พอเข้าเดือนสิงหาคมของทุกปี สิ่งที่มาพร้อมกับอากาศร้อนจนแทบสลบก็คือการแข่งขันเบสบอลฤดูร้อนระดับประเทศ หรือที่มักจะเรียกกันย่อๆ ว่า ‘โคชิเอ็ง’ ตามชื่อสนามแข่งขันที่อยู่ในจังหวัดเฮียวโกะ (และเป็นสนามเหย้าของทีม Hanshin Tigers) หนึ่งในอีเวนต์สำคัญสำหรับชาวญี่ปุ่น
ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงสามสัปดาห์ คือช่วงเวลาที่หลายต่อหลายคนจับจ้องหน้าจอทีวี ฟังวิทยุ หรือไม่ก็ไล่อ่านรายงานผลด่วนไปพลาง ลุ้นไปพลาง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลโอบง ที่เป็นช่วงหยุดยาวหลายวันของญี่ปุ่น หลายคนเลือกที่จะอยู่บ้านดูการแข่งขันเบสบอลของเด็กมัธยมปลายและสนุกไปกับมัน แม้จะไม่ใช่โรงเรียนที่ตัวเองจบมาหรือไม่ใช่ทีมจากจังหวัดตัวเองด้วยซ้ำ (จริงๆ แล้วมีโคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิด้วย แต่คนจะจับตาดูช่วงฤดูร้อนมากกว่า)
และปีนี้ก็ถือว่ามีข่าวใหญ่ เมื่อโรงเรียนเกษตรคานาอาชิจากจังหวัดอาคิตะได้เข้าชิงเป็นครั้งแรก ซึ่งทีมจากจังหวัดนี้ก็ไม่ได้มีโอกาสเข้าชิงมาถึง 103 ปีแล้ว การที่โรงเรียนจากจังหวัดได้เข้าชิงในโอกาสครั้งสำคัญครบรอบการแข่งขันโคชิเอ็งครั้งที่ 100 (ดูแล้วอาจจะงงกับจำนวนปี แต่มีช่วงหนึ่งที่ญี่ปุ่นต้องหยุดแข่งเพราะสงคราม) ทำให้คนในจังหวัดตื่นเต้นกันหมด แถมการชนะเข้ารอบมาแต่ละรอบก็นับว่าฉิวเฉียด พลิกแซงจนเข้ารอบชิงได้ จะเรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่ผู้คนชื่นชอบกันก็ว่าได้ ยิ่งคู่แข่งคือโรงเรียนโอซาก้าโทอิง โรงเรียนหัวแถวที่จัดว่าเป็นทีมสุดแกร่งอีกทีมหนึ่ง เพราะมีประสบการณ์คว้าแชมป์มาแล้ว และมีนักกีฬาเด่นๆ ในทีมอยู่มากมาย
เรียกได้ว่านี่คือนัดชิงระหว่างเดวิดกับโกไลแอธ มาตามแบบฉบับการเล่าเรื่องที่พวกเราชื่นชอบกันเหลือเกิน กับ Giant Killing หรือการที่ทีมเล็กพลิกเอาชนะทีมใหญ่ได้ บอกเลยว่าเขียนเป็นมังงะก็ยังสนุกได้ไม่เท่าเรื่องจริง
แต่น่าเสียดายที่บทเรื่องนี้ไม่ได้เขียนโดย อาดาจิ มิซึรุ (นักเขียนเรื่อง Touch และ H2) ไม่อย่างนั้นโรงเรียนเกษตรคานาอาชิคงจะพลิกเอาชนะไปอย่างสวยงามในนัดชิง แต่ในความเป็นจริง บทน่าจะเขียนโดย อิโนะอุเอะ ทาเคฮิโกะ (Slam Dunk) ซะมากกว่า เพราะพวกเขาได้ใช้โชคของตัวเองหมดไปแล้วก่อนเจอกับทีมยักษ์ใหญ่ และสุดท้ายก็แพ้ขาดลอย 13-2 แต่นับว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าประทับใจเพราะเมื่อดูจากเส้นทางที่พวกเขาผ่านมาได้ก็น่าทึ่งเกินพอแล้ว เรียกได้ว่าเป็นผู้แพ้ที่ชื่อจะอยู่ในความทรงจำของผู้คนไม่แพ้โรงเรียนที่เป็นผู้ชนะซึ่งทำสถิติชนะโคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนในปีเดียวกัน 2 ครั้งเป็นทีมแรก ส่วนโยชิดะ โคเซ พิตเชอร์ตัวสำคัญของทีมก็ยังได้โอกาสติดทีมชาติชุด U-18 อีกด้วย และคงจะได้รับการดราฟต์ตัวเข้าทีมอาชีพแน่นอน แม้จะไม่ใช่ตัวดราฟต์อันอับหนึ่งแต่ก็เป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก เรียกได้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่วัน ชีวิตของพวกเขาพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
สำหรับแฟนขาจร เรื่องราวที่ชวนทึ่งแบบนี้ก็ทำให้หันมาสนใจการแข่งขันโคชิเอ็งได้เสมอ ส่วนขาประจำ ก็คงรู้กันดีว่า โคชิเอ็งแต่ละปีมักจะมีเสน่ห์ชวนติดตามเสมอ แบบที่เราไม่สามารถพบได้ในการแข่งกันเบสบอลอาชีพเลย เพราะนอกจากการแข่งขันกีฬาอย่างดุเดือด สิ่งที่เราสามารถสัมผัสจากโคชิเอ็งได้ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘เซชุน’ หรือ ‘วัยหนุ่มสาว’ นั่นเอง
คำว่า ‘เซชุน’ (青春) นี้ผมก็เคยพูดถึงไปแล้วในบทควมเกี่ยวกับวงการไอดอล แต่ในวงการกีฬาระดับมัธยมก็มีเสน่ห์ของเซชุนในแบบของมัน เพราะว่านี่คือการแข่งขันที่มาจากใจรัก ความมุ่งมันทุ่มเท และมิตรภาพ โดยที่ไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือมีระยะเวลาจำกัด
ถ้าหากคุณเป็นนักเบสบอลอาชีพและรักษาสภาพร่างกายดีๆ คุณมีเวลาที่จะสู้เพื่อขึ้นไปคว้าแชมป์ได้ประมาณ 20 ปี ตลอดช่วงเวลาการเล่นอาชีพ ปีนี้ไม่ได้แชมป์ ปีหน้าก็ยังได้ลุ้น ถ้าไม่ได้ก็ย้ายทีม โอกาสเปิดกว้าง และในทีมอาชีพญี่ปุ่นก็มีแค่ 12 ทีม จาก 2 ลีกเท่านั้น
แต่ถ้าเทียบกับโคชิเอ็ง แค่โอกาสที่จะได้เข้าแข่งก็ยากแล้ว เพราะว่าแต่ละปีก็มีแค่โรงเรียนที่ชนะเลิศในเขตของตัวเองเท่านั้นที่จะสามารถไปร่วมแข่งระดับประเทศที่โคชิเอ็งได้ ที่บอกว่าแต่ละเขตเพราะว่าแต่ละปีก็มีการแบ่งเขตการแข่งขันต่างออกไป โดยทั่วไปแล้วจังหวัดส่วนใหญ่ก็มีตัวแทนจังหวัดละโรง แต่จังหวัดใหญ่จะถูกแบ่งเขตย่อยอีกทีแล้วแต่ปี และปีนี้ก็มีทีมเข้าร่วมเยอะที่สุดถึง 56 ทีม เพราะเป็นการฉลอง 100 ปีของการแข่ง แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็แทบแย่แล้ว
นอกจากนี้ คุณยังมีเวลาแค่ 3 ปี เท่านั้นที่จะสามารถไปแข่งและคว้าแชมป์ให้ได้ ถ้าไม่เก่งจริงก็อย่าหวังว่าจะได้เป็นตัวจริงตั้งแต่ปี 1 ทำให้โอกาสได้ไปยืนในสนามช่างยากเย็นเหลือเกิน
บางคนที่เล่นเบสบอลตั้งแต่ประถมโดยมีความฝันที่จะเข้าไปเล่นและคว้าแชมป์ในโคชิเอ็ง แต่สุดท้ายแล้วก็อาจจะจบชีวิตนักเบสบอลของตัวเองที่การแข่งระดับเขตหรือจังหวัดเท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นนักเรียนปี 3 การพ่ายแพ้ในการแข่งคัดเลือกฤดูร้อนนั้นหมายถึงโอกาสสุดท้ายของตัวเองจบลงแล้ว จึงมักจะมีพิธีอำลาสนามของปี 3 ที่สนามแข่งหลังจากการพ่ายแพ้ ทุกคนก็ได้แต่ยืนร้องไห้ขอบคุณโค้ช เพื่อนร่วมทีม รวมถึงผู้ปกครองที่คอยตามเชียร์ตลอด เป็นน้ำตาของวัยรุ่นที่มาจากการทุ่มเทให้กับสิ่งที่รักโดยไปไม่ถึงฝั่งฝัน
แต่ถึงจะเข้าไปเล่นในโคชิเอ็งได้ เป้าหมายก็ไม่ใช่แค่ได้ไป เพราะทุกคนก็คงอยากคว้าแชมป์ และด้วยความที่ระบบการแข่งเป็นแบบแพ้คัดออก แต่ละทีมจึงต้องลงแข่งโดยไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะต้องกลับบ้านหรือได้ไปต่อ เพราะมีเส้นทางแค่สองเส้นเท่านั้นจริงๆ คนชนะก็ดีใจ กลับที่พักไปเตรียมตัวเพื่อแข่งรอบต่อไป ส่วนคนแพ้ก็ได้แต่โกยเอาดินของสนามโคชิเอ็งกลับไปเป็นที่ระลึกทั้งน้ำตาว่าครั้งหนึ่งเคยได้ลงไปเล่นได้สนามนี้แล้ว ยิ่งถ้าเป็นนักเรียนชั้นปี 3 ก็ยิ่งเล่นอย่างลืมตาย เพราะไม่มีคำว่าปีหน้าจะกลับมาอีกต่อไป ถ้าหากไม่ได้เป็นนักเบสบอลอาชีพหรือได้ทุนนักกีฬาเข้าไปต่อระดับมหาวิทยาลัย เส้นทางนักเบสบอลของหลายคนก็ต้องจบลงในวันที่เกมจบลงด้วยการพ่ายแพ้ สิ่งที่รักก็กลายเป็นแค่งานอดิเรกเท่านั้น ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรให้มุ่งไปคว้าอีกต่อไป ความทุ่มเทของวัยรุ่นที่ทุ่มทุกอย่างเพื่อสิ่งที่ตัวเองรักในช่วงเวลาที่จำกัดทำให้เราได้เห็นความงดงามของ หยาดเหงื่อ น้ำตา และรอยยิ้มของพวกเขาจากใจจริงโดยมิได้มีผลประโยชน์อะไรเลย หลายต่อหลายคนถึงหลงเสน่ห์ความเซชุนของโคชิเอ็งอย่างจริงจัง และติดตามการแข่งขันเสมอ โดยเฉพาะคนที่เคยสังกัดชมรมกีฬาในระดับมัธยมคงเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้อย่างลึกซึ้งเข้าไปอีก
ด้วยความที่เป็นการแข่งรูปแบบที่ผลักให้ทุกคนอยู่ในสถานการณ์หลังชนฝา—ไม่สู้ก็กลับบ้าน รวมถึงระบบการแข่งขันที่แบ่งกันรุกแบ่งกันรับอย่างชัดเจน มีโอกาสพลิกแซงชนะได้ด้วยการเล่นครั้งเดียว ดังนั้น ในโคชิเอ็งแต่ละปีถึงมีเรื่องราวของ ‘สัตว์ประหลาด’ หรือ monster ที่ชาวญี่ปุ่นใช้คำว่า 怪物 เกิดขึ้นอยู่เสมอ คือจากนักเบสบอลที่ผลงานดีอยู่แล้ว พอเจอความกดดันก็ยิ่งสามารถโชว์ฟอร์มเด็ดขึ้นมาได้อีก ตัวอย่างเช่น โยชิดะ โคเซ ในครั้งนี้ที่โชว์ฟอร์มขว้างบอลได้อย่างยอดเยี่ยมมาตลอด แม้สุดท้ายจะเจ็บไหล่จนเล่นนัดชิงไม่ไหว แต่ก็จัดว่าเป็นตัวอย่างที่ดี หรือในอดีตพิตเชอร์ที่ความเร็วการขว้างบอกก่อนแข่งโคชิเอ็งมีความเร็วสูงสุดที่ 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อถึงอินนิ่ง (รอบ) ตัดสินที่ต้องการเก็บชัยชนะให้ทีม กลายเป็นว่าเขาขว้างได้ความเร็วเกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเกือบทุกลูก เรียกได้ว่าพาวเวอร์อัพกันกลางสนามเลย หรือคู่หู KK คุวาตะ และ คิโยฮาระ แห่ง PL Gakuen ที่เป็นคู่หูเอซตั้งแต่ปี 1 จน ปี 3 และคว้าแชมป์ได้ 2 ครั้งจากการเข้าแข่ง 5 ครั้ง ก็โชว์ฟอร์มเด่นขนาดที่คิโยฮาระทำสถิติตีโฮมรันในโคชิเอ็งได้มากที่สุด และทั้งสองคนยังไปร่วมทีมกันต่อที่ Yomiuri Giants สร้างตำนานให้วงการเบสบอลญี่ปุ่น
อีกทางหนึ่ง มัตซึอิ ฮิเดกิ ก็ได้ฉายา Godzilla เมื่อไปเล่นใน Major League Baseball ที่อเมริกาเพราะตีได้ดีเหลือเกิน มัตซึอิสร้างตำนานไว้ตั้งแต่มัธยม ในสมัยที่เล่นให้ทีม Seiryou จากจังหวัดอิชิคาวะ และยังโชว์ผลงานเด่นตีโฮมรันรัวมาตั้งแต่สมัยนั้น แต่ว่าพอถึงนัดชิงเจอกับทีม Meitoku จากจังหวัดโคจิ ก็กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่ไม่ได้แผลงฤทธิ์ ไม่ใช่เพราะเขาเล่นไม่ออก แต่เพราะว่าโค้ชทีมคู่แข่งสั่งให้พิตเชอร์เลือกขว้างบอลเลี่ยงไม่ให้เขาตี ปล่อยให้เขาเดินไปเบสหนึ่งเฉยๆ แทนที่จะโดนตีโฮมรัน และทำแบบนี้ทุกครั้งจนโดนคนดูโห่ แม้จะชนะไปแต่ก็ไม่ได้เป็นชัยชนะที่ครองใจคน เพราะทุกคนชื่นชมมัตซึอิที่แม้จะเจ็บใจ แต่ก็ให้สัมภาษณ์ว่า “การปล่อยให้วิ่ง เลี่ยงไม่ให้ตีก็เป็นหนี่งในแผนการเล่น ตัวเองคงไม่มีสิทธิ์พูดอะไรได้” จนกลายเป็นผู้แพ้ในนัดชิงที่สง่างามไป
นอกจากการโชว์ฟอร์มเด็ดของเด็กหนุ่ม โคชิเอ็งยังมีเรื่องราวดราม่าอื่นๆ ให้ติดตามอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น คุวาตะ แห่งคู่หู KK นั่นล่ะครับ ถึงจะเป็นตัวเด่นของทีมตั้งแต่ปี 1 แต่จริงๆ แล้วตอนเข้าเรียนที่ PL Gakuen ก็ถูกวิจารณ์เรื่องฟอร์มการขว้างบอลว่าไม่ดีพอ เลยได้ทำหน้าที่แค่เป็นคนเก็บบอลเวลาทีมหลักซ้อมจนเขาหมดกำลังใจว่าจะเลิกเล่น แต่โชคดีที่ตอนขว้างบอลที่เก็บได้กลับโฮม หนึ่งในโค้ชเห็นฟอร์มการขว้างแล้วกลับถูกใจ เลยขอผู้จัดการทีมว่าอยากจะฝึกเด็กคนนี้แบบตัวต่อตัว กลายเป็นว่าเขาสามารถพัฒนาตัวเองได้จนกลายมาเป็นตัวหลักของทีมตลอด 3 ปี และเป็นตำนานของวงการเบสบอลญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่จะเลิกเล่นไปแล้ว
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็ทีม Ikuei จากจังหวัดเฮียวโกะ ที่เข้าชิงกับทีม Kasukabe Kyoei จากไซตามะในปี 1993 ซึ่งในอินนิ่งที่ 5 Ikuei โดนตีเสมอเป็น 2-2 แล้วหลังจากนั้น ยาซุดะ กัปตันทีมที่คุมเบส 2 อยู่โดนชาร์จจนบาดเจ็บได้แผลที่เข่าต้องออกไปพัก แต่พอ Ikuei กลับมาเป็นฝ่ายตี ยาซุดะก็เดินกะเผลกออกมายืนตี แม้จะตีได้ แต่ก็วิ่งไม่ไหวโดนแตะออกและต้องไปโรงพยาบาลทันที แต่ทีมก็ยันเสมอไว้จนอินนิ่งที่ 8 ที่ทีมได้บุก และกัปตันยาซุดะก็กลับจากโรงพยาบาลมานั่งเชียร์เพื่อนที่ข้างสนามได้ทัน โดยระหว่างไปโรงพยาบาลเขาก็ฟังวิทยุตามผลตลอด แถมแท็กซี่ก็รู้งาน ช่วยหาทางลัดวิ่งรถมาส่งเขาที่สนามได้ทัน พอกัปตันกลับมาทีมก็มีกำลังใจ สามารถทำแต้มขึ้นนำได้อีกแต้ม และพาทีม Ikuei คว้าแชมป์เป็นครั้งแรกไปได้ราวกับพล็อตเรื่องในมังงะ
ไม่ใช่แค่ดราม่าในสนาม แต่บางครั้ง สิ่งที่ผลักดันให้ทีมไปคว้าแชมป์ได้ก็มาจากสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง
ในปี 2013 ทีม Maebashi Ikuei จากจังหวัดกุนมะ คว้าแชมป์ประจำจังหวัดได้เข้าไปแข่งโคชิเอ็งเป็นครั้งแรกของทีม ซึ่งหัวใจหลักของทีมคือกัปตัน อาราอิ ลูกชายของผู้จัดการทีมนั่นเอง ตัวผู้จัดการทีมก็พกเรียงความที่ลูกชายเขียนไว้เมื่อตอน ป. 5 ว่า “จะเข้าโรงเรียนที่พ่อคุมทีม พาทีมไปโคชิเอ็ง และเป็นแชมป์ให้ได้” ติดตัวไว้เสมอ ซึ่งพอสามารถไปโคชิเอ็งได้ ตัวลูกชายก็บอกว่า ดีใจที่ได้พาพ่อไปโคชิเอ็งยิ่งกว่าที่ได้ไปแข่งเอง และพอไปโคชิเอ็งก็สามารถเอาชนะทีมแกร่งระดับตำนานอย่าง Yokohama ไปได้อย่างงดงาม 7-1 ก่อนจะไปถึงนัดชิงเจอกับ Nobeoka Gakuen ตัวแทนจากมิยาซากิ ซึ่งตัวลูกชายไปพลาดในอินนิ่งที่ 5 จนเสีย 3 แต้มก่อน แต่ทีมก็ไล่ตามมาตีเสมอได้ในอินนิ่งถัดมา แล้วอินนิ่งที่ 7 ลูกชายก็ออกมาตีส่งเพื่อนเข้าโฮม ทำแต้มขึ้นนำเป็น 4-3 ก่อนจะรักษาสกอร์ไว้จนจบเกม กลายเป็นการมาแข่งในโคชิเอ็งครั้งแรกของทีมและคว้าแชมป์ไปในทันที ของคู่พ่อลูก—ผู้จัดการทีมและกัปตันทีม—ลูกชายได้ทำตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ตั้งแต่ประถม และสุดท้ายก็ยังเอาลูกบอลที่พาทีมคว้าแชมป์ไปให้พ่อเป็นที่ระลึก เป็นประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าของโคชิเอ็งไป
ด้วยหยาดเหงื่อ น้ำตา และรอยยิ้มของเด็กวัยรุ่นที่ต้องการทำความฝันของพวกเขาให้เป็นจริงอย่างบริสุทธิ์จึงทำให้โคชิเอ็งมีเสน่ห์ชวนติดตาม และหลายคนก็บอกว่า มันคือการแข่งขันที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์อย่างมากเพราะไม่มีผลประโยชน์หรือเงินตอบแทนอะไรมาเกี่ยวข้อง เด็กหนุ่มแต่ละคนก็เพียงแค่ต้องการฝึกซ้อมเพื่อให้ตัวเองขึ้นไปสู่จุดสูงสุดให้ได้ และมีแค่ทีมเดียวที่จะทำสำเร็จ แต่ระหว่างทางนั้นก็มีเรื่องราวต่างๆ ชวนให้เราคิดตามเสมอครับ