1
ปกติคุณนั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ ไหมครับ
แล้วคุณได้ข่าวเรื่องการจะเปลี่ยนหมายเลขของสายรถเมล์ใหม่หมดไหมครับ
ชอบไหมครับ – ที่จะได้ท่องจำสายรถเมล์เบอร์ใหม่
แล้วชอบไหมครับ – รถเมล์กรุงเทพฯ ?
2
คุณสงสัยเหมือนผมไหมว่า ทำไมเขาถึงต้องพยายามจะเปลี่ยน ’สายรถเมล์’ จากตัวเลขเดิมไปเป็นตัวเลขใหม่หมดยกชุดกันด้วย
ว่ากันว่า จากที่ตอนนี้มีรถเมล์อยู่ 202 สาย พอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่หมดแล้ว จะมีรถเมล์เพิ่มเป็น 269 สาย แล้วแต่ละสายก็จะไม่ได้มีหมายเลขเดิมนะครับ เช่น สาย 189 จะเปลี่ยนเป็น Y59 สาย 114 เปลี่ยนเป็น G21 สาย 509 เปลี่ยนเป็น Y61 หรือสาย 555 เปลี่ยนเป็น B53E อะไรอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็ฟังดูทั้งอินเตอร์ฯ และทั้งเวียนหัวยิ่งนัก
ใช่ครับ – ถ้าคุณเป็นคนที่ใช้รถเมล์เป็นประจำ คุณต้อง ‘ยกเครื่อง’ หัวสมองของคุณใหม่หมดจด คือโละทิ้งความทรงจำเดิมเกี่ยวกับสายรถเมล์ทั้งปวงทิ้งไป แล้วหันมาโปรแกรมข้อมูลใหม่ลงไปในสมอง
หลายคนบ่น – บางคนถึงขั้นด่า, ว่าไม่มีอะไรทำหรือยังไง ถึงได้พยายามจะเปลี่ยนหมายเลขรถเมล์กันแบบนี้
ที่จริงแล้ว ผมคิดว่าเราจะเปลี่ยนหมายเลขรถเมล์เป็นภาษาต่างด้าวดาวดึงส์ฉกามาพจรอะไรก็ได้ทั้งนั้นนั่นแหละนะครับ แต่คำถามคือ ‘หลัก’ และ ‘ตรรกะ’ ในการเปลี่ยนคืออะไร ถ้ารัฐหรือตัวแทนของรัฐมี ‘หลัก’ และ ‘ตรรกะ’ ในการเปลี่ยนหมายเลขรถเมล์ที่ชัดเจน ก็ต้องหัดออกมาใช้สมองและปากอธิบายให้ประชาชนผู้ใช้รถเมล์ (ที่มักถูกมองว่าต่ำต้อยด้อยค่า) เข้าใจด้วย
เท่าที่ผมรู้มาก็คือ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากการ ‘ยุบรวม’ เขตการเดินรถของ ขสมก. ที่เดิมมี 8 เขต ให้เหลือแค่ 4 เขตหรือ 4 โซน แล้วเขาก็แบ่งโซนต่างๆ ออกเป็นสีๆ คือเขตการเดินรถที่ 1 และ 2 เป็นสีเขียว จะใช้ตัวย่อว่า G (มาจาก Green) นำหน้า เขตที่ 3 และ 4 เป็นสีแดง ใช้ตัว R (มาจาก Red) นำ ส่วนเขตที่ 5 และ 6 จะใช้สีเหลือง มีตัว Y (มาจาก Yellow) นำหน้า และสุดท้ายคือเขตการเดินรถที่ 7 และ 8 จะใช้สีน้ำเงิน เพราะฉะนั้นก็จะใช้ตัว B (มาจาก Blue) นำหน้า
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีรถไฟฟ้า ผมนั่งรถเมล์ไม่บ่อยนัก เพราะรถไฟฟ้าผ่านใกล้บ้าน แต่ทุกครั้งที่นั่งรถเมล์ นอกเหนือไปจากน้ำใจงามของกระเป๋าและคนขับ (ที่ผมยืนยันว่ามีมากกว่าคนขับรถแย่ๆ หรือให้บริการไม่ดีนะครับ ส่วนใหญ่แล้วให้บริการกันแบบเต็มที่และเต็มใจกันแทบทั้งนั้น) ก็ต้องขออนุญาตกระซิบบอกเบาๆ ว่า – แทบไม่รู้สึกเลยว่ารถเมล์กรุงเทพฯ ‘มีอะไรดี’ เลย
ใช่ครับ – คำว่า ‘ไม่มีอะไรดี’ นี่ ผมเอารถเมล์กรุงเทพฯ ไปเทียบกับรถเมล์สิงคโปร์, รถเมล์ลอนดอน, รถเมล์นิวยอร์ค, รถเมล์เบอร์ลิน, รถเมล์ฮ่องกง และรถเมล์ของประเทศมีอันจะกินทั้งหลายในสากลโลกนะครับ ไม่ได้เอาไปเทียบกับรถเมล์โกโรโกโสบุโรทั่งที่ไหน เพราะผมคิดว่ารถเมล์ไทยมีประวัติความเป็นมายาวนาน น่าจะมีพัฒนาการยาวนานทะลุฟ้าไปด้วย จึงน่าจะถูกจัดอยู่ในข่ายเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย
(หัวเราะขำ)
แต่จะว่าไปทำไมมี คุณอาจจะรู้ก็ได้นะครับ – ว่า ณ ปัจจุบันนี้ รถเมล์บางคันที่เคยให้บริการตั้งแต่สมัยคุณ ‘ทมยันตี’ เป็นผู้อำนวยการ ขสมก. น่ะ, มันยังวิ่งอยู่เลย
หา – คุณตกใจอะไร?
1. ใช่ครับ คุณ ‘ทมยันตี’ หรือคุณวิมล เจียมเจริญ นักเขียนชื่อดังของเรานี่แหละ เธอเคยเป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ไม่มี ฯ นะ) ด้วย แต่เป็นในปี 2527 โน่น
และ 2. เท่าที่ร่ำลือกันในเฟซบุ๊ก รถเมล์บางโมเดลที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2527 (ซึ่งเป็นปีที่เริ่มใช้ก๊าซ NGV ในรถเมล์เป็นครั้งแรก) ก็ยังใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน (หรืออย่างน้อยเท่าที่ค้นได้ ก็ใช้มาถึงปี 2013 นั่นแหละครับ)
เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจ – ที่รถเมล์ไทยจะทันสมัยได้เท่าที่เห็น!
3
สำหรับผม รถเมล์คือบริการขนส่งมวลชนที่ต้องบอกว่าเป็น ‘พิกัดล่าง’ ของการขนส่งมวลชนทั้งปวง เพราะมันคือขนส่งมวลชนที่ราคาถูกที่สุด พื้นฐานที่สุดของเมือง ไม่ว่าเมืองไหนๆ ก็ต้องมีรถเมล์ให้บริการผู้คน และการที่รถเมล์คือบริการ ‘พิกัดล่าง’ สุด ก็แปลว่าเราดูได้เลยนะครับ ว่าเมืองนั้นๆ ‘เจริญ’ มากน้อยแค่ไหน
ในประเทศเจริญแล้ว เขาไม่ได้แข่งกันอวดร่ำอวดรวยว่าใครจะสร้างตึกสูงกว่าใคร หรือใครมีตังค์กินดินเนอร์มื้อละล้านอะไรทำนองนั้นหรอกนะครับ แต่เขาแข่งกันว่า ‘คนจน’ ในประเทศหรือในเมืองนั้นๆ มีความเป็นอยู่ที่ดี หรือ ‘ถูกทำให้ดีขึ้น’ ได้มากแค่ไหน ดังนั้น บริการสาธารณะอย่างรถเมล์ จึงเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดท่ีดีอย่างหนึ่งได้เลย ว่าเมืองน้ันๆ มี ‘ความเจริญ’ ทั้งทางวัตถุ สภาพจิต และการปฏิรูปสังคมที่ไม่ใช่แค่การคุยฟุ้งน้ำลายเหม็น – มากแค่ไหน
รถเมล์กรุงเทพฯ ก็เป็นตัวชี้วัดแบบเดียวกันนั่นแหละครับ
เขาบอกว่า ขนส่งมวลชนสาธารณะนี่ มีมาตั้งแต่ยุคกรีกกันแล้วนะครับ แต่ที่ถือว่ามีลักษณะคล้ายๆ ‘รถเมล์’ มากที่สุด ก็น่าจะเป็นรถ Omnibus ที่เปิดให้บริการครั้งแรกในกรุงปารีส ปี 1662 โดยใช้ม้าลากรถกันก่อน จากนั้นก็ค่อยพัฒนามาเป็นรถที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำและใช้เครื่องยนต์กันต่อมา ซึ่งก็แพร่หลายในแทบทุกเมือง ตั้งแต่ลอนดอน นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และอื่นๆ
ส่วนของไทยเราก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่นะครับ ว่ารถเมล์เริ่มจากไอเดียของคุณเลิศ เศรษฐบุตร (ถึงเรียกว่า รถเมล์นายเลิศ) ในปี 2450 ซึ่งตอนแรกก็ใช้ม้าลากเหมือนกัน แต่ต่อมาใช้รถที่มีเครื่องยนต์แทนม้าลาก ทำให้ได้รับความนิยมนับแต่บัดนั้น จนทำให้เกิด ‘บริษัท’ ที่ประกอบกิจการเดินรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ มากถึง 28 ราย ก่อนที่จะมีการ ‘ปฏิรูป’ รวมกิจกาทั้งหมดมาเป็นรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2518 ถึง 2519
หลายคนอาจจะประหลาดใจ ว่าสมัยก่อนเราเคยมีบริษัทเอกชนให้บริการขนส่งมวลชนกันเยอะแยะมากมายเป็นสิบๆ บริษัทด้วยหรือ แต่ต้องบอกคุณว่า เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจหรอกนะครับ เพราะว่าเมืองไหนๆ ก็ดูเหมือนจะเริ่มต้นอย่างนี้กันทั้งนั้น คือมีคนให้บริการขนส่งมวลชนหลายเจ้า ก่อนจะควบรวมกันเป็นเจ้าใหญ่เจ้าเดียว หรือในบางเมืองก็ไม่ควบรวมด้วยซ้ำ
อย่างในลอนดอนยุควิคตอเรียนนั้น รถเมล์มีให้บริการกันมากมายหลายสาย แต่ละสายก็มีชื่อเฉพาะของตัวเองนะครับ (ชื่อของบางสายกลายเป็นคำเรียกคนบางชนชั้นไปด้วยซ้ำ เพราะมันแล่นผ่านย่านบางย่านที่มีคนชนชั้นหนึ่งๆ อาศัยอยู่มากกว่าคนชนชั้นอื่น) ดังนั้น คนจึงต้องจำรถเมล์ของตัวเองโดยใช้สีของตัวรถ เพราะแต่ละบริษัทจะทาสีรถไม่เหมือนกัน แล้วก็ต้องจำว่า สายนี้จากไหนไปไหน เช่นที่คนไทยเคยจำได้ขึ้นใจว่า รถเมล์สาย 1 คือสาย ‘ถนนตก-ท่าเตียน’ ไงครับ
แต่พอถึงปี 1906 รถเมล์ของลอนดอนก็มีมากมายหลายสายจนจำกันไม่หวาดไม่ไหว ที่สุดเลยเริ่มนำระบบ ‘ตัวเลข’ เข้ามาใช้ โดยเริ่มจากบริษัทรถเมล์ชื่อ London Motor Omnibus Company ก่อน บริษัทนี้เขาสังเกตเห็นว่า รถเมล์สายที่ชื่อ Vanguard ของตัวเองมีคนขึ้นเยอะมาก ก็เลยแบ่งสายนี้ออกมาย่อยๆ เป็น 5 เส้นทาง แล้วใช้ตัวเลข 1 ถึง 5 มาแทน
ปรากฏว่าพอใช้ตัวเลขปุ๊บ คนยิ่งสะดวกสบายมากขึ้น เพราะมันจำง่ายขึ้นกว่าเดิม ผลก็คือ บริษัทอื่นๆ เอาบ้าง มีการใช้ตัวเลขกันมากมายจนต้องบอกว่า ‘มั่ว’ ไปหมด เพราะว่ามันไม่มี ‘ระบบสากล’ (Universal System) มาเอามาใช้กับทุกๆ บริษัท
การณ์เป็นฉะนี้อยู่นานเป็นสิบปีนะครับ จนกระทั่งเกิดกฎหมายชื่อ London Traffic Act ขึ้นในปี 1924 ก็เลยเกิดแผนที่เรียกว่า Bassom Scheme ขึ้นมา (Bassom เป็นชื่อของหัวหน้าหน่วยงานตำรวจนครบาลลอนดอนในตอนนั้น)
แผนนี้มี ‘หลัก’ และ ‘ตรรกะ’ ง่ายๆ นะครับ คือให้รถเมล์สองชั้นท้ังหลายมีสายเป็นตัวเลข 1 ถึง 99 (ไม่ว่าจะบริษัทอะไร) ส่วนรถเมล์ชั้นเดียวตัวเลขสายรถเมล์คือตั้งแต่ 200 ขึ้นไป ส่วนรถรางให้มีตัวเลข 500 ขึ้นไป
แน่นอน เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ สายรถเมล์ก็ย่อมมีการเปลี่ยนโน่นนิดนี่หน่อย ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยน (Revise) กันอยู่ตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญคือปี 1934 เมื่อมีการก่อตั้งหน่วยงาน London Transport ขึ้นมา
ฟังแบบนี้แล้ว ก็เหมือนผมกำลังจะบอกคุณๆ ที่ใช้รถเมล์ใช่ไหมครับ – ว่าการเปลี่ยนเลขสายรถนั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไป, ใครๆ เขาก็ทำกัน
ใช่ครับ – ใครๆ เขาก็ทำกัน แต่เขาทำกันเพราะมัน ‘จำเป็นต้องทำ’
และหลักในการทำของเขานั้น ไม่ได้ทำกันตามอำเภอน้ำใจของใครก็ไม่รู้หรอกนะครับ
เขามีหลัก – และหลักสำคัญก็คือ เป็นหลักที่ยึดย้อนโยงใยกลับไปหา Historic Numbers หรือ ‘ประวัติศาสตร์’ ของตัวเลขเส้นทางรถเมล์ คือไม่ได้ทำมั่วๆ แต่ใช้หมายเลขที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว แล้วนำมาใส่โน่นเติมนี่เข้าไปอีกที เพื่อให้คนยังคุ้นเคย ไม่ต้องปรับเปลี่ยนมากมายนัก
3
เขียนมาถึงตรงนี้ เดี๋ยวจะหาว่าวิจารณ์ ขสมก. ของไทยโดยไม่ดูเลยว่า เมืองอื่นเขาก็ใช้ตัวอักษรย่อที่เป็น ‘สี’ แบบที่เรากำลังจะใช้กันอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เลยต้องขออนุญาตยกตัวอย่างระบบรถเมล์ของเมืองพิตส์เบิร์กกันเสียหน่อย
หน่วยงานที่ชื่อ Port Authority ของพิตสเบิร์กในเพนซิลวาเนียนั้น เขาแบ่งสายรถเมล์ออกมาเป็นสีๆ เหมือนของไทยเราเปี๊ยบเลยนะครับ แต่เขาอธิบายแบบนี้ครับ
ถ้าขึ้นต้นด้วยตัว G (คือสีเขียว) รถเมล์จะแล่นไปทางตะวันตก (คือใช้ West Busway)
ถ้าขึ้นต้นด้วยตัว O (คือสีส้มหรือ Orange) รถเมล์จะแล่นไปตามเส้นทางสาย I-279 HOV lanes (ซึ่งเท่าที่ดูจากแผนที่ คือเป็นเส้นทางสายเหนือใต้)
ถ้าขึ้นต้นด้วยตัว P (คือสีม่วงหรือ Purple) รถเมล์จะแล่นไปทางทิศตะวันออก (คือใช้ East Busway)
ถ้าขึ้นต้นด้วยตัว Y (คือสีเหลือง) รถเมล์จะแล่นไปทางทิศใต้โดยใช้ South Busway
พูดง่ายๆ ก็คือ มี ‘หลัก’ และ ‘ตรรกะ’ ให้ประชาชนคนทั่วไปได้รู้ ได้ยึดจับ ถึงแม้จะมีเป็นสิบเป็นร้อยสาย แต่ก็พอรู้เลาๆ ว่าสายไหนจะแล่นไปทางไหน เพราะฉะนั้น พอเขาทำเป็นแผนผังแนวอินโฟกราฟิกออกมา เลยดูง่ายและสวยงามเอามากๆ (ยุคหกศูนย์เจ็ดศูนย์นี่ เขาทำเป็นรูปดาร์ตหรือแผ่นปาเป้าเลยนะครับ เอาไปเล่นปาเป้าจริงได้ด้วย)
ฟังดูคล้ายๆ ตัว G R Y B ของกรุงเทพฯ เราใช่ไหมครับ?
ใช่แล้ว – มัน ‘คล้าย’ กันมาก แต่ถ้ามองให้ถึง ‘แก่น’ ของมัน ก็เสียใจด้วยนะครับที่จะต้องบอกว่ามันแค่ ‘คล้าย’ เท่าน้ันแหละ
ทั้งนี้ก็เพราะ Port Authority ของพิตสเบิร์กก็เหมือนลอนดอนนั่นแหละ เขาบอกเลยนะครับว่าการออกแบบตัวเลขสายรถเมล์ทั้งหมดนั้น ‘มีราก’ มาจากระบบรถรางที่เรียกว่า Pittsburgh Railways Streetcar ที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1880s โน่นแน่ะ
ดังนั้น อย่าไปว่าคนอเมริกันไร้รากเชียวนะคุณ ถ้าใครจะไปว่าแบบนั้นคงต้องขอให้ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเบอร์รถเมล์ตัวเองเสียก่อนนะครับ เพราะสิ่งที่เขาทำ คือการทำโดยยึดหลักยึดรากดั้งเดิมของตัวเอง ทำให้คนคุ้นเคยกับระบบใหม่ที่ปรับเปลี่ยนจากระบบเก่าได้ไม่ยากนัก
แล้วไม่ใช่แค่ลอนดอนกับพิตสเบิร์กนะครับที่เป็นแบบนี้ ไปดูโน่น – วอชิงตัน, เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกาก็ได้ คนต่างชาติหลายคนที่ไปอยู่วอชิงตันอาจจะบ่นว่า รถเมล์วอชิงตันนี่อะไรก็ไม่รู้ ระบบหมายเลขรถนี่ซับซ้อนมากเลย
แต่ก็ต้องบอกอีกนั่นแหละครับว่า รถเมล์วอชิงตันนั้น ถ้าเป็นรถเมล์ที่มีแต่ตัวเลขอย่างเดียว (เช่นสาย 42 หรือ 70) จะใช้ระบบตัวเลข (Numbering System) แบบเดียวกับสายรถรางตั้งแต่เปิดใช้ใหม่ๆ ในกรุงวอชิงตันกันเลยนะครับ รถรางในวอชิงตันนั้น ใช้งานกันมาถึงปี 1962 แล้วก็เลิกไป แต่ ‘ราก’ ที่ปรากฏแฝงฝังอยู่ใน ‘ตัวเลข’ ยังอยู่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือรถสายใหม่ๆ โดยรถเมล์เกือบทั้งหมดจะแล่นแบบ ‘ตามเข็มนาฬิกา’ ไปทั่วเมือง ทำให้คนรู้หลัก และสามารถวางแผนการเดินทางของตัวเองได้
นี่ยังไม่นับการมาตรงเวลาตามที่กำหนดไว้ที่ป้าย หรือการมี ‘เมตตาธรรม’ เอื้อเอ็นดูประชาชนตาดำๆ ด้วยการสร้างฟุตบาทให้อยู่ในระดับเดียวกับประตูรถเมล์ คนเลยไม่ต้องปีนบันไดสูงเท่าเข่า (ยังกับปีนเอเวอเรสต์) เพื่อขึ้นรถเมล์ หรือในกรณีที่เป็นผู้พิการต้องนั่งรถเข็น รถเมล์ก็มีประตูพิเศษที่ออกแบบให้มีบันไดยื่นออกไปรับ โดยตัวรถเมล์สามารถเอียงลาดลงไปได้ แล้วยกรถเข็นผู้พิการขึ้นมาอีกทีหนึ่งด้วยนะครับ
4
ที่ว่ามาทั้งหมด ก็เพื่อจะบอกคุณว่า การออกแบบรถเมล์ ฟุตบาท เมือง รวมไปถึงระบบตัวเลขสายรถเมล์นั้น ‘รัฐ’ มีหน้าที่และสำนึกที่จะทำให้ ‘สะดวก’ ต่อประชาชน ทั้งนี้ก็เพราะ ‘รัฐ’ พึงทำหน้าที่เป็นข้ารับใช้ของประชาชนด้วยความเต็มใจ จริงใจ และด้วยความเปี่ยมสุขที่ได้เห็นประชาชนมีความสุขจากการทำงานของรัฐ
แต่การออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ที่ต้องเปลี่ยนหมายเลขรถเมล์อย่าง ‘ไร้ราก’ คือขุดรากถอนโคนระบบเก่าทิ้งจนเกลี้ยง (ยังมีสายท่าเตียน – ถนนตก อยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ) โดยให้เหตุผลว่าต้องเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ และต้องรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (แถมถ้าจำตัวอักษรภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็ให้ไปจำเป็นชื่อสายแทน เช่น ‘ศาลายา-หมอชิต’ อะไรทำนองนั้น) มันแปลว่าอะไร?
ฟังแล้วอยากหัวเราะ เพราะนี่ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากสำนึกอำนาจนิยมที่เห็นคนใช้รถเมล์เป็นเบี้ยล่าง ไร้อำนาจ และต่ำต้อยเกินกว่าจะต้องไปใส่ใจ อยากเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนโดยไม่ต้องคิดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความคุ้นชินของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องลำบากฝ่าฟันการจราจรอันแสนลำเค็ญ ชื่อเป็นเมืองแห่งเทพ แต่มาอยู่ปุ๊บเหมือนตกลงไปอยู่ในนรกแห่งรถติดแออัดดมกลิ่นรักแร้บนรถเมล์ร้อนกันไปชั่วชีวิตโดยไม่มีอะไรดีขึ้น
สำนึกแบบเปลี่ยนเบอร์รถเมล์โดยไม่ต้องถามใครนั้นเหมือนกับสำนึกแบบสร้างหอชมเมืองโดยไม่ต้องถามใคร และเหมือนสำนึกแบบสร้างโน่นนั่นนี่โดยไม่ต้องสนใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชนเลยนะครับ
มันคือสำนึกของอำนาจนิยม และเป็นสำนึกแบบที่จะไม่มีวันทำให้สังคมนี้เดินหน้าไปไหนได้
ผู้มีอำนาจมักคิดว่าตัวเองอยู่ในสังคมที่ ‘เจริญ’ แล้ว แต่เป็นเจริญในเสื่อม เนื่องจากวันๆ ก็ยลยินรมย์รื่นอยู่แต่กับเรื่องราวใน ‘พิกัดบน’ ของสังคม แต่ไม่เคยคิดจะถ่างตามองให้เห็นหรือสัมผัสถึงเรื่องราวใน ‘พิกัดล่าง’ เลยแม้แต่น้อย
ย้ำอีกทีนะครับว่า ‘ความเจริญ’ ที่แท้จริงทั้งทางวัตถุและจิตใจน่ะ ไม่ได้อยู่ข้างบน – แต่อยู่ข้างล่าง
และการมองไม่เห็นเรื่องนี้ ก็จะยังความเสื่อมให้สถาพรมั่นคงสืบเนื่องเป็นกงเกวียนกำเกวียนที่หมุนซ้ำย่ำอยู่กับที่ไม่รู้จบ