ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ คนไทยแปลว่าอิสระ แต่หนังสือวิชาภาษาไทยไม่ทำให้คนเรียนเป็นอิสระ
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทยชั้นประถมศึกษาในตอนนี้ ออกเป็นแพ็คเกจคู่เป็น ภาษาพาที กับ วรรณคดีลำนำ ตามหลักสูตรพื้นฐาน 2551 หลังรัฐประหาร 2549 ไม่นาน ซึ่งเล่มแรก ภาษาพาที จะเน้นความรู้การใช้ภาษาพร้อมกับเรื่องสั้นประกอบการอ่านนำพาให้เข้าใจไวยากรณ์ ขณะที่เล่มที่ 2 วรรณคดีลำนำ เป็นการเลือกเอาวรรณคดี นิทานที่คิดว่าดีเหมาะแล้วมาสอนนักเรียน
ในตำราทั้ง 2 เล่มไม่เพียงจะสอนภาษาไทย แต่ยังสอน ‘ความเป็นไทย’ ป้อนข้อมูลต่างๆ ทั้งวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียง พระราชกรณียกิจ ที่ทำหน้าที่ให้คุณค่าความหมายเกี่ยวกับความเป็นไทยตามที่หลักสูตรต้องการ
เช่นบทที่ 2 ของภาษาพาที ป. 6 เรื่อง ‘ควาย ข้าว และชาวนา’ ที่เล่าเรื่องชีวิตชนบทของชาวนา โดยสร้างจินตนาการชนบทที่เป็นทุ่งนา ลอมฟาง กระท่อม ฝูงควาย หมู่บ้านสามัคคีรักใคร่ใสซื่อ ช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวกัน มีชีวิต ‘เรียบง่าย เงียบสงบ’ ใช้ควายไถนาเป็นความงดงามเคียงคู่วิถีชีวิตชาวนาอันเรียบง่าย ไม่ใช่การทรมานสัตว์แต่อย่างใด และไม่เหมือนกับ ‘ควายเหล็ก’ รถไถนาที่ต้องคอยซ่อม เปลืองน้ำมัน ทำให้ชาวนาต้องกู้หนี้ยืมสิน ขณะที่ควายกินหญ้าตามเรือกสวนไร่นา เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตร จนทำให้นายทุนต่างชาติมากว้านซื้อที่นา เป็น landlord เพราะหวังเข้ายึดครองแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับบทที่ 3 ‘อ่านป้ายได้สาระ’ ที่ยังคงเล่าเรื่องวิถีชีวิตการเกษตรบนพื้นฐานความพอเพียง และพึ่งพาตนเอง
มากไปกว่านั้นในการป้อนความเป็นไทย บางเรื่องสั้นก็เป็นเรื่องราวที่ตัวละครมนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผีสางนางไม้ เช่นในบทที่ 4 เรื่อง “กทลีตานี” ที่แทรกความรู้เรื่องกล้วยเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการเล่าเรื่องเด็กหญิงที่เข้าไปช่วยผีตานีน้อยจากหมอผีที่พยายามจับตัวผีตานีและครอบครองอาณาจักกล้วย เพื่อบังคับไม่ให้กล้วยเกิดได้ตามธรรมชาติ ใครอยากปลูกต้องจ่ายเงินแก่หมอผี หมอผีจะได้เป็นมหาเศรษฐีครองโลก บางบทก็ฝันถึงนางฟ้าพาเหาะไปชมสวนแก้วในเมืองฟ้าเมืองสวรรค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับไม้ดอกไม้ประดับ และบางบทก็เป็นผีเด็กผมจุกเข้าฝันชวนไปเรือนไทยของขุนช้าง เพื่อให้ซาบซึ้งกับบ้านทรงไทย เพราะเป็นเด็กในเมืองไม่มีโอกาสได้อาศัยในเรือนไทยจะได้กลับชนบทก็แล้วแต่โอกาส ตามที่ถูกบรรยายว่า
“ครอบครัวของเรา มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณย่า น้องหญิง และผม ไผ่งาม เป็นครอบครัวคนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหวงแหนแผ่นดินไทย สำรวจดูแล้วก็ไม่มีอะไรที่บอกว่าไม่ใช่คนไทย เพียงแต่ว่าคงไม่มีโอกาสได้อยู่บ้านไทย เพราะว่าคุณพ่อได้ซื้อบ้านจัดสรรอยู่กลางเมืองไว้หลังหนึ่ง”[1]
และเพื่อสร้างความภาคภูมิใจใน ‘ความเป็นไทย’ ในบทที่ต้องการสอนราชาศัพท์ก็ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพในนามของปะวัติศาสตร์ชาติ ผ่านตัวละครเด็กที่มีแม่เป็นชาวไทย พ่อเป็น ‘ฝรั่งจากประเทศที่เป็นเกาะ’ [2] เด็กนี่ถูกบรรยายว่า “ผมชอบกินข้าวเหนียวไก่ย่าง ข้างกล้องไข่เจียว ผมว่าเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก”[3] ประวัติศาสตร์ชาติพ่อไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน อ่านหนังสือในห้องสมุดใช้เวลาไม่นานก็รู้หมดแล้ว แค่เรื่องของชนชาติผิวขาว อพยพหาที่อยู่ใหม่มายึดเกาะใช้อาวุธขับไล่ชนพื้นเมืองก่อตั้งประเทศมาได้ไม่ถึง 200 ปี ขณะที่ประเทศไทยฝ่ายแม่ต้องให้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังไปพร้อมกับเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าถึง 800 ปี มีกษัตริย์ร่วมสร้างหลายรัชกาล บางช่วงสมัยรัชกาลโดนฝรั่งรังแกแต่ก็ผ่านมาได้ด้วยพระปรีชาสามารถอัจฉริยภาพพระมหากรุณาธิคุณพ่างเพี้ยงพสุธา
ตำราเรียนภาษาไทยจึงเป็นอีกปฏิกิริยาจากอาการปริวิตกว่า
‘ความเป็นไทย’ แบบดั้งเดิมจะสูญหาย
หวาดหวั่นถึงภาวะสมัยใหม่ที่ถูกจัดวางให้เป็นภัยของเอกลักษณ์คุณสมบัติของชาติ แล้วไปสร้างความภาคภูมิใจกับจินตนาการถึงอดีต ที่ยังอยู่ในระบบการผลิตเป็นเกษตรกรรมแบบยังชีพ เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการดำรงชีพและอาชีพ และใช้แรงงานสัตว์เช่นควายแทน กลบเกลื่อนความยากจน ด้วยการสร้างความภาคภูมิใจในความเรียบง่ายสมถะ พึ่งพาตนเองตามมีตามเกิด อนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของชนบท แม้ว่าจะเป็นจินตนาการที่เพิ่งสร้างขึ้นในทศวรรษ 1950 ที่ผูกโยงอยู่กับความเป็นชาติ และอำนาจรัฐแบบสงครามเย็น[4] ไม่ว่าโลกแห่งความเป็นจริงชีวิตชนบทจะดิ้นรนมีพลวัติเปลี่ยนแปลงไปไหนถึงไหนแล้วก็ตาม
เหมือนกับหลายๆ บทที่การเข้าถึงความรู้ยังต้องพึ่งพาผีสางนางไม้ในช่วงที่หลับฝันหรืออยู่ในภวังค์ ดังนั้นหนังสือเรียนภาษาไทยจึงไม่สอนแค่ภาษา หากแต่ยังทำให้เห็นว่ารัฐกำลังจินตนาการถึงความเป็นชาติและความหวังให้ชีวิตประชาชนอย่างไรแบบใด
ด้วยเหตุนี้ในหนังสือเรียนจึงสอนพฤติกรรมที่เชื่อกันว่าเหมาะสมสำหรับคนไทยด้วย และสำหรับนักเรียนประถม 6 ที่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จริยธรรมทางเพศจึงถูกป้อนในวิชาภาษาไทย บนพื้นฐานของจินตนาการถึงอดีตอันแสนงาม
เรื่องเพศจึงถูกพูดถึงในมิติของการเปลี่ยนทางสังคมที่ศีลธรรมลดลง ผ่านวิชาภาษาไทยเช่นอธิบายความหมายของคำว่า ‘กิ๊ก’ ว่า คนรักอีกคนหนึ่งที่คบกันอย่างไม่เปิดเผย ซึ่งอธิบายต่อว่า
“คำที่มีความหมายว่า “คนรัก” มีให้ใช้หลายคำดังตัวอย่าง และสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ยึดมั่นวัฒนธรรมดีงามในอดีตน้อยลงและใช้คำว่า กิ๊ก กันอย่างกว้างขวางทุกเพศทุกวัย เชื่อได้ว่าในอนาคตอาจมีคำอื่นที่มีความหมายทำนองนี้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทย ควรพิจารณาเลือกใช้คำที่มีอย่างหลากหลายนี้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล” (เน้นคำตามต้นฉบับ)[5]
และในบทที่มีจุดประสงค์สอนไวยกรณ์การดู การฟัง การอ่านข่าว การสนทนาและการพูดโทรศัพท์ การใช้คำสุภาพ การอ่านกราฟแผนภูมิ ในบทที่ 14 ภาษาพาที ป.6 จึงมีชื่อว่า ‘เสียแล้วไม่กลับคืน’
บทนี้เล่าถึงเกี๊ยวลูกสาวคนโตของป้านวลและลุงพจน์ เธอถูกพรรณนาว่า
“ตัวสูงใหญ่เกินอายุ หน้าตาสะสวย แต่งตัวเก่ง เกี๊ยวใจแตกมาตั้งแต่ยังไม่มีคำนำหน้าว่านางสาว ตามีไว้ดูโทรทัศน์ ปากมีไว้กิน และพูดเรื่องไร้สาระ หูมีไว้แนบกับโทรศัพท์มือถือแทบไม่เคยห่าง ตอนกลางวัน เกี๊ยวหนีโรงเรียนไปเที่ยวตามศูนย์การค้า กลางดึกก็หนีออกจากบ้านไปเที่ยวผับ หนุ่มๆ ในซอยสามารถหยอกเอินเกี๊ยวด้วยคำพูดที่คึกคะนอง ลามปามไม่ให้เกียรติ แทนที่จะโกรธและเดินหนี เกี๊ยวกลับสนุกที่จะโต้ตอบกลับ ด้วยคำพูดในลักษณะเดียวกัน”[6]
เกี๊ยวยังถูกเล่าอีกว่าไปคบหากับกลุ่มแข่งมอเตอร์ไซค์ ที่ในหนังสือเรียนใช้คำว่า ‘แก๊ง’ และเธอก็สนุกกับการเป็นรางวัลให้กับผู้ที่ชนะการประลองแข่งมอเตอร์ไซค์ ที่ในหนังสือเรียนใช้คำว่า ‘เอาไปย่ำยี’ เธอหลงใหลไปกับผู้ชายมากหน้าหลายตา ผลการเรียนตกต่ำสอบไม่ผ่าน จนในที่สุด “ป้านวลและลุงพจน์น้ำตาแทบเป็นสายเลือด เมื่อรู้ว่าลูกสาวสุดที่รักฉลองคำนำหน้านางสาว ด้วยการตั้งท้องลูกไม่มีพ่อ”
ยัง ยังไม่จบ เรื่องสั้นยังเล่าต่อไปว่า เกี๊ยวกลายเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สนใจใยดีคนรอบข้าง ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
ขอย้ำว่า ในบทนี้สอนไวยกรณ์การอ่านข่าว การสนทนา พูดโทรศัพท์
อ่านกราฟแผนภูมิ ไม่ใช่รสในวรรณคดีพีภัตสรส ที่มุ่งบรรยายหรือพรรณนา
ที่ทำให้รังเกียจเดียดฉันท์ ชังน้ำหน้าตัวละคร
นอกจากนี้เรื่องสั้นยังเล่าต่อไปอีกบ้านนึงว่า เด็กหญิงน้ำอ้อยพอมีแฟน ก็เริ่มมีพฤติกรรมเหลวแหลก ไม่หวงเนื้อหวงตัว ชอบหาที่ลับตาอยู่กันตามลำพังโอบกอดกับผู้ชาย ครูเชิญผู้ปกครองมาสั่งสอนอบรมก็ไม่ยี่หระ ซ้ำยังเริ่มติดโทรศัพท์ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่จนแตกหักกับครอบครัว
“เจอกันที่โรงเรียนไม่พอ กลับบ้านก็คุยโทรศัพท์จนไม่เป็นอันทำอะไร วันหยุดก็ชวนกันเที่ยวเตร่ แทบจะเรียกได้ว่า ทุกลมหายใจเข้าออกต้องมีกันและกัน ผลการเรียนตกต่ำ”[7]
โอ๊ยยย ทำไมอ่านแล้ว ฉันได้ยินเป็นเสียง เด็กเฉิ่มๆ นั่งหน้าห้องเรียน ขี้ฟ้องอิจฉา ฉายาป้าแว่น ขึ้นมาได้เนี่ยยยยยย…..
เรื่องสั้นนี้จินตนาการไปไกลถึงขั้นป้าของเด็กหญิงน้ำอ้อยให้ทดลองเลี้ยงเบบี๋ ตุ๊กตาที่เป็นนวัตกรรมล้ำยุคเหมือนออกมาจากกระเป๋าโดรเอมอน ที่จำลองมนุษย์ทารกอย่างสมจริง หิวน้ำหิวนม ต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม สามารถร้องไห้กระจองงองแง ขี้เยี่ยวแตกได้ เพื่อฝึกให้น้ำอ้อยและแฟนของเธอหัดเลี้ยงลูก สุดท้ายทั้งคู่ก็ไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ แฟนหนุ่มทอดทิ้ง แล้วก็เลิกร้างกันไป แต่ในเรื่องกลับไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยีปัจจุบันในโลกแห่งความเป็นจริงและแสนจะเรียบง่ายที่เรียกว่า “ถุงยางอนามัย” ที่เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวสามารถเข้าถึงเพื่อมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ก็เพราะจุดประสงค์ของบทที่ 14 มีอยู่ว่า
“บทนี้มุ่งสอนใจ ความเป็นไทยแดนสยาม
รักนวลสงวนงาม เลื่องลือนามน่าชื่นชม
การดูฟัง อ่านข่าว โทรฯ บอกกล่าวตามเหมาะสม
แผนภูมิยอดนิยม รวมผสมเป็นความรู้”[8]
เนื้อตัวร่างกายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิ๋มของนักเรียนหญิงจึงไม่ใช่อวัยวะของเธอเอง หากแต่ถูกแขวนไว้ให้เป็นของ ‘ความเป็นไทยแดนสยาม’ ที่ต้องสงวนหวงแหนเช่นเดียวกับการไถนาด้วยควาย ชนบท คุณภาพชีวิตชาวนา บ้านเรือนไทย ในฐานะความภาคภูมิใจของชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นทรัพยากรใช้แล้วหมดไป ‘เสียแล้วไม่กลับคืน’ ที่หมายถึงพรหมจรรย์หรือ ‘ความสาว’ ของพวกเธอ ในหนังสือจึงยุ่มย่ามนักหนากับเปลี่ยนผ่านสถานะของนักเรียนหญิงจาก ‘เด็กหญิง’ สู่ ‘นางสาว’
หญิงที่รู้จักตอบสนองความสุขทางเพศของตนเอง และไม่ยอมจำนนต่อ
คำแทะโลมลามปามของผู้ชายที่นึกอยากจะพูดอะไรใส่ผู้หญิงก็ได้ตามอำเภอใจ
อย่างเกี๊ยวกลายเป็นหญิงเลวในตำราเรียน
อยู่อีกฝั่งขั้วตรงข้ามกับหญิงดีอย่างน้องสาวของเธอที่ถูกเล่าว่าเชื่อฟังพ่อแม่จนการเรียนดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ลงโทษหญิงเลวอย่างเกี๊ยวให้จบชีวิตลงลงด้วยความเจ็บป่วย เสียอนาคต ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ที่เป็นการว่าบาปขยี้แม่วัยรุ่นมากกว่าจะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสุขอนามัยเจริญพันธุ์ใดๆ ก่อนจะตบท้ายบทนี้ด้วยสุภาษิตสอนหญิงสมัยรัชกาลที่ 3-4 เรื่องรักนวลสงวนตัว
เช่นเดียวกับแบบเรียนอีกเล่ม ‘วรรณคดีลำนำ’ ที่ยังคงนำสุภาษิตสอนหญิงมาเน้นย้ำอีกครั้งว่าการรักนวลสงวนตัวเท่ากับรักศักดิ์ศรีของหญิงไทยไปด้วย ในบทที่ 4 ‘อย่าชิงสุกก่อนห่ามไม่งามดี’ บอกว่าสุภาษิตสอนหญิงยังคงเป็นคำสอนที่ทันสมัยสอดคล้องค่านิยมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย นักเรียนควรนำปฏิบัติเพื่อมีชีวิตที่ดี มีความสุข และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี[9]
ภาษาพาที-วรรณคดีลำนำ จึงเป็นเพียงตำราภาษาไทยที่มุ่งควบคุมกำกับความใคร่ เนื้อตัวร่างกาย ความสุขทางเพศโดยเฉพาะผู้หญิง ในหนังสือเรียนไม่สักนิดที่จะตักเตือนเด็กผู้ชายหรือลงโทษใดๆ กับการ ‘ฟันแล้วทิ้ง’ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบ พ่อที่ทิ้งลูกเมีย หรือผู้ชายที่คะนองปากพูดจาไม่ให้เกียรติ ราวกับอนุญาตหรือมองว่าเป็นลักษณะปรกติวิสัยของผู้ชาย และสักแต่จะสอนร่างกายของนักเรียนหญิงให้เป็นร่างกายเชื่องๆ สยบยอมว่าง่าย มากกว่าจะทำความเข้าใจเรียนรู้สิทธิอำนาจในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง แถมยังมีหญิงเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ 4 ที่ผู้ชายแต่งขึ้นเป็นหญิงในอุดมคติ ภายใต้ค่านิยมและชุดความรู้ที่หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งไม่ต่างอะไรกับที่สอนให้ใช้แรงงานควายแทนเทคโนโลยีเครื่องจักรกล
แล้วความกลัวเหล่านี้แหละที่เป็นเครื่องมือและคู่มือมาชี้ผิดชี้ถูก สร้างบรรทัดฐานให้นักเรียนปฏิบัติตามเหมือนกับบทอ่านเสริมเรื่อง ‘ดอกไม้ในแจกัน’ คนเราก็เหมือนดอกไม้ในแจกัน นานาชนิดหลากสีหลายพันธุ์ต้องใช้ศิลปะและระเบียบในการจัดจึงจะสวยงาม เหมือนกับคนที่ต่างฐานะต่างครอบครัวเมื่อต้องมาอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อตกลงเดียวกันสังคมจึงสงบสุข[10]
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, น. 84.
[2] เรื่องเดียวกัน, น. 248.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[4] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. เขียนชนบทให้เป็นชาติ : กำหนดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.
[5]เรื่องเดียวกัน, น. 43.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 214.
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 216.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 213.
[9] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต วรรณคดีลำนำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
[10] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, น. 120.