เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและเพื่อนหลายราย ได้มีโอกาสไปร่วมชมสารดดีเรื่อง Tokyo Idols รอบสื่อที่จัดฉายโดย Documentary Club และเข้าฉายทั่วไปเมื่อวันที่ 31 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเป็นความสนใจส่วนตัวอยู่แล้ว ก็อยากรู้เหมือนกันว่าตัวสารคดีจะนำเสนอออกมาในแง่ไหน เพราะตัวผู้กำกับก็เป็นผู้หญิงญี่ปุ่นที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ แล้วพอกลับมาอีกทีก็ตะลึงกับวัฒนธรรมไอดอลที่กลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงจนเธออยากทำสารคดีชิ้นนี้ขึ้นมา
ซึ่งตัวสารคดี ก็เป็นการเข้าไปเจาะวงการไอดอลของญี่ปุ่น โดยมีเส้นเรื่องหลักอยู่ที่ตัวไอดอลหญิงเดี่ยวชื่อ Rio ที่กำลังพยายามสู้เพื่อประสบความสำเร็จในวงการเพลง ซึ่งเธอก็พยายามด้วยวิธีการสารพัด และอีกด้านหนึ่งคือ คุณ Koji ชายวัยกลางคน ที่เรียกได้ว่าเป็น โอตาคุ ที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อเอาใจช่วย Rio โดยรวมตัวกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมหลายต่อหลายอย่าง
ระหว่างเรื่องดำเนินไป ผู้กำกับก็พาเราไปแวะตรงนั้นตรงนี้ของวงการไอดอล เพื่อให้ดูอะไรได้หลากหลายยิ่งขึ้น มีตั้งแต่แฟนระดับฮาร์ดคอร์ ไอดอลรุ่นเด็ก ไอดอลสาวที่เข้ามาตรงนี้โดยมีเหตุผลของตัวเอง ครอบครัวของพวกเธอ วงใหญ่อย่าง AKB48 รวมถึงไปสัมภาษณ์นักวิจารณ์และนักวิชาการหลายต่อหลายราย เพื่อให้เราได้เข้าใจวงการนี้มากขึ้น ซึ่งทีแรกก็นึกว่าจะออกดาร์กๆ ที่ไหนได้ ดูไปดูมาออกจะอบอุ่นซะด้วยซ้ำ แถมยังพยายามทำความเข้าใจโอตาคุได้มากกว่าที่คาดคิดไว้ (แน่นอนว่าตัวโอตาคุเองก็เข้าใจว่า จะมาถ่ายเอาภาพลักษณ์แย่ๆ ของพวกเขาไปขายใช่ไหม)
เมื่อดูแล้วก็มีประเด็นมาให้ชวนคิดต่ออยู่สองสามประเด็น (ระวังอาจจะเปิดเผยเนื้อหาสารคดีบางส่วน) เรื่องแรกที่ตัวผมเองสนใจเอามากๆ ก็คือเรื่องของคำว่า เซชุน (青春) หรือ วัยเยาว์ ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในหัวใจของไอดอลก็ว่าได้ ในเรื่องเองก็มีเรื่องของการพูดว่า “ถ้าอายุ 17 แล้ว สำหรับไอดอลก็ถือว่าเริ่มจะเข้าสู่ช่วงปลาย” และถ้านับตรงๆ อายุ 18 คือวัยที่จะจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลาย และเป็นช่วงสุดท้ายที่จะได้ใส่เครื่องแบบอยู่ในกฎระเบียบ ซึ่ง เครื่องแบบ (制服) ก็เป็นอีกสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้สำหรับไอดอล และที่ผ่านมา ถ้าไล่ดูชื่อเพลงหรือเนื้อเพลงของศิลปินไอดอล ที่มีคำว่า 制服 อยู่ในเพลงก็จะพบว่ามีมากมายจนแทบจะเป็นภาคบังคับ และบางกลุ่มก็เอามาใช้เป็นชื่อวงเลยทีเดียว ในตัวสารคดีก็เปิดด้วยเพลง Seijun Philosophy ของ AKB48 ที่วลีที่สองก็ร้องว่า “จนกว่าจะถึงวันที่ฉันถอดชุดนักเรียน” (ในสารคดีแปลว่า “ถึงวันเติบใหญ่จนก้าวพ้นวัยเรียน”)
หากมองว่าเครื่องแบบเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัยเยาว์ ก็พอเข้าใจได้ว่า ทำไมชายวัยกลางคนหลายต่อหลายคนถึงมาเป็นแฟนและสนับสนุนไอดอลที่ใส่เครื่องแบบชุดนักเรียนเหล่านี้ได้ แน่นอนว่าก็ต้องมีส่วนที่มองในแง่เพศตรงข้าม แต่ในตัวสารคดีกลับทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่ง คือ การเป็นตัวแทนความฝันของพวกเขานั่นเอง เพราะวัยเยาว์ที่อยู่ในรั้วโรงเรียนที่มีเวลาสนุกรื่นเริง ทำอะไรที่รักได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้สนผลประโยชน์นั้นมีเวลาจำกัดเอามากๆ จะสังเกตได้ว่า ภาพยนตร์ญี่ปุ่นแนวเซชุนหลายต่อหลายเรื่องก็เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่นมัธยมที่ต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อความฝันของตัวเอง หรือแม้กระทั่งเพื่อเอาใจสาวๆ เท่านั้น (Water Boys, Swing Girls, Hula Girls หรือ Let’s Go Jets) หรือความสนุกในการเชียร์เบสบอลมัธยมปลาย ที่เหล่าเด็กหนุ่มลงไปเล่นในสนามโดยไม่มีผลประโยชน์เงินตราอะไร นอกจากต้องการชัยชนะเพื่อโรงเรียน
ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยาวนานเป็นสิบปี สำหรับคนทำงาน Gen X ที่ต้องเจอกับสภาพเศรษฐกิจถดถอยในวัยทำงาน ได้แต่ทำงานไปวันๆ ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น มองไปข้างหน้าไม่ได้เห็นอนาคตอะไรที่สวยงาม ซึ่งหนึ่งในนักวิจารณ์ในเรื่องก็บอกว่าคล้ายกับสภาพของอังกฤษในยุค 70 ซึ่งก็ได้ให้กำเนิดดนตรีพังค์ของวัยรุ่นขึ้นมา แต่ในญี่ปุ่นกลับให้กำเนิดวัฒนธรรมไอดอล (ที่น่าสนใจอีกก็คือ ดนตรีพังค์ของญี่ปุ่นก็หนักไปในทางเรื่องของเซชุนมากกว่าการต่อต้านสังคม) และยิ่งเมื่อชายเหล่านั้นหลุดจากตลาดการหาคู่เดต ก็ไม่รู้จะหาความสนุกกับอะไรได้
นักวิจารณ์หญิงมองว่า วงการไอดอลอาจจะเป็นพื้นที่เดียวที่ผู้หญิงได้รับการเชิดชูและให้ความสำคัญ
ไม่แปลกใจที่ เมื่อบางคนมองมาที่เหล่าเด็กสาวที่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อสานฝันของตัวเองไปสู่อนาคต การเชียร์เด็กสาวเหล่านี้ก็อาจจะเป็นการฝากความฝันของตัวเอง ผลักดันให้พวกเธอประสบความสำเร็จแทนตัวเอง บางคนจึงบอกว่า ชอบที่จะเชียร์เด็กสาวที่ไม่ใช่ตัวท็อป แต่มีความพยายามและมีแววพัฒนา คงจะเป็นกลไกชดเชยการมีบุตรของตนเองด้วยการเฝ้ามองการเติบโตของเหล่าไอดอลเหล่านั้นด้วยสายตาของผู้ปกครอง รวมไปถึงการฝากฝังให้พวกเธอใช้ชีวิตช่วงเซชุนที่ใสบริสุทธิ์ของพวกเธอให้เต็มที่ เปล่งประกายในแบบที่พวกเขาไม่มีโอกาสอีกแล้ว
ในขณะเดียวกัน ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ก็ต้องมีคนที่เข้ามาติดตามไอดอลเพราะความเป็นเพศตรงข้ามด้วย ซึ่งก็เป็นความย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย เพราะไอดอลโดยหลักแล้วต้องขายภาพลักษณ์ใสซื่อบริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้เสน่ห์ในการดึงดูดแฟนๆ ให้เข้ามาติดตาม ซึ่งก็หลีกหนีข้อกล่าวหาว่าเป็น วัตถุทางเพศ ไม่พ้นแน่นอน โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่การที่เด็กสาวใส่ชุดว่ายน้ำขึ้นปกนิตยสารเป็นเรื่องไม่แปลกอะไรนัก แต่เมื่อได้ฟังนักวิจารณ์หญิงมองว่า วงการไอดอลอาจจะเป็นพื้นที่เดียวที่ผู้หญิงได้รับการเชิดชูและให้ความสำคัญ มันก็ชวนให้คิดได้ว่า ต่อให้เป็นวัตถุทางเพศ แต่ถ้าหากรู้จักที่จะใช้จุดนั้นมาเป็นการเสริมอำนาจให้กับตัวเอง จากเด็กสาวธรรมดา ก็อาจจะกลายเป็นเด็กสาวที่มีอำนาจเหนือชายทั่วไปในสังคมเสียอีกด้วยซ้ำ แม้จะฟังดูเป็นคำที่ไม่ดี แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันสามารถกลายเป็นอาวุธที่สำคัญที่ส่งให้เด็กสาวคนหนึ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดได้เช่นเดียวกัน สำคัญแต่เพียงว่า เธอจะระเบิดพลังตรงนี้มาใช้เมื่อตอนไหนเท่านั้นเอง
แน่นอนว่า กับสภาพสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน ที่นอกจากปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังแล้ว ชายวัยรุ่นยุคใหม่หลายคนก็ไม่ได้สนใจเพศตรงข้ามในฐานะคู่รักจริงๆ แต่เลือกที่จะเชียร์ไอดอลแทน วงการไอดอลของญี่ปุ่นก็น่าจะยังคงรุ่งเรืองต่อไปได้อีก และขยายขอบเขตแนวดนตรีใหม่ๆ กว้างขึ้นไปอีก ก็ชวนให้ติดตามว่า บทบาททางสังคมของผู้เกี่ยวข้องในวงการจะเปลี่ยนไปเช่นไหนอย่างไรอีกหรือไม่