรรดาคนรักสุนัขก็ออกมากราดเกรี้ยวใส่พวกที่เอาสุนัขไปปล่อยทิ้งทันที แต่ก็ต้องเงิบเมื่อมีข่าวเพิ่มเติมว่า ผอ. ซึมเศร้าจนตัดสินลาโลกไปเพราะถูกก่นด่าประณามจากชาวรักสัตว์
ประเด็นนี้เถียงให้ตายอย่างไรก็ไม่จบ เพราะเป็นเรื่องเชิงทางแยกศีลธรรม (moral dilemma) ดังนั้นเมื่อผู้เขียนเห็น ละครญี่ปุ่นเรื่อง Kono Machi no Inochi ni ที่ว่าด้วยตัวละครในศูนย์พักพิงสุนัขที่ต้องจำใจฆ่าสุนัข ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล่าประเภทเรียกน้ำตาให้สงสารน้องสุนัข หรือมีแนวคิดเอนเอียงต่อต้านการกำจัดสุนัขจรจัดอย่างไม่ลืมหูลืมตา
โชคดีที่ผู้สร้างยังพอมีสติ แน่นอนว่าน้ำเสียงของ Kono Machi no Inochi ni ไม่เป็นกลาง เช่นว่าเหล่าประชาชนที่เรียกร้องให้รมแก๊สสุนัขนี่ช่างใจไม้ไส้ระกำเหลือเกิน แต่หนังพยายามเสนอทางออกเป็นรูปธรรม เหล่าตัวละครในศูนย์ผลักดันนโยบายให้คนมารับเลี้ยงสุนัข เพื่อจะได้ฆ่าพวกมันให้น้อยที่สุด แต่สิ่งที่ดีคือการทิ้งท้ายว่าสุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ยังต้องฆ่าสุนัขต่อไป เมื่อเกิดเหตุประชากรสุนัขล้นเกิน เป็นการทิ้งท้ายปลายเปิดให้คนดูไปขบคิดต่อ
สิ่งที่น่าสนใจคือเทรนด์สัตวศึกษา (Animal Studies) ในวงการภาพเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้มุ่งเน้นทางวิทยาศาสตร์ แต่อยากรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของสัตว์ ซึ่งข้อสรุปคือมนุษย์ไม่มีทางทำได้อย่างสมบูรณ์ หลายครั้งที่เราเอาความคิดของเราไปยัดเยียดใส่สัตว์ (เช่น การพากย์เสียงบรรยายแทนสัตว์ในสารคดี) วิธีถ่ายทอดสัตว์อย่างบริสุทธิ์ที่สุดอาจจะเป็นการใช้กล้องจับภาพมันโดยไม่ไปแทรกแซงอะไร
Kono Machi no Inochi ni ไม่ได้เลือกหนทางความบริสุทธิ์นั้น มันมีฉากแฟนตาซีที่อยู่ดีๆ เหล่าสุนัขก็พูดได้ หรือการนำเสนอแนวคิดว่า สุนัขไม่ได้มีสถานะถูกกระทำจากมนุษย์ฝ่ายเดียว แต่พวกมันจับจ้องพวกเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่อาจแน่ใจว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ (จนกว่าเราจะสื่อสารกับสุนัขได้แบบหมดจด) แต่อาจเป็นการมอบพื้นที่ทางภาพยนตร์ให้เหล่าสรรพสัตว์ ซึ่งอาจเป็นการไถ่บาปของมนุษย์อย่างกลายๆ
จากคอลัมน์ Movie โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : giraffe Magazine 43 — Olympic Issueติดตามเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ readgiraffe.com